"คนต่างด้าว" คือใครกัน ????


๑.๑.              นิยามคำว่า “คนต่างด้าว” ในกฎหมายไทยว่าด้วยทะเบียนราษฎร

ในลักษณะเดียวกันกับนานาอารยประเทศ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงคนที่ไม่มีสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดน” ซึ่งคำนี้อาจหมายถึงทั้ง (๑) คนที่มีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ และ  (๒) คนที่ไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ

แต่ในการค้นคว้าของผู้ทำวิทยานิพนธ์ พบว่า คนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรไทยนั้น อาจปรากฏมีทั้งคนต่างด้าวแท้ และคนต่างด้าวเทียม ซึ่งผู้ทำวิทยานิพนธ์จะขอทำการศึกษาในรายละเอียดต่อไป

๑.๑.๑.                    คนต่างด้าวแท้ในทะเบียนราษฎรไทย

คนต่างด้าวประเภทนี้ย่อมไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทย อาจจะเป็นคนไร้สัญชาติแต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย หรืออาจจะเป็นคนมีสัญชาติของรัฐต่างประเทศ ซึ่งมาร้องขอให้รัฐไทยบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย นอกจากนั้น อาจจะเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวรหรือชั่วคราวก็ได้ ซึ่งหากเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวรย่อมมีทั้งสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถูกกฎหมาย ในขณะที่คนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยชั่วคราวอาจมีสิทธิเข้าเมืองถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็ได้  และจะต้องตระหนักอย่างยิ่งว่า คนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นอาจเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกกฎหมายสัญชาติไทยถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย[1]

จะเห็นว่า โดยข้อเท็จจริงที่ค้นคว้า พบว่า คำว่า “คนต่างด้าว” โดยข้อกฎหมายทั้ง ๒ ลักษณะ อันได้แก่ (๑) กฎหมายสัญชาติ และ(๒) กฎหมายคนเข้าเมือง  อาจถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะ “คนต่างด้าว” หรือ “คนสัญชาติไทย” ก็ได้ ทั้งนี้ โดยมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจในข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎร หรือมาจากการประพฤติทุจริตของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ดังนั้น คนต่างด้าวโดยข้อกฎหมายที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยจึงมีลักษณะเป็น “คนต่างด้าวแท้ในทะเบียนราษฎรไทย”  ในขณะที่คนต่างด้าวโดยข้อกฎหมายที่ถูกบันทึกเป็นคนสัญชาติไทยจึงมีลักษณะเป็น “คนสัญชาติไทยเทียมในทะเบียนราษฎรไทย”

เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ทำวิทยานิพนธ์จึงจะหยิบยกกรณีศึกษาของเรื่องราวดังกล่าวในลำดับต่อไป

กรณีศึกษาที่ ๑  ว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร : กรณีนางจุ้ยม่วง

กรณีศึกษาที่ ๒  ว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราว : กรณีคุณบุญยืน สุขเสน่ห์

กรณีศึกษาที่ ๓  ว่าด้วยคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว : กรณีมารดาของนางเสาร์ เสาร์คำนวล

กรณีศึกษาที่ ๔  ว่าด้วยคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แต่ถูกกฎหมายสัญชาติไทยถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย : กรณีนางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล

๑.๑.๒.                   คนต่างด้าวเทียมในทะเบียนราษฎรไทย

คนต่างด้าวประเภทนี้ คือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบการได้สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ เช่น มีพ่อแม่เป็นคนสัญชาติไทย หรือ เกิดในประเทศไทยและได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน แต่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรว่าเป็นคนต่างด้าว โดยอาจได้รับการบันทึกในสถานะคนต่างด้าวที่มีลักษณะการอาศัยถาวร หรือชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย โดยข้อสันนิษฐานของมาตรา ๕๗[2] แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

ซึ่งปรากฎว่ามีคนต่างด้าวเทียมในหลายทะเบียนราษฎร อาทิ (๑) กรณีนางสาวบูยา เซกองอากู่ แห่งบ้านป่าคาสุขใจ  คนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร  (๒) กรณีนางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล แห่งศูนย์ลูกหญิง คนต่างด้าวเทียมที่ได้รับการบันทึกในทะเบียนบ้านประเภทคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว(ท.ร.๑๓)  เป็นต้น และเพื่อสร้างความเข้าใจอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ทำวิทยานิพนธ์จะได้หยิบยกกรณีศึกษาดังกล่าวมาอธิบายโดยละเอียดในบทต่อไป

 



[1] มาตรา ๗ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๒) พ.ศ.๒๕๓๕

 

 

มาตรา ๗ทวิ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่๔) พ.ศ.๒๕๕๑

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใดภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่าที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

[2] มาตรา ๕๗ เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ ผู้ใดอ้างว่าเป็นคนมีสัญชาติไทยถ้าไม่ปรากฏหลักฐานอันเพียงพอที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเชื่อถือได้ว่าเป็นคนมีสัญชาติไทย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเป็นคนต่างด้าวจนกว่าผู้นั้นจะพิสูจน์ได้ว่าตนมีสัญชาติไทย

การพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบและเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากผู้นั้นไม่พอใจคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่จะร้องขอต่อศาลให้พิจารณาก็ได้

ในกรณีที่มีการร้องขอต่อศาล เมื่อได้รับคำร้องขอแล้ว ให้ศาลแจ้งต่อพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะโต้แย้งคัดค้านได้

หมายเลขบันทึก: 249368เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กำลังอ่านนะครับ เดี๋ยวจะส่งที่แก้ไขให้นะครับ

เสนอตัวแปล "บทคัดย่อ" ให้ ฟรี จ้า..

รับรองภาษาเลิศ..!! เอาไหม??

เออ.. ลืมบอก.. สู้ๆๆๆๆๆ :-)

อืมมมม ถือว่าสัญญาแล้วนะ

ขอบใจหลายๆๆ

ตกลงกรณีศึกษา ที่อ้างมา ๑-๔ ยังไม่ได้แยกใช่ไหมว่าเป็นต่างด้าวแท้หรือเทียม

แนะนำว่าไม่ควรใส่ตรงกลาง ควรนำมาไว้หลังจากที่อธิบายแล้ว่าแท้ - เทียมคืออะไร

หรือถ้าแยกแล้วก็ใส่กรณีศึกษาหลังแท้ มีอะไรบ้าง หลังเทียมมีอะไรบ้าง

อยากทราบ การปฏิบัติ เมื่อแรงงานต่างด้าว มาอยู่ประเทศไทย แล้วคลอดลูกจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องการคำตอบด่วน ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท