SEEN อีสาน _๐๔ : โครงการพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้และข้บเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


วันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๗ CADL สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดโครงการพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่เพื่อหนุนเสริมการเรียนรู้ (LLEN) และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา (ปศพพ.) (SEEN) เขตพื้นที่อีสานตอนบน มีผู้เข้าร่วมการประชุมจำนวนประมาณ ๙๐ คน เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ และครูแกนนำ เป้าประสงค์ ๓ ประการในการจัดโครงการนี้คือ ๑) เพื่อให้ทุกคนทราบแนวทางในการขับเคลื่อนฯ ของศูนย์สถานศึกษาพอเพียง (ศสพ.) มูลนิธิยุวสถิรคุณ ๒) ทบทวนความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการขับเคลื่อนฯ ปศพพ. ที่ผ่านมา และ ๓) เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดบทบาทในการขับเคลื่อนฯ ในปี ๒๕๕๘ นี้ต่อไป

ผม AAR ว่าเป้าประสงค์ข้อที่ ๑) สำเร็จเสร็จชัดเจนแล้วในระดับเท่าที่จะชัดเจนได้ เพราะสิ่งที่ยังไม่ชัด เป็นสิ่งที่เกินขีดจำกัดหน้าที่ของมูลนิธิฯ อย่างไรก็ดี ท่านก็ได้แนะนำวิธีที่จะดำเนินการทางเอกสารเพื่อให้ได้แผนการของการประเมินโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ชัดเจนขึ้น (อ่านสรุปเรื่องนี้ได้ ที่นี่)

สำหรับวัตถุประสงค์ข้อที่ ๒) คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประเมินดูความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมา เราเริ่มด้วยการรายงานผลการขับเคลื่อนฯ ในมุมมองของผมเอง (ในฐานะนักขับเคลื่อนฯ นักวิชาการ) ก่อนจะต่อในช่วงท้ายให้ทุกโรงเรียนได้ประเมินตนเองตามกรอบและเครื่องมือที่นำมาเสนอ ขอสรุปพอสังเขปให้ท่านเห็นกระบวนการและผลลัพธ์ดังนี้

รายงานผลการขับเคลื่อนฯ ในมุมมองของ "นักขับเคลื่อนฯ ปศพพ."

รายละเอียดที่ผมเสนอต่อที่ประชุม มีในเอกสารประกอบการประชุมโครงการฯ ดาวน์โหลดได้ ที่นี่ครับ สรุปสำคัญคือ มีโรงเรียนในโครงการขับเคลื่อนฯ ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล จำนวน ๒๑ โรงเรียน ซึ่งมี ๖ โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศรร.) แล้ว และมาเพิ่มเติมภายหลังอีกจำนวน ๕ โรงเรียน มีโรงเรียนที่ผ่านการประเมินใหม่ ๑ โรงเรียนคือ โรงเรียนโนนสังวิทยาคาร โรงเรียนที่เพิ่งประเมิน ๒ โรงเรียน กำลังอยู่ในขั้นตอนการยืนยัน คือ โรงเรียนบ้านเป้าวิทยา และ โรงเรียนโคกเพชรวิทยาคาร นอกนั้นทั้งหมด กำลังจะยืนขอรับการประเมินต่อไป

ข้อค้นพบ

ทีมขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาในเขตพื้นที่อีสานตอนบนมีข้อค้นพบทั้งเชิงกระบวนทัศน์และกระบวนการที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนฯ ของมูลนิธิฯ ดังนี้

๑)นักเรียนในโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ฯ และโรงเรียนต่างๆ ที่ประสบผลสำเร็จในการขับเคลื่อนฯ มีความแตกต่างจากโรงเรียนที่ไม่ได้ขับเคลื่อนฯ อย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งด้านปัญหาด้านพฤติกรรมเสี่ยง ความมั่นใจ ความกล้าแสดงออก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบระหว่างโรงเรียนขยายโอกาสนอกเมืองด้วยกัน



๒) โรงเรียนส่วนใหญ่ (ทั้งผู้อำนวยการโรงเรียนและครู) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนฯ ในลักษณะของโครงการเพิ่มเติมจากภาระงานหลัก ไม่ได้ส่งเสริมให้บุคลากรทั้งโรงเรียนถือเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการทำหน้าที่ทุกอย่างและตลอดทั้งการดำเนินชีวิตของแต่ละคนอย่างจริงจัง

๓) การขับเคลื่อนฯ ขาดความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน กิจกรรมส่งเสริมอุปนิสัยพอเพียงหรือกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ และการดำเนินชีวิตจริงในชีวิตประจำวันนอกโรงเรียน การนำ ปศพพ. มาปรับใช้ในโรงเรียนเป็นไปอย่างแยกส่วนระหว่าง ๓ ส่วน ดังรูปด้านซ้ายซึ่งการขับเคลื่อนฯ ที่ถูกต้อง “สอนชีวิต" ควรออกแบบให้สอดคล้องเชื่อมโยงกันเหมือนรูปด้านขวา



๔) บุคลากรทางการศึกษาส่วนใหญ่มีกระบวนทัศน์พัฒนาคุณธรรมแยกจากวิชาการ โครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม แยกจากโครงการพัฒนาทักษะและวิชาการอื่นๆ แยกการพัฒนาพฤติกรรมหรือเจตคติออกจากการพัฒนาทักษะและความรู้ ดังรูปด้านซ้าย ซึ่งกระบวนการขับเคลื่อนฯ ทั้ง ๓ ด้านควรเกี่ยวร้อยและสมดุลกัน ดังรูปด้านขวา



๕) การจัดการเรียนรู้ของครูส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ “เน้นเนื้อหา" “เน้นการสอน" ถ่ายทอดความรู้ หรือข้อมูลแบบจดจำหรือออกแบบให้ทำตามเพื่อฝึกทักษะบางอย่างเพื่อให้ทำได้ ทำเป็น การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมทักษะการคิดและการลงมือปฏิบัติ เช่น การเรียนรู้ผ่านโครงงานบนฐานปัญหาชีวิตจริง ที่เน้นให้ฝึกกระบวนการเรียนรู้และนักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองยังมีน้อยมาก

๖) การสอนส่วนใหญ่ยังเป็นการสอนเดี่ยว โดยแบ่งระดับชั้น /ห้องเรียนให้ครูแต่ละคนรับผิดชอบชัดเจน ยกเว้นการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรมที่ใช้กิจกรรมที่ทำร่วมกัน นักเรียนเรียนเดี่ยวสอบเดี่ยว

๗) ปัจจัยของความสำเร็จประการสำคัญที่สุดคือบุคคล “พอเพียง" หากโรงเรียนมีผู้อำนวยการ หรือครูแกนนำ ที่เข้าใจและระเบิดจากภายในใจตนเอง จะมีแนวโน้มประสบผลสำเร็จมากกว่า อย่างไรก็ดี ในแต่ละโรงเรียนมีบุคคล “พอเพียง" ไม่มาก และหลายท่าน ไม่ใช่นักสื่อสารหรือขับเคลื่อน


๘)โรงเรียนที่ประสบผลสำเร็จในการเข้าร่วมโครงการ “โรงเรียนวิถีพุทธ" มีแนวโน้มจะขับเคลื่อนได้ง่ายกว่า

ข้อค้นพบเชิงวิพากษ์

ทีมงานขับเคลื่อนฯ พบปัญหาความเข้าใจคลาดเคลื่อนและอุปสรรคที่ทำให้การขับเคลื่อนฯ ไม่ประสบผลสำเร็จ ๑๐ ประการ ในการพัฒนานักเรียนตามหลัก ปศพพ. ด้านการศึกษา เพื่อปลูกฝัง “อุปนิสัยพอเพียง" โดยยึดหลัก “เข้าใจ เข้าถึง แล้วจึงพัฒนา" ตามพระราชดำรัสของในหลวง ได้แก่

๑) เข้าใจผิดว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องเกี่ยวข้องกับการเกษตร ไม่เข้าใจในตัวทฤษฎีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือเกษตรทฤษฎีใหม่

๒) เข้าใจว่าหลักความพอเพียง คือต้อง “ประหยัด ใช้แต่น้อย ใช้ของในพื้นถิ่น อดออม รีไซเคิล" สังเกตจากโครงงานของนักเรียนที่เน้นเรื่องประหยัด ใช้ของที่ไม่ได้ซื้อ แต่มักอธิบายไม่ได้ว่า คุ้มค่าหรือไม่อย่างไร

๓) เข้าใจว่าการขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นงานของในหลวง เข้าใจว่าทำไปเพื่อในหลวง เพื่อถวายความจงรักภักดี เข้าไม่ถึงคุณค่าของหลักปรัชญา เข้าไม่ถึงเป้าหมายของในหลวงที่ท่านทรงพระราชทานหลักปรัชญาฯ แก่ประชาชน

๔) เข้าใจว่างานขับเคลื่อนฯ เป็นงานเพิ่มเติมจากงานหลัก เข้าใจว่าเป็นโครงงานล่ารางวัล เข้าใจว่าเป็นงานชั่วคราว เข้าใจว่าเป็นงานที่สามารถเตรียมนักเรียนหรือโรงเรียนตามเกณฑ์การประเมินได้ เข้าไม่ถึงแก่นของความยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการขับเคลื่อนฯ

๕) ไม่เข้าใจว่ามูลนิธิสยามกัมมาจล กำลังขับเคลื่อนให้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการคิด ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีอุปนิสัยพอเพียง อันจะทำให้ได้เยาวชนที่มีคุณภาพแก่สังคม

๖) การขับเคลื่อนฯ ในโรงเรียนขาดความเชื่อมโยงระหว่างกระบวนการจัดการเรียนการสอนในห้อง กิจกรรมในโรงเรียน และชีวิตจริง

๗) การขับเคลื่อนฯ หลายโรงเรียนอาจสามารถทำให้นักเรียน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น แต่ยังมีน้อยมากที่สามารถขับเคลื่อนให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ หรือ เรียนรู้ด้วยตนเองเป็น กล่าวคือ สามารถนิยาม ตีความ และนำไปใช้ได้ แต่ยังไม่สามารถออกแบบสร้างสรรค์ได้

๘) ยังเข้าไม่ถึงความเชื่อมโยงบูรณาการระหว่าง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทักษะในศตวรรษที่ ๒๑และ อาเซียน ว่า ทั้งหมดได้รวมไว้แล้วในหลักสูตรแกนกลาง ปี ๒๕๕๑หรืออาจกล่าวสั้นๆ ว่า ไม่เข้าใจหลักสูตรแกนกลาง

๙) ปัญหาสำคัญของการขับเคลื่อนฯ คือ ผู้บริหารหรือครูแกนนำที่ไม่เข้าใจ ไม่ต่อเนื่อง ไม่ใส่ใจในรายละเอียด และมานะอัตตาของครู

๑๐) การขับเคลื่อนฯ ที่ยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป ทำให้ทั้ง ผอ. ครู และนักเรียน ไม่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายใน อย่างแท้จริง ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน มีศรัธาและเห็นเป็นเรื่องจำเป็นตามกระแสงของสังคมเท่านั้น

บันทึกหน้ามาว่ากันต่อเรื่องกระบวนการแลกเปลี่ยนครับ

หมายเลขบันทึก: 583067เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 01:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2014 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท