การเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับสังคมไทย


 

          ผมเฝ้าหาทางเรียนรู้ว่าคนในวงการศึกษาไทย มีความเข้าใจการศึกษาในปัจจุบัน ว่ามันแตกต่างจากการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อย่างไร    มาได้จุดสำคัญระหว่างนั่งฟัง Workshop ครูเพื่อศิษย์ครั้งที่ ๓ ของ มสส. เมื่อวันที่ ๒๐ เม.ย. ๕๕   ที่มีเป้าหมาย สร้าง Change Agent ของการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ในโรงเรียน ด้วยเครื่องมือ ๓ ชนิด คือ PBL, PLC, และ 21st Century Skills

          เหมือนกับเข้า แลบ (lab) ปฏิบัติการทางสังคม เพื่อเรียนรู้กระบวนทัศน์ทางการศึกษา ของคนใน วงการศึกษาไทย

          ผมได้ตระหนักว่า แม้จะมีการเผยแพร่หนังสือ  การบรรยาย  การประชุมปฏิบัติการ เกี่ยวกับเครื่องมือทั้ง ๓ ไปแล้วพอสมควร   ครูและคนในวงการศึกษาก็ยังเข้าใจเรื่องดังกล่าวน้อยมาก    คนที่เคยฟังแล้วหลายๆ ครั้ง และได้รับแจกหนังสือไปแล้ว ก็ยังไม่เข้าใจชัด

          แสดงว่า กระบวนทัศน์การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๐ ยังครอบงำระบบการศึกษาไทยอยู่อย่างมืดมิด  

          ครอบงำให้ประพฤติปฏิบัติแบบเดิมๆ โดยไม่รู้ตัว    ไม่รู้ว่า ต้องช่วยกันหาทางปฏิบัติแนวใหม่ เพื่อให้ศิษย์ได้เรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          จึงเป็นโอกาสสื่อสาร หรือ ลปรร. ความเข้าใจของผม   ว่าการเรียนรู้ยุคใหม่ (ยุคศตวรรษที่ ๒๑) แตกต่างจากการเรียนรู้ยุคเก่า คือยุคศตวรรษที่ ๒๐ ที่เรายังยึดถือปฏิบัติกัน    โดยในบันทึกนี้ขอเสนอเพียง ๒ ประเด็น   คือ (๑) รูปแบบการเรียนรู้ (Learning Mode) ที่ได้ผลดี ตามแนวทางใน Learning Pyramid  (๒) สิ่งที่เรียนรู้ ตามแนวทาง 21st Century Skills


รูปแบบการเรียนรู้ที่ได้ผลดี

          โปรดดูภาพ Learning Pyramid ข้างล่าง    จะเห็นว่า รูปแบบการเรียนรู้ (instruction mode) ที่ใช้มากในปัจจุบัน อยู่ที่ชั้นบนๆ ของปิรามิด    ได้แก่การบรรยาย  การอ่าน  การดูโสตทัศน์  และการดูการสาธิต   ซึ่งนักเรียนจะเข้าใจและจดจำ (retention rate) ได้น้อย    รูปแบบการเรียนรู้ที่ได้ผลดี ต้องอยู่ที่ส่วนฐานของปิระมิด ได้แก่ การสอนผู้อื่น/ใช้งานทันที (หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้)   การปฏิบัติ   และการอภิปรายกลุ่ม   ในภาพระบุว่า รูปแบบการเรียนรู้กลุ่มแรก (อยู่ที่ส่วนบนของปิระมิด) เป็นการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้จากภายนอก (outside-in) เช่นจากครูหรือตำรา    ส่วนรูปแบบการเรียนรู้กลุ่มหลัง เรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบงอกงามจาก ภายในตน (inside-out)   การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้นรูปแบบการเรียนรู้กลุ่มหลัง

 

 

 

สิ่งที่เรียนรู้

ตามรูป 21st Century Skills ข้างล่าง จะเห็นว่าเป้าหมายของการเรียนรู้ในระบบโรงเรียนในปัจจุบัน จำกัดอยู่แค่วงสีเขียว คือสาระวิชา เท่านั้น   ไม่รวมอีก ๓ กลุ่มที่เป็นสีแดง เหลืองและน้ำเงิน   คือทักษะชีวิตและอาชีพ  ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม  และทักษะเทคโนโลยี

 

 

 

          เพราะการศึกษาไทยในปัจจุบัน เน้นเฉพาะเป้าหมายวิชา คือสีเขียวเท่านั้น   ไม่ครอบคลุมทักษะชีวิต   ครูจึงรู้สึกเฉยๆ เมื่อเห็นศิษย์วัยรุ่นของตนเสียคนไปต่อหน้าต่อตา    ไม่คิดว่านั่นคือหลักฐานเชิงประจักษ์ว่านั่นคือตัวบอกความอ่อนแอของการศึกษา    ที่ไม่บ่มเพาะทักษะชีวิตแก่เด็ก   ให้มีความสามารถเอาชนะแรงดึงฝ่ายต่ำ และแรงสูบฉีดฮอร์โมนวัยรุ่นได้

 

          การศึกษาในยุคใหม่ ต้องบ่มเพาะ งอกงาม ที่เลยจากการรู้วิชา สู่การมีทักษะ ๓ กลุ่มดังภาพข้างบน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ พ.ค. ๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 488818เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

พัฒนาครูให้เข้าใจและมี 21st century skills จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท