กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่อง ความสุขครูผู้สร้าง "การจัดการความรู้ ครั้งที่ 1/2557 วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ ห้อง 507 อาคาร C3"


ภาพกิจกรรม ถอดบทเรียน ครั้งที่ 1_57.docx

สำนักพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้จัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ครั้งที่ 1/2557 ในวันที่ วันที่ 30 ตุลาคม 2557 ณ ห้อง 507 อาคาร C3 เวลา09.00-16.00 น. เรื่อง ความสุขครูผู้สร้าง โดยเริ่มต้นจากคณะกรรมการ การจัดการความรู้ จำนวน 11 ท่าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรรมการทุกท่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft KM และ KM อย่างลึกซึ้งมากขึ้น มีความเข้าใจในตนเอง เพื่อนร่วมงาน เห็นคุณค่าของงานที่ทำเกิดแรงบันดาลใจ และภาคภูมิใจในตนเอง เพื่อนร่วมงาน องค์กร สร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ในองค์กร และสามารถต่อยอดความรู้นำไปสู่การพัฒนาตนเอง พัฒนางานได้ และมีความสุขในการทำงานอย่างแท้จริง

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดกระบวนการ เป็นบรรยากาศที่ อบอุ่น ปลอดภัย สนุกสนาน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ สร้างความสุข สร้างบันดาลใจให้กับทุกคนและได้บทเรียนที่มีคุณค่าในการสร้างสุขของครู ด้านการเรียนการสอนดังนี้

อาจารย์ศรีสุรักษ์ เกียรติมณีรัตน์ ตอนแรกเครียดมาก เนื่องจากไม่เคยเป็นอาจารย์มาก่อน ไม่เคยเรียนศาสตร์และศิลป์ แล้วต้องขึ้นฝึกเลยหากนักศึกษาเกิดความเป็นผิดพลาดแปลว่าเราดูแลไม่ดี จึงมีการเตรียมตัวหนักมาก อ่านหนังสือในห้องสมุดที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนเยอะมาก พยายาม Search หาทางเวป หางานวิจัยว่าในแต่ละที่มีเทคนิควิธีการสอนเด็กอย่างไร แล้วนำมาทดลองใช้ดู สุดท้ายเด็กชอบ เรียนสนุก เข้าใจ ได้เห็นพัฒนาการของเด็กทำได้ เด็ก เรียนได้อย่างมีความสุข ก็ประทับใจ ก็มีความสุขในการสอน

วิธีการสอน ทุกครั้งของการขึ้นฝึกจะบอกเด็กก่อนว่าวางแผนไว้ว่าจะสอนแบบนี้นะ หนูอยากได้อะไรเพิ่มเติมหรือไม่อยากได้อะไร จะคุยกันก่อน และหลังจบ section ก็จะคุยกันว่าที่ครูสอนไปหนูรู้สึกอย่างไร เพื่อเราจะได้เข้าใจเด็ก เด็กก็คือเด็ก ถ้าได้เรียนด้วยมีกิจกรรมด้วย เรียนสนุก เด็กก็จะมีความสุขกับการเรียน บางเราสอนดีแต่ไม่สนุกเด็กก็ไม่ชอบ ไม่มีความสุข เน้นความสุขของนักศึกษาหากเค้ามีความสุขในการเรียน เค้าจะทำได้ดี

สอนตามสภาพจริงตามปัญหาที่พบปัญหาที่พบมากที่สุดคือ เด็กขาดการประเมินคนไข้ ไม่ได้ประเมินคนไข้จริง ๆ ดูแลเด็กเหมือนดูแลคนไข้ทั่ว ๆ ไป ไม่ได้ตรวจคนไข้จริง ๆ แต่พอตอนเย็น ก็ส่ง care plan พออ่านก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่คัดลอกจากเวป จากหนังสือ ไม่ matching กับคนไข้จริงหลังจากที่พบก็ออกแบบการเรียนการสอนเป็นข้อตกลง คือ วันแรกของการขึ้นฝึกไม่ต้องส่ง care plan แต่ให้ส่งรายงานการซักประวัติและตรวจร่างกาย วันที่ 2 ให้ส่งการเปรียบเทียบ case กับทฤษฏี ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร วันที่ 3 ถึงส่ง care plan แนบมา ลองทำแบบนี้ในทุก ๆ กลุ่ม สิ่งที่ดีใจคือ นักศึกษาบอกว่า พอได้ทำเป็นระบบแบบนี้ทำให้เค้ามีความเข้าใจมากขึ้น ไม่ต้องกังวลกับการเขียน care plan พอเริ่มสัปดาห์ที่ 2 นักศึกษาจะเขียน care plan ได้ดีขึ้น สามารถจัดระบบความคิดของตนเองได้ดีขึ้น ก็รู้สึกดีมากว่าวิธีการสอนที่ลองมาหลายอย่างแบบนี้มันได้ผล

ใช้แบบฝึกหัดให้ทดลองทำ เป็นวิธีสอนวิธีที่ 2 ที่สอนแล้วได้ผลดีมาก คือ มีแบบฝึกหัดให้ทดลองทำเป็นเรื่อง ๆ ไป แบบฝึกนี้มี 10 ข้อ ต่อหนึ่งเรื่อง ก่อนที่จะ Quiz ก็จะบอกก่อนว่าพรุ่งนี้จะมี test เรื่องนี้นะ แล้วแต่เค้าว่าจะอ่านหนังสือมาหรือไม่อ่าน ก็ได้ พอถึงเวลาทำแบบฝึกหัด รอบแรกให้ทำด้วยดินสอ รอบสองให้ทำร่วมกับเพื่อนให้แลกเปลี่ยนความรู้แล้วลงด้วยปากกาสีน้ำเงิน รอบที่สามให้คุยกับเพื่อนด้วย ให้เปิดหนังสือด้วย และให้ทำด้วยปากกาสีแดง แต่ละรอบให้เวลา 5 นาที ใน 3 รอบนี้จะเปลี่ยนคำตอบก็ได้ หลังจากนั้นเฉลยแล้วให้เด็กดูว่าได้คะแนนในรอบที่เท่าไหร่ ถ้าทำได้รอบดินสอแปลว่าโดยพื้นฐานเด็กมีความรู้เพียงพอ แต่ถ้าไม่ใช่แปลว่าเรื่องนี้หนูยังมีความรู้ไม่พอ ถ้าได้คะแนนในรอบที่ 2 แปลว่ายังต้องพึ่งพาเพื่อน ต้องแลกเปลี่ยนกัน แต่ถ้าไม่ใช่เพื่อนก็ยังช่วยไม่ได้ แต่ที่พบส่วนใหญ่นักศึกษาจะได้เต็มในรอบ ที่ 3 คือ ถามเพื่อนด้วย เปิดหนังสือด้วย ก็จะสะท้อนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่เคยเรียนมาแล้ว ความรู้บางอย่างยังขาดไป เพราะฉะนั้นในการมาขึ้นฝึก ไม่ใช่เตรียมแค่ความรู้คิดว่าที่เรียนมาเพียงพอ แต่ต้องเอาหนังสือมา เมื่อไหร่ก็ตามที่ต้องการความรู้ก็สามารถเปิดได้วิธีนี้เด็กชอบมาก เด็กบอกว่ารู้เลยว่าที่เค้าเรียนมามันไม่พอจริง ๆ ต้องเตรียมตัวมา ต้องเอาหนังสือมาด้วย

เพื่อนช่วยสอนเพื่อน เป็น TA ของครู โดยทุกคนจะได้เป็น TA ของแต่ละวันที่ขึ้น ให้เลือกเรื่องเองว่าจะสอนเพื่อนเรื่องอะไร พร้อมคำถาม 5 คำถาม เวลาสอนก็จะให้เค้าเล่าที่เค้าเตรียมาสอน เค้าต้องคิดคำถามมาเอง ทุกคำถามจะได้คะแนน อย่างมีกลุ่มละ 6 คน คะแนนจะเต็ม 30 พอครบ 6 วัน ใครได้คะแนนเยอะสุดก็จะได้รางวัล นักศึกษาจะบอกว่าเค้ารู้สึกดีที่ได้มาสอนเพื่อน และเค้าก็จะเตรียมตัวมาเล่าให้เพื่อนฟัง และเวลาเค้าฟังเพื่อนพูดเค้าก็จะเข้าใจเหมือนพูดภาษาเดียวกันถ้าส่วนไหนที่ยังขาดครูก็จะช่วยเสริมให้

รศ.ดร.ชมนาด พจนามาตร์ ความสุข ความภาคภูมิใจที่สุดของการเป็นครู คือ ความสำเร็จของนักศึกษา ๆ กลับมาหา ส่งข่าวมาบ้าง บอกคิดถึงครู เรื่องนี้หนูคิดถึงครูมาก แค่นี้ก็จะรู้สึกดีมากแล้ว เวลาสอนก็จะมีความสุขในการสอน การแบ่งปัน ให้ความรู้กับนักศึกษาทุกเรื่อง คนอื่น ๆ ด้วย อยากรู้อะไรให้หมด เพราะว่าอีกหน่อยเราก็จะไม่ได้สอนแล้ว

วิธีการสอน ตอนแรก ๆ เริ่มสอนอะไรก็จะอ่าน ท่อง ทบทวนก่อนสอน เดินไปไหน ทำอะไรก็จะท่องตลอดเวลา แต่พอตอนหลัง ๆ ถึงแม้ว่าจะสอนมาหลายครั้งมากแล้วก็จะทบทวนก่อนสอนทุกครั้งและถ้าเรื่องไหนที่รู้สึกว่าสอนแล้วไม่ค่อยสนุก ไม่ค่อยดีนะ ก็จะกลับมาทบทวนแก้ไขใหม่ ทุกครั้ง ส่วนการสอนภาคปฏิบัติก่อนออกไปปฏิบัติจะเตรียมกับนักศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้ง โดยใช้คำถาม ถามมาก ๆ ถ้าข้อไหนตอบไม่ได้ให้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม จนนักศึกษาเกิดความมั่นใจ มีความพร้อมเต็มที่เมื่อลงสู่การปฏิบัติจริงจะปล่อยให้นักศึกษาดำเนินการเองทั้งหมดต้องพยายามตั้งสติ อดทนอดกลั้นไว้ไม่ให้พูดนักศึกษาก็จะสบายใจ มีอิสระในการทำบทบาทของตนเอง แต่ก็มีอาจารย์คอยดูแลอย่างใกล้ชิด เป็นกำลังใจให้นักศึกษาประทับใจมาก

อาจารย์พรทิพย์ สารีโสสิ่งที่ทำให้มีความสุขคือความสำเร็จของนักศึกษา เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มีความสุขมีนักศึกษามาขอคุยด้วย หรือบอกอาจารย์เป็น Idol ของหนูนะ นักศึกษาบอกอาจารย์เป็นต้นแบบของเพื่อนหนูหลายคนอาจารย์มี fan club นะ เพื่อนบอกอาจารย์เท่ห์มาก เป็นความสุขของความเป็นครูจริง ๆ และภูมิใจที่นักศึกษาเปิดใจให้เราเข้าไปด้วย

วิธีการสอนจะสอนให้เด็กรู้จักคิดเป็นยอมรับความแตกต่างของเด็กแต่ละบุคคล สอนตามสถานการณ์ตามตัวตนของเด็ก เวลาดุก็ดุด้วยความเมตตา บางครั้งก็ให้กำลังใจ ครู คือ ผู้ให้ จะสอนทุกเรื่องไม่ใช่แค่ในตำรา หนังสือ วิชาการเท่านั้น เวลาสอนจะลดช่องว่างระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา จะถอดหัวโขนออก เปิดใจรับยอมนักศึกษาทุกเรื่อง เหมือนเป็นแม่ เป็นพี่เป็นน้องด้านวิชาการถูกคือถูก ผิดคือผิด แต่ก็ให้ความเป็นกันเองบ้าง ถามเรื่องส่วนตัวบ้าง มีแฟนหรือเปล่าเด็กที่ไม่อยากเรียนพยาบาลก็จะเล่าประสบการณ์ของตนเองที่ไม่อยากเรียนพยาบาลเป็นกลายเป็นรักวิชาชีพมาก และปลูกผังให้นักศึกษารักวิชาชีพตลอด ทำให้นักศึกษากล้าพูด กล้าคุย และเปิดใจให้เราเข้าไป

สอนครั้งแรกคิดว่าเตรียมตัวดีมาก พร้อมเต็มที่ พอไปสอนจริง ให้นักศึกษาพัก 20 นาที และสอนเสร็จก่อนเวลา 30 นาที แต่โชคดีที่มีอาจารย์พี่เลี้ยงช่วยเติมให้ว่าควรจะเสริมตรงนี้นะโดยที่ไม่ตำหนิต่อหน้านักศึกษาและแนะนำภายหลังว่าการเตรียมสไลด์โดยทั่วไป ควรเตรียม 8 แผ่น ต่อหนึ่งหัวเรื่อง แต่ถ้ามือใหม่ ควรเตรียมเพิ่ม โดยมีหัวข้อเรื่อง และมีรายละเอียดเล็กน้อย พร้อมทั้งยกตัวอย่าง หรือประสบการณ์ประกอบถ้าสอนตามสไลด์เฉย ๆ นักศึกษาจะไม่เข้าใจ ในการพูด ควรฝึกพูดต่อหน้ากระจกก่อนเพื่อจะให้เห็น Action ต่าง ๆ ของตนเองอัดเสียงตนเองฟัง เพื่อจะได้ฟังจังหวะการพูด เร็วไป ช้าไปไหม Monotone หรือเปล่า จะได้ปรับแก้ไขได้

สอนเรื่องใหม่จะต้องดู course syllabus ก่อน แล้วก็ตั้งวัตถุประสงค์ตามนั้น และเขียน outline ทั้งหมดออกมาให้ได้ก่อนที่สำคัญคือ ต้องอ่าน ต้องค้นคว้า ต้องตีให้แตกก่อน Core content คืออะไร เขียนและพูดให้เป็นภาษาของเราก่อน ส่วนที่ยากคือการตีให้แตกให้เด็กเข้าใจได้ง่าย ๆ สิ่งที่จะช่วยได้คือ แผนการสอน ต้องวางขั้นตอนต่าง ๆ ให้ดี ขั้น introduction จะใช้อะไรในการนำ จะใช้สื่อวีดีโอ ใช้คำถาม มือใหม่ต้องเขียนด้วยว่าเราใช้คำถามนี้เพื่อให้ได้คำตอบแบบนี้ ใช้เวลากี่นาที ในช่วงการสอนจะกระตุ้นช่วงไหน แบ่งกลุ่มเมื่อไหร่ อย่างไร เวลาสรุปจะทำอย่างไร แผนการสอนช่วยได้มากเวลาสอนจริงก็จะตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กไปค้นคว้าเพิ่ม ไม่สอนหมด ต้องยอมโง่บ้าง ไม่ต้องมีคำตอบให้ทุกคำถามของเด็ก หรืออนุญาติให้ search ในขณะนั้นเลยใช้ IT ช่วย เด็กก็จะสนุกด้วย

การสอนภาคปฏิบัติต้องรู้เค้ารู้เรา ต้องเข้าใจเด็กและเด็กต้องเข้าใจเราด้วย ก็จะบอกเด็กไปว่าครูเป็นอย่างนี้นะ มีข้อดีข้อเสียอย่างนี้นะ และให้นักศึกษาบอกข้อดีข้อเสียของตนเอง อันนี้แหละบุคคลิกที่เป็นข้อเสียของตนเองเพราะเราต้องอยู่ด้วยกันต้องหลายสัปดาห์ เราไม่ใช่แค่สอนเค้าเท่านั้นเราต้องเรียนรู้กันอีกด้วย การบอก การเตือน การดุด้วยความหวังดี ต้องบอกให้เข้าใจว่าไม่ใช่เพราะความเกลียด หรือจะจำไปตลอด เป็นการดุ เตือนด้วยความหวังดี แล้วจบเหตุการณ์นั้นแล้วก็คือ จบ ต้องเปิดใจคุยกันก่อน ให้เค้าเข้าใจก่อน

อาจารย์อุษา โถหินัง ภูมิใจที่สามารถพัฒนาการเรียนการสอน โดยการลองผิดลองถูกมาด้วยตนเอง จนมีแนวทางที่ชัดเจน นักศึกษาบอกว่าดี ชอบที่ได้ค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองจากเริ่มแรกที่เป็นครูต้องเรียนรู้เยอะมาก ต้องปรับกระบวนการหลายอย่าง ตอนแรก ๆ จะเป็นครูคือผู้ให้จริง ๆ คือ ให้หมด สอนหมด อยากบอกอยากสอน สอนเด็กเหมือนสอนลูกตัวเอง อยากให้ลูกเราเป็นอย่างไรก็สอนนักศึกษาอย่างนั้น แต่ผลปรากฏออกมา คือ ได้ผลน้อยมาก ความจำไม่ค่อยมีจึงปรับวิธีการใหม่ คือ ไม่ให้เยอะแล้ว สอนแต่น้อย ๆ ชี้แนวทางให้ และให้ไปค้นคว้าเพิ่มเติม ต้องเตรียมก่อนสอนให้พร้อม มีเอกสารประกอบการสอนตีให้แตก ต้องอ่านศึกษามาอย่างดี แล้วสกัดเป็นของเรา แต่ต้องมีหลักฐานมีที่มาที่ไป แล้วสอดแทรกความคิด ประสบการณ์ของเราเด็กจะเข้าใจ และชอบมากกว่า เราก็จะมีองค์ความรู้ มั่นใจในการสอน เวลาสอนก็จะสนุกและมีความสุขมาก

อาจารย์ปิยะภร ไพรสนธิ์ ถ้าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักเราสามารถรักในสิ่งที่ทำได้มีนักศึกษาหลายคนที่ไม่อยากเรียนแล้วคุยกับเรา ฝึกปฏิบัติกับเราแล้วเค้ามีความสุข เปลี่ยนทัศคติ และกลับมาเรียน มีความสุขในการเรียนมากขึ้น จนเรียนจบไปทำงานได้ก็ยังกลับมา เป็นความภูมิใจ ที่สำคัญครูต้องเข้าใจเด็ก แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ความต้องการไม่เหมือนกัน ยอมรับความแตกต่าง ไม่ต้องเข้าใจลึกซึ้งก็ได้แต่ให้เข้าใจธรรมชิตของเด็ก

เป็นอาจารย์ครั้งแรกก่อนสอนได้ทำแผนการสอนโดยมีอาจารย์สายพิณเป็นพี่เลี้ยง อาจารย์จะสอนหมดทุกอย่าง โดยจะให้คำแนะนำแนะแนวทางให้ ให้เราแก้ไขเอง ไปหาแนวทางของเราเองแก้ไข 6 ครั้งถึงได้สอนจริง และต้องไป Attend class อาจารย์ทุกท่าน ทุกวิชาก่อนสอน สอนจริงสอนเสร็จก่อนครึ่งชั่วโมง ใช้คำถามแต่ไม่รอคำตอบ ใจร้อน สอนไปเรื่อย ๆ ก็ต้องปรับใหม่ การมีอาจารย์ที่ไปช่วย Attend ตอนที่เราสอนเป็นสิ่งที่ดี ช่วยได้มาก

การสอนภาคปฏิบัติ ตอนแรกจะไม่รู้จะทำตัวอย่างไรก็จะไม่สนิทกับเด็ก นักศึกษาก็จะกลัวบอกว่าเป็นเจ้าหญิงน้ำแข็งตอนหลังจึงปรับโดยหลังฝึกเสร็จจะให้นักศึกษาเขียนประเมิน ถ้าให้พูดจะไม่กล้าพูด แต่ถ้าให้เขียนจะเขียนบอกหมด ก็จะให้เขียนสิ่งที่ประทับใจในตัวอาจารย์ สิ่งที่อยากให้อาจารย์ปรับปรุงคืออะไร ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น

อาจารย์วราภรณ์ แย้มมีศรี Learning by Doing มีทฤษฏีอยู่ในหัว แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่รู้ ดังนั้นคุณต้องทำเอง ฝึกให้เด็กเกิดกระบวนการคิด เป้าหมายคือ ให้เด็กเก่งทัดเทียมกับต่างประเทศ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสิ่งที่ดีของไทยไว้ จะสอนให้เด็กคิดเอง ลงมือทำเอง และจะสอดแทรกให้ฝึกพูดภาษาทุกครั้งที่มีโอกาส การได้พูดบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ เด็กก็จะมั่นใจ กล้าพูดมากขึ้น แต่ก็ต้อง feed บ้างแบบไทย ปล่อยเลยก็ยังไม่ได้เด็กไทยยังไม่พร้อม ก็เป็นครูแบบผสมผสาน อันดับแรกในการขึ้นวอร์ดเราก็ทบทวนตัวเองก่อนว่าเราชอบครูแบบไหนชอบครูใจดี เปิดโอกาส รับฟัง แต่ไม่ใช่ตามใจทุกอย่างก็จะพยายามให้เด็กเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กไม่กดดันจากครู เช่น การสอนดูแลเครื่องช่วยหายใจ ก็จะให้เด็กไปอ่านมาก่อน แล้วก็พาไปดูของจริง ถามนำ สอนให้เห็นภาพอย่างตัวปิดเปิด หรือตัว flow rate เราก็จะเปรียบเทียบว่าเหมือนท่อน้ำ ถ้า increase แปลว่ารูเปิดมันมากขึ้นนะ เพราะฉะนั้นเวลาเปิดตัวอากาศที่เข้าไปมันก็จะมากขึ้น ดังนั้น Inspiratory rate ก็จะนานขึ้น แต่เราก็จะบอกก่อนว่าจะให้เข้ามาฝึกกับครูทีละคนนะ อย่างครูตั้งโจทย์ไว้ ว่าผู้ป่วยอายุเท่านี้ TV เท่านี้ หนูจะปรับอย่างไร ก็จะให้เข้ามาทำทีละคน ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ให้ออกไปก่อนแล้วค่อยกลับมาใหม่ คือให้โอกาสเด็กได้ฝึกหรืออย่างใส่สายสวนปัสสาวะก็จะบอกก่อนเลยว่า sterile techniqueสำคัญมาก เพราะฉะนั้นถ้าทำ contaminate ต้องออกไปก่อน ให้คนต่อไปมือที่ 2 มือที่ 3 เข้ามาก่อน ให้ออกมาฝึกสวมถุงมืออยู่ข้าง ๆ ครูจนกว่าจะชำนาญ ต้องได้ฝึกต้องได้ลงมือทำถึงจะชำนาญ จะพยายามไม่กดดัน ให้เด็กอยากทำด้วยตนเอง พยายามเรียนรู้ว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร บางคนทำ 10 ครั้งก็ยังทำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรก็จะให้ฝึกจนกว่าจะทำได้ เด็กก็จะเกิดการเรียนรู้ และมีความสุข อยากเรียนอยากฝึก เกิดจากเด็กจริง ๆ

อาจารย์ฉันทนา แรงสิงห์ การสอนตอนแรกสอน 3 ชม เตรียมสไลด์ 80 แผ่น สอนเสร็จก่อนเวลาพูดเร็ว ตอบคำถามให้เด็ก หลังจากนั้นก็ปรับมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน ก่อนสอนจะ print slideออกมาแล้ววางว่าจะพูดอะไรบ้าง และทำ Mind map ของตนเอง ให้มีทั้ง Main Idea & Content ให้อยู่ในหน้าเดียว summary ให้ตัวเอง ช่วยในการ conclusion ให้กับเด็กด้วยเวลาสอนตอน Introduction ก็จะใช้ตัวอย่างที่ตลก ๆ จิตเวชก็จะเป็นอะไรที่เป็นผีบ้าอยู่แล้วก็จะตลกนำก่อน จิตเวชจะเป็นอะไรที่เป็นนามธรรมเข้าใจยาก เด็กก็จะไม่ค่อยสนใจ จะเล่น FB กัน ก็จะใช้หนัง ใช้สื่อที่ตลก ๆ เป็นช่วง ๆ ดึงความสนใจเด็ก และก็ใช้ภาษาง่าย ๆ ให้เด็กเข้าใจ ยาบ้ามี 2 ขานะ ขาที่ 1 เป็นอย่างนี้ ๆ นะ แล้วก็ยกตัวอย่างขาที่ 2 เป็นอย่างนี้ ๆ แล้วก็ยกตัวอย่างประกอบ พอตอนสุดท้ายก็จะโชว์ Main Idea และอีกอย่างก่อนสอนทุกครั้งจะลองทำข้อสอบเองก่อน จะทำให้เรารู้ว่าจุดเน้นคืออะไร แต่ไม่ใช่การบอกข้อสอบ แต่ทำให้เราเข้าใจมากขึ้น เป็นการตรวจสอบด้วยว่าเนื้อหาเราครบหรือไม่

ส่วนวิชาปฏิบัติจะเปิดใจกับเด็กก่อน ให้เด็กได้ปรับตัว วันแรกเด็กนั่งกับคนไข้ห่างกัน 3 เมตร กล้า ๆ กลัว ๆ วันแรกจะปรับทัศนคติก่อน ตอนนี้หนูมีทัศนคติที่ดีกับคนไข้จิตเวชหรือยัง แล้วบอกวัตถุประสงค์ของการฝึกว่าต้องได้อะไรบ้างที่สำคัญจะบอกเด็กว่าครูไม่ได้คาดหวังให้หนูต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องดูแลคนไข้ได้เป็นอย่างดีแต่ครูคาดหวังเพียงแค่ว่าหนูรู้ เข้าใจ และมีทัศนคติที่ดีต่อคนไข้จิตเวช และสามารถดูแลคนไข้ฝ่ายกายให้เป็นองค์รวมดูแลจิตใจคนไข้ได้ก็พอเด็กก็จะเริ่มมีทัศนคติที่ดีขึ้น และเวลา Conference ก็จะอนุญาติให้เอาขนม ของกินมากินได้เต็มที่search inter net ได้เต็มที่ แต่เวลาพูดต้องเป็นวิชาการ เวลาแจก case ต้องแตกต่างกัน และเป็นโรคที่สภาการพยาบาลกำหนด เพื่อให้เด็กได้ฝึกวิเคราะห์ และเข้าใจ จำได้ เวลาทำข้อสอบสภาคนที่นำเสนอ ก็ทำบทบาทนำเสนอข้อมูลเพียงอย่างเดียว เพื่อนคนอื่นต้องช่วยกันซักเพิ่มเติมว่าขาดอะไร จะให้การพยาบาลอย่างไร สุดท้ายจะถามคนเจ้าของเคส ตอบว่าใช่ไหม เหตุผลเพราะอะไร

ปิดท้ายด้วยกิจกรรม AAR (After Action Review) หรือการ Reflection ด้วยความรู้สึกอบอ่นและประทับใจ ดังนี้

อาจารย์ฉันทนา แรงสิงห์ความรู้สึกต่อตนเองและเพื่อนร่วมวงเดิมตนเองมักมองอะไรแค่มุมเดียว แต่พอฟังพี่ ๆ ความเป็นมาของพี่ ๆ ที่เจอทั้งที่ดีและอาจจะแย่ ไม่ใช่มีแค่เราคนเดียวนะเจอ ทำให้รู้สึกโอเค มันใช่เลย ถ้าสามารถลบภาพประชุม KM เดิม ๆ ภาพที่ negative มันหายไป มีแต่ภาพมันสนุก น่าจะมีสัก 5 วัน ดีไหมแล้วมันทำให้คำถามแรกก่อนเข้ามาคือ soft KM คือ อะไร ถามน้องส้ม ยังไม่เคลียร์ ถามพี่วรรณนา ไม่รู้ แล้วก็ถามพี่เยาว์ ว่าจริง soft KM คือ อะไร และก่อนเข้ามาก็ไปค้นใน google แล้วก็ไม่ได้คำตอบ ก่อนเข้าห้องก็รู้สึก anxiety เพราะหนูไม่รู้ว่าจะพูดอะไรแต่พอเข้ามามันสนุกดีนะ มันไม่ได้เป็นอะไรที่แย่ และพอมาดูสไลด์ที่ประทับใจมากที่สุด คือ คนที่พูด มะเร็งคือกำไร

อาจารย์ศรีสุรักษ์ เกียรติมณีรัตน์ มาเข้าแบบนี้แล้วเข้าใจความรู้สึกเด็กเวลาขึ้นวอร์ดเลย จริง ๆ แล้วเวลามีประชุมหนูก็รู้สึก เบื่อ เข้าใจความรู้สึกเด็กว่าขึ้นฝึกแล้วไม่มีความสุขแต่พอมาทำแบบนี้ประชุม KM มันเป็นเรื่องสนุกสนาน มันเรื่องที่ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง เหมือนเด็ก ถ้าเค้ามีความสุขกับการขึ้นวอร์ดเวลาเรียนเค้าต้องมีความสุขกับการเรียนแน่ ๆ

อาจารย์อุษาโถหินัง ความรู้สึกตอนแรกว่าจะมี KM ก็รู้สึกเหมือนคนอื่น ก็แค่อยากมาดูว่าเป็นอย่างไรจะเหมือนกับที่เราเคยเข้า ๆ มาหรือเปล่า ใจก็คิดว่าคงจะเหมือน ๆ เดิมทุกครั้ง แต่พอมาเข้าแล้วรู้สึกว่าวันหนึ่งมันไปอย่างรวดเร็ว คือ มันมีกิจกรรม และทุกสิ่งทุกอย่างมันสอดแทรกไปด้วยสาระ ข้อมูล ความรู้ ที่เราได้จากทุกคนที่เล่ามา เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้วก็ในวีดีโอก็ชอบเด็กเหมือนกันยังไงถ้าเราให้อภัยกันด้วยความจริงใจก็จะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัดได้ก็ตัดไป ก็รู้สึกว่ามันนี้มาแล้วมีความสุข น่าจะต่ออีก

อ.บุปผาตอนแรกตั้งใจไปห้องสมุด อาจารย์ชมนาดชวนก็มา KM ตามประสบการณ์เดิมก็คิดว่าคงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน พอเห็นถือหมอน ถือเบาะมากันด้วยก็คิดว่าคงมานั่งสมาธิกัน แต่พอมาฟังอาจารย์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ ก็ถามอาจารย์อ้อยว่าคนอื่นจะมีโอกาสเข้าไหมคือความรู้สึกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เข้าฟังมันเป็นการเสียโอกาส เสียดายแทนพวกเค้า มันก็จะทำให้องค์กรเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จริง ๆ แล้วก็อาจจะทำให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น ความรู้สึกตัวเองเสียดายที่ยังไม่ได้พูด

อาจารย์พรทิพย์ สารีโสตั้งแต่เข้ามาอาจารย์ก็ดึงมาช่วย KM ตลอด แต่เราก็มีความรู้สึกว่าทำไมอาจารย์เราไม่ค่อยพูด พอเรียกประชุมก็กลายเป็นแบบโดนบังคับให้เข้า ตนเองก็ไม่ชอบให้ใครบังคับและไม่ชอบบังคับใคร ก็คิดหาวิธีอยู่ จนมาเข้าตรงนี้ตอนแรกก็อยากให้คณะกรรมการเข้าใจและคิดบวกกับมันก่อน แล้วทุกคนก็จะไปสอดแทรกทัศนคติที่ดีให้กับอาจารย์คนอื่น ๆ แล้วก็จะไปจัดให้กับอาจารย์ทุกคนตามที่วางไว้ความรู้สึกของตนเองที่เข้ามาก็คือ พอผ่านไปหลาย ๆ กระบวนการได้นั่งทบทวนตนเองเคยเข้ามาหลายครั้งแล้วของมหิดลที่จัด จิตตปัญญาศึกษา นี่มันคือ soft KM หรือ ก็เลยรู้สึกดี และน่าจะตอบอาจารย์หลาย ๆ คน รวมทั้งท่านคณบดีว่าคืออะไร และต่อไป KM เราจะไม่น่าเบื่อแล้ว และสิ่งที่ได้เรียนรู้ คือ ทำให้เราได้มองและพิจารณาตัวเอง ว่าจริง ๆแล้ว เรามีอะไร เราขาดอะไร แล้วคนอื่นเป็นอย่างไรแล้วมุมมอง เหมือนกับ ขนมปังถ้าเราทิ้งไว้นานโดยไม่ได้พัฒนาทำให้มันแข็ง อันนี้ก็เหมือนกันมันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่พัฒนาจิตใจ ถึงแม้ว่ามันจะเพิ่งเริ่มต้น แต่มันทำให้เราพัฒนาจิตใจที่จะรับฟัง เพื่อนร่วมงานได้มากขึ้น มันอาจจะทำให้จิตใจที่มันแข็ง ๆ อยู่มัน soft ลง เหมือน soft KM ก็ได้

อาจารย์อรนลิน สิงขรณ์ เดิมอยู่กับ KM มาตลอด ที่อาจารย์ทำโอเค รู้ละว่าถ้าเจอ KM จริง ๆ จะเป็นอย่างนี้แหละ ก็จะได้ความสุข ความรู้สึกดี ๆ ทำให้หลาย ๆ คนภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ ที่สำเร็จ สำหรับความรู้สึกต่อตนเอง วันนี้ได้ทดสอบสมรรถนภาพจิตตัวเอง ก็ผ่านสามารถควบคุมจิตใต้สำนึกได้ละ ส่วนความรู้สึกต่อเพื่อนร่วมงาน ปกติจะไม่คิดลบกับใครแต่ก็ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะเราเป็นพยาบาลเก่าไม่ใช่ครู เข้าใกล้แล้วเราจะทำตัวไม่ถูกหรือเปล่า เพราะครูเค้าจะมีมาตรฐานของเค้า ของพี่ไม่ค่อยมีมาดความเป็นครูแต่พอมาวันนี้จากติดลบ บวกเล็ก ๆ มันทำให้บวกมากขึ้น ที่ได้เรียนรู้มากที่สุด คือ เทคนิคการสอน โดยเฉพาะภาคปฏิบัติ เดิมนี้ภูมิใจมาก สอน post grade สอนรู้เรื่อง เข้าใจ แต่พอมาสอนเด็ก คือมันเป็นผ้าขาว มันจะต้องยังไงนะ วาง process อย่างไร ให้มันพอดีแล้วเด็กรู้เรื่อง เข้าใจ สอนเด็กนี้มันยากกว่าสอน ป โท วันนี้ก็ได้เทคนิคที่จะสอนต่อไปน่าจะดีขึ้น

อาจารย์์ปิยภร ไพรสนธิ์ความรู้สึก คือ ที่ผ่านมาการเข้าร่วมกิจกรรม KM คนที่พูดก็พูด คนที่ไม่พูดก็ไม่พูดเลย มันทำให้มีความรู้สึกว่าเมื่อไหร่จะเลิก แต่วันนี้มันทำให้รู้สึกว่า ทำไมเวลามันหมดเร็วจัง เพิ่งจะพูดแบบเต็ม ๆ 2 คนเอง มันเลยมีความรู้สึกว่า อาจจะต้องสัก 5 วัน ไหมคือมันมีความรู้สึกสนุก และสิ่งที่ได้ มันได้มากกว่าการทบทวนตัวเองมันได้มองเพื่อน มองเพื่อนร่วมงาน คือต้องบอกเลยตอนแรกที่มาที่นี่รู้สึกสับสนมาก คือเรายอมที่จะลาออกจากราชการมาอยู่ที่นี่ โดยที่ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีใครรู้จัก แล้วพอมาเจอสังคมของการเป็นครูที่มีบรรยากาศของการแข่งขันทางวิชาการ ทำให้เรารู้สึกว่าสังคมครูพยาบาลมันเป็นแบบนี้หรอ เราไม่เหมาะสมหรือเปล่า ทำให้เกือบจะอยู่ไม่ได้

อาจารย์วราภรณ์แย้มมีศรี KM วันนี้เป็นอะไรที่ประทับใจมาก รู้สึกว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ สนุกสนาน ไม่ได้เกิดจากการบังคับ มันเกิดจากใจของแต่ละคนที่อยากจะพูดอยากจะเล่าสู่กันฟัง ที่ประทับใจจริง ๆ ประทับใจทุกคน แต่ที่สุด คือของพี่แอ๊ด ที่ถอดรองเท้าเหยียบขี้วัว เพื่อให้มีเพื่อนเล่น ก็เลยได้ข้อคิดว่า คนเราเปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนได้

หมายเลขบันทึก: 584193เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2015 04:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2015 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าสนใจมาก

ละเอียดและชัดเจนดี

เอาอันนี้มาฝากด้วยครับ

https://www.gotoknow.org/posts/579426

อีกอันของที่มหาสารคาม ลงชุมชนเรียนรู้แล้วค่อยถอดบทเรียนครับ

เพื่อให้งานสอนสอดคล้องกับการบริการวิชาการ การวิจัยครับ

https://www.gotoknow.org/posts/581009


https://www.gotoknow.org/posts/581329


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท