หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​๖ หนังสั้น : สื่อชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน


ทั้ง ๖ เรื่องเป็นภาพสะท้อนถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชน หรือกำลังแพร่สะพัดคุกคามเข้าสู่ชุมชน เช่น การทะเลาะวิวาทและอัดคลิปมาประจาน การนัดพบกันผ่าน Facebook การติดมือถือติดเกมจนเสียการเรียน และการเกิดลักขโมยเงินแม่ การเล่นมือถือในขณะขับรถจักรยานยนต์จนเกิดอุบัติเหตุ

ปี ๒๕๕๗ : นิสิตที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของหลักสูตรนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ ประสบความสำเร็จด้วยการนำเสนอโครงการจนได้รับทุนสนับสนุน จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในวงเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในชื่อโครงการ "เยาวชนสร้างสรรค์รู้เท่าทันสื่อเพื่อชุมชนเข้มแข็ง" ณ โรงเรียนดอนจำปาดอนสวรรค์ ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม


โครงการเยาวชนสร้างสรรค์รู้เท่าทันสื่อเพื่อชุมขนเข้มแข็ง ถือเป็นปรากฏการณ์การเรียนรู้ของนิสิตที่ผลิบานจากงานบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือในอีกสถานะคือการ "ต่อยอด" จากโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของสาขานิเทศศาสตร์ ในชื่อโครงการ "การสื่อสารเพื่อรู้เท่าทันสื่อของเยาวชนโรงเรียนดอนจำปาดอนสวรรค์" ซึ่งมีอาจารย์อังคณา พรมรักษา และคณะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ภายใต้วัตถุประสงค์การเรียนรู้คู่บริการหลัก ๒ ประเด็นคือ

(๑) ศึกษาพฤติกรรมการรับรู้สื่อของนักเรียน

(๒) สร้างสื่อต้นแบบเพื่อการรู้เท่าทันสื่อของนักเรียน




กรณีดังกล่าวนี้ทั้งนางสาวรัชนีกร ใหม่คามิและนายวุฒิกรณ์ ประพัศรางค์ นิสิตผู้รับผิดชอบหลักโครงการฯ บอกเล่าถึงแนวคิดสำคัญๆ ในการขยายผลโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนไปสู่เวที สสส. ไว้อย่างน่าฟัง ว่า

"เรามีความเชื่อว่าหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน คือการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสังคม เราสามารถนำวิชาความรู้ในหลักสูตรไปพัฒนาสังคมได้ โดยใช้บริบทชุมชนเป็นหัวใจหลักของการทำงาน ยิ่งพอได้รู้สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในชุมชนที่มีภูมิต้านทานเกี่ยวกับสื่อค่อนข้างน้อย ยิ่งมองว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะให้พวกเขาจะได้ลุกขึ้นมาเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองผ่านหนังสั้นที่พวกเขาจะต้องคิดเอง ทำเองโดยใช้เรื่องราวหรือสถานการณ์จริงในชุมชนเป็นเรื่องราว โดยเริ่มต้นจากนักเรียน หรือเด็กและเยาวชนในชุมชน"



มุมมองความคิดของนิสิตข้างต้น น่าจะเป็นพลังอันสำคัญของการทำให้ สสส. พิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณสู่การ "เรียนรู้คู่บริการ" ของ "นิสิตกับชุมชน" เพราะเป็นสะพานเชื่อมโยงให้คนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยได้ออกเดินทางไป "เรียนรู้" และ "รับใช้สังคม" ซึ่งการรับใช้สังคมดังกล่าวก็เป็นกระบวนการขับเคลื่อนบนปรัชญาการมี "ส่วนร่วม" มิใช่การไป "ให้" หรือ "ยัดเยียด" ให้กับชุมชนโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของชุมชน หรือกระทั่งเปิดโอกาสให้ชุมชน (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ได้มีส่วนร่วมในการทำงาน ด้วยการร่วมคิด ร่วมทำ



สำหรับกิจกรรมสำคัญๆ ที่ขับเคลื่อนร่วมกันระหว่าง "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน" กับ "สสส." คือการที่นิสิตกับชุมชน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ "นักเรียน" (เด็กและเยาวชน) ได้ร่วมกันผลิต "หนังสั้น" เพื่อการเรียนรู้ชุมชนควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรู้เท่าทันสื่อของชุมชน โดยเริ่มต้นจากการทำเวทีสำรวจข้อมูลอันเป็นพฤติกรรมหรือสถานการณ์ชุมชนที่เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อว่า "มีประเด็นอะไรบ้าง...อะไรคือปัญหาหลัก อะไรคือปัญหารอง"

ถัดจากนั้นจึงแบ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนออกเป็น ๖ กลุ่มๆ ละประมาณ ๑๐ คน เพื่อเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริงเรื่องการ "ผลิตสื่อ" (หนังสั้น) ตามมุมคิด หรือโจทย์ที่แต่ละกลุ่มเลือกที่จะรังสรรค์ขึ้น ซึ่งประกอบด้วยหนังสั้น จำนวน ๖ เรื่อง คือ

  • อยากลอง
  • ความน่ากลัวของ Facebook
  • ความวุ่นวายเกือบตายเพราะรัก
  • โทรศัพท์กำกับชีวิต
  • โลกยุคใหม่ของเด็กติดเกม
  • Fakebook



หนังสั้นทั้ง ๖ เรื่องนักเรียนจะเป็นคนเขียนบท เลือกนักแสดง บันทึกภาพ ตัดต่อกันเอง โดยมีนิสิตเป็น "พี่เลี้ยง" คอยหนุนเสริมแนะนำและให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

ทั้ง ๖ เรื่องเป็นภาพสะท้อนถึงสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชุมชน หรือกำลังแพร่สะพัดคุกคามเข้าสู่ชุมชน เช่น การทะเลาะวิวาทและอัดคลิปมาประจาน การนัดพบกันผ่าน Facebook การติดมือถือติดเกมจนเสียการเรียน และการเกิดลักขโมยเงินแม่ การเล่นมือถือในขณะขับรถจักรยานยนต์จนเกิดอุบัติเหตุ

นี่อาจจะเป็นภาพสะท้อนหนึ่งที่สื่อให้เห็นถึงผลสำเร็จของการขับเคลื่อนหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนที่เชื่อมประสาน หรือผนึกกำลังกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะ "สสส" ที่มีต่อสังคม ผ่านการดำเนินงานของนิสิต (ผู้เรียน) และชุมชน (นักเรียน : เด็กและเยาวชน) เป็นศูนย์กลาง และเป็นความสำเร็จบนฐานคิดของการกระตุ้นให้ชุมชน โดยเฉพาะ "นักเรียน" ผู้ซึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ได้มีบทบาทและสถานะในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ด้วยการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดรูปแบบและแนวทางแห่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาชุมชนอันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนผ่านวิธีคิดและวิธีการของตนเอง โดยบูรณาการกับวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ บนบริบทของตนเองเป็นสำคัญ



และส่วนหนึ่งที่น่ายินดีมากก็คือ คนในชุมชนที่ไม่ใช่แต่เฉพาะนักเรียนเท่านั้นที่ได้แสดงเป็นตัวละครในหนังสั้น แต่บรรดาครู ผู้ปกครองก็ก้าวเข้ามาสวมบทบาทเป็นตัวละครร่วมกับลูกๆ หลานๆ อย่างน่ารักน่าเอ็นดู เช่นเดียวกับสถานที่การถ่ายทำก็ล้วนมาจากสถานที่จริง ทั้งที่เป็นบ้าน โรงเรียน ท้องทุ่ง ร้านเกม ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นการบันทึกห้วงประวัติศาสตร์อันเป็นสถานการณ์จริงของชุมชนไปในตัวด้วยเหมือนกัน

ต่อจากนี้ไปจึงเป็นห้วงของการนำ "หนังสั้น" ที่เกิดจากการรังสรรค์ของชุมชนไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อก่อให้เกิดพลังของการพัฒนาทั้งระบบการเรียนในมหาวิทยาลัย การเรียนในโรงเรียนและท้องถิ่น-ชุมชน หรืออื่นๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่องสืบต่อไป-และต่อไป





ความเห็น (5)

I like the initiative and this :

..การ "เรียนรู้คู่บริการ" ของ "นิสิตกับชุมชน" เพราะเป็นสะพานเชื่อมโยงให้คนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยได้ออกเดินทางไป "เรียนรู้" และ "รับใช้สังคม" ซึ่งการรับใช้สังคมดังกล่าวก็เป็นกระบวนการขับเคลื่อนบนปรัชญาการมี "ส่วนร่วม" มิใช่การไป "ให้" หรือ "ยัดเยียด" ให้กับชุมชนโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของชุมชน หรือกระทั่งไม่เปิดโอกาสให้ชุมชน (ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย) ได้มีส่วนร่วมในการทำงานด้วยการร่วมคิด ร่วมทำ...

To be a part of (or connected to) a community is a wonderful commitment in life (not a temporary fad). I salute the students who make such commitment.

การทำหนังสั้น เด็กๆ ได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการ ตั้งแต่หาข้อมูล เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ และเอาไปเผยแพร่ได้อย่างดี

เด็กๆ จะได้รู้จักปัญหาของชุมชนจากกระบวนการทำงานนี้ด้วยค่ะ น่าดีใจถ้าโรงเรียนให้เด็กๆ วิเคราะห์ปัญหาชุมชนกันเอง เสนอทางออกที่ลงมือทำได้เอง ไม่ต้องรอคนอื่น

ชอบมากๆ และอยากดูหนังสั้น ๖ เรื่อง แนะนำด้วยนะคะว่าพี่จะทำอย่างไร

หนังสั้นสื่อสังคมดีๆเช่นนี้ อยากให้เผยแพร่ออกไปมากๆค่ะ...

ุสื่อของชุมชน .....จะเข้าใจ ..... เข้าถึงและพัฒนา "ชุมชน" ได้ดีที่สุดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท