อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๖)


อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๖)

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่ “ดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินสาธารณสมบัติของแผนดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน
“อบต.คุ้มครองที่ดินสาธารณ”

ตามนส.กรมการปกครองที่ มท ๐๓๑๑.๑/ว ๑๒๘๓ ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๐ เรื่อง การดำเนินคดีกับผู้บุกรุกทางสาธารณประโยชน์สรุปสาระว่า "กรมการปกครองพิจารณาแล้ว เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการของ อบต. มีหน้าที่คุ้มครองดูแล และรักษาที่สาธารณะ ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตาม พรบ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๖๘(๘) การที่อบต.คุ้มครองที่สาธารณประโยชน์ ป้องกันมิให้มีผู้บุกรุกถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อถือเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ทั้งนี้การที่อบต.สามารถดำเนินคดีได้ด้วยตนเองตามลำพัง ไม่ได้ลบล้างอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา ซึ่งนายอำเภอมีอยู่ตามพรบ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗"

ช่วงนี้ถือปฏิบัติตาม "ระเบียบมท. ว่าด้วยการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๑๕" [1] (ยกเลิก) และต่อมาได้มี "ระเบียบ มท.ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔" [2] (ยกเลิก)

ปัจจุบันใช้ "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓" [3] ใช้บังคับ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นหลัก...

ข้อ ๖ "อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินตามข้อ ๕ ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่"


หมายเหตุ ระเบียบ มท. มีหลายฉบับ ที่เกี่ยวกับที่ทางสาธารณะ รวมที่ดินของรัฐฯ ที่ยังไม่ยกเลิก ได้แก่

(๑) ระเบียบมท. ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๐ [4],

(๒) ระเบียบมท. ว่าด้วยวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ.๒๔๔๗ [5],

(๓) ระเบียบมท. ว่าด้วยการมอบหมายให้สภาตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยเหลือในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๔๓ [6],

(๔) ระเบียบมท. ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการในที่ดินของรัฐ พ.ศ. ๒๕๔๓ [7],

(๕) ระเบียบมท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ [8],

(๖) ระเบียบมท. ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓ [9],

(๗) ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๓ [10],

(๘) ระเบียบมท. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐเพื่อประโยชน์ในราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑ [11],

(๙) ระเบียบมท. ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. ๒๕๒๒[12],


(๑๐) คำสั่ง มท. ที่ ๑๒/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๓ เรื่องมอบอำนาจให้ทบวงการเมืองอื่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน

โดยการอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งมอบหมายให้ทบวงการเมืองอื่นมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนี้

(๑)

กรุงเทพมหานคร

ภายในเขตกรุงเทพมหานคร

(๒)

จังหวัด

ภายในเขตจังหวัดแต่นอกเขตเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลของจังหวัด นั้น

(๓)

เมืองพัทยา

ภายในเขตเมืองพัทยา

(๔)

เทศบาล

ภายในเขตเทศบาล นั้น ๆ

(๕)

องค์การบริหารส่วนตำบล

ภายในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล นั้น ๆ


(๑๑) คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ ๗๔๖/๒๕๔๕ คำสั่งที่ ๓๒๐/๒๕๔๖ เรื่องคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ระหว่าง อบต.หงษ์เจริญ ผู้ฟ้องคดี กับ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร ผู้ถูกฟ้องคดี [13]

สรุปสาระสำคัญว่า "...เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลหงษ์เจริญ ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่นายแปลก เหมาะภักดี โดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรหมู่ ๑ ตำบลหงษ์เจริญ ได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ผู้ฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ดังนั้น จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการดำเนินการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้วและเนื่องจากการฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันศาลปกครองสูงสุดจึงไม่เห็นพ้องด้วยที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงมีคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อไป"

(๑๒) คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๔๕/๒๕๕๒ คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๐๘/๒๕๔๙ [14] คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (อุทธรณ์คำพิพากษา) ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ระหว่าง บริษัทแป้งมันแสงเพชร จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ องค์การบริหารส่วนตำบลส้มป่อย ที่ ๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี

สรุปหลักการ อบต. มีอำนาจหน้าที่ คุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นการกำหนดให้อำนาจดูแลทรัพย์ทั่วไปๆ เท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจถึงขนาดสั่งการให้บุคคลใดรื้อถอนหรือทำลายสิ่งก่อสร้างในที่ดินสาธารณะประโยชน์ (อบต. ไม่มีอำนาจสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ที่อาศัยเพียงอำนาจทั่วไปฯ) [15]

สรุปสาระสำคัญว่า "...แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้วางท่อลำเลียงน้ำเสียจากกระบวนการผลิตของโรงงานแป้งมันสำปะหลังของผู้ฟ้องคดีผ่านทางสาธารณประโยชน์และลำ ห้วยแพงในเขตตำบลส้มป่อย ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดิน และมีการรั่วซึมของน้ำเสียออกมาทำให้เกิดความเสียหายแก่ไร่นาของเกษตรกรและ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และประชาคมตำบลส้มป่อยและสภาองค์การบริหารส่วนตำบลส้มป่อยมีมติไม่เห็นชอบ ให้ผู้ฟ้องคดีใช้ที่สาธารณะดังกล่าวจริงดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็ไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งก่อสร้างดังกล่าวโดยอาศัย เพียงอำนาจทั่วไปตามมาตรา ๖๘ (๘) แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ ข้อ ๕ (๒) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ และคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ ๑๒/๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๓ ได้

เมื่อฟังว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณสมบัติของ แผ่นดิน คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"


[1]ระเบียบฯ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๕ ใช้บังคับตั้งแต่ ๑ กันยายน ๒๕๑๕, http://tumboltasai.go.th/modules/law/1346754462.pdf

[2]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๔๓ง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔, หน้า ๖ - หน้า ๑๐, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/043/6.PDF

[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๙๕ ง วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓, หน้า ๓ - หน้า ๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/095/3.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๒๗ ง วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๐, หน้า ๗-๒๒,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/E/027/7.PDF

http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/dol/pdf/km/law/reg5-2550.pdf

& ขั้นตอนการดำเนินการถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์, http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/file/pd...

[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑ ตอนพิเศษ ๑๖ง วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๖-๙,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00139707.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗ ตอนพิเศษ ๔๓ง วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๓, หน้า ๒๕-๒๙. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/E/043/25.PDF

[7] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗ ตอนที่ ๓๕ง วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ หน้า ๑๑-๑๔,

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/D/035/11.PDF

[8] ระเบียบ มท.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๓, http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/dol/pdf/km/law/reg3_2543.pdf

[9]ระเบียบ มท.ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗ ตอนพิเศษ ๑๐๙ง วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๓, หน้า ๖-๙. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/E/109/6.PDF

[10]ระเบียบ มท.ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๓ ลงวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๓, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๗ ตอนพิเศษ ๑๒๐ง วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓, หน้า ๑-๑๒, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2543/E/...

[11]ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ทบวงการเมืองใช้ที่ดินของรัฐ เพื่อประโยชน์ในราชการตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑, http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/example...

[12] ระเบียบมท. ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. ๒๕๒๒ ลงวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๒๒, http://www.dol.go.th/dol/images/medias/dol/file/pdf/smt/rule/rule1.pdf

ดู การดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์, http://www.dol.go.th/dol/index.php?option=com_cont...

[13] คำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ ๗๔๖/๒๕๔๕ คำสั่งที่ ๓๒๐/๒๕๔๖, http://court.admincourt.go.th/ordered/Attach/ABS/46/1-3-46-320-B.doc

[14] คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๔๕/๒๕๕๒ คดีหมายเลขดำที่ อ.๑๐๘/๒๕๔๙, http://court.admincourt.go.th/ordered/Attach/52/1-2-52-145.doc

[15]ณรงค์ฤทธิ์ เพชรฤทธิ์, "การใช้และการตีความกฎหมายปกครอง",๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔, http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1606

หมายเลขบันทึก: 579972เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 19:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2017 23:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อปท.ท่านใดเคยเช่าที่วัดปลูกสร้างสิ่งสาธรณูปโภคบ้าง. ใช้วิธีนี้ไหม

วิธีการอบต.ดำเนินการโดยการขอเช่าที่วัดเป็นระยะเวลากี่ ปี โดยได้รับความเห็นชอบจากชาวบ้าน (ประชาคม) หลังจากนั้น อบต.ได้นำเรื่องเข้าสภา อนุมัติ ตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ ข้อใดให้ไปหา เอาเอง โดยมีเงื่อนไขว่า เช่าเป็นระยะเวลา .. ปี เพื่อสร้างประปาเมื่อ สภาได้อนุมัติแล้ว อบต.ทำเรื่องเสนอขอเช่าผ่านเจ้าอาวาสที่ให้เช่า ผ่านการปกครองคณะสงฆ์ (เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด) และผ่านฝ่ายปกครอง (นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด) หลังจากนั้นจังหวัดโดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดจะเสนอเรื่องเข้าสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็จะพิจาณาโดยในเบื้องต้นจะดูก่อนว่าที่ที่ขอเช่าเป็นที่ธรณีสงฆ์หรือที่วัดดูความหมายใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เมื่อพิจารณาแล้ว ถ้าได้ความว่าเป็นที่ธรณีสงค์ ทางสำนักพุทธชาติจะทำการนำเรื่องเข้าคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อผ่านแล้ว ทางสำนักพุทธก็จะส่งเรื่องเห็นชอบให้เช่าพร้อมกับ แนบร่างสัญญาพร้อมกับอัตราค่าเช่าส่งผ่านจังหวัด ผ่านอำเภอมาให้ อบต. จัดทำสัญญาต่อไป แต่ถ้าหากพิจารณาแล้วว่าเห็นว่าที่ดังกล่าวเป็นที่วัดสำนักพุทธชาติก็จะเสนอเรื่องเข้ามหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาให้กันเขตออกก่อน เมื่อกันเขตออกแล้วก่อน เมื่อกันเขตเสร็จแล้ว จึงจะเห็นชอบให้เช่า

CR : ศุภดามาศ จันทาธอน, 24 ตุลาคม 2559, 10.06

มีคำถามว่าประชาชนขอใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ได้หรือไม่นั้น...ก่อนอื่นท่านต้องทำความเข้าใจก่อนว่า"ที่ดินสาธารณประโยชน์"เป็นที่ดินที่มีไว้สำหรับเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะแก่ทุกคน..จะอนุญาตให้คนใดคนหนึ่งไปใช้ประโยชน์เพียงคนเดียวหรือเฉพาะกลุ่มของท่านนั้น ทำไม่ได้เด็ดขาด...ที่ท่านเห็นว่าหน่วยงานราชการทำไมมาขอใช้ประโยชน์สร้างอาคารในที่สาธารณะได้..นั่นก็เพราะ หน่วยงานราชการสร้างเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริการสาธารณะแก่ทุกคนเพื่อประโยชน์แก่ทุกคน...

CR: 10 พฤศจิกายน 2559 จากบอร์ดชมรมนิติกร nitikon.com

... การขอใช้ที่สาธารณะชั่วคราว (การใช้ที่สาธารณประโยชน์) มีขั้นตอนดำเนินการดังนี้
๑.ให้หน่วยงานราชการที่ขอใช้ฯ ทำหนังสือถึง อปท.และที่ดินในพื้นที่พร้อมแนบเอกสาร(ถ้ามี)
๒.อปท.กับหน่วยงานที่ขอใช้ฯ และที่ดินร่วมชี้แจงและทำประชาคมหมู่บ้าน(เฉพาะที่กระทบ)เพื่อขอความเห็นชอบจากชุมชน (เป็นขั้นตอนที่ไม่ต้องทำ แต่ทำเกินไว้ดีกว่าขาด)
๓.นำประชาคมหมู่บ้านที่ได้รวบรวมเสนอสภา อปท.ขอความเห็นชอบ
๔.หน่วยงานราชการที่ขอใช้ฯ ประสานที่ดิน จัดทำ
๔.๑ ทำแผนที่การเข้าใช้ที่สาธารณะโดยรวม
๔.๒ ทำแผนที่การเข้าใช้จริง การก่อสร้าง งบประมาณ
๔.๓ รังวัดที่และชี้เขต (ที่ดินดำเนินการ)
๔.๔ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด (อำนาจปลัดมท.) ขอใช้ที่สาธารณะชั่วคราว
๕.ให้หน่วยงานราชการที่ขอใช้ฯ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด(อำนาจปลัดมท.) รวบรวมเอกสารที่ดำเนินการมาทั้งหมดเสนอ ผวจ.เป็นอันเสร็จสื้นแล้วให้หน่วยงานราชการที่ขอใช้ฯ ดำเนินการก่อสร้างได้เลยโดยไม่ต้องรอการอนุมัติ

**** หมายเหตุ ... ขอตามมาตรา ๙ ป.ที่ดิน และระเบียบมท. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๓
และ ให้ทบวงการเมืองต้นสังกัดทำหนังสือขอถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ตามระเบียบมท. ว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ในที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๕๕๐
ระเบียบ มท.ว่าด้วยการเปลี่ยนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จากการใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างหนึ่ง เป็นอีกอย่างหนึ่ง พ.ศ. ๒๕๔๓
ระเบียบหลักที่ อปท. ใช้ คือ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓ ใช้บังคับ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท