เก็บตกวิทยากร (19) : เอาง่ายๆ ใช้เท่าที่มี


ผมมองแบบ "บ้านๆ Km แบบบ้านๆ" ตามสไตล์ผมนั่นแหละ อยากทำอะไรก็ทำ คิดแล้วไม่ทำ จะรู้ได้ยังไงว่ามันดี หรือไม่ดี ขอเพียงชัดเจนว่าทำอะไร เพื่ออะไร และอย่างไรก็พอ

สารภาพตรงๆ เลยว่า การเป็นวิทยากรกระบวนการครั้งล่าสุด ผมไม่ค่อยได้พูดคุยกับทีมงานเจ้าของโครงการมากนัก เพราะช่วงนั้นผมยุ่งเอามากๆ ในวันที่เจ้าหน้าที่จากสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบโทรมาเชิญให้ไปเป็นวิทยากร ผมเองก็ยังไม่ได้รับปาก เพราะคิวงานมันยุ่งจริงๆ ทางโน้นก็ได้แต่พูดซ้ำๆ ประมาณว่า "...อยากให้มาช่วย อยากได้วิทยากร KM แบบบ้านๆ...

ที่สามารถทำเรื่องยากๆ ให้ง่ายๆ...หามานานแล้ว...ไปตามอ่านมานานแล้ว...

ครับ-พูดประมาณนั้นจริงๆ คนที่พูดก็คือพี่วิไลลักษณ์ หฤหรรษพงศ์ (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวิชาการของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งพยายามรบเร้าให้ผมรับปากรับคำ แต่ผมก็ยังไม่ได้ตกปากรับคำใดๆ
และมีสติที่จะตอบกลับไปว่า "วันสองวันนี้จะติดต่อกลับนะครับ"

กระนั้น- ก่อนที่ผมจะวางสาย ทางโน้นก็ยังถือโอกาสร่ำรากลับมาว่า "ค่ะ...ไม่เป็นไรค่ะ...ตกลงอาจารย์รับปากจะมาช่วยนะค่ะ.." 5555 (เหมือนหักมุม ตะครุบ มัดมือชกไปเนียนๆ)

ที่สุดแล้ว ผมก็ไปช่วยงานนี้จนได้ งานที่มีชื่อเต็มๆ ว่า "ประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ของสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ : Km to Action" ณ โรงแรมเขาใหญ่คีรีธารทิพย์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา




เอาง่ายๆ ใช้เท่าที่มี ออกแบบกระบวนวิธีแบบเนียนๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป

ด้วยความที่ผมไม่ค่อยได้มีเวลามากนัก เพราะเป็นช่วงที่ติดพันภารกิจหลายโครงการ ประกอบกับทีมผู้ประสานงาน พอจะรู้ลักษณะนิสัยของผมว่ามีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง จึงไม่กล้าโทรมาถี่ครั้ง หรือไม่กล้าตามงาน ไม่กล้าตามเอกสาร หรืออะไรๆ กับผมมากมายนัก แต่ก็ดีมากๆ ที่ยังช่วยออกแบบกิจกรรมและส่งกำหนดการมาให้ผมดูล่วงหน้า ซึ่งผมดูแล้วก็ถือว่า "ไม่ขี้เหร่"

การไม่ได้คุยกันมากมายนัก กอปรกับที่ผมดูกำหนดการแล้ว จึงคิดไปเองว่าทีมงานคงสามารถตระเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับกิจกรรมได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะอุปกรณ์ที่ว่านั้นก็เป็นวัสดุอุปกรณ์พื้นฐานๆ หรือกระทั่งหากมีการติดตามกระบวนการที่ผมชอบใช้ในเวทีต่างๆ จริง ก็คงพอรู้ว่าอุปกรณ์ที่ผมจะใช้ "มีอะไรบ้าง"



เอาเข้าจริงๆ อุปกรณ์ก็คลาดเคลื่อนไปบ้าง ซึ่งจะโทษเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ เพราะผมเองก็ไม่สื่อสารให้เด็ดขาดไปว่าจะใช้อะไรบ้าง ดังนั้นเมื่อมานั่งโสเหล่กัน ผมจึงบอกกับทีมงานว่า "เอาง่ายๆ ใช้เท่าที่มี" ทุกอย่างประยุกต์ใช้ได้หมด ไม่ต้องเสียเวลา เสียเงินเสียทองไปซื้อหาเพิ่มเติมให้สิ้นเปลือง

เช่นเดียวกับการ "เปิดใจ" ร่วมออกแบบกิจกรรมกันใหม่อีกรอบอย่างมี "ส่วนร่วม" ซึ่งผมบอกย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่า "ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้" และ "ออกแบบไว้หลวมๆ แต่เนียนๆ ปรับตามสถานการณ์ สังเกตผู้เข้าร่วมเป็นหลักว่าอยู่ในภาวะใด"



ครับ, ผมพูดและย้ำกับทีมงานเช่นนั้นจริงๆ ในสิ่งที่ทีงานตระเตรียมกิจกรรมมาแล้ว ผมก็ยังยืนยันว่าทำได้เลย ผมจะช่วย หรือไม่ก็จะคอยสังเกตการณ์ พร้อมกับเชื่อมโยงการเรียนรู้ให้อีกที

แน่นอนครับ-การยืนยันเช่นนั้น ไม่ใช่ว่าผมขี้เกียจอะไรหรอกนะครับ หากแต่ผมมองแบบ "บ้านๆ Km แบบบ้านๆ" ตามสไตล์ผมนั่นแหละ อยากทำอะไรก็ทำ คิดแล้วไม่ทำ จะรู้ได้ยังไงว่ามันดี หรือไม่ดี ขอเพียงชัดเจนว่าทำอะไร เพื่ออะไร และอย่างไรก็พอ รวมถึงกิจกรรมในบางกิจกรรม ผมก็ย้ำว่า ไม่จำเป็นก็อาจจะไม่ต้องแถลงไขถึงวัตถุประสงค์ก็ได้ ต่อเมื่อจัดเสร็จสิ้นแล้ว จึงค่อยทวนซ้ำจากผู้เข้าร่วมว่า "ได้อะไร.." พร้อมๆ กับการประเมินกลับเข้ากับตัวเองว่า "ตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่" ตรงไม่ตรง ตรงมาก ตรงน้อย...ก็ว่ากันไปตามข้อเท็จจริง




BAR : ไม่มีต้นไม้ความคาดหวัง เพราะทำเท่าที่มี...


ในช่วงการโสเหล่ของการเตรียมงาน ผมถือโอกาสสอบถามทีมงานฯ ว่า เตรียมเอกสารประเมินโครงการมาด้วยหรือไม่ รวมถึงประสบการณ์ของการจัดกิจกรรมการจัดการความรู้ (KM) ซึ่งทุกคนตอบตรงกันอย่างหนักแน่นว่า ที่ผ่านมาจะเน้นรูปแบบการเชิญวิทยากรมาบรรยายและเป็นวิทยากรที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ไม่เคยเชิญวิทยากรกระบวนการ หรือวิทยากรกระบวนการ "KMแบบบ้านๆ" เหมือนที่ผมเป็น -5555

ฉะนี้แล้ว ผมจึงเลือกที่จะทำ BAR ง่ายๆ ผ่านบัตรทำ ถามผู้เข้าร่วมฯ สองคำถาม คือ

  • คาดหวังอะไรจากเวทีนี้
  • KM ในมุมมองของคุณคืออะไร




ครับ, เหมือนที่เกริ่นข้างต้น ผมตัดสินใจใช้วัสดุอุปกรณ์เท่าที่มีมาใช้ในกระบวนการโดยไม่ต้องซื้อสอยใหม่ให้เปลืองงบ -ไม่ต้องทำต้นไม้ความคาดหวังให้ยิ่งใหญ่ตระการตา ใช้กระดาษธรรมดาๆ เป็นตัวเดินเรื่อง ใช้ปากกาธรรมดาๆ เป็นตัวเขียนเรื่อง

แต่ก่อนจะลงมือเขียน ผมก็เปิดคลิป "ใบไม้ต้นเดียวกัน" นำเข้าสู่กระบวนการ พอดูเสร็จก็สร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันง่ายๆ ด้วยการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมฯ ได้บอกเล่าถึงเรื่องราวในคลิปผ่านคำถามสามคำถามในแบบของผม นั่นก็คือ "เห็นอะไร...รู้สึกอย่างไร...ได้อะไรจากสิ่งที่เห็นและรู้สึก"

ดีครับ, หลายคนแสดงความคิดเห็นแบบไม่เขินอาย "ไม่มีถูกไม่มีผิด มีทั้งที่สะท้อนผิวเผินและลึกซึ้ง" แต่ทั้งปวงผมก็ขมวดเป็นคำๆ เป็น "วาทกรรมๆ" เป็นระยะๆ...เพื่อวางหมุดหมายเนียนๆ ว่า การจดจำผ่านวาทกรรม ก็เป็นการจัดการความรู้ หรือการจดบันทึกในอีกมิติหนึ่งได้เหมือนกัน

จากนั้นจึงให้แต่ละคนลงมือเขียนความคาดหวังและมุมมองที่มีต่อ KM โดยขณะที่เขียน ผมก็จะเปิดเพลงบรรเลงคลอไปเบาๆ เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศของการ "ทบทวนชีวิต ทบทวนการเรียนรู้ว่ามีหมุดหมายอย่างไร"

สำหรับประเด็น ความคาดหวังนั้น ก็มีประมาณว่า

  • ความรู้และทักษะ: อยากได้ความรู้เรื่องการจัดการความรู้ อยากได้ความรู้เรื่องกระบวนการจัดการความรู้ อยากได้ความรู้ในเรื่องการจัดการความรู้แบบวิถีชีวิต อยากได้ความรู้และทักษะเรื่องการจัดการความรู้ที่ใช้ได้จริงในชีวิตและองค์กร
  • ประสบการณ์ : อยากถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการจัดการความรู้ของตนเอง อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการความรู้กับผู้อื่น อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตกับผู้อื่น แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับวิทยากร
  • อื่นๆ : อยากสร้างความรักความสามัคคีในองค์กรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นๆ พักผ่อน




ขณะทีประเด็นมุมมอง/ความเข้าใจที่มีต่อ KM นั้น ก็มีประมาณว่า

  • Km คือความรู้ที่สนิทแน่นอยู่วิถีชีวิตผู้คน
  • Km คือกระบวนการจัดการความรู้ในตัวเอง เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กร และผู้อื่น
  • Km คือการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน
  • Km คือการสกัดความรู้ออกมาเผื่อสร้างเป็นนวัตกรรม เผยแพร่
  • Km คือกระบวนการใช้ประโยชน์จากความรู้
  • Km คือกระบวนการเปิดใจเรียนรู้

ผมคงไม่วิพากษ์ถึงสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเวทีฯ ได้สะท้อนออกมา เพราะเจตนาเขียนเรื่องเล่านี้เพื่อให้ยึดโยงให้เห็นวิธีการ หรือกระบวนการง่ายๆ ในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผมบอกกับผู้คนในเวทีว่า ผมติดคำว่า "เรียนรู้" หรือ "กระบวนการเรียนรู้" มากกว่า "การจัดการความรู้"

เช่นเดียวกับการมีเจตนาที่จะเล่าเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรูปแบบง่ายๆ (แบบบ้านๆ) มีอะไร ก็ใช้สิ่งนั้น อะไรๆ ก็ปรับเปลี่ยนและปรับแต่งได้ บนฐานของการใส่ใจต่อผู้เกี่ยวข้องและบนฐานของการจัดการแบบมีส่วนร่วม และบนฐานของการเชื่อมั่นว่าใครๆ ก็มีความรู้ๆ ใครๆ ก็มีทักษะการเรียนรู้ และใครๆ ก็มีการจัดการความรู้ที่ดีในตัวเองอยู่แล้ว ---


แล้วค่อยอ่านต่อในบันทึกถัดไปครับ


หมายเลขบันทึก: 582836เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2014 12:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มีนาคม 2018 00:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

มัดมือและถูกชกไปสองสามทีนะครับ 555

ชอบ ประโยคนี้ "เรียนรู้" หรือ "กระบวนการเรียนรู้" มากกว่า "การจัดการความรู้"

มันเป็นการจัดการเรียนรู้ และเรียบเรียงความรู้สึกของมนุษย์ด้วยกันใช่มะครับอาจารย์

ใช่ ครับ อ.วัสWasawat Deemarn

ทำเอาผมมึนงงเลยแหละ..
เป็นเวทีที่รับงานแบบไม่ค่อยได้หารือ...
ปรับแต่งกันหน้างาน

อุตส่าห์เงียบไปสองวัน
ความเงียบของผม อีกนัยยะหนึ่ง
ทางสำนักฯ ถือว่า "รับคำ" 55

แต่ก็ดีครับ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และเรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดกระบวนการให้ทีมไปพรางๆ แบบเนียนๆ...
แต่ชอบมากครับ ชอบที่ผมถุกขนานนามว่า "Km บ้านๆ"

ครับ อ.ส.รตนภักดิ์

กระบวนการเรียนรู้ ร่วมกัน ก่อให้เกิดชุดความรู้ทั้งเก่าและใหม่ที่มีพลังครับ
เพราะเป็นการแบ่งปัน -เกื้อกูล-เปิดใจ
เป็นการจัดการความรักไปแบบละเมียดละไมโดยมีกิจกรรมเป็นฐานการหลอมรวม

ผมถึงชอบเรียกว่า จัดการความรัก ก่อนจัดการความรู้
บางที ความรู้ก็อยู่ในความรักอย่างเบ็ดเสร็จนั่นเลยครับ...

ฝากชกเผื่อด้วย 555

ตอนแรกนึกว่าเงียบๆไป

ดูแล้วมีความสุขได้กระบวนการครบนะครับ

รอตอนถอดบทเรียนเลยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท