ตอนที่ 8.. จาริกบุญหลังคาโลก : วัดโจคัง (Jokhang Monastery)


วัดโจคัง (Jokhang Monastery) หรือวัดต้าเจาซื่อ (Dazhao Si) ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองลาซา (Lhasa) เมืองหลวงของทิเบต เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่าง ทิเบต จีน และอินเดีย/เนปาล  สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 647 โดยพระเจ้าซงซัน กัมโป (Songtsen Gampo) กษัตริย์องค์ที่ 33 ของทิเบต  เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศากยมุนี โจโว รินโปเช  (Jovo  Rinpoche) ซึ่งเจ้าหญิงเหวินเฉิง (Wenchen) จากราชวงศ์ถัง (Tang Dynasty)ของจีนได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดโจคังเมื่อครั้งที่เดินทางมาอภิเษกสมรสกับพระเจ้าซงซันกัมโป พระพุทธรูปองค์นี้หล่อที่แคว้นมคธ ใช้โลหะผสมกันหลายชนิด  เชื่อกันว่าหล่อจากพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 12 ชันษา
พระพุทธรูปโจโว รินโปเช เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ สีทอง มีอายุมากกว่า 1300 ปี สูง 1.5 เมตร ทรงเครื่องทรงแบบกษัตริย์ ซึ่งประดับด้วยมณีอันล้ำค่า  เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวทิเบต  ชาวพุทธทิเบตมักมีศรัทธาอย่างแรงกล้าและปรารถนาจะเดินทางมากราบอัษฎางคประดิษฐ์ รอบพระวิหารวัดโจคัง  บางคนปรารถนาที่จะกราบทุกหนึ่งก้าวจากเมืองอื่น จนมาถึงที่นี่เป็นระยะทางนับพันกิโลเมตร ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา
ภายในวิหารวัดโจคังนอกจากมีพระพุทธรูปโจโว แล้ว ยังประดิษฐานพระศรีอาริยเมตไตรย์ พระคุรุ ปัทมสัมภวะ รินโปเช  พระอวโลกิเตศวรพันกร 
บนดาดฟ้าของวิหาร เรา จะเห็นหลังคาทองคำ  3 ยอด  มีกงล้อพระธรรมจักรและกวางหมอบอยู่ 2 ข้าง  ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปฐมเทศนาของศาสนาพุทธ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีกระบอกมนตราทำด้วยโลหะสีทองขนาดใหญ่ อยู่บนดาดฟ้า  หากมองตรงไปเบื้องหน้าจะ

เห็นพระราชวังโปตาลา (Potala Palace) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร  หากมองลงไปด้านล่างจะเห็นเป็นลานขนาดใหญ่  มีผู้คนสัญจรรอบ ๆ วัดมากมาย ทั้งชาวทิเบตและนักท่องเที่ยว   มีตลาดแปดเหลี่ยม  ซึ่งมี 4 ถนนใหญ่และ 4 ถนนเล็ก แยกออกไปสู่ถนนสายอื่นรอบนอก 

  อาจารย์ ดร. กฤษดาวรรณ  เมธาวิกุล และอาจารย์ มิว เยินเต็น (Meu Yontan)ได้นำพวกเรากราบอัษฎางคประดิษฐ์หน้าวิหาร  นำสวดมนต์ขอพรจากพระพุทธรูปโจโว  พระอวโลกิเตศวรกวนอิม  พระดุรุ ปัทมสัมภวะ รินโปเช   พระโพธิสัตว์ และพระธรรมบาล อีกเป็นจำนวนมาก ได้ชมที่ประทับขององค์ดาไลยลามะ และห้องโถงที่ใช้ทำพิธี แม้ว่าทางวัดไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปภายในวัด พวกเราก็คงจะถ่ายภาพที่เห็นจากตาไว้ในใจ  อาจารย์พยายามขออนุญาตให้คณะเราได้เข้าไปกราบ ภาวนาและถวายทองคำแด่องค์พระอวโลกิเตศวรใกล้ ๆ ทางวัดก็พยายามช่วย โดยบอกให้พวกเราไปชมที่อื่นก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ เพราะมีกลุ่มใหญ่ ๆ อื่น ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่จนแล้วจนรอดก็ทำไม่ได้ เพราะตลอดเวลามีคนเข้ามากราบจำนวนมาก คณะเราจึงได้ยืนสวดมนตราของพระองค์ เสียงดังกังวานไพเราะมาก เรายืนสวดและอธิษฐานจนเป็นที่พอใจ จึงออกมารู้สึกประทับใจมากที่ได้มาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และชมวัดโจคังอีกครั้งหนึ่ง
ขอขอบคุณอาจารย์ทั้งสองท่านมากค่ะที่นำทางคณะเรามาที่วิหารแห่งนี้ รู้สึกประทับใจและมีความสุขมากค่ะ
นำบุญมาฝากเพื่อน ๆ ด้วยค่ะ

คำสำคัญ (Tags): #..;วัดโจคัง..
หมายเลขบันทึก: 578779เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 08:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2014 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นบุญตามากครับ ที่ได้เห็นสิ่งสวยงามบนโลกใบนี้ครับอาจารย์

ขอบคุณมากนะครับ

เห็นด้วยครับฯ..

"เป็นบุญตาของชาวบล็อก" ...
ผมชอบเรื่องราวแนวนี้ครับ เห็นสถานที่ และเห็นบทบาทของสถานที่ที่มีต่อผู้คน-สังคม....

ขอบพระคุณครับ

-สวัสดีครับ

-สาธุ......

-ขอให้สุขภาพเข็งแรง ๆๆ  สาธู!!!!!

-ขอบคุณภาพสวย ๆ ครับ


ขอบคุณอาจารย์ ดร.ชยพร อาจารย์แผ่นดิน คุณอักขณิช และคุณเพชรมากค่ะ ที่เข้ามาชมภาพและอ่านบันทึกนี้ วัดโจคังตั้งอยู่ใกล้ ๆ วังโปตารา อยู่กลางเมืองลาซา มีพระุทธรูปโจโว (พระศรีศากยมุนี) ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากค่ะ มีผู้คนไปกราบรอบวัดตลอดวัน จรดกลางคืน ไม่ขาดสาย ภูมิทัศน์บนดาดฟ้าก็งดงามมากค่ะ   

ขอน้อมรับบุญที่คุณกุหลาบนำมาฝากด้วยความขอบคุณค่ะ บรรยากาศสดชื่นสวยงามสงบและศักสิทธิ์ค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์ ดร.กัลยามากค่ะ อนุโมทนาบุญร่วมกันค่ะอาจารย์

ชอบใจที่นี่ครับ

เข้าใจว่าที่นี่อากาศเย็นใช่ไหมครับ

ทึ่งการกราบแบบ ษฎางคประดิษฐ์ เสมอเลยครับ

อากาศเย็นและเบาบางค่ะอาจารย์ขจิต ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 3,700 เมตร แต่ที่ไกลาส จุดที่ขึ้นไปสูงสุด ประมาณ 5,700 เมตร หนาวกว่าและอากาศเบาบางกว่าเยอะ แต่ระหว่างทางได้ปรับตัวไปเรื่อย ๆ จึงไม่เป็นปัญหามากนักค่ะ

การกราบอัษฎางคประดิษฐ์ (มือสอง เข่าสอง เท้าสอง ลำตัว และศีรษะจรดพิ้นพร้อมกัน เริ่มต้นจากการยืนก่อน และภาวนาว่า "ด้วยกาย(มือพนมเหนือศีรษะ) วาจา(พนมมือที่คอ) ใจ(พนมมือที่อก) ข้าพเจ้าจะขอยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนกว่าจะถึงการหลุดพ้น" แล้วจึงกราบค่ะ

ข้างล่างนี้เป็นรูปอาจารย์ ดร.กฤษดาวรรณ และพี่กุหลาบกำลังกราบ ณ. จุดที่ได้เห็นเขาไกลาสเป็นครั้งแรกในชีวิต

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะที่ให้ความสนใจบันทึกนี้

ได้กราบอัษฏางคประดิษฐ์คงไม่ง่ายนะคะสำหรับคนที่ไม่เคยทำ อนุโมทนาบุญนะคะ

วัดทิเบตทุกวัดต้องมีชื่อจีนกำกับด้วย  พี่อ่านก็เศร้าค่ะ  เพราะตอนจีนเข้า่ยึดครองทิเบตใหม่ๆ สิ่งที่จีนทำ คือ เปลี่ยนชื่อทุกอย่างเป็นจีน นำคนจีนเข้ามาอาศัยในทิเบตเพื่อกลืนชาติ จับคนทิเบตไปเข้าค่าย (เหมือนที่จีนทำกับคนของตัวเองตอนปฏิวัติวัฒนธรรม) จับคนต่อต้านไปขัง ฯลฯ

หนังสือเล่มหนึ่งที่พี่เพิ่งอ่านเขียนโดยน้องสาวของดาไลลามะค่ะ  หนังอีกเรื่องที่เพิ่งดูเล่าเรื่องการค้นหาดาไลลามะ และการรุกคืบเข้ายึดครองทิเบตของจีน 

พี่นุ้ยทราบเรื่องความขัดแย้งของจีนและทิเบตมาก ๆ เลยนะคะ พูดอะไรมากในสื่อสาธารณะก็คงไม่ดี วันหลังหากมีโอกาสได้เจอกัน กุหลาบมีเรื่องเล่ามากมายเลยค่ะพี่นุ้ย อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ถูกปฏิเสธวีซ่าเข้าประเทศจีนเมื่อเดือนเมษายนปีนี้เอง เพราะเรื่องไปวิจารณ์การเมืองของเขาค่ะ

การกราบอัษฎางคประดิษฐ์เป็นท่ากายบริหารที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งนะคะ กุหลาบกราบครั้งแรก ๆ ไม่เกิน 15 ครั้งต่อเนื่องกัน วันรุ่งขึ้นก็เจ็บกล้ามเนื้อท้อง แต่พอกราบบ่อย ๆ ก็ชินขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ เขาว่ากราบบ่อย ๆ หน้าท้องจะแข็งแรงแบนราบค่ะ คนทิเบตเขากราบเป็นหลาย ๆ แสนด้วยความศรัทธา กราบที่บ้าน กราบรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือกราบจากวัดหนึ่งไปอีกวัดหนึ่งด้วยระยะทางหลายพันกิโลเมตร  หากไม่ค่อยมีพื้นที่ในการกราบ เขาก็กราบเบ็ญจางคประดิษฐ์ คือคล้ายกับการกราบของเรา แตกต่างกันที่เขาต้องเริ่มต้นจากการยืนก่อน ภาวนาเสร็จแล้วจึงนั่งคุกเข่าค่ะ เห็นแรงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของชาวทิเบตแล้วทึ่งสุดใจ ขอบคุณพี่นุ้ยมากค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท