​บรรยากาศในการเรียนเพื่อเสริมสร้างอัตมโนทัศน์


บรรยากาศในการเรียนเพื่อเสริมสร้างอัตมโนทัศน์

กระบวนการทางจิตวิทยาที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนให้เกิดประสิทธิภาพอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือบรรยากาศในชั้นเรียน เพราะถ้าผู้เรียนมีความสุข อบอุ่นใจ สนุกสนาน มีความปลอดภัยทางจิต ปราศจากความกดดันต่างๆ มีสัมพันธภาพที่ดีกับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียน ย่อมส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และพร้อมที่จะพัฒนาศักยภาพของตน บรรยากาศในชั้นเรียนที่กล่าวถึงเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยาที่มีความละเอียดอ่อนต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความจริงใจ การมีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นบุคลิกภาพประจำตัว ท่าทีการสื่อสารทั้งทางวาจาและภาษากาย รวมทั้งมนุษยสัมพันธ์ ตลอดจนการเข้าใจปัญหาของผู้เรียน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการนำมาใช้ในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนทั้งสิ้น ดังนั้นครูซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ด้วยการสนใจศึกษาความรู้จากหลักการ เทคนิคและกระบวนการทางจิตวิทยา เพื่อนำมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจผู้เรียน รวมทั้งการฝึกฝนตนเองให้มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสม สามารถสื่อสารความต้องการ ความรู้สึกได้อย่างมีประสิทธิภาพอันจะส่งผลดีต่อการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน

บรรยากาศที่ดีในชั้นเรียนต้องเป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่น เป็นกันเอง ยอมรับและส่งเสริมความสำคัญของผู้เรียน ให้ความรู้สึกเป็นอิสระและได้ใช้ความสามารถของผู้เรียนมาเป็นประโยชน์ในกระบวนการจัดการเรียนการสอน ท่าทีและพฤติกรรมของครูจะต้องแสดงให้เห็นว่า มีความตระหนักในความรับผิดชอบที่มีต่อผู้เรียน ยกย่อง ยอมรับนับถือ ให้เกียรติและสนใจปัญหาของผู้เรียนอย่างจริงใจ เป็นบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นหลัก มากกว่าการตอบสนองความต้องการของครูผู้สอนแต่ฝ่ายเดียว

บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี เป็นสิ่งที่จะเอื้ออำนวยและส่งเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียน จึงควรพิจารณาในเรื่องต่อไปนี้

ด้านพัฒนาการเรียนรู้ การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้และมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของครูผู้สอนว่าจะสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้เป็นไปในลักษณะใด ครูผู้สอนจะเป็นผู้มีส่วนส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปในภาวะที่พึงประสงค์ได้ก็ต่อเมื่อครูได้ตระหนักในความสำคัญของการใช้ห้องเรียนให้เป็นสถานที่ปฏิบัติการทดลอง พัฒนาความรู้ความเข้าใจ ทักษะ ค่านิยมของผู้เรียน พยายามสนับสนุนให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมให้กิจกรรมของกระบวนการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ สนุกสนานกับการเรียน มีชีวิตชีวาในการเรียนมากกว่าที่จะเป็นผู้คอยรับคำสั่ง ฟังและจดตามเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบรรยากาศที่ไม่ท้าทายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายไม่น่าสนใจ

ด้านตัวผู้เรียน บรรยากาศในชั้นเรียนที่ดีจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จักตนเอง ด้านความสนใจ ความถนัด ความสามารถ เป็นโอกาสให้ได้ฝึกปฏิบัติ การควบคุมตนเอง การมีความสามารถพิจารณาเลือกสรรวิธีการในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม การที่ครูยอมรับนับถือให้เกียรติผู้เรียนในฐานะบุคคล มีเจตคติที่ดีและมีความจริงใจต่อผู้เรียน ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนยอมรับนับถือในตัวครูผู้สอนด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะของครูผู้สอนไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ค่านิยม ปรัชญา อุดมคติของครูที่แตกต่างกัน จะมีอิทธิพลและส่งผลต่อผู้เรียนให้แตกต่างกันด้วย เช่น ผู้สอนที่ชอบวางอำนาจ ก้าวร้าว ชอบลงโทษ ติเตียน วิพากษ์วิจารณ์ผู้เรียน บรรยากาศในชั้นเรียนก็จะเป็นไปในทางลบ และจะนำมาซึ่งความล้มเหลวในการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์

การนำแนวคิดด้านจิตวิทยาพัฒนาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนก็นับว่าสำคัญ โดยพิจารณาความเหมาะสมของระดับพัฒนาการในกลุ่มผู้เรียน ครูควรคำนึงถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้มีความสมดุลสอดคล้องกับระดับความสามารถและพัฒนาการของผู้เรียนที่จะนำไปสู่ความรับผิดชอบ การช่วยตนเอง ความสนใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้สำเร็จ มีความสามารถในการควบคุมพฤติกรรมตนเองได้อย่างเหมาะสม มีพัฒนาการที่ดีตามวัยและประสบความสำเร็จในที่สุด

จากการศึกษาโดยใช้กระบวนการทางสังคมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูและฝึกอบรมเด็กของพ่อแม่ พบว่า การฝึกอบรมมีส่วนช่วยส่งเสริมแนะแนวทางต่อครูผู้สอนในการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดชั้นเรียน พ่อแม่ที่อบรมเลี้ยงดูลูกโดยให้ความรักและความอบอุ่น มีเหตุมีผล จะมีส่วนเสริมสร้างเด็กให้มีการพัฒนาและการปรับตัวได้เป็นอย่างดี การที่ครูผู้สอนตระหนักรู้ถึงการยอมรับนับถือผู้เรียน ตามที่เขาควรจะเป็นในแต่ละบุคคล รวมทั้งการควบคุม การบังคับ การเรียกร้อง ความมั่นคง การยืดหยุ่น ด้วยการปรับสิ่งเหล่านี้เป็นไปอย่างมีเหตุผลและเหมาะสม จะนำไปสู่การพัฒนาวุฒิภาวะของผู้เรียนได้อย่างดี และพฤติกรรมของผู้เรียนจะเป็นไปในทางบวกมากกว่าการเน้นพฤติกรรมการเรียนการสอน ที่เข้มงวดและการทำโทษ ดังนั้นการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และได้พัฒนาพฤติกรรมตนเองในด้านต่างๆ อีกด้วย

โดยทั่วไปการเรียนการสอนมีองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกัน 3 ประการคือ ครูผู้สอน ผู้เรียน และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน

ครูผู้สอน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการจัดการเรียนการสอน เพราะจะเป็นผู้กำหนดบรรยากาศเกี่ยวกับการเรียนการสอนแต่ละครั้งให้เป็นไปในลักษณะอย่างไร

ผู้เรียน มีส่วนต่อบรรยากาศในชั้นเรียนด้วยเช่นกัน พฤติกรรมของผู้เรียนไม่ว่าจะเป็นความสนใจ ท่าทีของการแสดงพฤติกรรม แรงจูงใจ ความร่วมมือ การมีวินัย ความเชื่อมั่น การเห็นคุณค่าของตนเอง ตลอดจนการเคารพให้เกียรติผู้อื่นโดยเฉพาะกับครู เป็นผลมาจากการที่เด็กได้รับและเห็นตัวอย่างจากบุคคลแวดล้อมและที่สำคัญคือจากพฤติกรรมของครูที่มีต่อตัวเขาในขณะที่อยู่ในชั้นเรียน หรือเป็นผลมาจากบรรยากาศในชั้นเรียนนั่นเอง ซึ่งทั้งครูและผู้เรียนมีส่วนสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน ตามที่กล่าวแล้ว ถ้าครูมีความสามารถในการสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน มีทักษะในการแสดงออกทางพฤติกรรมและการสื่อสารที่เหมาะสม มีคุณภาพ เสมอต้นเสมอปลาย ย่อมส่งผลให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีต่อครู การเรียนรู้เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนจะนำมาซึ่งความร่วมมือ ความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก บรรยากาศในชั้นเรียนย่อมราบรื่น

จากองค์ประกอบทั้ง 3 จะเห็นว่า ครูผู้สอนเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดบรรยากาศในชั้นเรียนที่ดี จึงจะขอเน้นไปที่ตัวครูผู้สอนเป็นสำคัญ

ลักษณะของครูผู้สอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพ มีหลายประการ เช่น มีความรู้ลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่สอนอย่างชัดเจน สามารถนำความรู้นั้นมาถ่ายทอดได้ มีเจตคติที่ดีต่อการสอน ซึ่งหมายถึงมีความปรารถนาดีต่อผู้เรียน รักวิชาที่สอนและรักการสอน มีความรู้สึกอยากสอน ส่วนองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ผู้สอนจะขาดไปเสียไม่ได้นอกเหนือจากความรู้ความสามารถในการสอนแล้ว ครูจะต้องมีความเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้เรียนไม่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวด้วยวาจาและท่าทีต่อผู้เรียน ปฏิบัติต่อผู้เรียนด้วยความรู้สึกใกล้ชิด มีความห่วงใยผู้เรียน ยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น พยายามส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน มีความสุขในการเรียน ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นพื้นฐานของการจัดการเรียนการสอนทั้งสิ้น

ครูต้องใช้ห้องเรียนเป็นสถานที่ปฏิบัติการสำหรับผู้เรียนเกี่ยวกับการพัฒนา และค้นพบตนเอง เป็นสถานที่ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความรู้เกี่ยวกับตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ห้องเรียนควรจะมีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางบวกเพื่อพัฒนาตนเอง ให้มีทรรศนะอันกว้างไกลต่อสังคมที่ผู้เรียนพบปะและอาศัยอยู่ การส่งเสริมบรรยากาศเหล่านี้ให้เกิดขึ้นนั้น ผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่มีความเชื่อถือในความสามารถของผู้เรียนในฐานะเป็นบุคคล มีความรู้สึกไวต่อความคิดของผู้เรียน มีความกระตือรือร้นพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้เรียนให้พัฒนาไปจนถึงขีดสุดของแต่ละบุคคล

สิ่งที่ครูผู้สอนต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ได้แก่

1. การยอมรับผู้เรียนในฐานะบุคคล การที่ผู้สอนตระหนักว่าผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องแสดงออกทางด้านการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำ ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับนั้นด้วย บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ คือ การให้ความอบอุ่นและความจริงใจระหว่างครูและศิษย์ เน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนพยายามค้นคว้าความจริงได้ด้วยตนเอง การค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเองในวิถีทางที่ควรเป็น ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนที่มีแต่การแข่งขัน ความก้าวร้าว ความกดดัน มีอคติ การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ทางลบที่จะไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ไม่พัฒนาความรู้ความสามารถ การรู้จักแก้ปัญหา การเลือก การตัดสินใจ ความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง รวมทั้งการไม่รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองและการช่วยตัวเอง ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องแสดงพฤติกรรมที่มีความอบอุ่นเป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อนและสังคม พฤติกรรมของครูจัดเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ตระหนักและรับรู้ว่า เขาได้รับการยอมรับที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ชอบพอ เสริมสร้างการตอบสนองความต้องการที่จะนำไปสู่การพัฒนาลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่า จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ครูผู้สอนจึงต้องมีความอดทน ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้เรียนอยู่เสมอ

2. การสื่อสารแบบเปิด เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในการที่จะคิด วิเคราะห์ เลือกสรรที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การสนับสนุนและพัฒนาตัวผู้เรียนที่จะเป็นตัวเองนั้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานประการแรกคือ การสื่อสารแบบเปิดที่อยู่ในบรรยากาศของการยอมรับเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม พฤติกรรมและแนวคิดของแต่ละบุคคลที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน รวมทั้งการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศในชั้นเรียนที่ตอบสนองประสบการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้จากเนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถพัฒนาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนครูผู้สอนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนหรือสาระความรู้ มากกว่าด้านความรู้สึก ค่านิยมที่ควรจะปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียน บรรยากาศในการเรียนเช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย มีความกดดัน ไม่สนุกกับบทเรียน และส่งผลให้ไม่ชอบวิชาที่เรียนนั้นได้ในที่สุด

3. การตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้อยู่เสมอ ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน สิ่งที่ครูต้องตระหนักถึง ได้แก่

3.1 การร่วมมือและการแข่งขันของผู้เรียนภายในชั้นเรียน ประกอบด้วย

3.1.1 บรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือกันแก้ปัญหา

3.1.2 การให้แรงเสริมหรือรางวัล

3.1.3 บรรยากาศที่ผู้เรียนต่างร่วมมือกัน จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าในบรรยากาศที่มีการแข่งขันกัน ผู้เรียนที่เรียนอ่อน ปานกลาง จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการร่วมมือกับผู้เรียนอื่นๆ ส่วนผู้เรียนที่เรียนดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้อื่น

3.2 ลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพของครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

3.3 มีความร่วมมือระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การเรียนเป็นหลักสำคัญ

3.4 ความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อกลุ่มเพื่อน ครูผู้สอน และโรงเรียนของผู้เรียน

จะเห็นว่าผู้สอนเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเรียนของผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและค่านิยม เป็นการช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทรรศนะอันกว้างไกล

บรรยากาศในชั้นเรียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยา ซึ่งผู้สอนเป็นผู้มีส่วนกำหนดให้มีขึ้น หรือบรรยากาศทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องคำนึงถึงด้วย เพราะจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อกระบวนการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ครูผู้สอนต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ส่งผลดีต่อการเรียนรู้ได้แก่

1. การยอมรับผู้เรียนในฐานะบุคคล การที่ผู้สอนตระหนักว่าผู้เรียนแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะตน การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคลนั้นยังไม่เพียงพอ จะต้องแสดงออกทางด้านการปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อการกระทำ ซึ่งแสดงให้เห็นการยอมรับนั้นด้วย บรรยากาศแห่งความไว้วางใจ คือ การให้ความอบอุ่นและความจริงใจระหว่างครูและศิษย์ เน้นให้ผู้เรียนแต่ละคนพยายามค้นคว้าความจริงได้ด้วยตนเอง การค้นพบลักษณะเฉพาะของตนเองในวิถีทางที่ควรเป็น ถ้าบรรยากาศในห้องเรียนที่มีแต่การแข่งขัน ความก้าวร้าว ความกดดัน มีอคติ การเอารัดเอาเปรียบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นประสบการณ์ทางลบที่จะไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาไปในทิศทางที่พึงประสงค์ ไม่พัฒนาความรู้ความสามารถ การรู้จักแก้ปัญหา การเลือก การตัดสินใจ ความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง รวมทั้งการไม่รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองและการช่วยตัวเอง ดังนั้น ครูผู้สอนจะต้องแสดงพฤติกรรมที่มีความอบอุ่นเป็นตัวแทนของกลุ่มเพื่อนและสังคม พฤติกรรมของครูจัดเป็นสิ่งแวดล้อมที่จะสร้างประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ตระหนักและรับรู้ว่า เขาได้รับการยอมรับที่เต็มไปด้วยความรักใคร่ชอบพอ เสริมสร้างการตอบสนองความต้องการที่จะนำไปสู่การพัฒนาลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญและมีคุณค่า จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ครูผู้สอนจึงต้องมีความอดทน ใจกว้าง รับฟังความคิดเห็น พร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนผู้เรียนอยู่เสมอ

2. การสื่อสารแบบเปิด เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ในการที่จะคิด วิเคราะห์ เลือกสรรที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง การสนับสนุนและพัฒนาตัวผู้เรียนที่จะเป็นตัวเองนั้น สิ่งจำเป็นพื้นฐานประการแรกคือ การสื่อสารแบบเปิดที่อยู่ในบรรยากาศของการยอมรับเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล อารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม พฤติกรรมและแนวคิดของแต่ละบุคคลที่มีภูมิหลังแตกต่างกัน รวมทั้งการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ บรรยากาศในชั้นเรียนที่ตอบสนองประสบการณ์เช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้จากเนื้อหาสาระ กระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมการเรียนการสอนที่ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถพัฒนาตนเองได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนครูผู้สอนส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ทางด้านการเรียนหรือสาระความรู้ มากกว่าด้านความรู้สึก ค่านิยมที่ควรจะปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียน บรรยากาศในการเรียนเช่นนั้นอาจจะทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย มีความกดดัน ไม่สนุกกับบทเรียน และส่งผลให้ไม่ชอบวิชาที่เรียนนั้นได้ในที่สุด

3. การตระหนักถึงสิ่งต่อไปนี้อยู่เสมอ ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน สิ่งที่ครูต้องตระหนักถึง ได้แก่

3.1 การร่วมมือและการแข่งขันของผู้เรียนภายในชั้นเรียน ประกอบด้วย

3.1.1 บรรยากาศที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนร่วมมือกันแก้ปัญหา

3.1.2 การให้แรงเสริมหรือรางวัล

3.1.3 บรรยากาศที่ผู้เรียนต่างร่วมมือกัน จะมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากกว่าในบรรยากาศที่มีการแข่งขันกัน ผู้เรียนที่เรียนอ่อน ปานกลาง จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการร่วมมือกับผู้เรียนอื่นๆ ส่วนผู้เรียนที่เรียนดีจะมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้อื่น

3.2 ลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพของครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน

3.3 มีความร่วมมือระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียนโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์การเรียนเป็นหลักสำคัญ

3.4 ความรู้สึกและเจตคติของผู้เรียนที่มีต่อกลุ่มเพื่อน ครูผู้สอน และโรงเรียนของผู้เรียน

จะเห็นว่าผู้สอนเป็นบุคคลที่มีบทบาทในการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อการเรียนของผู้เรียนทั้งทางด้านความรู้ ความสามารถ คุณลักษณะและค่านิยม เป็นการช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทรรศนะอันกว้างไกล

บรรยากาศในชั้นเรียนจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศทางจิตวิทยา ซึ่งผู้สอนเป็นผู้มีส่วนกำหนดให้มีขึ้น หรือบรรยากาศทางกายภาพและทางสังคม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องคำนึงถึงด้วย เพราะจะสนับสนุนซึ่งกันและกันต่อกระบวนการเรียนการสอนให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เทคนิคการสร้างบรรยากาศทางจิตวิทยา

วิธีการทางจิตวิทยาที่ครูต้องเข้าใจและควรเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ฝึกฝนตนเองให้สามารถ และมีทักษะในการปฏิบัติได้อย่างคล่องแคล่ว จนเป็นธรรมชาติของนิสัยประจำตนอย่างกลมกลืนได้แก่เรื่องต่อไปนี้

1. บรรยากาศแห่งความใกล้ชิด ผู้เรียนทุกคนมีความต้องการที่จะได้รับการสัมผัสแตะต้องและความเอาใจใส่หรือความสนใจจากครูผู้สอนรวมทั้งเพื่อนๆ ในชั้นเรียน และทุกๆ คนมีความต้องการที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ความต้องการเหล่านี้เป็นความต้องการทั้งทางกายและทางจิตใจ การกระทำใดๆ ก็ตามจะเป็นตัวบ่งชี้ที่แสดงความสนใจให้ปรากฏต่อผู้อื่น ผู้เรียนบางคนอาจต้องการความเอาใจใส่นี้มากกว่าคนอื่น เพื่อช่วยให้เขารู้สึกมั่นคงปลอดภัยทางด้านจิตใจ ซึ่งครูผู้สอนอาจพิจารณาให้ความเอาใจใส่นี้ในรูปของการสัมผัสแตะต้องทางกายโดยตรง หรือในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเอาใจใส่เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกใกล้ชิด เช่น การมอง การยิ้มให้ การสบตา การใช้คำพูด การแสดงออกทางสีหน้าท่าทางหรือด้วยการกระทำใดๆ ก็ตามที่เป็นการแสดงให้ผู้เรียนรู้สึกสัมผัสและรับรู้ว่ามีความใกล้ชิด ได้รับความเอาใจใส่จากครูผู้สอน การเอาใจใส่ทางบวกที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของอารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ก็จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกที่ดีมีชีวิตชีวา กระฉับกระเฉง และรู้สึกว่าตนมีความสำคัญ เป็นการเพิ่มพูนความรู้สึกทางด้านดีให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการรับรู้ของผู้เรียนอย่างน่าพึงพอใจ ความรู้สึกที่ตามมาก็คือความรู้สึกปรารถนาดีและความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และผู้อื่น ถ้าครูผู้สอนให้ความสนใจสิ่งเหล่านี้อย่างจริงใจ และควบคู่ไปกับการเปิดเผยตรงไปตรงมา ไม่กระทำเกินกว่าปกติธรรมดาก็จัดเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนได้มาก ดังนั้นสิ่งที่ครูผู้สอนควรปฏิบัติ คือ

1.1 การแสดงท่าทีและกิริยาที่งดงามต่อกัน การเริ่มต้นแบบไทยโดยการกล่าวทักทาย การยิ้ม และท่าทีที่เป็นมิตร

1.2 การให้คำพูดที่ดีๆ ใช้ภาษาสุภาพ อ่อนโยนซึ่งกันและกันจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าครูผู้สอนมีความปรารถนาดี

1.3 ต้องมีความตั้งใจที่จะมีความคิดในสิ่งที่ดีงามต่อกัน มีความปรารถนาดีที่จะเกื้อกูลกันเสมอ อันมาจากส่วนลึกของจิตใจ

1.4 ต้องไม่ทำตนเป็นบุคคลที่น่ารังเกียจ พึงระลึกอยู่เสมอว่า บางสิ่งบางอย่างนั้นบุคคลอื่นอาจจะประพฤติปฏิบัติได้ แต่เรากระทำไม่ได้เพราะเราเป็นครู มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่ดี ไม่หลงตัวเอง อย่าลืมว่าบุคลิกภาพไม่ได้หมายถึงความหล่อหรือความงาม แต่หมายถึงภาพที่ประทับใจผู้เรียน

1.5 มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการสร้างสายใยแห่งไมตรีจิตที่ดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยผู้เรียนเสมอ

1.6 มีความยืดหยุ่นในด้านความคิดเห็น เพราะการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ ย่อมขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน ดังนั้นการออมชอมกันบ้างในด้านความคิดเห็น เป็นสิ่งที่จะเสริมสร้างบรรยากาศในการเรียนที่น่าสนใจ

2. บรรยากาศที่มีความอบอุ่น ครูผู้สอนจะต้องไม่ลืมว่าความอบอุ่นทางจิตใจเป็นความรู้สึกพื้นฐานของผู้เรียนที่มีอิทธิพลและจะส่งผลต่อความสำเร็จในการเรียน การที่ครูผู้สอนมีความเข้าใจผู้เรียน มีความเป็นมิตร ช่วยชี้แนะเกี่ยวกับการเรียนการสอนอย่างมีระบบเป็นขั้นตอน ทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่ามีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำให้รู้สึกอยากเรียน รักการเรียน รักวิชาที่เรียน รวมทั้งรักเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วย

3. บรรยากาศที่มีการยอมรับนับถือ การยอมรับผู้เรียนอย่างที่เขาเป็น และตระหนักถึงลักษณะเฉพาะ ข้อดีข้อจำกัดของแต่ละบุคคล รวมทั้งภูมิหลังของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน เมื่อครูให้ความนับถือผู้เรียน หมายถึงว่าครูมีความสนใจที่จะส่งเสริมให้บุคคลนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นมาด้วยตัวเองและด้วยวิธีการของเขาเอง การยอมรับนับถือต้องไม่เป็นการเห็นแก่ได้ ไม่ฉกฉวยโอกาสหรือการเอาเปรียบจากผู้เรียน การที่ครูเห็นคุณค่าในตัวผู้เรียนว่าเป็นบุคคลที่สำคัญมากกว่าการเรียนการสอนนั้น เพราะว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ในสถานการณ์ที่แตกต่างกันรวมทั้งเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้ด้วย ครูผู้สอนควรตระหนักดีว่าการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เรียนนั้น จะช่วยให้ผู้เรียนยอมรับนับถือตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้เรียนต่อไป สิ่งที่ครูควรพัฒนาตนเองคือ ทักษะในการแสดงออกในการยอมรับ ซึ่งมี 3 ประการ ดังนี้

3.1 การฟังด้วยความเข้าใจ เป็นการรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนด้วยความตั้งใจ ถ้าครูผู้สอนมิได้เข้าใจว่าผู้เรียนนั้นกำลังพูดว่าอะไร ครูก็คงไม่สามารถตอบสนองในทางยอมรับได้ นอกจากนั้น การรับฟังยังเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ และการให้ความสนใจเรื่องราวนั้นๆ การสื่อความหมายก็จะกระทำได้อย่างอิสระ และมีความไว้วางใจในตัวผู้รับฟังมากขึ้น

3.2 การแสดงถึงความอบอุ่นและความนิยมชมชอบ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความอบอุ่นใจเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาทางด้านจิตใจ ทั้งยังก่อให้เกิดความมั่นใจและความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ยอมรับของบุคคลอื่น การกระตุ้นหรือสนับสนุนความคิดของผู้เรียน กระทำได้โดยการแสดงความรู้สึกนิยมชมชอบอย่างลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนนั้นรู้สึกว่าสามารถจะแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่ รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและแสดงออกอย่างจริงใจในการที่จะเป็นตัวของเขาเอง การให้ความอบอุ่นและสนับสนุนเช่นนี้ มิได้หมายความว่าครูผู้สอนจะต้องเห็นด้วยกับการกระทำของผู้เรียนทุกประการ ดังนั้น ครูควรจะเข้าใจว่า การเห็นด้วย ต่างกับการยอมรับ ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้น ครูไม่จำเป็นต้องให้สมาชิกในชั้นเห็นด้วยกับการกระทำของครูผู้สอนหรือสมาชิกในกลุ่มโดยปราศจากเหตุผล ซึ่งบรรยากาศของความเป็นมิตรที่แท้จริงก็จะเกิดขึ้น เมื่อสมาชิกในกลุ่มเต็มใจที่จะบอกถึงพฤติกรรมที่เขาไม่เห็นด้วยนั้น ในลักษณะที่การยอมรับกันยังคงมีอยู่ นั่นคือการแสดงความไม่เห็นด้วยในความคิดเห็นหรือการกระทำ แต่มิได้หมายความว่าไม่ยอมรับในบุคคลนั้น

3.3 การสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น จะทำให้สมาชิกในกลุ่มแสดงออกได้อย่างเปิดเผย เพราะเขารู้สึกว่ามีผู้สนับสนุนเขา การสื่อความหมายให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาเป็นที่ยอมรับ จะทำให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น การยอมรับนี้ ถ้าผู้สอนทำให้เกิดขึ้นได้รวดเร็วเพียงใด ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจแก่ผู้เรียนให้แสดงออกมากขึ้นเพียงนั้น

สรุป ครูที่มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการทำความเข้าใจ ความต้องการของผู้เรียน ตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ตอบสนองผู้เรียนได้อย่างสอดคล้องเหมาะสม มีทักษะในการสื่อสารและสร้างมนุษยสัมพันธ์กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมสร้างบรรยากาศที่ดีในการส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียนให้มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นครูที่ประสบความสำเร็จในการสอน จึงมักมาจากครูที่ประสบความสำเร็จในการสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน

เอกสารอ้างอิง

สุรางค์ โค้วตระกูล. (2544). จิตวิทยาการศึกษา. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ไพฑูรย์ ศรีฟ้า. การจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียน. สืบค้นเมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ.2557, จาก

http://srithai.hypermart.net/environment.html

หมายเลขบันทึก: 582922เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2014 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท