การปฏิรูปการเรียนรู้ และครูในอุดมคติ


ในช่วงนี้มีกระแสเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ มากมาย ที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็คือเรื่อง "การปฏิรูปการเรียนรู้" ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา เมื่อวานได้รับเชิญจากมูลนิธิสยามกัมมาจลให้ไปร่วมประชุมระดมสมองเพื่อเตรียมการจัด "เวทีภาคีพูนพลังครู" ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมนี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในวงการศึกษา อาทิเช่น รศ.ดร.ประภาภัทร นิยม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ดร.สิริกร มณีรินทร์ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข นพ.สุภกร บัวสาย ฯลฯ

ผู้จัดได้ตั้งโจทย์ใหญ่ให้พวกเราคิด (จินตนาการ) ว่า "เราอยากให้การศึกษาพัฒนาเด็กไทยให้มีคุณลักษณะออกมาเป็นอย่างไร?" และโจทย์ที่เกี่ยวพันกันก็คือ "ถ้าจะให้เด็กไทยเป็นเช่นนั้นครูจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไร?" ซึ่งไม่ต้องบอกทุกท่านก็คงพอจะนึกภาพออกว่า "ครูในอุดมคติ" ที่วาดภาพกันออกมานั้น มันไม่ต่างอะไรจาก Super hero ที่เราดูกันในหนังเลย

ในช่วงสะท้อนวงใหญ่คุณหมอสุภกรขอให้ทุกคนมองย้อนมาที่ตัวเองเพื่อเช็คดูว่าเรามีคุณสมบัติตรงกับ "คุณลักษณะครูที่ปรารถนา" นี้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าคนในห้องนี้ยังมีคุณสมบัติไม่ได้ตามสเป็คที่กล่าวมาแล้วเราจะหาครูหรือพัฒนาครูให้ได้ตามสเป็คที่ว่านี้ได้อย่างไร แต่ที่ผมชอบมากก็คือตอนสุดท้ายตอนที่คุณหมอสุภกรสรุปคุณลักษณะสำคัญของครูให้สั้นๆ เหลือเพียงสามข้อก็คือ:
1. ครูต้องมีความรักต่อศิษย์
2. ครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และ
3. ครูต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้ เปิดรับ และพร้อมปรับเปลี่ยน (ข้อนี้เป็นสำนวนผมเองแต่น่าจะความหมายใกล้เคียงกันกับที่หมอสุภกรพูดไว้)

ผมกลับมานั่งพิจารณาดูแล้ว เห็นชัดเจนว่าสามข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง

ข้อที่ 1: เป็นการบอกว่าเราจะต้อง "จัดการความรัก" ก่อนที่คิดจะ "จัดการความรู้"
ข้อที่ 2: สื่อให้เห็นว่าไม่มีอะไรจะดีกว่า "การสอนโดยทำตัวให้เห็นเป็นตัวอย่าง" เพราะนี่คือพลังที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง หาใช่การพร่ำพูดมากมายโดยที่ผู้สอนไม่ได้ทำตัวเป็นเช่นที่พูดนั้นแต่อย่างใด
ข้อที่ 3: นี่คือประเด็น KM เต็มๆ คือครูต้องเป็นผู้ที่รับฟัง ศึกษาค้นคว้าตลอดเวลา หาวิธีการ/เทคนิคที่ดีกว่า (เดิม) มาใช้กับนักเรียน รู้จักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ทำให้การเรียนสนุก ผู้เรียนมีความสุข และได้ประโยชน์

ได้สามข้อนี้มาสำหรับผมถือว่าการมาประชุมครั้งนี้คุ้มค่าแล้วครับ เพราะผมไม่ชอบอะไรที่ฟุ้งกันมากมาย อยากได้ที่เป็นหลักใหญ่ (ไม่เกินสามข้อ) แล้วสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำให้เกิดผลได้จริง ส่วนประเด็นๆ เดียวที่ผมเสนอไปเมื่อวานก็คือคำพูดที่ว่า . . .

"เท่าที่ผ่านมา ตอนที่เราจัด Workshop KM ให้ครู ก็ดูครูตื่นเต้นมีพลังดี แต่พอกลับไปอยู่ที่โรงเรียน ทุกอย่างก็กลับไปเหมือนเดิม เพราะครูเองก็ต้องเอาตัวรอด ต้องเดินตาม KPI เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เจ้า KPI นี่แหละที่ทำให้จิตวิญญาณความเป็นครูหายไป ครูใช้เวลากับการทำงานตามที่ผู้บริหารต้องการมากกว่าที่จะทำให้ลูกศิษย์ ครูใช้เวลากับเรื่องการเลื่อนวิทยฐานะ (ทำงานเอกสารทางวิชาการ) มากกว่าที่จะใช้เวลาอยู่กับลูกศิษย์" แล้วผมก็สรุปสั้นๆ (เชิงลบ) ว่า "ถ้าไม่มีใครทำอะไรจริงจังในเรื่องระดับนโยบายหรือในเรื่องที่เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนระบบสนับสนุน โอกาสที่การศึกษาจะมีการปฏิรูปอย่างแท้จริงก็คงจะเป็นเพียงแค่ความฝันเท่านั้น"

ในช่วงท้ายรายการท่านอาจารย์ประภาภัทรได้ให้ภาพรวมที่น่าสนใจและได้พูดให้กำลังใจว่า "ขณะนี้ทาง สปช. สนช. ก็กำลังทำเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอยู่ เป็นการพลิกทั้งระบบ เป็นการกระจายอำนาจไปสู่โรงเรียนไม่รวมศูนย์เหมือนที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญในตอนนี้ก็คือเราจะต้องเตรียมครูให้พร้อม สร้างความพร้อมให้กับโรงเรียน . . ."

ซึ่งก็คงเป็นเรื่องที่พวกเราคงจะต้องติดตามกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 585970เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 12:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 13:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท