วันเด็กแห่งชาติ : วันเด็กในรั้วอุดมศึกษา (บันเทิง เริงปัญญา)


มิใช่วันเด็กที่บันเทิง แต่ไม่เริงปัญญา ทีมุ่งแต่เฉพาะแจกของรางวัล โดยไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ หรือกระทั่งเป็นวันเด็กที่มุ่งแจก "ขนมกรุบกรอบ" ทำลายสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กๆ

วันเด็กแห่งชาติปีนี้ (มกราคม ๒๕๕๘) บรรดาองค์กรนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังคงมั่นคงต่อภารกิจการจัดกิจกรรมบริการสังคม อันเป็นระบบและกลไกหนึ่งของการบ่มเพาะให้นิสิตตระหนักในเอกลักษณ์มหาวิทยาลัยฯ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) รวมถึงปรัชญามหาวิทยาลัยฯ (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) ยึดโยงถึงมิติการศึกษาเพื่อรับใช้สังคม หรือมิติของเยาวชนจิตอาสา


ในช่วงการเตรียมงาน เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลด้านองค์การนิสิต ได้เข้ามาชวนเชิญผมเข้าร่วมประชุมกับบรรดาผู้นำนิสิต เพื่อให้ข้อเสนอแนะ ตลอดจนเพื่อร่วมตรวจทาน หรือเติมเต็มการงานที่กำลังจะมีขึ้น

ซึ่งผมถือโอกาสออกตัวแบบสุภาพๆ พร้อมๆ กับเกริ่นกล่าวประมาณว่า "...ขอให้เป็นพื้นที่ของนิสิตโดยตรง ขอให้นิสิตได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบ และร่วมตัดสินใจด้วยตนเองจะดีกว่า..."




ถึงกระนั้นก็มิวายฝากมุมคิดเล็กๆ ให้ไปคิดต่อยอดร่วมกัน ประมาณว่า "...อยากให้จัดงานวันเด็กตามหลักปรัชญา ตามหลักเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และค่านิยมของการเป็นนิสิตที่ดี อยากให้จัดวันเด็กตามหลักคิดมหาวิทยาลัยสีเขียว มุ่งสร้างเสริมสุขภาวะ และที่สำคัญคือให้แต่ละองค์กรนำจุดเด่นอันเป็นศักยภาพของตนเองออกมาให้บริการสังคมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพระดับคณะ หรือในระดับองค์กรนิสิต..."

แน่นอน- ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริง งานวันเด็กแห่งชาติที่จัดโดยองค์กรนิสิต จะมีจุดเด่นที่น่าสนใจ เป็นงานวันเด็กที่สร้างสรรค์ในรูปของ "บันเทิง เริงปัญญา" มิใช่วันเด็กที่มุ่งกิจกรรมเฮฮาสุดเหวี่ยง "ร้อง-เต้น-แจกขนมนมเนย" จนสุดขั้ว !



ซึ่งก็เป็นที่น่ายินดี- มีหลายองค์กร ได้นำศักยภาพ หรืออัตลักษณ์ของตนเองออกมารังสรรค์เป็นกิจกรรมบริการสังคมควบคู่ไปกับกิจกรรมบันเทิงอื่นๆ เป็นต้นว่า

  • คณะวิทยาการสารสนเทศ : จัดสตูดิโอวงจรปิดอัดรายการให้กับเด็กๆ
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์ : จัดแสดงหุ่นยนต์โรบอท
  • วิทยาลัยดุริยางค์ศิลป์ : จัดบูทร้องคาราโอเกะและแจกรางวัล
  • คณะพยาบาลศาสตร์ : จัดบูทให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพของเด็กๆ
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ : จัดบูทวาดภาพระบายสี
  • ชมรมสานฝันคนสร้างป่า : เล่นเกมให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม



จุดแข็งของกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่ผมมักพูดถึงเสมอมาก็คือ เป็นงานที่จัดขึ้นโดยนิสิต (องค์กรนิสิต) ที่ประกอบด้วยองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรนิสิต ชมรม

ปีนี้ถือเป็นปีแห่งการทำงานเชิงรุกด้วยการกำหนดให้กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่ทุกคณะ (สโมสรนิสิต) ต้องทำร่วมกัน โดยทุกคณะจะได้รับการจัดสรรงบประมาณอย่างเท่าเทียมกัน

นี่จึงเป็นอีกพัฒนาการหนึ่งในระบบของการเรียนรู้ของนิสิตที่แอบอิงอยู่กับระบบและกลไกของการจัดกิจกรรมเพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม อันเกิดจากการทบทวน หรือ "ประเมินแผน" จากปีทีผ่านๆ มาอย่างเป็นรูปธรรม มิใช่การจัดกิจกรรมโดยไม่คิดคำนึงถึงบทเรียนเก่าๆ ปล่อยให้ปัญหาเก่าๆ เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก


รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต : อธิการบดี


ถึงแม้กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะขับเคลื่อนหลักโดย "พลังความคิด" ของนิสิต แต่กระบวนการทำงานก็เห็นได้ชัดว่าเหล่าผู้นำนิสิต มิได้เดินทางอยู่อย่างเดียวดาย เนื่องเพราะมี "ภาคี" เข้ามาหนุนเสริมอย่างน่ายกย่อง อาทิ

  • ผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ ทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนของรางวัล
  • โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) ได้ร่วมแสดงในพิธีเปิดในชุด "ออนซอนอีสาน"
  • โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคม ร่วมแสดงวงโปลาง
  • กองกำกับการตำรวจภูธร จังหวัดมหาสารคาม ออกบูทแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์




จุดแข็งในอีกประการที่อดพูดถึงไม่ได้ก็ขึ้น กิจกรรมวันเด็กแห่งชาติที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นกิจกรรมที่มีหมุดหมายชัดเจนในการบริการสังคมอันเป็นชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่หลัก ๓ ชุมชนในอำเภอกันทรวิชัย คือเทศบาลตำบลขามเรียง เทศบาลตำบลท่าขอนยาง และตำบลเขวาใหญ่ โดยชุมชนเหล่านี้ อาจไม่จำเป็นต้องหอบหิ้วลูกหลานท่องทะยานเข้าไปในตัวเมืองให้ยุ่งยาก เป็นการเพิ่มพื้นที่การบริการในอีกมิติหนึ่ง ลดอุบัติเหตุต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการสัญจรของเทศกาลวันเด็กฯ ได้ด้วยเช่นกัน


นายสุนทร เดชชัย : ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต


ถึงแม้จะไม่ค่อยมีส่วนราชการใดๆ หรือองค์กรใดๆ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งมากนัก เพราะองค์กรเหล่านั้น ล้วนต้องเข้าร่วมกับทางจังหวัดให้ได้มากที่สุ ด แต่ก็มิได้ทำให้งานวันเด็กที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคามดูอ่อนด้อย เบาบาง เงียบเหงา และไร้ชีวิต ตรงกันข้ามกลับเป็นจุดแข็งที่ทำให้นิสิตสามารถจัดงานวันเด็กได้อย่างเข้มข้นให้สมกับการเป็น "วันเด็กในรั้วอุดมศึกษา"

ครับ, เข้มข้นในมิติ "บันเทิง เริงปัญญา" ....
เข้มข้นในมิติแห่งการเป็นวันเด็กที่เต็มไปด้วยความเป็นสุขภาวะ
มิใช่วันเด็กที่บันเทิง แต่ไม่เริงปัญญา ทีมุ่งแต่เฉพาะแจกของรางวัล โดยไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างสร้างสรรค์ หรือกระทั่งเป็นวันเด็กที่มุ่งแจก "ขนมกรุบกรอบ" ทำลายสุขภาวะและพัฒนาการของเด็กๆ



ยิ่งในอนาคตหากส่วนราชการในท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่ม อบต. หรือ เทศบาล หรือกระทั่งโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ สามารถปรับแต่งแผนงานเข้ามาร่วมกับองค์กรนิสิต เชื่อว่าวันเด็กที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะกลายเป็นต้นแบบของวันเด็กที่น่าสนใจ เสมือนการเปิดมหาวิทยาลัยฯ ให้ชุมชนเข้ามาท่องเล่นในอีกมิติหนึ่ง หรือกระทั่งนำความเป็นชุมชนมาออกแบบเป็นกิจกรรมให้นิสิตและเด็กๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน

หรือไม่ก็สัญจรหมุนเปลี่ยนไปจัดในชุมชนต่างๆ หรือ พัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมบ้านหลังเรียนในทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ -ยิ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่น่าสนใจ



หมายเหตุ : ภาพโดย งานประชาสัมพันธ์ฯ กองกิจการนิสิต และนิสิต จิตอาสา
ข้อมูลประกอบเรื่องโดย นายรุ่งโรจน์ แฉล้มไธสง



หมายเลขบันทึก: 584876เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2015 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เด็กๆๆ มีความสุขกันมากๆๆ เลยนะคะ ..... ปกครอง, ผู้จักงานจากคณะต่างๆๆ....มีความสุขไปด้วย นะคะ

นิสิตได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม ชอบกิจกรรมแบบนี้ค่ะ

หล่อหลอมให้พวกเขาไม่แยกห่างจากสังคม

ชอบภาพนี้ค่ะ เด็กๆ ดูมีความสุข และสมาธิกับการวาด โดยเฉพาะเจ้าตัวน้อยกลางภาพ จ๊าบจริงๆ

กลับมาขอบคุณครับ Dr. Ple

ผ่านไปหนึ่ปี ค่อยได้กล่าวขอบคุณ 55

ครับ nui

การเรียนรู้ที่ไม่แยกส่วนออกจากสังคม คือการเรียนรู้ความจริงของชีวิต...
วันเด็ก คือการบริการสังคมในอีกมิติของนิสิต ม.มหาสารคาม ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท