หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (​ประมง) : เพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศและความสำเร็จแบบ ๔ In ๑


เมื่อมีเทศกาลสำคัญๆ ในชุมชน นิสิตก็จะลงไปช่วยเหลือการงานเหล่านั้นร่วมกับชุมชน เสมือนการได้ฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ของชุมชนไปในตัว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้ช่วยหนุนเสริมให้เกิดการทบทวนในเรื่องจิตอาสา -จิตสำนึกสาธารณะ หรือความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตัวเองไปในตัวด้วยเหมือนกัน

สาขาประมง คณะเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการบริการวิชาการโครงการ ๑ หลักสูตร ๑ ชุมชนต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ ติดต่อกันในชุมชนบ้านยางน้อย ต.ยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม มุ่งเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกี่ยวกับเพาะพันธุ์ปลานิลและต่อยอดมาสู่การแปลงเพศปลานิล โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือสมาชิกสหกรณ์ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำโกสุมพิสัย จำกัด และครัวเรือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งปี ๒๕๕๗ ดำเนินการในชื่อโครงการ "ขยายผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำบ้านยางน้อย"

การขับเคลื่อนภารกิจบริการวิชาการ (๑ หลักสูตร ๑ ชุมชน) ของหลักสูตรประมง ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จแห่งการบูรณาการภารกิจของมหาวิทยาลัยสู่การรับใช้สังคม ภายใต้หลักคิดอันสำคัญ คือ "เรียนรู้คู่บริการ" (Service Learning) เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatoty Learning) นิสิตเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered) มีชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-Based Learning) และเน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity Based Learning & Project Base Learning)




ตลอดระยะเวลา ๓ ปี (๒๕๕๕-๒๕๕๗) สาขาประมงและชุมชนมีวัตถุประสงค์หลักการเรียนรู้คู่บริการร่วมกันบนฐานแห่งการบูรณาการ "ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับเทคโนโลยี" ที่ทันสมัย คือ

  • ๑) ศึกษาพัฒนาการและสถานการณ์ปัญหา และผลกระทบที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในชุมชน
  • ๒) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะพันธุ์ปลา
  • ๓) การถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปลงเพศปลานิล
  • ๔) สร้างแกนนำ หรือครัวเรือนต้นแบบ หรือศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน



ในทางรูปแบบกิจกรรม หรือลักษณะการจัดกิจกรรมนั้น ประกอบด้วยกิจกรรมหลายกิจกรรม เช่น

๑.กิจกรรมเรียนรู้บริบทชุมชน เน้นกระบวนการเรียนรู้บริบทชุมชน เช่น ประวัติศาสตร์ชุมชน ประเพณีวัฒนธรรม สังคม การศึกษา อาชีพ ภูมิปัญญาด้านการประมง

๒.กิจกรรมเรียนรู้คู่บริการ อาทิ การเพาะพันธุ์ปลาสวาย การแปลงเพศปลานิล การจัดการคุณภาพน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงปลา การผลิตอาหารปลาต้นทุนต่ำ การป้องกันและรักษาโรคระบาดของปลา การฉีดฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ การแปลงเพศปลาโดยใช้ฮอร์โมนผสมอาหาร

ส่วนมิติด้านการบูรณาการสู่การเรียนการสอน จะเน้นกระบวนการเรียนรู้ในแบบบูรณาการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เน้นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ หรือการลงมือปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน โดยมีรายวิชารองรับการเรียนรู้ เช่น รายวิชาเทคโนโลยีการเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำจืด รายวิชาเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำจืด รายวิชาเทคโนโลยีการจัดการสัตว์น้ำและธุรกิจประมง รายวิชาวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นทางการประมง และรายวิชาการปฏิบัติงานภาคสนาม

นอกจากนี้นิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังเกิดแรงบันดาลใจที่จะหันกลับไปประกอบอาชีพประมงที่บ้านเกิดของนิสิต เบื้องต้นผู้ปกครองได้เตรียมการที่จะทำธุรกิจการเพาะพันธุ์ปลารองรับบุตรชายเป็นที่เรียบร้อย



ขณะที่ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม อาจารย์และนิสิต ได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของชุมชน ผ่านประเพณีหลักๆ และวิถีการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน รวมถึงวิถีการประมงแบบดั้งเดิมที่มีในชุมชน เช่นเดียวกับเมื่อมีเทศกาลสำคัญๆ ในชุมชน นิสิตก็จะลงไปช่วยเหลือการงานเหล่านั้นร่วมกับชุมชน เสมือนการได้ฝากตัวเป็น "ลูกฮัก" ของชุมชนไปในตัว ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้ช่วยหนุนเสริมให้เกิดการทบทวนในเรื่องจิตอาสา -จิตสำนึกสาธารณะ หรือความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นของตัวเองไปในตัวด้วยเหมือนกัน

ส่วนการบูรณาการสู่การวิจัย โดยหลักแล้วจะขับเคลื่อนคู่ไปกับงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นในเรื่อง "กระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรบ้านยางน้อย อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม" รวมถึงการ "งานวิจัยนิสิต" ในระดับปริญญาตรีอีก 2 เรื่อง ได้แก่

  • เรื่องผลของการให้อาหารต่อการเปลี่ยนแปลงเพศของปลานิลแปลงเพศ
  • เรื่องผลการแปลงเพศปลานิลที่อนุบาล ในกระชังในบ่อดินของฟาร์มเกษตรกรขนาดเล็

ผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในปี ๒๕๕๗ ก่อเกิดในหลายลักษณะ ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยก็คือการสร้าง "โมเดล" (อุปกรณ์) การแปลงเพศปลานิลด้วยต้นทุนต่ำ แทนที่จะต้องลงทุนในวงเงินหลักแสนบาท แต่สาขาประมงร่วมกับชุมชนสามารถออกแบบอุปกรณ์ต่างๆ ได้ในราคาประมาณไม่เกิน ๔ หมื่นบาท รวมถึงสามารถสร้าง "วิทยากรชุมชน" และ "ครัวเรือนต้นแบบ" ในเรื่องดังกล่าวได้อย่างเด่นชัด โดยเรื่องที่วิทยากรชุมชนได้ร่วมเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยฯ ไปสู่การปฏิบัติจริงและถ่ายทอดให้กับเพื่อนบ้านในชุมชน จะประกอบด้วย ๕ ประเด็น/ขั้นตอนสำคัญๆ คือ

๑.การติดตั้งถาดและกรวยชุดฟักไข่ปลานิลแปลงเพศ

๒.การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลา

๓.การเก็บไข่เพื่อนำไปสู่การคัดไข่และฟักไข่

๔.การเตรียมบ่อและการอนุบาลลูกปลานิลแปลงเพศในระยะให้อาหารผสมฮอร์โมน

๕.การอนุบาลปลานิลแปลงเพศจนถึงระยะการจัดจำหน่าย



นอกจากนี้ยังพบความสำเร็จอื่นๆ ที่น่าปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมอยู่หลายเรื่องในเชิงสาธารณะ เช่น การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และผลิตสื่อเรียนรู้ ด้วยการจดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในในกิจกรรมโครงการ "เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์" ของจังหวัดมหาสารคาม (เมืองแห่งการเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชน) เพื่อขับเคลื่อนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดแก่ชาวบ้าน อันเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับผลผลิตชุมชนสู่มูลค่าเชิงพาณิชย์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือการได้รับงบประมาณสนับสนุนให้จัดตั้ง "ตลาดปลา" ขึ้นในชุมชน


หมายเหตุ : ภาพจากสาขาประมง คณะเทคโนโลยี

หมายเลขบันทึก: 582654เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2014 13:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ครบวงจรของการประมงเพื่อชีวิต ขอบคุณค่ะ..

การเพาะปลานิลสำเร็จ..ถือว่าเป็น นวัตกรรมที่เยี่ยมจริงๆๆ นะคะ... .. ชาวประมง คงดีใจมากๆๆ เพราะเป็นข่าวดี นะคะ


ขอบคุณค่ะ

ตอนเป็นนักศึกษา ไปอยู่ในหมู่บ้าน เป็นเวลาที่สนุกและประทับใจมากครับอาจารย์

ตอนลงพื้นที่ประทับใจคณะนี้มาก

ได้เรียนรู้ครบวงจร

จำได้ว่าที่สุรินทร์มีตลาดปลาที่ดีมาก

เคยไปดูไหมครับ

อยู่ระหว่างสุรินทร์กับพยัคฆภูมิฯ

ขอบคุณมากๆครับ

ประทับใจหลักคิดมาก ขออนุญาตคัดลอกมา

- เรียนรู้คู่บริการ (Service Learning)

- เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)

- นิสิตเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered)

- มีชุมชนเป็นห้องเรียน (Community-Based Learning) และ

- เน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม (Activity Based Learning & Project Base Learning)

ถ้าจัดการศึกษาได้แบบนี้ทั้งปนะเทศเราน่าจะมีบัณฑิตที่ติดดินนะคะ

ป.ล. ขอถามตามประสาคนชอบกินปลาแต่ไม่มีความรู้เรื่องปลาๆ เลยว่า ปลาที่กินอาหารผสมฮอร์โมนนี่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพคนกินมั๊ยคะอาจารย์??

-สวัสดีครับ

-กิจกรรมแบบนี้ได้เรียนรู้จริงและได้รับทักษะประสบการณ์ตรงเลยนะครับ

-เป็นกำลังใจให้น้อง ๆ ทุกคนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท