ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๒๑. วิพากษ์นักต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ



บทความเรื่อง What the Inequality Warriors Really Want ลงพิมพ์ใน นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๒๑ - ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ เขียนโดยศาสตราจารย์ John H. Cochrane, Professor of Finance, University of Chicago Booth School of Business and senior fellow, Hoover Institution and adjunct scholar at the Cato Institute

อ่านบทความนี้แล้ว ผมเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ก็พอจะจับความรู้สึกได้ว่า ผู้เขียนต้องการวิพากษ์นักต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ ผมเดาว่าเขาจงใจใช้คำว่า inequality (ความไม่เท่าแท้) ไม่ใช้คำว่า inequity (ไม่เท่าเทียม)

ความจริงคือ คนรวย 1% บนของโลก มีรายได้เพิ่มในอัตราที่สูงกว่าคนอีก 99% ที่เหลือ ผู้เขียนพยายามบอกว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" ไม่เห็นว่าจะผิดปกติตรงไหน ไม่เห็นจะต้องเดือนร้อนหาทางแก้ไข เพราะมันไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นผลของการเป็นผู้ประกอบการ ที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม แล้วร่ำรวยขึ้น เศรษฐีอเมริกันเกือบทั้งหมด สร้างตัวจากฐานของคนธรรมดา ที่ทำธุรกิจแบบตรงไปตรงมา ไม่ได้อาศัยการผูกขาดจากผลประโยชน์แบบเล่นพวกจากรัฐบาล

เขาโต้แย้งว่า ในสหรัฐอเมริกา ความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดจากธุรกิจกับการเมืองรวมตัวกันผูกขาดผลประโยชน์ ไม่ใช่ปัญหาของธุรกิจ และไม่ใช่ปัญหาของการเมือง แต่เป็นปัญหาของการศึกษาที่คุณภาพต่ำ และเป็นปัญหาของประสบการณ์ชีวิตวัยเยาว์ที่บั่นทอนพัฒนาการของเด็ก ผู้เขียนบอกว่าปัญหาเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับคนรวย 1% บนเลยแม้แต่น้อย

บทความบอกว่า นักต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำตำหนิว่าความเหลื่อมล้ำเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคม และเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อเนื่อง โดยอ้างว่าก่อให้เกิด "ผลต่อลีลาชีวิต" (lifestyle effect) ที่ Joseph Stiglitz เรียกว่า trickle-down behaviorism คือเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเอาอย่างคนรวย เกิดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็น

เขากล่าวว่า นักต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำอ้างว่าคนรวยมีเงินเก็บมากเกินไป เงินไม่ออกมาใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องเอาเงินมากระจายเพื่อลด "ความขี้เหนียวแห่งชาติ" (national thriftiness)

เขาต่อต้านมาตรการด้านภาษี เพื่อเอาเงินจากคนรวย ในเป้าหมายเพื่อให้เกิดความยุติธรรม (fairness)

เขากล่าวว่า นักต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำ มอง "เงินผูกพันกับการเมือง" คือ เงินทำให้การเมืองชั่วร้าย จึงต้องดึงเงินออกไปเพื่อทำให้การเมืองบริสุทธิ์ คือคนรวยมากๆ มักจะเอาเงินไปหนุนนักการเมือง เพื่อให้สร้างความได้เปรียบแก่คนรวย

โชคดี ที่ผมได้มีโอกาสขอความรู้จาก รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร เพราะผมรู้สึกว่า นสพ. ฉบับนี้ลงบทความแปร่งๆ ไปในทางหนุนพรรครีพับลิกัน โจมตีพรรคเดโมแครต และผมสงสัยว่าศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิคาโกอันทรงเกียรติภูมิเขียนบทความแบบให้ความจริงเพียงบางส่วน (partial fact) ได้อย่างไร ดร. นิพนธ์บอกว่าในอเมริกาเป็นเช่นนี้เอง และ นสพ. ฉบับนี้ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นกระบอกเสียงของลัทธิทุนนิยม

ดร. นิพนธ์บอกว่า สิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดทั้งในอเมริกาและไทย คือกฎหมายเกี่ยวกับภาษีที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้คนรวยเสียภาษีน้อยกว่าที่เราเข้าใจกันโดยทั่วๆ ไป

ในอเมริกาเป็นอย่างไรเราไม่รู้ แต่ในเมืองไทย การเมืองผูกพันกับเงิน ผูกพันกับการผูกขาด เล่นพวก และคอร์รัปชั่น เรากำลังหาทางป้องกันไม่ให้การเมืองไทยมีความชั่วร้ายดังในอดีต



วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ย. ๕๗

580106, ชีวิตที่พอเพียง, inequality, ความเหลื่อมล้ำ

หมายเลขบันทึก: 583527เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2015 16:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2015 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท