สิทธิมนุษยชน กับแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑)


บันทึกคำกล่าวเปิดการการประชุมของนายวิษณุเครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ในการประชุม "แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ :สานพลัง ส่งเสริมสิทธิ สร้างสังคม สู่สันติสุข"

วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร

สิทธิมนุษยชน ประกอบด้วย ๒ คำ คือ "สิทธิ" และ "มนุษย์" หมายถึงสิทธิของมนุษย์ ภาษาอังกฤษใช้ Human Rights ภาษาไทยใช้คำสวยหรูว่า "สิทธิมนุษยชน" คำว่าสิทธิมนุษยชน คนใช้กันมาก แต่อาจไม่เข้าใจความหมายที่ลึกซึ้ง

ในสังคมเรามีสิทธิอยู่ ๒ ประเภท คือ (๑) สิทธิ (rights) และ สิทธิมนุษยชน (human rights) สิทธิธรรมดาเป็นสิ่งที่กฎหมายคุ้มครอง ไม่ให้ใครละเมิด ผูกไว้กับกฎหมาย ถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครองไว้ก็ไม่เรียกว่า "สิทธิ" ในบางประเทศถือเป็นสิทธิ แต่บางทีในประเทศไทยก็ไม่ถือเป็นสิทธิ เพราะไม่กฎหมาย

สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่เหนือไปอีกขั้นหนึ่ง ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ เพศ ศาสนา คติความเชื่อทางการเมืองใด สถานภาพใด มั่งมีหรือยากจน ในฐานะที่เป็นมนุษย์ก็ยังมีสิทธิบางอย่างเสมอกัน โดยไม่ผูกกับกฎหมายบ้านเมือง เช่น เมื่อมีเท้าก็มีสิทธิจะเดิน เดินได้ก็มีสิทธิจะพักผ่อน เมื่อมีสมองก็มีสิทธิจะคิด เมื่อคิดได้ก็มีสิทธิจะเชื่อ ซึ่งสิทธิเหล่านี้ถ้าเป็นกฎหมายก็อาจเป็นช่องไปจำกัดสิทธิได้ สิทธิเหล่านี้เราเรียกว่า "สิทธิมนุษยชน"

ในบรรพกาล ในบางสังคมก็เชื่อว่าสิทธินี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า

สังคมสมัยหนึ่งก็ว่าสิทธินี้มาจากธรรมชาติ

จนกระทั่งก็มาสู่ยุคที่ว่าเมื่อเป็นมนุษย์ ก็ไม่สามารถเลือกได้ เกิดมาเป็นมนุษย์ สิทธิความเป็นมนุษย์จึงมีขึ้นด้วย

เราต้องให้ความสำคัญไม่แพ้สิทธิตามกฎหมาย ประเทศไทยเองให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่วงสหประชาชาติ ที่ประเทศต่าง ๆ ได้ลงนามเป็นภาคี ต่อมามีอนุสัญญาต่าง ๆ ที่ลงรายละเอียดตามมา ได้แก่ สิทธิมนุษยชนทางพลเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ซึ่งไทยได้ลงนามไปแล้ว ๘ ฉบับ จากทั้งหมด ๙ ฉบับ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็รับรองสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน คณะเจ้าที่ที่ยกร่างฯ ได้นำร่างสุดท้ายเสนอนายกรัฐมนตรี นายกฯได้ถามว่ายังไม่มีตรงไหนกล่าวถึงสิทธิมนุษยชน

เจ้าหน้าที่ตอบว่าเนื่องจากไม่อยู่ในสถานการณ์ปกติและเรื่องสิทธิมนุษยชนก็อยู่นอกกฎหมาย

นายกฯกล่าวว่า การใช้กฎอัยการศึกเป็นภาวะจำเป็น ที่บ้านเมืองกำลังจะแตกเป็นเสี่ยง ถ้าเราไม่กล่าวถึงสิทธิมนุษยชนเลย ก็จะเกิดความหวาดระแวงกันไปใหญ่ ที่ผ่านมามีการละเลยมาก แม้สิทธิตามกฎหมายเองก็เหมือนจะไม่มีใครสนใจพิทักษ์รักษา ด้วยเหตุนี้เราจึงควรเติมเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อผดุงไว้และประกาศให้โลกรู้ว่าไทยเราสนใจเรื่องนี้ ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ยาเสพติด การเข้าถึงความยุติธรรม ชนกลุ่มน้อย เพื่อให้เห็นว่ามีความตั้งใจที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ในแผนนโยบายของชาติ

แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ นี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ครอบคลุม ๑๑ ประเด็น ๑๕ กลุ่มบุคคล ตอบประเด็นคำถามทั้งของต่างประเทศ และสังคมไทย ข้อใดทำได้ก็ตอบได้ว่าเมื่อใดจะทำได้ ข้อใดทำไม่ได้ก็อธิบายเหตุผล รายละเอียดเหล่านี้อยู่ในเอกสารประกอบแผน

เมื่อแผนฯเสร็จเรียบร้อย ก็นำมาสู่การถ่ายทอดให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องมีการขับเคลื่อน เหมือนรถยนต์สร้างขึ้นมาแล้วก็ต้องขับเคลื่อน จอดไว้ก็อำนวยประโยชน์อันใดมิได้

-๒-

คณะรัฐมนตรีจึงมีนโยบาย ๓ ประการ คือ

  1. ให้หน่วยงานทุกภาคส่วน ทุกกระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการพิจารณาแผนฯ ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด/ระยะเวลา มาตรการ/การปฏิบัติ ไว้อย่างชัดเจน
  2. ทุกสิ้นปีงบประมาณ ให้ส่วนราชการทุกแห่งทำรายงานผลว่าได้ดำเนินการตามแผนฯ ไปได้เพียงใด ในเรื่องอะไร แผนใด มีอุปสรรค/ปัญหาอย่างไร เรื่องใดทำไม่ได้เพราะเหตุใด
  3. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป การเสนอแผนของบประมาณหรือการอนุมัติต่าง ๆ ให้ระบุว่าการงานนั้นได้เชื่อมโยงกับแผนฯ ในประเด็นใด ข้อนั้น หน้านั้น บรรทัดนั้น ต้องกล่าวไว้ด้วย จึงจะทำให้มีเหตุผลและน้ำหนักเพียงพอที่จะได้รับการตอบสนองตามคำขอหรือการอนุมัติงบประมาณ

แผนสิทธิมนุษยชนนี้ เป็นการทำงานตามข้อเสนอแนะของนานาชาติ ซึ่งหมายความว่าประเทศเราจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน เพียง ๓ ชาติ คือ ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ลุกขึ้นมาทำแผน ซึ่งจะได้มาบอกเล่าภาพความสำเร็จหรือไม่สำเร็จในเรื่องใดต่อไป

การทำรูปธรรมของกระทรวงยุติธรรม ต้องขับเคลื่อนและปฏิบัติโดยมีหลัก ๔ หลัก หรือเรียกโดยย่อว่า "หลัก ๔ ส." ดังนี้

  1. สานพลัง คือ ระดมความร่วมมือจากภาคเครือข่าย กระทรวง บวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภาษาอังกฤษใช้ว่า Joint cooperation
  2. ส่งเสริมสิทธิ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้คนเข้าใจสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม และหวงแหนสิทธิเหล่านี้ ในรัฐธรรมนูญก็มีหมวดใหม่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อุทิศให้อีก ๑ หมวด เราจะต้องทำความเข้าใจให้มากขึ้น การละเมิดส่วนใหญ่ก็เพราะคนไม่รู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไร ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Understanding
  3. สร้างสังคม ให้เป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน เคารพกฎหมาย มีระเบียบวินัย รู้จักสิทธิและหน้าที่ ไม่ก้ำเกินสิทธิผู้อื่น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Social Responsibility
  4. สู่สันติสุข เมื่อสังคมไทยตระหนัก รู้จักสิทธิหน้าที่ ไม่ให้ใครละเมิดโดยมิชอบ เมื่อนั้นจะเกิดความปรองดอง เกิดความรู้รักสามัคคี ภาษาอังกฤษใช้คำว่า To happiness

หลักปฏิบัติในการขับเคลื่อนที่ใช้หลัก "๔ ส." เป็นภาษาไทยว่า "สานพลัง เสริมสิทธิ สร้างสังคม สู่สันติสุข" ส่วนภาษาอังกฤษ เมื่อใช้คำย่อ Joint cooperation, Understanding, Social responsible, To happiness ก็จะได้คำว่า TUST แปลว่า ความถูกต้อง เป็นธรรม อันเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน ทั้งความเป็นธรรมในคดีความ และความเป็นธรรมที่เพื่อนมนุษย์ให้แก่กัน

คำสำคัญ (Tags): #สิทธิมนุษยชน
หมายเลขบันทึก: 585962เขียนเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 11:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2015 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท