​ตำนานบ้านพระยืน...สู่ประติมากรรมและจิตรกรรมชุมชน (รูปธรรมการเรียนรู้คู่บริการจากหลักสูตรทัศนศิลป์)


ทุกขั้นตอนของงานประติมากรรมภาพนูน จะดำเนินการบนหลักคิดการ "ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" เป็นต้นว่าในช่วงที่มีการปั้น นิสิตทุกชั้นปีในหลักสูตรทัศนศิลป์จะมาลงแรงช่วยกัน ขณะที่ชุมชนเองก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเยี่ยมชม และตรวจทานความถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องราว

ชุมชนบ้านพระยืน ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้เนื่องในวาระ ๑๕๐ ปีเมืองมหาสารคามเป็นที่สุด เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีโอกาส "เรียนรู้คู่บริการ" กับชุมชนมาเป็นระยะๆ ยกตัวอย่างเช่น

  • ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ฯ วิจัยเรื่อง "กระบวนการจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมเมืองโบราณกันทรวิชัย" มีคุณพิเนตร ดาวเรือง เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ
  • ล่าสุดปี พ.ศ.๒๕๕๖-๒๕๕๗ คณะศิลปกรรมศาสตร์ได้ขับเคลื่อนภารกิจสู่การรับใช้สังคมผ่านโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน




ปี ๒๕๕๖ : ประติมากรรมตำนานชุมชนบ้านพระยืน

ปี ๒๕๕๖ คณะศิลปกรรมศาสตร์ดำเนินงานโครงการ "ประติมากรรมภาพนูนประวัติศาสตร์ชุมชนพระยืน" โดยมี ผศ.ประสิทธิ์ วิชายะ จากสาขาประติมากรรม เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ คือการนำนิสิตลงสู่ชุมชนเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการ "เรียนรู้คู่บริการ" ด้วยการเก็บข้อมูลชุมชนในมิติต่างๆ โดยเฉพาะตำนาน หรือเรื่องเล่าอันเป็น "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" มาสร้างงานประติมากรรมภาพนูนติดตั้งไว้ในศาสนสถานประจำชุมชนบ้านพระยืน



โครงการดังกล่าวใช้กระบวนการทำงานหลากวิธี เช่น แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การจดบันทึก โดยเน้น "ปากคำชุมชน" ทั้งที่เป็น "ผู้นำ ปราชญ์ ประชาชนทั่วไป" จากนั้นจึงนำข้อมูลเรื่องราวอันเป็นตำนานและประวัติศาสตร์ชุมชนมา "ตรวจทาน" หรือ "สอบทาน" ร่วมกับชุมชนอีกรอบ ถัดจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดไปวาดเป็นภาพบนกระดาษ เพื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนต่างๆ อาทิ

  • ร่างภาพลงบนผิวดินเพื่อทำต้นแบบ
  • ทำแม่พิมพ์ด้วยปูนพลาสเตอร์
  • ดามแม่พิมพ์
  • ถอดแม่พิมพ์
  • หล่อด้วยเทคนิคไฟเบอร์
  • จนถึงติดตั้งบนผนังและทำสี (พ่นสี) ให้ดูสวยงาม โดดเด่น และสะดุดตา




ในทุกขั้นตอนของงานประติมากรรมภาพนูน จะดำเนินการบนหลักคิดการ "ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม" เป็นต้นว่าในช่วงที่มีการปั้น นิสิตทุกชั้นปีในหลักสูตรทัศนศิลป์จะมาลงแรงช่วยกัน ขณะที่ชุมชนเองก็ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาเยี่ยมชม และตรวจทานความถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องราวที่ปรากฏบนประติกรรมภาพนูนเป็นระยะๆ รวมถึงร่วมเรียนรู้ด้วยการลงมือปั้นไปพร้อมๆ กับนิสิต



กรณีเรื่องราวทั้งหมดที่นำมาปั้นแต่งร่วมกันจะเป็นเรื่องราวที่ยึดโยงอยู่กับตำนานการสร้าง "พระพุทธรูปมิ่งเมือง" (วัดสุวรรณวาส) และ "พระยืนพุทธมงคล" (วัดพุทธมงคล) หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า "วัดบ้านสระ" หรือ "ชุมชนบ้านพระยืน" ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสองเป็นปูชนียวัตถุเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาของชาวอำเภอกันทรวิชัย และชาวจังหวัดมหาสารคาม โดยมีตำนานเล่าขานอย่างยาวนานประมาณว่าในอดีตชุมชน "บ้านพระยืน" อันเป็นที่ตั้งอำเภอกันทรวิชัยในปัจจุบัน เชื่อว่าเคยเป็นเมือง "คันธาร์ธิราช" ในยุคสมัยทวารวดีมาก่อน

ต่อเมื่อถึงยุคที่ "ท้าวลินทอง" ประสงค์จะขึ้นครองเมืองต่อจากบิดา (ท้าวลินจง) ครั้งนั้นท้าวลินจงผู้เป็นบิดามองว่าบุตรชายไม่มีคุณสมบัติที่จะปกครองบ้านเมือง จึงไม่ยอมยกเมืองให้กับบุตรชาย ด้วยเหตุนี้ท้าวลินทองจึงจับบิดาไปกักขัง สั่งให้งดข้าว งดน้ำ งดการเยี่ยม เว้นเสียแต่มารดา (นางบัวคำ) คนเดียวเท่านั้นที่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้

จนในที่สุดทั้งบิดาและมารดาก็จบชีวิตลง ด้วยความรู้สึกผิดบาปต่อบิดาและมารดา ท้าวลินทองจึงสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาเพื่อไถ่บาปให้กับตนเอง นั่นก็คือ พระพุทธรูปมิ่งเมือง (อุทิศให้มารดา) และพระยืนพุทธมงคล (อุทิศให้บิดา) ซึ่งพระพุทธรูปทั้งสองตั้งอยู่ห่างกันประมาณ ๑,๒๕๐ เมตร และจากหลักฐานที่เป็นใบเสมาที่ฝังอยู่ใกล้องค์พระก็จารึกไว้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๓๙๙




ปี ๒๕๕๗
: จากประติมากรรมสู่จิตกรรมสีน้ำมันชุมชนบ้านพระยืน

ปี ๒๕๕๗ หลักสูตรทัศนศิลป์ ยังคงขับเคลื่อนต่อเนื่องอีกครั้ง ด้วยการมอบหมายให้อาจารย์ศักชัย อุทธิโท (สาขาจิตรกรรม) เป็นแกนหลักในการดำเนินงานภายใต้ชื่อโครงการ "สร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำมันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมบ้านพระยืน"

การต่อยอดดังกล่าว ถือเป็นกลยุทธ์อันสำคัญที่ช่วยตอกย้ำว่างานประติมากรรมและจิตรกรรมที่จัดทำขึ้นคือ "สื่อเรียนรู้" หรือ "แหล่งเรียนรู้" ที่มากด้วยพลัง อีกทั้งกระบวนการที่จัดขึ้นยังเป็นเสมือนวาระแห่งการชำระประวัติศาสตร์ชุมชนไปในตัว พร้อมๆ กับการพัฒนาข้อมูลสู่การเป็นสื่อสร้างสรรค์ผ่านงาน "ศิลปะ" ที่ผู้คนหลากวัย หรือกระทั่งองค์กรต่างๆ สามารถศึกษาเรียนรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม



เช่นเดียวกับนิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองกิจกรรมก็เห็นผลเชิงประจักษ์ว่านิสิตมีองค์ความรู้ที่ตกผลึกเกี่ยวกับประติมากรรมและจิตรกรรมมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ)

นอกจากนี้นิสิตยังเกิดทักษะการทำงานอย่างเป็นทีม เกิดทักษะในการเรียนรู้ชุมชน ได้ซึมซับกับวิถีชุมชนอย่างลึกซึ้ง เห็น "ต้นทุน" ในชุมชนที่ร้อยรัดอยู่กับ "วิถีความเชื่อ" และ "ศาสนา" ในแต่ละท้องถิ่น หรือในแต่ละชาติพันธุ์ เห็นกระบวนการของการนำต้นทุนในชุมชนมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ รวมถึงการได้ทบทวนเรื่องราวชุมชนอันเป็นบ้านเกิดของนิสิตไปพร้อมๆ กัน



ขณะที่ชุมชนเองก็เกิดการเรียนรู้และทบทวนความแจ่มชัดของ "รากเหง้า" ตนเองอีกรอบร่วมกับนิสิตและอาจารย์ หรือไม่ก็ได้ค้นพบแนวทางการใช้ประโยชน์จากโบราณสถาน โบราณวัตถุในชุมชนอย่างมีพลัง ยิ่งหากชุมชนสามารถต่อยอดความรู้ไปสู่กิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ยิ่งจะช่วยให้ชุมชนเติบโตและเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการยกระดับขึ้นเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็ก เยาวชน สถานศึกษา และองค์กรปกครองท้องถิ่น ยิ่งนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ เพราะเป็นการพัฒนาชุมชนผ่านมิติทางการศึกษา โดยใช้ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นฐานของการขับเคลื่อน



หมายเหตุ :

๑. ชุมชนพระยืน ในที่นี้ครอบคลุมทั้งตำบลธารราษฎร์ และตำบลโคกพระ โดยในแต่ละปีกองกิจการนิสิต จะนำนิสิตเข้าร่วมโครงการบุญบั้งไฟเทศบาลตำบลโคกพระอย่างสม่ำเสมอ และปี ๒๕๕๖ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้จัดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ณ โรงเรียนบ้านคันธาร์ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จำนนวน ๓ โครงการ ดังนี้

  • โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องอัดเศษขยะสำหรับธนาคารขยะรีไซเคิล
  • โครงการจัดตั้งธนาคารขยะรีไซเคิลและการถ่ายทอดเทคโนโยลีการจัดการขยะมูลฝอย
  • โครงการพัฒนาโรงคัดแยกขยะ

๒. ภาพ : สาขาทัศนศิลป์



ความเห็น (3)

มาร่วมสนับสนุนและชื่นชมทัศน์ศิลป์ที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรม เพื่อบ่มเพาะความเป็นรากเหง้า รากเราเช่นนี้ค่ะ

ชุมชนได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง

นิสิตได้พัฒนาการทำงานศิลปะที่งดงาม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมในท้องถิ่น

เป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์และมีชีวิตมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท