​บริหารคุณภาพการศึกษาโดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศ


          วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๗ ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการนำเสนอเรื่อง การพัฒนาบัณฑิตคุณภาพ และเรื่อง ผลการสอบวัดความรู้และทักษะภาษาอังกฤษ (CMU – ePro) ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ ๑ โดยท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและพัฒนาคุณภาพการศึกษา ศ. ดร. วัชระ กสิณฤกษ์ ถือเป็นวาระการประชุมที่มีคุณค่าที่สุดในวันนั้น ในสายตาของผม

          เป็นตัวอย่างของ การบริหารคุณภาพการศึกษาโดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศ

          ศ. ดร. วัชระ เป็นนักวิจัยชั้นเลิศของประเทศ เมื่อมารับทำงานบริหาร ก็ได้ใช้ทักษะการเป็นนักวิจัย ให้เป็นประโยชน์ โดยการตั้งคำถามให้เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล ที่ได้จากการสอบวัดความรู้และทักษะ ภาษาอังกฤษ ของ นศ. ปี ๑ เกิดการวิเคราะห์แยกแยะสารสนเทศ ได้ความรู้ นำไปสู่การพุ่งเป้าไปแก้ปัญหา ที่จุดสำคัญ ไม่ทำงานแบบเหวี่ยงแห เป็นความรู้ป้อนให้แก่คณะ/หลักสูตร ดำเนินการปรับปรุงวิธีรับนักศึกษา และรู้ตัวนักศึกษาเป็นรายคน ที่จะต้องพัฒนาพื้นความรู้ด้านภาษาอังกฤษของตน

          ผมฟังแล้ว เห็นว่าสุดท้ายแล้ว นักศึกษาที่มีปัญหาภาษาอังกฤษ เกิดจากความไม่เอาไหนของตนเอง ขาดแรงบันดาลใจในการเรียน ซึ่งก็เป็นความท้าทายว่า ทำอย่างไรจะให้เด็กไทยมีแรงบันดาลใจในการสร้าง อนาคตของตนเอง และในการเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม

          กลยุทธการพัฒนาบัณฑิตคุณภาพ ที่เสนอต่อสภา มช. ประกอบด้วยมาตรการ ๓ ข้อ และมีรายละเอียด ดังนี้

  • ๑.การพัฒนาอาจารย์คุณภาพดี ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่๒๑”
  • ๒.การพัฒนาหลักสูตรที่เป็นเลิศ
  • -ยุทธศาสตร์การประกันคุณภาพการศึกษา
  • -ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรคุณภาพ
  • -ยุทธศาสตร์การปรับปรุงและพัฒนาหมวดวิชาศึกษาทั่วไป
  • -ยุทธศาสตร์การพัฒนา single database สำหรับงานวิชาการ
  • -โครงการหลักสูตร double degree
  • -ยุทธศาสตร์การพัฒนาหลักสูตรนานาชาติ/ความเป็นนานาชาติ
  • -โครงการค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่าย
  • ๓.การพัฒนานักศึกษา

          ผมเสนอต่อ ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองฯ ว่า สถาบันคลังสมองฯ น่าจะจัด Workshop ให้ผู้แทนมหาวิทยาลัยต่างๆ ลงทะเบียนเข้ามาเรียนรู้ รูปแบบวิธีการใช้ข้อมูล สารสนเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ก.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 579790เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014 16:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

         ขอชื่นชม ผลงานของท่านรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มช. น่าจะนำมาใช้ในการประกันคุณภาพหลักสูตรด้วย ทั้งนี้เพราะทุกวันนี้ บางคณะยังมีกรรมการบริหารหลักสูตรที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน TQF เลย ถ้ามหาวิทยาลัยได้นำเอาข้อมูลสารสนเทศมาใช้เต็มรูปแบบ ก้อจะสามารถควบคุมกำกับวางแผนด้านทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงศึกษาธิการทั้งสกอ. และสพฐ ควรนำมาใช้อย่างเข็มงวดเช่นกัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานทางวิชาการที่นำมาใช้ขอผลงานระดับ คศ.3 คศ. 4 มีการคัดลอก นำมาเวียนเทียนกันขอผลงาน โดยการเปลี่ยนแปลงชื่อสถานศึกษา เปลี่ยนกลุ่มตัวอย่าง ระดับชั้นกันไปเรื่อยๆ ที่สำคัญทำกันเป็นทีม ตั้งแต่การจัดการฝึกอบรม (ที่ไม่เน้นการทำวิจัยเพื่อพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน แต่เน้นให้มีเอกสารจำนวนหนึ่งให้ครบตามข้อกำหนด มีการจ้างการทำเอกสาร กรรมการตรวจผลงานก้อสั่งได้ (ยังมั่วเหมือนเดิม) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งในวงการ เพราะยังมีครูเก่งๆๆที่เขามีความรู้ความสามารถ สามารถทำผลงานทางวิชาการได้ด้วยตนเอง ต้องให้กำลังใจครูกลุ่มนี้ด้วย

       สำหรับ ด้านการบริหารงาน เพื่อความโปร่งใส ควรนำมาใช้อย่างยิ่ง รวมทั้งบัญชีครุภัณฑ์ ทุกวันนี้กระทรวงที่เห็นว่าสามารถนำข้อมูลสารสนเทศมาใช้ในการบริหารงานได้ดีคือ กระทรวงสาธารณสุข เช่น ระบบเบิกจ่ายยาในรพ. การเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น ควรนำมาพิจารณาใช้กับกระทรวงศึกษาธิการด้วย ผู็เขียนคิดเอาเองว่าที่ไม่นำมาใช้เพราะสามารถตรวจสอบได้ง่าย (ทำให้บิดเบือนข้อมูลยาก) มากกว่าไม่สามารถปฎิบัติได้

ข้อเสนอแนะพิเศษเป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง เช่นกัน (คิดแบบเล่นๆๆ) สำหรับโรงเรียน น่าจะทำประวัตินักเรียน (สมุดประจำตัวนักเรียนแบบออนไลน์) จะสามารถวิเคราะห์หาต้นตอที่เป็นสาเหตุให้ นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้อย่างชัดเจน โดยให้ทำบันทึกว่าสอนโดยครูแต่ละวิชาชื่ออะไรบ้าง เหมือนประวัติการรักษาคนไข้ หากพบว่า มีจำนวนนักเรียนที่สอนโดยครูคนนั้นมากกว่าร้อยละ 20...30 ขึ้นไป ต้องมีมาตรการพัฒนาครูคนนั้น (ถ้าเป็น คศ.3/คศ.4 ต้องงดจ่ายเงินค่าตอบแทน หรือใช้มาตรการด้านการบริหารงานบุคคล) รวมทั้ง ผู้อำนวยการ/ครูใหญ๋ด้วยค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท