อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๔)


อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับที่ดินของรัฐ(๔)

สรุปสาระหนังสือ "มาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์" (๑) [1]

การคุ้มครองที่สาธารณประโยชน์ [2]

การขึ้นทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบุกรุกหรือ เข้าดำเนินการในที่สาธารณะโดยมีแนวทางการดำเนินการ เพื่อให้ปฏิบัติงานได้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

. การตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ในพื้นที่รับผิดชอบ

ในพื้นที่ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากเอกสารหรือบันทึกที่ขาดความชัดเจน, ไม่มีหนังสือสำคัญที่หลวงให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล

. การพิจารณาแนวเขตที่สาธารณประโยชน์

การกำหนดแนวเขตที่สาธารณประโยชน์นั้นย่อมเกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ หลายหน่วยงาน ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคประชาชนด้วย

ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย "การมอบหมายให้สภาตำบลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยเหลือในการดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ. ๒๕๔๓" ได้กำหนดไว้ดังนี้ "ในกรณีที่มีปัญหาว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์แห่งใดสมควรจะคงสภาพเพื่อทำการออกหนังสือสำคัญที่หลวงไว้เป็นหลักฐาน หรือสมควรถอนสภาพเพื่อนำมาจัดสรรให้ราษฎรทำกินหรือทำประโยชน์อื่น หรือกรณีที่มีผู้บุกรุกสมควรขับไล่หรือไม่ เมื่อนายอำเภอร้องขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนัดประชุมพิจารณาให้ความเห็น โดยให้ประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับสภาตำบลหรือสภาท้องถิ่นด้วย เสร็จแล้วส่งผลให้นายอำเภอ เพื่อดำเนินการต่อไป"

. การจัดทำทะเบียนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและทะเบียนที่สาธารณประโยชน์

การจัดทำทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล จัดทำขึ้นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๔๔ [3] (ยกเลิกแล้ว)

ก่อนหน้านี้ใช้ "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๑๕" [4] (ยกเลิก) ปัจจุบันใช้ "ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๕๕๓" [5] ใช้บังคับ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ เป็นหลัก...

. การเฝ้าระวังการบุกรุก และการดำเนินการ

การดำเนินการเมื่อพบการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

ดำเนินคดี

- หากไม่สามารถยอมความกันจะต้องส่งเรื่องไปยังนายอำเภอเพื่อไกล่เกลี่ยและนายอำเภออาจมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่งดำเนินการแทน เช่น ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

- ให้ผู้บุกรุกออกไปจากที่ดิน หากไม่ยอมออก ให้ดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตาม มาตรา ๑๐๘ ทวิ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

- ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด

- ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

(๑) การดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ที่ฝ่าฝืนก่อนใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ หรือก่อน ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

(๒) การดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ภายหลังวันใช้ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ หรือนับตั้งแต่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕

- พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลและลงโทษผู้ฝ่าฝืนได้ทันที

.๑ การตรวจสอบการบุกรุก

ในการตรวจสอบการบุกรุกนั้นเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ควรจะบันทึกข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษร และถ่ายภาพประกอบด้วย อีกทั้งควรมีพยานที่อยู่บริเวณใกล้เคียง หรือ อาจตรวจสอบจากแผนที่แนบท้ายหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ ทะเบียนที่สาธารณประโยชน์ก็ได้

.๒ แนวทางการดำเนินการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเมื่อพบผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์

๑) กรณีบุกรุก ก่อน ๒๙ ก.พ. ๒๕๑๕ หรือไม่ทราบเวลาที่เริ่มบุกรุก

นายอำเภอชี้แจงความผิด และโทษของการบุกรุก ต่อผู้บุกรุกและแนวทางการปฏิบัติเพื่อออกจากพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยนายอำเภออาจมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ดำเนินการ

๒) กรณีบุกรุก หลัง ๒๙ ก.พ. ๒๕๑๕ ดำเนินคดีได้ทันทีโดยนายอำเภอหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฟ้องร้องคดี

. การดำเนินคดี กรณีมีการบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินของรัฐอีกประการหนึ่งก็คือ การดำเนินคดีกับผู้บุกรุก กล่าวคือ แม้รัฐจะสร้างหลักฐานขึ้นคุ้มครองป้องกันที่ดินของรัฐโดยการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง และมีการจัดทำทะเบียนที่สาธารณประโยชน์แต่ก็เป็นเพียงหลักฐานของทางราชการที่จะใช้พิสูจน์ถึงความเป็นที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน

เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล หรือใช้ในการพิจารณาว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของรัฐหรือไม่ ส่วนตามสภาพความเป็นจริงก็ยังปรากฏว่ามีราษฎรบุกรุกที่ดินของรัฐอยู่เสมอ

รัฐจึงจำเป็นต้องออกกฎหมายวางมาตรการลงโทษผู้บุกรุกเหล่านี้โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้บุกรุกเข็ดหลาบ เกิดความเกรงกลัวไม่กล้ากระทำผิดอีก โดยประมวลกฎหมายที่ดินได้บัญญัติให้ผู้ที่เข้าครอบครองที่ดินของรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดในตัวเองโดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๙

(๑) การดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ซึ่งได้ฝ่าฝืนก่อนใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ (ใช้บังคับ ๔ มีนาคม ๒๕๒๕)

การดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนตามมาตรา ๙ ในกรณีนี้พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา ๑๐๘

(๒) การดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ภายหลังวันใช้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๙๖ (พ.ศ.๒๕๑๕)

บุคคลที่ฝ่าฝืนมาตรา ๙ ภายหลังวันใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๑๐๘ ทวิ พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีอำนาจดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลและถูกลงโทษได้ทันที มาตรา ๑๐๘ ทวิ ไม่ได้มีบทบัญญัติเหมือนมาตรา ๑๐๘ ที่ใช้กับผู้บุกรุกที่ดินของรัฐก่อนวันใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ที่ให้มีการแจ้งให้ผู้บุกรุกออกไปจากที่ดินก่อนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดี


[1] "มาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์", กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ๒๕๔๙. ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๑๙/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๙ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างมาตรฐานการบริหาร/การบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในคณะทำงานที่ ๓ รับผิดชอบ มาตรฐานด้านการทะเบียนและการอนุญาต มาตรฐานด้านการเปรียบเทียบปรับ มาตรฐานสุสานและฌาปนสถาน มาตรฐานหอกระจายข่าว และมาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ มีรองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (นายวสันต์ วรรณวโรทร) ประธานคณะทำงานพิจารณาร่างมาตรฐานการดูแลรักษาที่สาธารณประโยชน์ http://www.dla.go.th/work/e_book/eb1/std210550/27/27.htm

[2] ดูบทที่ ๓ (การคุ้มครองที่สาธารณประโยชน์)http://www.dla.go.th/work/e_book/eb1/std210550/27/5.pdf

[3]ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘ ตอนพิเศษ ๔๓ง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔, หน้า ๖ - หน้า ๑๐, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/043/6.PDF

[4]ระเบียบฯ ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๑๕ ใช้บังคับตั้งแค่ ๑ กันยายน ๒๕๑๕, http://tumboltasai.go.th/modules/law/1346754462.pdf

[5] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๗ ตอนพิเศษ ๙๕ ง วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๓, หน้า ๓ - หน้า ๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2553/E/095/3.PDF

หมายเลขบันทึก: 579970เขียนเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2014 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท