หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ​เสียงจากนิสิตสารสนเทศศาสตร์ (3) ลงมือทำ ... เข้าใจงาน เข้าใจคน


การลงมือทำ ช่วยทำให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ได้เรียนมามากขึ้น เพราะการฝึกปฏิบัติจริง คือการได้ลองทำอะไรๆ ด้วยตนเอง ได้ลองผิดลองถูก ได้รู้จักการให้ ได้รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการเสียสละ

นี่เป็นอีกเรื่องเล่าอีกเรื่องของ นางสาวอัจฉราพร แจ่มศรี นิสิตสาขาสารสนเทศศาสตร์ (คณะวิทยาการสารสนเทศ) ที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยส่วนตัวแล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องเล่าที่ง่ายงาม กระชับ มองเห็นภาพว่าการนำความรู้ในชั้นเรียนไปสู่การปฏิบัติการโดยให้บริการชุมชนนั้น ถือเป็นปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้เข้าใจในสิ่งที่เรียน ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้ตัวตนของเพื่อนแต่ละคนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการได้เรียนรู้ข้อมูล หรือสถานการณ์ของชุมชน ซึ่งทำให้รู้สึกที่จะทบทวนถึงเรื่องราวชุมชนตัวเองไปในตัว

.....

จากการที่ได้ไปช่วยงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของสาขาสารสนเทศศาสตร์ ในชื่อ โครงการ "พัฒนาระบบห้องสมุดและส่งเสริมการเรียนรู้นักเรียนบ้านดอนจำปาดอนสวรรค์" ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากสถานที่จริง หรือสถานการณ์จริง จากที่เคยแค่ได้เรียนในห้องเรียน เคยนั่งเขียนนั่งจด หรือไม่ก็นั่งฟังบรรยายอย่างเดียว หรือได้ปฏิบัติในห้องเรียนบ้างก็เพียงนิดหน่อย พอได้ลงมือปฏิบัติในสถานที่จริง จึงช่วยให้มีโอกาสได้นำความรู้ที่เรียนในชั้นเรียนไปทดลองใช้ในการทำงานจริงร่วมกันทั้งกับเพื่อน กับอาจารย์ และกับนักเรียน

การเข้าร่วมโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้เรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลายประเด็น ทำให้รู้ว่าเมื่อทำงานจริงๆ อาจจะต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง เมื่อเจอปัญหาจึงได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กันอย่างเป็นทีม

นอกจากการได้ฝึกแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงแล้ว ยังได้ฝึกการทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างเป็นระบบ และการลงมือทำ ช่วยทำให้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ที่ได้เรียนมามากขึ้น เพราะการฝึกปฏิบัติจริง คือการได้ลองทำอะไรๆ ด้วยตนเอง ได้ลองผิดลองถูก ได้รู้จักการให้ ได้รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการเสียสละด้วยการมอบโอกาสให้กับคนที่มีโอกาสน้อยกว่าตนเอง ดังปรัชญามหาวิทยาลัยมหาสารคาม "ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน"

นอกจากนี้การลงพื้นที่ยังทำให้ได้เห็นว่า เพื่อนๆ น้องๆ แต่ละคนที่มาช่วยงานกันนั้น พวกเขาแต่ละคนถนัดเรื่องอะไรมากกว่ากัน ได้รู้ว่าแต่ละคนสามารถทำงานเกี่ยวกับอะไรได้ดี

ซึ่งในการทำงาน ถ้าไม่รู้หรือไม่เข้าใจอะไรตรงไหนยังสามารถสอบถามอาจารย์ได้อย่างสนิทใจ อีกทั้งอาจารย์ก็ให้คำแนะนำกับเราในส่วนที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างดียิ่ง การให้คำแนะนำผ่านสถานการณ์การลงมือทำเช่นนี้ ช่วยเห็นภาพความรู้ที่ชัดเจนกว่าการให้คำแนะนำผ่านการบรรยายในชั้นเรียนเป็นไหนๆ




เช่นเดียวกับการแบ่งหน้าที่กันทำงานนั้น ส่งผลให้เราได้ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกความอดทนในการทำงาน ฝึกการทำงานเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งงานในแต่ละหน้าที่ได้ฝึกทักษะทั้งเหมือนและต่างกันให้กับเรา เช่น ผู้ที่คีย์ข้อมูลหนังสือ ก็ได้ฝึกทักษะการพิมพ์ไปในตัว

การร่วมโครงการครั้งนี้ยังทำให้ดิฉันได้สังเกตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน ยกตัวอย่างเช่น ตอนกลางวันจะมีคนในชุมชนมาทำกับข้าวให้กิน แต่ละคนสร้างความเป็นกันเองกับพวกเรา คนในหมู่บ้านและเด็กๆ ล้วนใจดีและน่ารักกันทุกคน พูดคุยบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตและเรื่องราวในชุมชนให้ฟังหลายเรื่อง ทำให้เข้าใจบริบทชุมชนมากขึ้นและยังทำให้เราได้ทบทวนเรื่องราวชุมชนบ้านเกิดตัวเองไปในตัวด้วยเหมือนกัน

เหนือสิ่งอื่นใด การทำงานในครั้งนี้ ยังทำให้ดิฉันรู้จักเพื่อนๆ น้องๆ ในสาขาที่ไม่ค่อยได้เจอหรือไม่ค่อยได้คุยกันเพิ่มมากขึ้น

การได้ร่วมทำงานกับเพื่อนๆ และอาจารย์ในโครงการนี้ ทำให้ดิฉันได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและต่อชุมชน ไม่ได้ทำอะไรที่ไร้สาระ หรือปล่อยเวลาทิ้งไปเฉยๆ และสิ่งที่ได้รับคืนกลับมาก็คือประสบการณ์อันหลากหลายที่บรรยายยังไงก็ไม่หมด


เรื่อง : นางสาวอัจฉราพร แจ่มศรี
ภาพ : ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา

หมายเลขบันทึก: 580088เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2014 22:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2015 18:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน" ชอบจังมหาชนต้องใฝ่เสาะหาเพิ่มพูนปัญญาด้วยเนาะ

นิสิตในสถาบันได้มีโอกาสพบกัน

ทำสิ่งดีๆแก่ชุมชน

ได้เรียนรู้เรื่องของชุมชน โรงเรียนด้วย

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท