โครงการสร้างคนที่ชุมชนบ้านปะอาว : (ตอนที่ 2) กราบนมัสการพระครูสุตบูรพาสถิตย์


.. ดิฉันเพิ่งรู้ตัวว่าพลาดพลั้งเปิดช่องให้หลวงพ่อเสียแล้ว เพราะหลวงพ่อเล่าว่า .. หลังจากท่านเรียนจบ (ปริญญาเอก ยุทธศาสตร์การพัฒนา) นักวิชาการต่างๆ ก็ 'ดาหน้า' กันเข้าหาขอความร่วมมือ .. ไม่มีใครช่วยงานเลย หายาก .. นี่ก็ไม่มีเวลาเลย ร่างกายก็ไม่ไหวแล้ว .. แต่สายตาท่านดูอิ่มใจ พระนักพัฒนาก็เช่นนี้นะคะ ฝึกจิตให้สงบผ่านงานที่ทำ

17 มี.ค.58

เมื่อออกจากศูนย์หัตถกรรมเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ดิฉันตั้งใจจะแวะมาพบ 'พ่ออี๊ด' บุคคลสำคัญ เพราะเป็นคนพาดิฉันไปตระเวนแนะนำกับผู้นำชุมชนทั้ง 8 หมู่บ้าน รวมทั้งผู้นำสงฆ์คนสำคัญ คือพระครูสุตบูรพาสถิตย์ ซึ่งขณะนั้นท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าคณะตำบลปะอาว ทั้งที่มีคุณสมบัติเหมาะสมก็ตาม ขณะขับรถมาถึงบ้านพ่ออี๊ดนั้นบ้านปิด และไม่ปรากฎว่ามีรถกระบะคู่ชีพของแกจอดอยู่ในโรงรถ ดิฉันจึงบอกสามีว่าให้ขับผ่านเลยไปบ้าน 'พ่อทวี' ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 เพื่อรับประทานอาหารเย็น

บ้านพ่ออี๊ดอยู่ติดกำแพงวัดด้านตะวันตก เมื่อขับรถเลยหน้าบ้านพ่ออี๊ด ท้ายรถยังอยู่หน้าบ้าน แต่หน้ารถก็เข้าเขตวัดบูรพาปะอาวเหนือแล้ว นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ พ่ออี๊ดแกได้เป็นกรรมการวัด เป็นคนสำคัญคนหนึ่งที่ได้ถือกุญแจเซฟเงินสดหมุนเวียนของวัด ร่วมกับกรรมการอีก 2 คน

เมื่อท้ายรถพ้นประตูวัดด้านทิศตะวันตก หน้ารถก็ถึงหน้ากุฏิพระครูสุตบูรพาสถิตที่ดิฉันใช้สรรพนามเรียกท่านว่า 'หลวงพ่อ' ทันที คนในรถ (ลูกสาวและสามี) สังเกตว่าประตูกุฏิปิด ไฟฟ้าในกุฏิไม่เปิด จึงพูดขึ้นพร้อมๆ กันว่า "หลวงพ่อไม่อยู่" แต่โดยสัญชาตญาณ ดิฉันก็อดมองเข้าไปในกุฏิไม่ได้ ก่อนจะตอบกลับไปว่า "วันนี้ยังไม่คุยกับหลวงพ่อหรอก เดี๋ยวยาว.." เพราะ หลวงพ่อกับดิฉันนั้น เมื่อพบกันก็จะมีอาการ 'แย่งกันพูด' เสมอ ไม่มีใครยอมฟังอีกคนหรอก ก็.. จะมีสักกี่คนที่พูดกันรู้เรื่อง มุมมองตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องการบ้านการเมืองของชุมชนที่มองตรงกันเสมอ .. เราจึงไม่เคยพูดคุยกันสั้นๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว

สิ้นเสียง "เดี๋ยวยาว.. " เมื่อเบนสายตาจากกุฏิ หันกลับมา ก็พบหลวงพ่อยืนอยู่หน้ารถพอดี ท่านกำลังยืนรดน้ำสนามหญ้าหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านปะอาว สามีดิฉันรีบจอดรถ.. โอกาสดีๆ เช่นนี้หาได้ไม่ง่าย คุณยายท่านหนึ่งที่เป็นโยมอุปัฎฐากหลวงพ่อมานานหลายสิบปีเคยบ่นให้ดิฉันฟังว่า "ท่านเหมือนเด็กๆ เห็นยายเดินไปหาก็เดินหนี เหมือนเห็นว่าเราจะไปหา แต่ก็เดินหนีทุกครั้ง" "ใครมาพบก็ต้องเดินหากันก่อน" ฯลฯ ดิฉันจึงรีบกระโดดลงจากรถตรงไปนมัสการท่านโดยเร็ว เพราะหากท่านเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นที่รโหฐาน(ยามพลบค่ำ) ดิฉันก็หมดโอกาสน่ะซิ

หลังจากไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบแล้ว ดิฉันก็ต้องออกตัวว่าช่วงนี้สมบูรณ์ไปสักหน่อย ไม่เคยกินอิ่มนอนหลับยาวๆ เช่นนี้มาก่อนเลยตลอดชีวิต จนกระทั่งเรียนจบ ทำให้ข้อเท้า ข้อเข่าเสื่อมลงมาก เพื่อบอกเป็นนัยว่า ดิฉันไม่สามารถนั่งยองๆ หรือคุกเข่าที่พื้นและพนมมือ ระหว่างสนทนากับพระภิกษุได้เหมือนชาวบ้านทั่วไปในชุมชน (ทั้งที่เป็นที่รู้กันในชุมชนว่าดิฉันแสดงอาการเช่นนี้ไม่ได้มาตั้งแต่แรกแล้วก็ตาม)

เราคุยกันหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นงานที่ท่านกำลังทำ ฟังแล้วรู้สึกเหนื่อยแทน ก่อนกลับออกมาดิฉันได้ บอกวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในชุมชนครั้งนี้ ว่าเป็นแบบ 'ไม่ฝังตัว' ไม่อพยพมาอยู่ในชุมชนทั้งครอบครัวเหมือนเดิม แต่จะเป็นไป-กลับ คือมาวันเสาร์-อาทิตย์แบบค้าง 1 คืน แต่จะเข้าร่วมกิจกรรมวันสำคัญของชุมชนเหมือนเดิม หลวงพ่อสามารถเรียกใช้งานได้เหมือนเดิม .. ดิฉันเพิ่งรู้ตัวว่าพลาดพลั้งเปิดช่องให้หลวงพ่อเสียแล้ว เพราะหลวงพ่อเล่าว่า .. หลังจากท่านเรียนจบ (ปริญญาเอก ยุทธศาสตร์การพัฒนา) นักวิชาการต่างๆ ก็ 'ดาหน้า' กันเข้าหาเพื่อขอความร่วมมือ .. ไม่มีใครช่วยงานเลย หายาก .. นี่ก็ไม่มีเวลาเลย ร่างกายก็ไม่ไหวแล้ว .. แต่ดิฉันสังเกตว่าสายตาท่านดูอิ่มใจ พระนักพัฒนาก็เช่นนี้นะคะ ฝึกจิตให้สงบผ่านงานที่ทำ ดิฉันสรุปเองค่ะ

หมายเหตุ :

(1) เนื้อเรื่องตั้งแต่ตอนที่ 2 เป็นต้นไป จะให้รายละเอียดพฤติกรรมของแต่ละบุคคลค่อนข้างมาก และกล่าวย้อนอดีตที่มีความเชื่อมโยงกัน เพื่อสะท้อนถึงระดับความสัมพันธ์และบรรยากาศที่เกิดขึ้น

(2) ดิฉันขอเผยแพร่บทความนี้ 1 วัน (18 ม.ค.58) เท่านั้นค่ะ


หมายเลขบันทึก: 584112เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2015 23:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มีนาคม 2016 14:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หลวงพ่อท่านน่าสนใจมากเลยนะครับ

ผมกำลังสอนพระนิสิตปริญญาเอกของมหาจุฬาฯอยู่

พระท่านเก่งและขยันมากครับ

เอามาฝากด้วย

http://www.gotoknow.org/posts/583473

รออ่านอีกครับพี่ น่าสนใจมากๆๆๆๆ

แวะมาทักทายจ้ะ สบายดีนะจ๊ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท