จิตตปัญญาเวชศึกษา 218: ห้องฉุกเฉิน


โลกแห่งปรัศวภาควิโลม ตอน ๒: ห้องฉุกเฉิน

สถานบริการพยาบาลหรือที่เรียกว่าโรงพยาบาลนั้นมีทั้งของรัฐและของเอกชน ถึงแม้ว่าจะทำงานเหมือนกันคือดูแลรักษาผู้ป่วย แต่ระบบบริหาร ที่มา เป้าประสงค์แตกต่างกัน ผลก็คือแม้ว่าภายนอกจะเป็นโรงพยาบาลเช่นกัน มีพยาบาล มีหมอ เดินไปเดินมาเหมือนกัน แต่การทำงานสามารถจะแตกต่างกันในรายละเอียดได้มากพอสมควร ดังนั้นจึงมี "ปรากฏการณ์ปรัศวภาควิโลม (through the looking glass)" หรือการ "ดูคล้ายๆแต่ไม่ใช่" ขึ้นได้

เวลาที่คนปกติทำงานคือวันละประมาณ ๘ ชั่วโมง แปดโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น ประมาณนั้น เหมือนกันทั้งเอกชนและของรัฐบาล เพราะถ้าทำมากกว่านั้นร่างกายจะเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า และลดประสิทธิภาพลงจนกระทั่งผลงานที่ออกมาไม่ดี ไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป มิสู้ให้คนกลับไปพักผ่อนและมาทำงานใหม่อย่างสดชื่นจะดีกว่า คุ้มกว่า ผิดพลาดน้อยกว่า ความจริงเช่นนี้ทุกคนก็ยอมรับกันได้ เพราะมันสมเหตุสมผลดี

แต่แปดชั่วโมงทำงานที่ว่านี้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มเวลาเดียวกัน จบเวลาเดียวกัน ยังขึ้นอยู่กับลักษณะงานอีกด้วย เช่น ร้านอาหารบางร้านก็เปิดกลางวัน บางร้านก็เปิดกลางคืน แต่ถ้าจะมีบางร้านเปิดทั้งกลางวันกลางคืน ก็ต้องบริหารจัดการให้คนทำงานนั้นมีเวลาพักผ่อนเพียงพอ จึงจะคาดหวังผลงานที่ต้องการ ที่หวังไว้ได้

โรงพยาบาลทำงานเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลคนไข้ ซึ่งการเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นไม่ได้เป็นเวลา คนเราเจ็บไข้ได้ป่วยไปตามเหตุและที่มา ไม่ได้นัดตามเวลาราชการหรือการทำงาน จึงสามารถเกิดการ "ไม่เข้ากัน" กับเวลาทำงานตามปกติได้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงเปิดตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่การเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงนี้ สำหรับโรงพยาบาลรัฐ จะมีความพร้อมไม่เท่ากันตลอดเวลา นั่นคือความพร้อม "ในเวลาราชการ" จะมากกว่าช่วง "นอกเวลาราชการ"

  • จำนวนบุคลากรจะน้อยลง คนส่วนใหญ่จะทำงานตอนกลางวัน กลับบ้านไปพักผ่อน
  • เมื่อจำนวนบุคลากรน้อยลง ประสิทธิภาพโดยรวมจะลดลงตามสัดส่วน ได้แก่ ความเร็ว จำนวนคนไข้ และปริมาณงานที่สามารถจัดการได้ในเวลาหนึ่งๆ
  • ในทางปฏิบัติ เราไม่สามารถจะหาบุคลากรที่จำเป็นมาเต็มจำนวน เช่น วันหนึ่งมียี่สิบสี่ชั่วโมง คนทำงานผลัดละแปดชั่วโมง ถ้าจะทำงานเต็มที่ เราต้องใช้ถึงสามผลัด ดังนั้นเมื่อจำนวนคนไม่เอื้อ จึงทำได้สองวิธี

**** ลดจำนวนคนในผลัดลง หรือ
**** ใช้คนในผลัดเดิม แต่ทำงานเพิ่มขึ้น แทนที่จะทำงานวันละแปดชั่วโมง ก็กลายเป็นสิบสอง หรือมากกว่านั้น
ทุกวันนี้ใช้ทั้งสองระบบ

ดังนั้นถึงแม้ว่าโรงพยาบาลจะเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แต่เราจะมีการบริการได้เต็มที่จริงๆในช่วงกลางวันที่มี staff เต็มระบบ เครื่องมือทุกชนิดถูกใช้ ถูกควบคุมเต็มระบบ แต่หลังจากนั้น เมื่อคนน้อยลงเราจะรับตรวจโดยเน้นกรณีที่จำเป็น เช่นภาวะฉุกเฉิน ภาวะเร่งด่วน ถ้าหากเป็นกรณีอื่นๆก็อยากจะให้รับบริการในเวลาราชการตามปกติมากกว่า

ประชาชนอาจจะไม่ทราบว่านี่คือเรื่องจริง และทำให้การคาดหวัง คาดการณ์ผิดไป เกิดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกับคนทำงาน

สิ่งที่คนควรเตรียมตัว เตรียมใจไว้เมื่อไปโรงพยาบาลตอนนอกเวลาราชการ ได้แก่

๑) ไปแผนกที่ถูกต้อง ในเวลานอกเวลาบางที่จะมีสองแผนก คือ "ห้องฉุกเฉิน" และ "คลินิกนอกเวลา" ห้องฉุกเฉินจะเป็นห้องตรวจสำหรับกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน คนไข้หนัก คนไข้อุบัติเหตุ เท่านั้น ส่วนคลินิกนอกเวลา จะคล้ายๆกับแผนกผู้ป่วยนอกตอนเวลาราชการ แต่โรงพยาบาลจ้างบุคลากรมาช่วยทำงานเพิ่มเติม ซึ่งจะมีจำนวนน้อยกว่าในเวลามาก สำหรับตรวจ case ทั่วๆไป

๒) ณ ห้องฉุกเฉิน จะมีหมอและพยาบาลประจำ บางครั้งเมื่อหมอหรือพยาบาลถามประวัติ อาการ ต่างๆแล้ว หากมีการชี้แจงว่า "ไม่เร่งด่วน" "ไม่ฉุกเฉิน" นั่นคือการวินิจฉัยทางการแพทย์ ซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับการสั่งการรักษา การแนะนำ การตรวจพิเศษ ฯลฯ ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะคนไข้อาจจะคิดว่าอาการที่เป็นนั้นหนัก เร่งด่วน หรือฉุกเฉิน ถ้าหากมีความเห็นไม่ตรงกันกับหมอ ก็ไม่ต้องทะเลาะกัน ให้คุยกันให้เข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าหากหมอพูดเร็วไป ฟังไม่ทัน หรือยังมีอะไรค้างคาใจ ก็ให้พูดกันให้เข้าใจ ณ ตรงนั้น

  • การใช้อารมณ์พูด ไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ แต่สามารถทำให้การสนทนานั้นยุติการใช้เหตุผล และกลายเป็นทะเลาะกัน
  • การตะโกน หรือการถ่ายรูป ถ่ายคลิปในห้องฉุกเฉิน เป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของ staff และรวมถึงคนไข้และญาติคนอื่นๆในห้องนั้น ผิดทั้งกฎหมาย และกฏโรงพยาบาล
  • การที่หมอชี้แจงว่าที่เราคิดว่าด่วน หรือฉุกเฉิน จริงๆแล้วไม่ด่วนและไม่ฉุกเฉิน ไม่ใช่การตำหนิติเตียน ไม่ใช่การด่าว่า หมอเข้าใจดีว่าบางครั้งมันอาจจะคิดเช่นนั้นได้ ขอให้ฟังคำชี้แจงของหมอให้เข้าใจ สงสัยอะไรก็ถาม บางทีที่คิดว่ารู้มานั้น อาจจะรู้ไม่หมด อาจจะเข้าใจผิด
  • การที่หมอบอกว่าไม่ด่วน ไม่ฉุกเฉิน ไม่ได้แปลว่าจะไม่รักษา แต่แปลว่ามาใช้บริการผิดที่ ผิดเวลา ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพในการรักษา ในการบริการไม่ตรงกับที่คนไข้ควรจะได้รับ คนไข้จะได้ประโยชน์มากกว่า ได้รับการตรวจด้วยเครื่องมือเครื่องไม้ที่ครบกว่า ดีกว่า และในหลายกรณี ได้รับยาที่ดีกว่า ถ้าหากไปตรวจในเวลาปกติ

๓) ณ ห้องคลินิกนอกเวลา ถึงแม้จะคล้ายๆแผนกผู้ป่วยนอกธรรมดา แต่ก็ไม่เหมือนกัน

  • ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลที่สามารถเปิดคลินิกนอกเวลาได้ เพราะต้องใช้งบประมาณพิเศษจ้างคนเพิ่มมาทำ OT และต้องมีคนสมัครใจมาทำงาน (คนส่วนใหญ่อยากกลับบ้านไปพักผ่อน)
  • จำนวนแพทย์และพยาบาลน้อยกว่าปกติ
  • บางครั้งเภสัชกรประจำห้องยาก็จะน้อยกว่าปกติ ยาบางประเภท บางระดับ จะไม่มีจ่ายยาชนิดนี้นอกเวลาราชการเพราะเป็นยาควบคุม เป็นยาอันตราย
  • การตรวจ X-ray หรือตรวจพิเศษเพิ่มเติมนอกเวลาราชการจะน้อยกว่าในเวลา ทำให้การรับการรักษาไม่สามารถจะทำในตอนนั้นได้
  • คลินิกแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่ป่วยไม่เร่งด่วน ติดงาน ติดการตอนกลางวัน แต่ถ้าหากสถานบริการไม่มีคลินิกนี้เปิด ก็ "ไม่ควร" ไปใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินแทน เพราะห้องฉุกเฉินมีไว้สำหรับกรณีเร่งด่วน ฉุกเฉิน ช่วยชีวิตจริงๆ ไม่ใช่สำหรับบริการตรวจหวัด ตรวจไอ เจ็บคอ หรืออาการเรื้อรังหลายวัน หลายเดือน

๔) การทำงานทั้งที่ห้องฉุกเฉินและคลินิกนอกเวลา มักจะเป็นการทำงานเพิ่มเติมโดยคนที่ทำงานเต็มวันมาแล้วแปดชั่วโมง คนทำงานก็เป็นคนธรรมดา มีเหนื่อย มีร่างกายที่ต้องการอาหาร การพักผ่อน การผ่อนคลายเพื่อซ่อมแซม เพื่อเพิ่มเติมพลัง งานตรวจรักษานั้นเป็นงานที่ใช้สมาธิและพลังงานสูงมาก ประสิทธิภาพอะไรต่างๆก็จะลดลงได้ตามความเหน็ดเหนื่อยทางกาย และยิ่งเป็นทวีคูณถ้าหากมีความเหน็ดเหนื่อยทางใจร่วมด้วย

การเยียวยานั้นสำคัญ และต้องการบริบทที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ถ้าหากผู้ใช้บริการ เข้าใจในบริบทของการให้บริการนอกเวลาราชการดีขึ้น ตั้งความคาดหวังไว้ถูกต้อง และเห็นอกเห็นใจการทำงานของคนที่เสียสละมาทำงานนอกเวลาเพิ่มเติม ก็จะสามารถเกิดเป็นสังคมแห่งการเยียวยาที่ตรงกับความเป็นจริง มิใช่เพียงภาพในกระจกเงา ที่สะท้อนมุมผิด มุมตรงกันข้ามกันตลอดเวลา

สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
วันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๓ นาที
วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 585123เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2015 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท