มิติใหม่ของการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา


เว็บไซต์ของ ศูนย์สุขภาพจิตในโรงเรียน ของมหาวิทยาลัย ยูซีแอลเอ ลงเรื่อง Using UCLA framework, Alabama, Georgia lead way in addressing barriers to learning น่าอ่านมาก

เขาเล่าว่า การแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ทำกันมากแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล เพราะทำแบบส่วนเสี้ยว (fragmented) ต่างคนต่างทำ หรือแยกกันทำไม่ได้จัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ

ผู้อำนวยการของ UCLA Center for Mental Health in Schools Program and Policy Analysis ชื่อ Howard Adelman และผู้อำนวยการร่วมชื่อ Linda Taylor จึงร่วมกันพัฒนา Innovative Framework ชื่อ the Unified and Comprehensive System of Learning Supportsเพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน อย่างเป็นระบบ

เขตพื้นที่การศึกษา Gainesville City Schools ในรัฐ จอร์เจีย นำกรอบแนวทางดำเนินการดังกล่าวไปใช้ ในช่วงปี 2007 – 2011 และปรากฎผลดังต่อไปนี้

  • อัตราการเรียนจบ เพิ่มจากร้อยละ ๗๓.๓ เป็น ๘๗.๒
  • ในทุกโรงเรียนจำนวนนักเรียนที่ผลการทดสอบของรัฐให้ผล "สูงกว่าความคาดหมาย" เพิ่มขึ้น
  • คะแนนการทดสอบ SAT, ACT และ AP เพิ่มขึ้น
  • อัตราการตั้งครรภ์วัยรุ่นลดลงร้อยละ ๔๐
  • จำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนมากกว่า ๑๐ วันในแต่ละปีการศึกษาลดลงจากร้อยละ ๒๑ เป็น ๕และจำนวนนักเรียมมาเรียนสายลดลงร้อยละ ๑๑
  • การใช้คณะกรรมการตัดสินกรณีปัญหาวินัยนักเรียนลดลงร้อยละ ๒๗
  • ความพึงพอใจของผู้ปกครองเพิ่มจากร้อยละ ๗๘เป็น ๙๓

บุคคลสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จนี้ คือผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา Gainesvilleชื่อ Merrianne Dyer ผู้ให้ความเห็นว่าต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ตัวอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนคืออะไรบ้างแล้วหาทางป้องกันและดำเนินการแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้นและจัดสรรทรัพยากร เพื่อจัดการตัวอุปสรรคเหล่านั้น

Dyer บอกว่ากลไกสำคัญคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบทบาทภาวะผู้นำ เพื่อจัดการความท้าทายเหล่านั้นในแต่ละโรงเรียน ต้องมีทีมจัดการที่มีผู้นำ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการอุปสรรคย้ำว่าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินการไม่ใช่เพิ่มงานหรือกิจกรรมบางอย่างเข้าไป และไม่ใช่เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการเพียงบางส่วน หรือที่ครูบางคน เท่านั้น

สาเหตุหลักของการที่นักเรียนมีปัญหาผลการเรียนต่ำอย่างเรื้อรัง มีปัญหารากฐาน ที่ประเด็นด้านสังคม อารมณ์ และหรือสรีรวิทยา ของเด็กและของครอบครัวของเด็กการนำทฤษฎีด้านสุขภาพจิตของ Adelman และ Taylor มาใช้ป้องกัน และแก้ปัญหา จึงก่อผลดี

รัฐ อะลาบามา นำแนวทางนี้ไปดำเนินการทั้งรัฐดัง เว็บไซต์นี้

นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้ผลในสหรัฐอเมริกาวิธีแก้ปัญหาของไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่ผมเชื่อว่า หลักการจากข่าวนี้ ที่นำมาใช้ในบริบทไทยได้ มี ๒ ประการ คือ(๑) ดำเนินการเป็นระบบ เปลี่ยนระดับโครงสร้างการทำงาน และการจัดสรรทรัพยากรโดยมีทีมบริหารการเปลี่ยนแปลงและมีภาวะผู้นำของทีมที่เข้มแข็ง(๒) ต้องศึกษาข้อมูลตัวปัญหาและสาเหตุ สำหรับนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ และเป้าหมายของดำเนินการ

ที่ลืมไม่ได้คือ เป้าหมาย ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนในระบบการศึกษาเป็นตัวเป้าหมายหลัก

วิจารณ์ พานิช

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


หมายเลขบันทึก: 581892เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 16:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท