ปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยกลไกรัฐ



บ่ายวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่ตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ดร. สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการ มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เป็นฝ่ายเลขานุการ การประชุมจัดที่โรงเรียนสตรีวิทย์

คณะกรรมการชุดนี้มีเวลาทำงานไม่ถึงปี เมื่อถึงเวลาเสวนากัน ผมก็ถามท่านประธานว่า คาดหวังผลลัพธ์อะไรจากการทำงานไม่ถึง ๑ ปีในครั้งนี้ การเสวนาแลกเปลี่ยน นำไปสู่ข้อสรุปที่ผมสรุป กับตนเอง (ไม่ได้พูดในที่ประชุม) ว่า ผลลัพธ์ที่ต้องการ คือการรวบรวมทุนปัญญาของประเทศ สำหรับใช้ ดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ต่อไป

ครูปาด (ศีลวัต ศุษิลวรณ์) เป็นผู้สรุปเป็นรูปธรรมว่าผลลัพธ์มี ๓ อย่าง คือ (๑) เอกสารกรอบแนวทาง และยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนรู้ที่หลากหลายยืดหยุ่น (๒) ชุดนวัตกรรมในการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย (๓) เครือข่ายของการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ที่ทำอยู่ ผมเติมข้อ (๔) รูปแบบการจัดการในโรงเรียน/เขตพื้นที่ ที่เอื้อต่อการปฏิรูปการเรียนรู้

คณะกรรมการได้ช่วยกันปรับเปลี่ยนรูปแบบของการรวบรวมองค์ความรู้ รูปแบบนวัตกรรมการเรียนรู้ จากแหล่งเอกสาร มาเน้นแหล่งปฏิบัติจริงในระบบการศึกษาไทย ที่ผมเรียกว่า จากแหล่งความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge)

ท่านประธานพูดชัดเจนว่า คณะอนุกรรมการชุดนี้ไม่ทำงานริเริ่มการปฏิรูปการเรียนรู้ใดๆ แต่จะค้นหา รวบรวม สังเคราะห์ จัดระบบความรู้ที่มีอยู่แล้ว เอามาทำให้พร้อมใช้ยิ่งขึ้น โดยผมมีความเห็นว่า ความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในตัวครู (บางคน) ในโรงเรียน (บางโรงเรียน) และในเขตพื้นที่การศึกษา (บางเขตพื้นที่) มากกว่าอยู่ในกระดาษ หรือสำคัญกว่าที่อยู่ในกระดาษ

เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งคือ ต้องการให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ปฏิบัติเหล่านี้อย่างกว้างขวาง จึงจะมีการจัดทำ e-Space เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้

คำอภิปรายของ รศ. ดร. สุพักตร์ พิบูลย์ ที่เสนอแนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่บอกว่า ควรมองการเรียนรู้ที่มีผลทำให้ความรู้และคุณลักษณะของผู้เรียนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สะกิดใจผมมาก และคิดว่าท่านมีความรู้เรื่องการศึกษาลึกซึ้ง ที่ผมคิดว่าเป็นสุดยอดของการเรียนรู้ คือ "การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง" (transformative learning)

ดร. สุพักตร์ ยังเสนอให้เริ่มจากคิดไกล ๑๕ ปี แล้วจึงจับเอาเฉพาะส่วน ๑ ปีมาดำเนินการ ซึ่งผมก็เห็นด้วยอีก แต่ผมมีข้อกังวลอยู่หน่อยเดียว คือจะทำให้กระบวนการปฏิรูปการเรียนรู้กลายเป็น academic exercise ไม่เป็น action learning

ผมสรุปกับตนเองว่า กิจกรรมที่คณะอนุกรรมการชุดนี้จะดำเนินการ คือ KM การปฏิรูปการเรียนรู้ นั่นเอง ไม่ทราบว่าสอดคล้องกับความเห็นของกรรมการท่านอื่นๆ หรือไม่ โดยจะเป็น KM ทั้งแบบ F2F และแบบ Virtual

ที่ผมดีใจมากก็คือ วิธีทำงานแบบที่เน้นความรู้ปฏิบัติ และเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างกว้างขวาง เช่นนี้ เท่ากับเป็นการ empower ผู้ปฏิบัติ เป็นการให้ความสำคัญแก่ผู้ปฏิบัติ และสร้างความมั่นใจให้แก่ ผู้ที่ปฏิบัติแล้วได้ผลดี จะเป็นการวางรากฐานวัฒนธรรมของการกระจายอำนาจการศึกษาไปในตัว

แต่ที่แปลกใจไม่หาย ตั้งแต่เมื่อวาน คือการที่กระทรวงศึกษาธิการไม่มีงบประมาณสำหรับทำงาน สร้างสรรค์ชิ้นนี้ คือการปฏิรูปการเรียนรู้ ผมไปประชุมทั้งคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา และอนุกรรมการชุดนี้ แบบที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เลย คือต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเอง ซึ่งไม่เป็นไรสำหรับผม เพราะมหาวิทยาลัยมหิดลให้รถใช้ หรือแม้ไปเอง เสียค่าแท็กซี่เอง ผมก็ไม่เดือดร้อน ยินดีทำงานให้บ้านเมืองโดยชักเนื้อตัวเอง สงสารแต่กรรมการหรืออนุกรรมการคนอื่นที่ฐานะไม่ดีนัก

แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับเมื่อจะจัดประชุม มีค่าใช้จ่ายก็ต้องเที่ยวขอจากหน่วยงานอื่นวุ่นไป จะปฏิรูปกันทั้งที ไม่คิดเตรียมงบประมาณไว้ใช้จ่าย คิดปฏิรูปแบบจับเสือมือเปล่า แปลกแท้ๆ แปลกสำหรับผม ที่รัฐบาลชุดนี้มีแต่เงินใช้ทำงานประจำ ไม่มีงบประมาณทำงานสร้างสรรค์ ทีรัฐบาลก่อน เขายังมีงบประมาณรับจำนำข้าวทุกเมล็ดได้ ทำงานเพื่อคอร์รัปชั่นหาเงินได้เกือบล้านล้านบาท ทำงานเพื่อบ้านเมืองระยะยาวไม่มีเงินใช้

กลับมาที่การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ ผมมีความเห็นว่า คณะกรรมการก็คือคนมาประชุม ออกความเห็น ไม่ใช่ตัวคนทำงาน ตัวคนทำงานคือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และของ สพฐ. ที่ ดร. สิริกร ชวนมาทำ ท่านต้องการให้คนของหน่วยปฏิบัติ คือ สพฐ. มาร่วมด้วย

ตัวคนทำงานต้องเข้าใจคุณค่าของงาน และเข้าใจวิธีทำงานอย่างถ่องแท้ เพราะวิธีทำงานตามที่ คณะอนุกรรมการกำหนด มี ๒ ส่วน คือส่วนเนื้องาน กับส่วนกระบวนการ หากทำงานเป็น และรู้คุณค่าของงาน จะได้ทั้งสองส่วน และทำไม่ยาก แถมสนุกด้วย

คุณค่าของงาน ก็มีสองส่วน คือคุณค่าต่อบ้านเมือง หรือต่อวงการศึกษาของประเทศ กับต่อตัวคนทำงานเอง ส่วนคุณค่าต่อคนทำงาน หมายถึงการเรียนรู้ของคนทำงาน หากรู้คุณค่าต่อตน คนทำงานจะรู้สึกมีแรงบันดาลใจที่จะทำงาน จะทำงานแบบไม่มีคำว่ายากหรือเหน็ดเหนื่อย และจะเรียนรู้มาก

ส่วนเนื้องานได้กล่าวแล้วข้างบน ส่วนวิธีทำงานในความเห็นของผมคือ ทำงานเป็นทีม ที่มีความ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทำ BAR ร่วมกัน แล้วแยกกันไปหาข้อมูลแล้วมา ไตร่ตรองสะท้อนคิด (AAR/Reflection) ร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ และนำผลการเรียนรู้ไปทำงานต่อไป

โชคดี ที่ ดร. สิริกร ชวน ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด มาร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย เพราะหวังใช้ ความสามารถด้านการจัดการความรู้ของ ดร. ประพนธ์ ซึ่งเป็นการวางยุทธศาสตร์การทำงานของคณะ อนุกรรมการที่แยบยลมาก ดร. ประพนธ์จะสามารถฝึกวิทยายุทธ KM ให้แก่ทีมทำงานจริงๆ ได้

ผมสังเกตว่า ทีมทำงานตามที่ สกศ. ส่งมาจำนวนเกือบ ๑๐ คน มีงานอื่นอีกหลายหน้า สภาพเช่นนี้ จะไม่เหมาะกับการทำงานจัดการความรู้ (KM) มือใหม่ เพราะจะไม่มีสมาธิในการทำงานแบบที่มีความ ละเอียดอ่อน ซึ่งเป็นธรรมชาติของงาน KM

จะให้ดี น่าจะจัดทีมทำงานเต็มเวลาสัก ๕ คน ให้ทำงานนี้ภายใต้ coaching ของ ดร. ประพนธ์ จะยิ่งดีหากทีมนี้ไปนั่งทำงานกับ ดร. ประพนธ์ที่ สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ที่หน้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งหมายความว่าต้องมีเงินค่าใช้จ่าย ทั้งส่วนที่ สคส. และค่าใช้จ่ายในการทำงาน รวมค่าเดินทางลงพื้นที่ ที่จะต้องคล่องตัวมาก (และตรวจสอบได้)

หากทำเช่นนี้ จะได้ทั้งเนื้อผลงานที่ดี และได้ฝึกคนให้ได้ทักษะวิธีทำงานแบบใหม่ ที่ได้ทั้งผลงาน และได้ทั้งการเรียนรู้ เขาจะได้เข้าใจว่าวิธีการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดอยู่ในปัจจุบัน มันผิดอย่างไร และได้เรียนรู้วิธีทำงานแบบใช้ความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งจะเป็นวิธีทำงานของกระทรวง ศึกษาธิการ (และกระทรวงอื่นๆ) ในยุคใหม่ เมื่อมีการปฏิรูปแล้ว

ผมสังเกตในห้องประชุมว่าทีมเลขานุการ (ทีมทำงานตัวจริง) ทำท่างงๆ จึงบอกว่าทีมนี้เป็นคนโชคดี ที่ได้รับมอบหมายมาทำงานนี้ เพราะจะได้เรียนรู้มาก ขอนำมาขยายความในบันทึกนี้ จะเห็นว่า หากคณะ อนุกรรมการฯ ทำงานตามแนวที่ตกลงกัน และทีมทำงานจริง ก็ทำงานเป็น ผลลัพธ์ที่ได้ต่อวงการศึกษาจะมี ข้อที่ ๕ ด้วย คือ (๑) เอกสารกรอบแนวทาง และยุทธศาสตร์การปฏิรูป การเรียนรู้ที่หลากหลายยืดหยุ่น (๒) ชุดนวัตกรรมในการดำเนินการปฏิรูปการเรียนรู้ ที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย (๓) เครือข่ายของการดำเนินการ ปฏิรูปการเรียนรู้ที่ทำอยู่ (๔) รูปแบบการจัดการในโรงเรียน/เขตพื้นที่ ที่เอื้อต่อการปฏิรูปการเรียนรู้ และ (๕) รูปแบบการทำงานภายใต้ความสัมพันธ์แนวราบ (ไม่เน้นการควบคุมสั่งการแนวดิ่ง)

บันทึกนี้เป็นจินตนาการของคนแก่ ที่อยากเห็นบ้านเมืองมีการปฏิรูปจริงๆ (ไม่เสียของ) แต่จะเป็นจินตนาการที่เลอะเทอะแค่ไหน ไม่รับรอง และขอประกาศ Conflict of Interest ว่า แม้ผมจะเป็นประธานมูลนิธิ สคส. ผมเขียนบันทึกนี้โดยไม่ได้คุยกับ ดร. ประพนธ์เลย ท่านไม่รู้เรื่อง และไม่ได้เข้าประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ ๘

โปรดอ่านบันทึกนี้ จะเห็นว่า ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๘ ผมมีงานประชุม ๒ งาน ที่ในส่วนลึกเหมือนกันยังกะแกะ คือเป็นการสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ให้แก่บ้านเมือง โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก (positive change) ในทางร่างกายเหน็ดเหนื่อย อย่างยิ่ง เพราะประชุมแรกผมเป็นประธาน ใช้เวลา ๔ ชั่วโมง ประชุมหลังใช้เวลา ๓ ชั่วโมง แต่เมื่อกลับมา AAR และเขียนบันทึกที่บ้าน เกิดความสุขอย่างยิ่ง และได้เรียนรู้มากด้วย



วิจารณ์ พานิช

๙ มกราคม ๒๕๕๘


หมายเลขบันทึก: 585219เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2015 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณท่านอาจรย์ค่ะ สำหรับ ความรู้นี้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท