ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๒๐ : ถอดบทเรียนตนเอง ครู BP จาก PLC มหาสารคาม (๔) "สุนทรียสนทนา"


กระบวนการถอดบทเรียนที่เราใช้แบ่งออกเป็น ๓ ขั้น ๔ ตอน ก่อนจะจัดตลาดนัดให้แลกเปลี่ยนช่วงสุดท้ายของการฝึกอบรม เริ่มตั้งแต่ "ขั้นมองตนเอง" "ขั้นมองงาน" ขั้นต่อมาคือการ "ขั้นมองกระบวนการของตนเอง" บันทึกนี้คือขั้นที่ ๓ ตอนที่ ๔ ที่เรานำเอาผลสรุปทั้งหมดจากทั้ง ๓ ตอนแรก มาแลกเปลี่ยนกันด้วยกิจกรรม "สุนทรียสนทนา"


ขอเล่านอกเรื่องสักหน่อยครับ

วันก่อนไปกินส้มตำที่ร้านท้ายบ้าน (บ้านขามเรียง ทางจาก ม.ใหม่ ไป อ.เชียงยืน) ผมตั้งประเด็นถามน้องๆ ในทีม CADL ว่า "ฟรุ้งฟริ๊ง" แปลว่าอะไร ทำไมถึงได้ฮิตพูดคำนี้จัง... น้องๆ ช่วยกันอธิบาย จนได้ความหมายตามเว็บที่มาของฟรุ้งฟริ๊ง

วันนี้ผมอยากตั้งคำถามต่อไปอีกว่า "...ถ้าเราแบ่งระดับของความรู้สึกสุขออกเป็น ๔ ขั้น (ผมตีความตามความคิดความเห็นของตนนะครับ) ได้แก่

  • ความสุขเพราะสนุก (เพราะมันกระตุกหัวใจ เช่น เพลงขอใจแลกเบอร์โทรที่นายกร้องไงครับ...ฮา) ...ต้นตอของความสุขตัวนี้คือ "โมหะ"
  • ความสุขเพราะสมใจ (เมื่ออยากได้อะไรแล้วสมปรารถนา)...ต้นตอของเจ้านี่คือ "โลภะ" แต่ถ้าอยากได้แล้วไม่ได้ อาจจะกลายเป็น "โทสะ" นำทุกข์มาได้
  • ความสุขที่เกิดจากการเข้าถึง "ความดี" "ความงาม" หรือเรียกว่า "สุนทรียะ" ... ซึ่งผู้ที่มีสุนทรียะเท่านั้นที่จะเข้าใจใน "ความงาม" ... ความรู้สึกแบบนี้เกิดได้แม้ยังมี "มานะ" (อัตตา ตัวตน) และ "ทิฐิ" (ความเห็นของตน)
  • ความสุขที่เป็น "ปีติ" จากการบรรลุธรรมตามพระพุทธศาสนา เข้าถึง "ความจริง" (ของอริยสัจ) ในระดับต่างๆ

คำถามคือ "ฟรุ้งฟริ๊ง" อยู่ขั้นไหน ..... คงไม่มีใครตอบผิด หรือตอบถูก เพราะสิ่งนี้น่าจะรู้ได้เฉพาะตนเท่านั้น .... หรือท่านว่าไงครับ...


สุนทรียสนทนา

หากจะเป็น "สนุทรียสนทนา" หรือการสนทนาอย่างมีสุนทรียะ สิ่งที่จะต้องเข้าถึงก็คือ "ความดี" และ "ความงาม" ของการสนทนา หลายคนเรียกเป็น "ภาษาลิเก" ว่า Saying & Listening by Heart กติกาง่ายๆ ของการคุยแบบนี้คือ ให้ฟังแบบชื่นชม ฟังแบบตั้งใจ ไม่คิดโต้แย้งตัดสิน การฟังแบบนี้ รู้จักกันดีในชื่อ "ฟังแบบลึกซึ้ง" หรือ Deep Listening

เราออกแบบกิจกรรมให้การสนทนาแบบสุนทรีย์นี้มีสมาชิกกลุ่มละ ๔ คน แต่ละคนได้ฝึกถอดบทเรียนทั้งของตนและของคนอื่นในบทบาทต่างๆ ดังนี้

  • คนที่ ๑ เล่าเรื่อง BP ของตน เล่าอย่างไรก็ได้ โดยมุ่งให้ทุกคนเข้าใจใน ๓ ส่วน คือ กระบวนทัศน์ (วิธีคิด) กระบวนการ (หลักการ+วิธีการ+ขั้นตอน) และผลลัพธ์
  • คนที่ ๒ ฟังแบบลึกซึ้ง เมื่อจบแล้วจึงตั้งคำถามถึงส่วนที่ยังไม่ใชัด หรือยังไม่เข้าใจ ให้เล่าละเอียดมากขึ้น
  • คนที่ ๓ ฟังแบบลึกซึ้ง และจดบันทึก สิ่งโดดเด่น ประเด็นสำคัญๆ
  • คนที่ ๔ ฟังแบบลึกซึ้ง และวาดรูปโมเดลของเพื่อน ตามที่ตนเองเข้าใจ


เมื่อคนแรกจบ ควรให้กลุ่มทำความสงบสัก ๓๐ วินาที ก่อนที่จะเวียนไปให้คนที่หนึ่งคนใหม่ ได้เล่าเรื่อง BP ของตนบ้าง ... เมื่อเวียนจนครบ หมายถึง ทุกคนในกลุ่มได้ทำทุกบทบาท จึงให้ทุกคนนำกระดาษที่เขียนหรือวาดคืนให้ผู้เล่า เพื่อเอาไปประกอบการทำโมเดลและเขียนเรื่องเล่าต่อไป




กิจกรรมนี้ บางทีเราก็ทำกลุ่มละ ๓ คน เพียงแต่รวมคนที่ ๒ และ ๓ เข้าด้วยกัน การแบ่งปันจะยิ่งมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะมีเวลามากขึ้น แม้จะได้ BP น้อยลง





ขอพักเรื่องดีที่อยากเล่าไว้ที่นี่สำหรับปีนี้นะครับ ปีหน้ามาว่าละเอียดไปถึง BP ของครูแต่ละคน ที่เป็นผลจากการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ "ถอดบทเรียน" ครั้งนี้ (มีรูปดีๆ ทั้งหมด โหลดได้ที่นี่ครั)







ดาวน์โหลดรูปทั้งหมดได้ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 582926เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 00:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ธันวาคม 2014 00:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท