CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๐๘ : นโยบายที่ชัดเจนยิ่ง


วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ มีการจัดประชุมร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (อ่านได้จาก บันทึกนี้) ตอนบ่ายของวันเดียวกัน มีการประชุมกันของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและมูลนิธิยุวสถิรคุณ ข้อสรุปของการประชุมอาจจะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนดีที่ไม่เคยมีโอกาส ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน สังคม และชาติ อย่างมีนัยสำคัญ

ผมนั่งฟังแนวคิดและนโยบายที่ผู้ใหญ่คุยกันอย่างตั้งใจ อีกทั้งยังบันทึกเสียงนำกลับมาฟังอีกหลายรอบ ท่านได้มอบหมายให้ผมลองไปคิดต่อ และร่างแนวทางการสร้างหลักสูตรนี้ต่อ ...ผมถือว่านี่เป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งของชีวิตตนเอง ที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินตามรอยเท้าพ่อ...


มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นที่พึ่งและผู้นำในการพัฒนาชุมชนและสังคม ความมุ่งมั่นนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างระหว่างบริบทในสังคมไทยในศตวรรษที่ ๒๑ กอปรกับค่านิยมองค์กร "TAKASILA ที่ประกาศในงานถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติของปี ๒๕๕๘ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ได้กำหนดไว้ในตัวอักษร "S" ที่กำหนดเป็นคำว่า Sufficiency Economy หรือ เศรษฐกิจพอเพียง แสดงให้เห็นความ "ชัดเจน" ของนโยบาย ที่จะใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนามหาวิทยาลัยเพื่อส่วนรวม สังคม ประเทศชาติอย่างจริงจัง

นโยบายการขับเคลื่อนในมหาวิทยาลัย มุ่งน้อมนำมาปรับใช้ทั้ง ๒ แนวทาง ได้แก่ ๑) การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา ที่พุ่งเป้าไปที่การพัฒนาบุคลากรและนิสิตทุกคนในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มที่การสร้างนิสิตแกนนำอย่างเป็นระบบด้วยโครงการ " เด็กดีมีที่เรียน" และ ๒) การสร้างผู้นำชุมชน หรือคนต้นแบบในอนาคต ด้วยการเปิดหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐิจพอเพียง โดยมีหลักการดังจะได้กล่าวต่อไป


เป้าหมายสูงสุดของการขับเคลื่อน ปศพพ. คือการสร้างคน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือมอบหมายให้สำนักศึกษาทั่วไปซึ่งมีพันธกิจที่จะสร้างนิสิตให้เป็นดีตามคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของรายวิชาศึกษาทั่วไปอยู่แล้ว

การจัดการเรียนการสอนของรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เหมาะสมกับนิสิตในศตวรรษใหม่ ต้องไม่ใช่ "สอนวิชา" หรือเน้นเพียง "เนื้อหา" แต่ต้องเปลี่ยนมาสร้างค่านิยมร่วมในการ "สอนคน" "สอนชวิต" และกำหนดเป้าหมายที่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome) ด้านทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากภายในอย่างแท้จริง (transformation) การจัดการเรียนรู้ควรจะประกอบด้วยองค์ประกอบ ๓ ประการดังรูป (ปรับจากกรอบผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังและระบบสนับสนุน ที่นี่)




องค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ ๑) การพัฒนาอาจารย์และกระบวนการเรียนรู้ ๒) การสร้างสื่อ สิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัย สอดคล้อง เหมาะสมกับบริบท และ ๓) มีการวิจัยและมีมาตรฐานการประเมินผล โดยมีระบบและกลไกสนับสนุนและการบริหารจัดการที่ดี และมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบ่มเพาะ ปลูกฝัง และฝึกฝนให้นิสิตเป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" ที่มีองค์ความรู้ในตนที่จำเป็น มีสมรรถนะสำหรับศตวรรษใหม่ทั้ง ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนรู้ ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร

แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง


แนวคิดการสร้างหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐกิจพอเพียง (ศศ.บ.ปศพพ.) นี้ จึงน่าจะเป็นหลักสูตรหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างบัณฑิตที่พึงประสงค์ฯ เพียงแต่ต่างไปตรงที่ เป็นหลักสูตรที่ใหม่ไม่เฉพาะกับผู้เรียน แต่กระบวนการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและวัสดุอุปกรณ์นั้นไม่ใช่ปัญหา เพราะมหาวิทยาลัยมหาสารคามพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่สามารถทำได้ทันที เพราะทั้งฟาร์มมหาวิทยาลัยและพื้นที่หลายๆ ส่วนเหมาะสมที่จะเป็นแปลงฝึกสำหรับนิสิตอยู่แล้ว และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญทั้งศาสตร์ด้านการเกษตร และเรื่องระเบียบวิธีวิจัยและการสร้างเครื่องมือวัดประเมินต่างๆ อย่างไรก็ดี ยังมีส่วนที่ต้องแสวงหาภาคีเข้ามาร่วมมือในการสร้างหลักสูตรฯ คือ ด้านองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สื่อการสอน หนังสือ นวัตกรรม หรือแหล่งเรียนรู้หลักการทรงงานของในหลวง และที่สำคัญคือ งบประมาณสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาที่จะมอบสมทบด้านค่ากินอยู่ตลอดหลักสูตรฯ ๔ ปี ร่วมกับค่าเล่าเรียนและค่าที่พักที่มหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สนับสนุน




นิสิตที่สำเร็จหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. นี้ ต้องมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์สำคัญ ๒ ประการ ได้แก่ ๑) เป็นผู้ภาคภูมิใจและหวงแหนท้องถิ่นภูมิปัญญา มีอุดมการณ์ที่จะกลับไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพบนพื้นแผ่นดินถิ่นตนเอง และ ๒) คือต้องเป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม คิดและทำเพื่อส่วนรวม ความคาดหวังในภายหน้า หลังจากที่นิสิตน้อมนำไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะได้เกษตรกรต้นแบบหรือประชาชนต้นแบบ ซึ่งจะเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มี "หัวใจพอเพียง" เพิ่มๆ ปีละ ๑๐ - ๒๕ คน จากหลักสูตรนี้




จุดแข็งของหลักสูตรฯ คือ ความสอดคล้องกับทั้งปัญหาและยุทธศาสตร์ของประเทศในขณะปัจจุบัน ที่ต้องร่วมกันสร้างประชาชนต้นแบบให้มากที่สุด ความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยที่จะน้อมนำไปใช้ในการพัฒนาชุมชนและสังคม และนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอธิการบดีที่มีฉันทะในเรื่องนี้อย่างยิ่ง


แนวคิดในการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ.

การจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร ศศ.บ.ปศพพ. ต้องริเริ่มและร่างขึ้นใหม่ ทุกรายวิชาต้องบูรณาการและน้อมนำ ปศพพ. ไปใช้ใจการฝึกคิด ฝึกทำ และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นใหม่ให้สอดคล้องกับหลักการ "สอนคน" "สอนชีวิต" ให้เป็นผู้มีอุปนิสัย "พอเพียง" มีทักษะชีวิตและศักยภาพในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรดีเยี่ยม มีทักษะในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ มีทักษะการสื่อสาร รู้จักใช้ประโยชน์จากวิทยาการสารสนเทศสมัยใหม่ และมีความคิดความอ่านหรือทักษะพื้นฐานตามยุคสมัย อันเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก สามารถพึ่งตนเองได้ รักและหวงแหนทรัพยการธรรมชาติ ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่น และมีภาวะความผู้นำ


ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ต้องเป็นหลักสูตรที่เน้นการปฏิบัติ เรียนด้วยการลงมือทำ (Learning by doing) หรือเรียนด้วยการทำงาน (Work-based Learning) ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนทั้งร่างกายและจิตใจ ความคิดสติปัญญา ให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ซึ่งน่าจะแบ่งกระบวนการเรียนรู้ออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่


ระยะที่ ๑) เรียนรู้องค์ความรู้พื้นฐานวิทยาการที่จำเป็น เรียนรู้ทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการทรงงาน โดยการศึกษาค้นคว้าและการศึกษาดูงานจากความสำเร็จจากโครงการหลวงต่างๆ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดีเยี่ยม (best practices) จากปราชญ์ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่ ฯลฯ อาจารย์ผู้สอนในส่วนนี้ อาจเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือคณาจารย์ที่มีจิตอาสาที่จะมาร่วมพัฒนานิสิตแกนนำต้นแบบตามแนวทางนี้


ระยะที่ ๒) ลงมือปฏิบัติทดลองน้อมนำมาใช้ด้วยตนเอง (เรียนรู้จากการปฏิบัติ) นิสิตแต่ละคนจะได้รับมอบหมายพื้นที่แปลงฝึกให้รับผิดชอบ ลองน้อมนำหลัก ปศพพ. มาใช้ด้านการเกษตร ทดลองทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในมหาวิทยาลัย ภายใต้การดูแลของ "ครูฝึก" ที่เป็นบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและรับผิดชอบในแต่ละด้าน เช่น ผู้จัดการฟาร์ม ลุงป้าน้าอาคนงาน อาจารย์คณะเทคโนเกษตร ฯลฯ หรือปราชญ์ชาวบ้านที่เป็นเครือข่าย


ระยะที่ ๓) เรียนรู้จากการทำงาน (work based learning) ในแปลงเกษตรจริงๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมาย กระบวนการเรียนรู้ต้องเหมือนจริงในการประกอบอาชีพจริง มีการลงทุน มีการริเริ่มสร้างสรรค์ มีการผลิต มีกระบวนการนำไปส่งขาย หรือแปรรูปขายในตลาดในมหาวิทยาลัยหรือภายนอก


ในกระบวนการคัดกรองนิสิตผู้เข้ารับทุนการศึกษาในหลักสูตรนี้ น่าจะมีกระบวนการแบบ ๓๖๐ องศา และใช้ระยะเวลาในการทดสอบและพิสูจน์ "ฉันท" และ "วิริยะ" ของผู้สมัคร นิสิตที่มีใจและมีพื้นฐานและประสบการณ์ที่ดี จะทำให้โอกาสในการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังไว้สำเร็จได้สูงขึ้น เพราะกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม (Experiential Learning) นั้นสำเร็จได้ง่ายกว่าการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด บันทึกหน้าจะได้นำเสนอแนวทางการคัดกรองนิสิตต่อไป


สุดท้าย ผมเสนอว่าสิ่งที่ต้องคำนึงไว้ในใจ ตลอดเวลา คือ หลักสูตรนี้จะต้องจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) การเรียนรู้หลัก ปศพพ. ด้วยใจที่ใคร่ครวญ (จิตตปัญญาศึกษา) หรือการศึกษาตามแนวทางวิธีพุทธ น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ต้องพิจารณาร่วมกันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 584192เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2015 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2016 03:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท