นายกสภาฯ เป็นกระโถน?



สภาพความแตกต่างทางความคิดในมหาวิทยาลัยมหิดลช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ๒๕๕๗ ทำให้ผมได้เรียนรู้ตามบันทึกนี้

เป็นสภาพที่เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่พอใจอีกฝ่ายหนึ่ง ก็ใช้วิธีเอามาพ่น (หรือถ่ม) ใส่นายกสภาฯ คล้ายๆ นายกสภาฯ เป็นกระโถน แทนที่จะไปพูดจากันเองโดยตรงอย่างสร้างสรรค์ และอีกฝ่ายหนึ่งก็ทำอย่างเดียวกัน

ผมกำลังพิมพ์บันทึกนี้บนรถไฟจากแฟรงค์เฟิร์ตไปเบอร์ลิน จึงไม่รอดสายตาสาวน้อย เธอบอกว่า ไม่ใช่กระโถน น่าจะเป็นส้วมมากกว่า

ผมเถียงในใจ (เพราะไม่ถนัดเถียงเมีย) ว่าไม่ใช่หรอก ส้วมมันมีไว้ใส่ของเสีย แต่นายกสภาฯ มีไว้พ่นอารมณ์ไม่พอใจใส่ ซึ่งถ้าคนทำหน้าที่นายกสภาฯ ไม่เข้าใจ และไม่สันทัดด้านการจัดการอารมณ์ (ของคนอื่น และของตนเอง) ชีวิตก็จะระทมทุกข์จากการรับเอาอารมณ์ร้อนของคนอื่น มากระทบอารมณ์ของตนเอง เกิดความเครียดและเกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย กรรมการที่มีความสร้างสรรค์ เชื่อในการสร้างการเปลี่ยนแปลง อาจพูดลอยๆ ว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงที่พาดไปกระทบหน่วยงานบางหน่วย หัวหน้าหน่วยงานนั้นไม่อยากให้เปลี่ยนแปลง ท่านควรทำอย่างไร

คำตอบคือ มีหลายแนวทาง ที่อาจทำร่วมกัน ได้แก่ (๑) ขอคุยกับนายกสภาฯ (๒) ขอคุยกับอธิการบดี หรือรองอธิการบดีที่รับผิดชอบ (๓) ขอพูดกับกรรมการสภาฯ ที่เป็นผู้พูด ผมมีความเห็นว่า ควรจัดลำดับความสำคัญจาก ๓ ไปหา ๑ คือควรคุยกับผู้พูดเป็นลำดับแรก ตรงนี้คนเราจะรู้สึกว่ายากที่จะคุยกัน เพราะจะทะเลาะกัน ซึ่งผมเห็นตรงกันข้าม ว่าคนเราที่เป็นผู้ใหญ่ควรฝึกฝนทักษะและอารมณ์ ให้สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเห็น ความเชื่อ และวิธีคิดที่แตกต่างกันได้ ผมเองก็ฝึกฝนอยู่ตลอดมาจนปัจจุบัน และตั้งแต่หนุ่มๆ หากต้องรับผิดชอบงาน ที่ติดขัดตรงบุคคลที่เข้าใจกันว่าเป็นผู้ขัดขวาง หรือเป็นศัตรู ผมก็จะขอนัดไปคุยกันสองคน โดยเอาเป้าหมายประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ผมยังไม่เคยล้มเหลวเลยในการใช้ยุทธศาสตร์นี้

ตรงนี้มีคาถาอยู่สามข้อ ข้อแรกคือการยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ยึดถือคุณค่าที่ยิ่งใหญ่เหนือประโยชน์ส่วนตน ข้อสอง ไม่ต้อนสุนัขให้จนตรอก คือต้องช่วยหาทางออกให้แก่คู่ขัดแย้งด้วย และ ข้อสาม ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน รับฟังและให้เกียรติต่อกันและกัน

กลับมาที่กระโถนรองรับอารมณ์ ผมมีข้อสังเกตว่า คนที่กำลังมีอารมณ์ไม่พอใจ มักจะโทษคนที่อยู่ตรงกลาง และมักหาทางแสดงอารมณ์ไม่พอใจออกมา ผ่านสื่อที่สื่อสารได้ง่ายและรวดเร็ว ผมพยายามฝึกตัวเองให้ "รับรู้แต่ไม่รับถ่ายทอดอารมณ์" เพราะผมเข้าใจว่าอารมณ์ดังกล่าวเป็นโทษ ไม่เป็นคุณต่อผู้ใด รวมทั้งต่อส่วนรวม

ผมฝึกฝนให้ตนเอง "รับรู้แต่ไม่รองรับ" อารมณ์ด้านลบของผู้คน โดยมีความเชื่อว่า ผมทำหน้าที่ต่างๆ ให้ดีที่สุดต่อส่วนรวม ซึ่งก็คงจะเป็นที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง ต่อคู่กรณี

ผมไม่ยอมทำตัวเป็นคู่กรณีกับใคร หรือฝ่ายใด

ผมฝึกเป็นกระโถนก้นรั่ว สำหรับอารมณ์ร้าย



วิจารณ์ พานิช

๒๑ ต.ค. ๕๗

บนรถไฟจากแฟรงค์เฟิร์ตไปเบอร์ลิน


หมายเลขบันทึก: 581267เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2014 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2014 14:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ เป็นบันทึกเล็กๆ ที่ให้ข้อคิดและให้ความรู้ในเวลาที่ต้องการพอดีเลยค่ะ :-)

ชอบใจ..ที่ท่าน.".ทำตนเป็นกระโถนก้นรั่ว"..เจ้าค่ะ...

ชอบบันทึกนี้ของอาจารย์มากครับ ขอน้อมรับไปปฏิบัตินะครับ :)

ชอบมากคะ "กระโถนก้นรั่ว" จะขอนำไปใช้ต่อนะคะ อยากจะเรียนถามเป็นความรู้ ในฐานะที่ท่านเป็นนายกสภาฯม.มหิดล (ม.ที่ข้าฯภาคภูมิใจ) ว่า ถ้ามีกลุ่มคนมาให้ข้อมูลทางลบแก่บุคคลที่สามในสภาฯ (โดยที่บุคคลที่ถูกกล่าวถึงไม่มีโอกาสโต้แย้ง) ทั้งที่ไม่เป็นเรื่องจริง มีคำถามดังนี้

๑. ท่านจะมีวิธีตรวจสอบข้อมูลที่นำมาถกเถียงกันนั้นอย่างไร ว่าเป็นเรื่องจริง

๒. เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทราบว่าถูกใส่ความ จึงมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กล่าวหา สภาฯ/อธิการบดีควรวางตัวอย่างไร การที่สภาฯ/อธิการบดีขอให้อัยการเป็นทนายแก้ต่างคดีให้ผู้กล่าวหา แสดงว่าสภา/อธิการบดีวางตัวไม่เป็นกลางหรือไม่อย่างไร

๓.สภาฯ/อธิการบดีควรแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม กรณีนี้อย่างไร นอกจากการชดเชยค่าเสียหายตามคำสั่งศาลปกครอง

๔. ขอเสนอให้มีการระบุความรับผิดชอบต่อสังคมของนายกสภาฯ/กรรมการสภารวมทั้งอธิการบดี หัวหน้าส่วนงานในกรณีที่ดำเนินนโยบายหรือตัดสินใจผิดพลาที่กระบต่อสังคมไว้ในพรบ.มหาวิทยาลัยด้วยค่ะ

ขอกราบขอบพระคุณท่านค่ะ ที่เรียนถามเพื่อการเรียนรู้ อยากถอดบทเรียนกรณีศึกษานี้ออกมา เพื่อป้องกันมิให้สภาฯ (สถาบันหลักสูงสุดของสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา) เป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มคนที่ (เรียกตนเองว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ) ใช้ปากทำลายล้างบุคคลอื่น โดยไม่มีโอกาสต่อสู้ค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท