จิตตปัญญาเวชศึกษา 213: "สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม ภาค 2


"สอน" หรือ "ปลูกฝัง" จริยธรรม ภาค ๒

@ทุกๆ "เหตุผล" สำคัญเพราะมี "อารมณ์"
ใน Ethics หรือจริยศาสตร์นั้นเป็นสาระที่ว่าด้วยทักษะการใช้ "เหตุผลทางจริยธรรม" สำหรับเรื่องราวใดๆที่เกิดขึ้น และเหตุผลของความสำคัญนั้นก็เพราะสิ่งที่ตัดสินใจว่าจะทำ (หรือไม่กระทำ) นั้น จะส่งผลต่อความทุกข์และความสุขของผู้คน ของสังคม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และบางครั้งระยะยาว จึงเกิดความยากง่ายขึ้นในการตัดสินกรณีทางจริยศาสตร์อันเป็นเหตุการณ์จริงๆ
อาจจะมีคน approach เรื่องนี้โดยกล่าวว่า "เราต้องไม่ใช้อารมณ์" ในการตัดสิน ซึ่งก็เป็นประเด็นที่สำคัญ สำคัญตรงที่ประโยคนี้หมายความว่า "เราไม่ได้ตัดสินโดยตกเป็นทาสของอารมณ์ในการตัดสินนั้นๆ" และ "ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเรื่องราวของอารมณ์อยู่ในเรื่องนี้" การมีสติ และมี awareness ตลอดเวลาในการตัดสินทางจริยธรรมว่ากำลังมีความทุกข์ ความสุข ความคับข้องใจ ความกลัว ฯลฯ อารมณ์มากมายเกิดขึ้นกับบุคคลที่เกี่ยวข้องแสดงถึง "ความสำคัญ" อย่างยิ่งว่าทำไมเรื่องนี้จึงต้องทำให้ดี ทำให้ประณีต และทำอย่างเต็มไปด้วยความรักและความเข้าใจ ไม่ใช่ทำไปด้วย judgmental attitude หรือการ "อยากจะตัดสิน" "อยากจะตีตราว่าเลว/ดี" เพราะสุดท้าย เราต้องการการเรียนรู้ การเติบโต จากทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การประทับตราดี/ชั่วลงบนหน้าผากของใคร

@การเผชิญหน้ากับ “ความกลัว" เป็นส่วนสำคัญในการเรียนรู้
ใครๆก็ทราบ “ข้อดี" ของการเป็นคนดี ของการมีคุณธรรม จริยธรรม แต่ทำไมในสังคมที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง มันจึงเกิดเรื่องราวอีกด้านหนึ่งได้?
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเรียนจริยศาสตร์ จริยธรรม แต่เพียงด้านบวก โดยที่ไม่สนใจด้านลบ หรืออุปสรรคที่ความดีเหล่านั้นจะงอกงามหรือซึมซับเข้าไปในเนื้อในตัว ในจิตหรือจริตวิญญาณของนักศึกษานั่นเอง มีหลายเรื่องหลายราวที่เราทราบว่าดี ทราบว่าควรกระทำ คือมีแรงผลักทางบวก แต่สุดท้ายเราไม่ได้กระทำ ก็เพราะมี “แรงต้านด้านลบ" มาหักห้ามไม่ให้กระทำเสีย

"เรียนจริยธรรม จริยศาสตร์ น่ากลัวอย่างไร?"
เรื่องนี้จะน่ากลัว หากในบริบทการเรียนรู้นั้นๆ มี "บรรยากาศแห่งการตัดสิน" อยู่ ตัดสินว่าดี/ไม่ดี ชั่ว/ไม่ชั่ว บรรยากาศนี้ไม่เอื้อในการปลดปล่อยตัวตนที่แท้ออกมา ทำให้นักศึกษามองไม่เห็นตัวตนที่แท้จริง แต่จะสร้าง "ตัวตนปลอม" ออกมาภายนอกเพื่อให้เป็นที่ยอมรับโดยคนทั่วไป อาทิเช่น
# ใ นสังคมบางที่ การ "ดูแลตนเอง" จะถูกมองเป็นเรื่องการเห็นแก่ตัวไป เป็นสังคม "โลกสวย" ที่ใครๆจะทำอะไรเพื่อตนเองไม่ได้เลย แท้ที่จริงแล้ว "ตนเอง" เป็นต้นทุนสำคัญและต้นทุนที่ว่านี้ต้องการการดูแลด้วย จึงจะสามารถที่จะไปดูแลผู้อื่นได้ การดูแลแต่ผู้อื่น โดยไม่สนใจต้นทุนของตนเองนั้น เป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง ต้นทุนจะค่อยๆหมด เหือดหายไป
# say "No" is also OK การปรับทัศนคติที่สามารถพูดปฏิเสธได้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ความกลัวที่สำคัญ การ say yes ตะพึดตะพือบางครั้งจะทำร้ายตนเอง แต่หากเริ่มต้น say no ได้ จะเกิดพื้นที่การเรียนรู้ว่าทำไมเราจึงไม่ OK กับเรื่องนี้ ประเด็นนี้ หรือการทำแบบนี้ มนุษย์ที่ต้องอยู่ใน conformity มากๆ จะค่อยๆลด assertiveness ลงไปเรื่อยๆ และเกิด reaction ด้านในมากขึ้นๆ สิ่งที่ลึกๆตนเองปฏิเสธก็จะเติบโต และ aggressive มากขึ้นภายใน เพราะไม่ได้รับการดูแล หรือเหลียแลมาก่อน เพราะไม่มีพื้นที่จะแสดง

การจัดห้องเรียนจริยศาสตร์ที่เหมาะสมจึงควรจะผ่อนคลาย ไม่มีบรรยากาศตัดสินที่รุนแรงหรือคุกคามการแสดงออกของผู้เรียน aura ของผู้สอนและของทุกๆคนในที่นั้นมีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญ

@ จริยศาสตร์เป็นเรื่องราวชีวิตจริง
การเรียนจริยศาสตร์ต้องจับต้องได้ ไม่ต้องมีบาลี สันสกฤต มากมายอะไร และตัวอย่างที่ทรงพลังที่สุดคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง หรือมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจริง เวลาที่ผู้คนพูดถึง หรือเล่าเรื่องที่เกิดจริง จะแตกต่างจากเรื่องเล่าที่ได้ยินมา ได้ฟังมา บางครั้งเรื่องเล่าอาจจะทรงพลังได้เช่นกันทั้งๆที่เป็นเรื่องไม่จริง ก็ต่อเมื่อเรื่องเล่านั้น "ถูกกระทำ" ให้มีความเป็นไปได้สูงมากๆ เหมือนจริงมากๆ อาทิเช่น การใช้ภาพยนต์ในการเรียนจริยศาสตร์ ภาพยนต์จะมีการปู background ประกอบจนกระทั่งเกิดความเป็นไปได้ หรือสัมผัสได้ว่าจริง การเรียนรู้นั้นจะเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนได้อย่างมาก
การเรียนแพทย์จะใกล้ชิดกับ "ชีวิตจริง" มากในชั้นคลินิก ในสถานพยาบาบเต็มไปด้วยเรื่องราว ไม่เพียงแค่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ทุกเรื่องนั้นจะเกี่ยวข้องกับจริยธรรม จริยศาสตร์ได้ทั้งสิ้น

@ การเรียนจริยศาสตร์จะต้องมีการเติบโตทางปัญญา
ทั้งของฝ่ายผู้สอน และของฝ่ายผู้เรียน ปํญญาในที่นี้รวมไปถึงทักษะของการครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคายในหลายๆมิติ (โยนิโสมนสิการ) การมองเห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของการกระทำ (ไม่กระทำ) กับความสุข ความทุกข์ ของผู้คนที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือการเกิดความรักและเมตตาในผู้คน ณ ที่นั้นๆ ของคนไข้ ญาติ นักเรียน พยาบาล และแพทย์ เป็นการเรียนที่ต้องเกิด compassion ขึ้น มิใช่เกิดขึ้นแต่เพียงทฤษฎี คือคำสวยๆงามๆเท่านั้น

นพ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์
เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๗ นาที วันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๗
วันแรม ๒ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเมีย

หมายเลขบันทึก: 581879เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ธันวาคม 2014 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท