​แขกในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


แขกในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

พ่อครับในอดีตคนแถบนี้มีความเป็นมายังไง..?และที่นี้เคยมีสุลต่านด้วยรึ..? ขณะขับรถหล๊บเรินอยู่ในเส้นทางสายเก่าเมืองหาดใหญ่ – สงขลา อยากฟังไหมละจะเล่าเรื่องให้ฟัง ฟังครับ

เดิมทีมองไปทางไหนเห็นแต่น้ำกับฟ้าต่อมามีสันดอนงอกออกมาเกือบปิดทางน้ำทะเลตรงหัวเขาแดง คุ้งน้ำด้านในนี้สมมุติเรียกว่าทะเลสาบสงขลากว้างใหญ่มากเป็นแหล่งอาหารของคนและสัตว์นานาชนิด ต่อมาก็มีชุมชนคนเกิดขึ้นรอบ ๆ ทะเลสาบนั้น ที่ค้นพบมีหลักฐานชัดเจนก็มี 6 ชุมชนคือ ชุมชนอู่ตะเภา ( ระโนด ) ชุนชนพังยาง ชุมชนสีหยัง ( เจดีย์งาม ) ชุมชนเขาคูหา ( ชะแม ) ชุมชนปะโอ และชุมชนสะทิงพระ

การค้นพบเมืองโบราณที่สะทิงพระนั้นเจอเมืองศรีมงคลและเมืองโคกสังข์ด้วย

เมืองโบราณเหล่านี้มีอายุประมาณ พ.ศ. 1100 ปีมาแล้ว สิ่งที่เป็นความเชื่อของคนโบราณนี้คือการนับถือศาสนาธรรมชาติก่อนแล้วหันมานับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เมื่อมีผู้คนจากต่างทิศต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้นจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งการสร้างบ้านเรือนการค้าขายการเมืองการขยายอำนาจรัฐการช่วงชิงผลประโยชน์ในท้องถิ่น ก่อเกิดการปล้นมีโจรสลัดมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นเกิดขึ้น

อันที่จริงผู้ที่มาจากต่างถิ่นมาสร้างความเจริญในถิ่นนี้ก็มีมาก

ที่บันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาก็มีท่านดาโต๊ะโมกอล ได้พาบริวารออกจากเกาะชวามาพักตั้งถิ่นฐานเนินหัวเขาแดงเขตเมืองพัทลุงเดิมแล้วได้สร้างความเจริญทางการค้าเป็นเมืองท่าที่สำคัญในยุคนั้นแข่งกับเมืองปัตตานีซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางค้านานาชาติมาก่อน

ถามว่าทำไมท่านจึงมาอยู่ที่นี้ เขาว่าท่านหนีพวกชาวตะวันตกคือพวกโปรตุเกสบุกตีเมืองแล้วเข้ายึดครอง ท่านจึงนำผู้คนมาหาที่อยู่สงบเห็นว่าตรงบริเวณหัวเขาแดงเข้าตาเลยตั้งหลักปักฐานแล้วทูลขออยู่ใต้ร่มพระบารมีกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในราวเกือบ 600 ปีมาแล้ว

ในยุคนั้นฝรั่งเขาล่าเมืองขึ้น เมืองที่เป็นเกาะแก่งต่าง ๆ ถูกยึดครองโดยมากผู้คนที่ไม่ชอบอยู่ใต้ปกครองก็หนีไปอยู่ถิ่นอื่น บวกกับเป็นช่วงศาสนาอิสลามเผยแพร่เข้ามายังคาบสมุทรมลายูและใช้ภาษามลายูสอนศาสนาผู้คนในพื้นที่ต่างรับเอาศาสนาใหม่นี้กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ตามมา

ด้วยศูนย์กลางของชาวมลายูอยู่เมืองมะละกามีอิทธิพลขยายความเชื่อทางศาสนาอิสลามมาถึงชายแดนสยามที่ปกครองแบบหลวม ๆ โดยให้เจ้าเมืองปกครองแบบอิสระเพียงแต่มีการส่งสวยบ้างส่งเครื่องบรรณาการไปยังเมืองหลวงเพื่อเป็นเครื่องให้รู้ว่ายังจงรักภักดีอยู่ แต่เมื่อใดการเปกครองอ่อนแอ เจ้าเมืองในถิ่นแถบนี้ก็แยกตัวเป็นอิสระจึงมีสุลต่านสุลัยมานแห่งเมืองสงขลาเกิดขึ้น สุลต่านสุลัยมานเจ้าเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงนี้ก็เป็นบุตรชายของท่านดาโต๊ะ โมกอล ที่อพยบมาจากเกาะชวานั้นเองคือหลังจากบิดาเสียชีวิตแล้ว สุลต่านสุลัยมานก็ขึ้นเป็นเจ้าเมืองแทน

เบื้องหลังการปกครองหัวเมืองทางปักษ์ใต้โดยเฉพาะเมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง เมืองสงขลาในยุคปลายอยุธยานั้นน่าสนใจศึกษามาก

ด้วยมหาอำนาจทางทะเลกำลังล่าอาณานิคมโดยโปรตุเกสบุกมายึดครองเมืองมะละกาอันเป็นฐานรากชุมชนชาวมลายูได้แล้วหัวเมืองที่เคยขึ้นต่อมะละกาก็แสดงตนเป็นอิสระ การปกครองผู้คนโดยเอาแนวคิดทางฝั่งตะวันตกมาใช้แม้แต่การทำมาหากินเกิดการผิดพลาดใหญ่หลวงผู้คนอดอยากปากแห้งเมื่อไม่มีอะไรจะกินก็ต้องเป็นโจรปล้นกิน โดยเฉพาะรัฐไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์กลุ่มโจรสลัดมุ่งมาปล้นเมืองสงขลา เมืองพัทลุง เข้าโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช เสียหายมากสุดคือเมืองพัทลุงที่ถูกปล้นหลายครั้งทั้งเผาเมืองทิ้งกวาดเอาผู้คนไปด้วย

ขณะเดียวกันกับพม่าบุกตีอยุธยาแตกหัวเมืองทางใต้ก็ตั้งตนเป็นอิสระกว่าที่พระเจ้าตากสินจะมารวมเป็นแผ่นดินผืนเดียวได้ก็หลายปีและมีนโยบายรักษาผืนแผ่นดินเอาไว้เป็นแผ่นดินเดียวกันโดยอาศัยเจ้าเมืองที่มีอำนาจอยู่เดิมช่วยดูแลต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ถือได้ว่าเจ้าเมืองแขกได้สร้างคุณงามความดีเอาไว้ให้ลูกหลานคนไทยได้ชื่นชมอยู่มากนานับประการ ดังมีสายตระกูล ณ สงขลา , ณ พัทลุง ที่มีเชื้อสายแขกแดนไกลโพ้นนั้นแล.

หมายเลขบันทึก: 581511เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ธันวาคม 2014 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นเจ้าสมัยก่อนเลยนะครับ

สายทางภาคใต้หลายท่านหน้าตาเหมือนแขกจริงๆด้วยครับ

สวัสดีครับ อ. ดร. ขจิต

วันก่อนคุยกับคุณลุงแถวจะทิ้งพระ คุณลุงเล่าว่าแม้เป็นพระอยู่เมืองบางกอก พวกรู้ว่ามาจากทางปักษ์ใต้

เขายังแรกผมว่าพระแขก ครับ 555

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท