(92) เร่งการเรียนรู้ด้วย 'บทความ'


ธรรมชาติของบทความ .. เผยแพร่ได้ทันที แล้วยังสามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ในภายหลัง .. ตอนเย็นๆ ในชุมชนจะมีบรรยากาศนั่งล้อมวง ชาวบ้านนั่งฟังดิฉันอ่านบทความเป็นเรื่องเล่าของตนเอง ด้วยสายตาฝัน สุข สลับกับหัวเราะเฮฮาเป็นระยะ

วันนี้ 9 ก.พ.58 ระว่างรอนำเสนอผลงานและเข้าสัมภาษณ์ ในบทบาทผู้ร่วมงานของว่าที่บุคลากรดีเด่นระดับกรมสุขภาพจิต ดิฉันลดความกังวล และเพิ่มสมาธิให้กับตนเองโดยนั่งอ่านบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ใน gotoknow มาสะกิดใจบทความ 'ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยกลไกรัฐ' (https://www.gotoknow.org/posts/585219) เพราะสอดคล้องกับวิธีคิด วิธีที่ดิฉันกำลังปฏิบัติอยู่พอดีเลยค่ะ

ระหว่างเดินทางจากอุบลฯ มากรุงเทพฯ เช้านี้ ดิฉันเพิ่งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคณะที่เดินทางมาด้วยกัน 6 คน ว่า งานวิจัยฉบับหนึ่งๆ เราสามารถเขียนรายงานอย่างละเอียดได้เฉลี่ยไม่เกิน 200 หน้า ทั้งที่เราใช้เวลาทำงานวิจัยเรื่องหนึ่งไม่ต่ำกว่า 1 ปี แล้วยังต้องรอรูปเล่มรายงานเสร็จสมบูรณ์จึงจะสามารถเผยแพร่ได้ หากนับจำนวนผู้อ่านงานวิจัย จำนวนผู้นำงานวิจัยไปประยุกต์ใช้อีก ดูเหมือนงานวิจัยนั้นๆ จะด้อยคุณค่าลงไปอีก ดิฉันจึงมีแนวคิด เร่งการเรียนรู้ให้เร็วขึ้นด้วยการเขียนบทความ

ธรรมชาติของบทความไม่ต้องเข้มงวดตามรูปแบบเหมือนรายงานวิจัย ดิฉันสามารถดึงบรรยากาศการสนทนากับชาวบ้าน ดึงเทคนิคเนื้อหาจากกิจกรรม และอื่นๆ ที่อาจมีหรือไม่มีในรายงานวิจัยมาเขียนเป็นบทความได้ครั้งละ 1-3 หน้ากระดาษ A4 และ เผยแพร่ได้ทันที แล้วยังสามารถแก้ไข เพิ่มเติมได้ในภายหลัง ซึ่งดิฉันกำลังเริ่มดำเนินการแล้ว ใน 'โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว'

โครงการนี้ ดิฉัน เผยแพร่ใน gotoknow แล้ว 9 ตอน เผยแพร่ตอนละ 1 วัน ครบกำหนดแล้วปิดไว้ไม่ให้อ่านอีก (ฮา) แล้วรอรวมเล่มมอบให้ชุมชนในภายหลัง .. ช่วงนี้ก็มีชาวบ้านมาถามที่บ้านพักช่วงที่ดิฉันลงชุมชนในวันหยุดว่า "มีเรื่องของฉันไหมคุณหมอ" ก็ต้องเปิดเน็ตอ่านให้ฟัง เพราะเมื่อปิดไปแล้ว คนอื่นเปิดอ่านเองไม่ได้

.. ผลคือ ตอนเย็นๆ ในชุมชนจะมีบรรยากาศนั่งล้อมวง ชาวบ้านนั่งฟังดิฉันอ่านบทความเป็นเรื่องเล่าของตนเอง ด้วยสายตาฝัน สุข สลับกับหัวเราะเฮฮาเป็นระยะ

เห็นภาพความสุขที่แบ่งปันไหมคะ ดิฉันใช้บทความเหล่านี้สอนน้องๆ พยาบาล สอนลูกสาวที่บ้าน สอนชาวบ้านในชุมชน .. สอนทุกคนที่เปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา

ขออภัยดิฉันเขียนจากโทรศัพท์ มีข้อจำกัดมาก กลับบ้านแล้วจะแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้นค่ะ

หมายเลขบันทึก: 585604เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2015 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังครับอ. มีใจสาธารณ์ต่อเด็กและชุมชน นี่คือ อุดมบุคคลากรที่สังคมต้องการครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท