เก็บตกวิทยากร (14) : ว่าด้วยชมรมกีฬาสัมพันธ์และกิจกรรมกีฬา


วางกลยุทธ์ “โยนไมค์” ให้นิสิตบางคนได้พูด เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร (ความกล้าในการสื่อสาร) และการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่ขลาดกลัว หรือกระทั่งเขินอายต่อการที่จะมี “ตัวตน” ในสังคม

เป็นอีกครั้งที่ผมมีโอกาสได้ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเนื่องในโครงการ “ชมรมกีฬาสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๗”
เวทีดังกล่าวนอกจากการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของนิสิตในสังกัดชมรมกีฬาแล้วยังเป็นเวทีสรุปผลการดำเนินงานขององค์กรนิสิตในด้านกีฬา ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และการประเมินแผนงานในวงรอบภาคเรียนต้นของปีการศึกษา ๒๕๕๗ ไปพร้อมๆ กัน




เปิดเวที : ดูหนังสั้น ทบทวนตัวเอง-องค์กรตัวเอง


ด้วยข้อจำกัดของห้องหับที่ใช้จัดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผมตัดสินใจเปิดเวทีด้วยความเรียบง่ายผ่านหนังสั้น ๑ เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญๆ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชีวิตอย่างสร้างสรรค์ผ่านการฝึกฝนอย่างเป็นระบบระเบียบ มีแบแผนชัดเจนเหมือนโปรแกรมพัฒนาทักษะที่นักกีฬาได้รับการหนุนเสริมจากมหาวิทยาลัยฯ เพื่อโยงเข้ากับประเด็นที่กำลังจะสื่อสารและสร้างการเรียนรู้ในวันนี้

เมื่อเสร็จสิ้นการชมหนังสั้น ผมเชื้อเชิญให้นิสิตร่วมแสดงความคิดเห็นต่อหนังสั้นพอเป็นพิธี เป็นเสมือนการทักทายและละลายพฤติกรรมไปในตัว จากนั้นจึงให้นิสิตแต่ละคนเขียนสะท้อนถึง “จุดเด่นของตนเอง” รวมถึง “จุดเด่นขององค์กรตนเอง” ซึ่งมีประเด็นที่สื่อสารออกมาหลากประเด็น เป็นต้นว่า



ถัดจากนั้นก็ให้แต่ละคนได้เขียนสะท้อนเพิ่มเติมในประเด็น “จุดอ่อนของตนเอง” หรือ “จุดอ่อนขององค์กรตนเอง” ซึ่งมีประเด็นที่สะท้อนออกมาสำคัญๆ คือ

อาการบาดเจ็บของนักกีฬา

  • ขาดอุปกรณ์ฝึกซ้อม สนามฝึกซ้อมไม่เอื้อต่อการฝึกซ้อม เช่น ความสว่างของไฟฟ้า
  • ภายในทีมยังมีบรรยากาศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันน้อย
  • ความไม่ตรงต่อเวลาในการฝึกซ้อม อันเป็นผลจากความรับผิดชอบส่วนบุคคลและตารางเรียน
  • สถานที่ฝึกซ้อมอยู่ไกลจากที่พักและที่เรียน
  • ฯลฯ




  • เปิดประเด็น : ทักษะการคิด บ่มเพาะความกล้าสู่การรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า


    เมื่อเสร็จสิ้นการสะท้อนประเด็นจุดเด่นและจุดอ่อนข้างต้น ผมก็นำทุกคนกลับเข้าสู่การดูหนังสั้นเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง ทั้งเพื่อเป็นการผ่อนคลาย และเพื่อการเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ที่เกี่ยวโยงกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดจาก “สื่อ” ด้วยหมายใจว่ากระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้นิสิตได้ฝึกใช้ความคิด ฝึกการใคร่ครวญ เพื่อถอดรหัสในสิ่งที่พบเห็น ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานอันสำคัญของการใช้ชีวิต หรือกระทั่งการนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในเวทีการแข่งขัน - มิใช่มุ่งเน้นแต่เฉพาะความแข็งแกร่งทางกล้ามเนื้อ แต่ในระบบความคิดกลับไม่ได้รับการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น

    ครั้งนี้ผมใช้เวลากับการพูดคุยมากขึ้นกว่าหนังสั้นเรื่องแรก เพราะมีทั้งที่กระตุ้นให้แต่ละคนได้พูดได้แสดงความคิดเห็น หรือกระทั่งวางกลยุทธ์ “โยนไมค์” ให้นิสิตบางคนได้พูด เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร (ความกล้าในการสื่อสาร) และการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่ใช่ขลาดกลัว หรือกระทั่งเขินอายต่อการที่จะมี “ตัวตน” ในสังคม

    ซึ่งผมเชื่อว่ากระบวนการง่ายๆ ที่ผมจัดแต่งขึ้นนี้ นิสิตสามารถนำไปใช้ได้จริงในเวทีการแข่งขัน หรืออื่นๆ ของนิสิตได้อย่างไม่ต้องกังขา

    ในระหว่างที่นิสิตสะท้อนความคิดออกมา ผมจะสังเกตและวิเคราะห์เชิงลึกว่า “มุมมองใด” น่าจะมาจากสาย “นักกีฬา” มุมมองใดน่าจะมาจากสาย “ผู้นำกิจกรรม” (ผู้นำองค์กร) ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมก็วิเคราะห์ได้ไม่ผิด เชื่อว่านิสิตหลายคนอาจจะแปลกใจ และคาดไม่ถึงว่าผมจะพยากรณ์ได้แม่นยำราวกับรู้ว่า “ใครเป็นใคร-ใครมาจากไหน”

    มิหนำซ้ำในช่วงนี้ผมยังหนุนกระบวนการตนเองผ่านหลักคิดง่ายๆ  คือเน้นการสื่อสารสองทาง  มีหยิกหยอกทั้งตรงๆ และเนียนๆ สร้างเสียงหัวเราะ  หรือกระทั่งการเคร่งคิดสลับฉากไปมาอยู่เนืองๆ  ทั้งปวงล้วนเป็นสถานการณ์ที่ผมปรุงแต่ง (จำลอง)  ขึ้นมาให้นิสิตได้เรียนรู้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ออกแบบการเรียนรู้แบบไม่มีฐานคิด  และไม่ใช่ออกแบบการเรียนรู้ในแบบแจ้งวัตถุประสงค์ล่วงหน้าแล้วค่อยลงมือทำ  แต่เน้นการให้ทำแล้วค่อยมาสรุปกระบวนการเชื่อมโยงกลับไปยังวัตถุประสงค์ –






    เปิดประเด็น : กิจกรรมในความทรงจำ กิจกรรมอันเป็นแรงบันดาลใจ


    ต่อเมื่อผมเริ่มมั่นใจว่านิสิตดูจะกระตือรือร้น - ผ่อนคลายและเปิดใจกันมากขึ้น ผมจึงนำนิสิตเข้าสู่ประเด็นการเรียนรู้ในเรื่องถัดมา นั่นก็คือการให้นิสิตแต่ละคนได้เขียนสะท้อนถึงเรื่อง “กิจกรรมในความทรงจำ” หรือ “กิจกรรมอันเป็นแรงบันดาลใจ”

    ประเด็นนี้ผมมีหมุดหมายชัดเจนเพื่อ “สำรวจ” ถึงความสนใจของนิสิต สำรวจกิจกรรม หรือแผนงานที่นิสิตชื่นชอบ เสมือนการประเมินแผนการดำเนินงานในรอบที่ผ่านมาในอีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งนิสิต ได้สะท้อนถึงกิจกรรมที่ชื่นชอบเพียงไม่กี่กิจกรรม กล่าวคือ ...

    • ร้อยละ ๙๘ ชื่นชอบกิจกรรมการแข่งกันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย 
    • ที่เหลือจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ (จิตอาสา) ด้วยการออกค่ายด้านกีฬา 
    • และกิจกรรมการเก็บตัวนักกีฬาที่มีบรรยากาศของการฝึกซ้อมและรับประทานอาหารร่วมกันในทุกๆ เช้า

    ประเด็นเหล่านี้ ผมตั้งข้อสังเกตอย่างหนักแน่นว่าส่วนใหญ่ล้วนมุ่งไปสู่กิจกรรมการแข่งขันภายใต้ระบบและกลไกของมหาวิทยาลัยแทบทั้งสิ้น นั่นหมายถึงว่านิสิตสายกีฬาให้ความสำคัญกับการแข่งขันกีฬาสู่ความเป็นเลิศมากกว่าการจัดกิจกรรมที่มุ่งสู่การนันทนาการ หรือมุ่งสู่การเรียนรู้ทักษะทางสังคมผ่านกิจกรรมนอกชั้นเรียนเหมือนองค์กรอื่นๆ

    ข้อสังเกตดังกล่าวนี้ ทุกคน-ทุกฝ่ายน้อมรับและเห็นด้วยอย่างไม่งอแง เพราะในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ดังจะเห็นได้จากงบประมาณที่องค์กรนิสิตได้รับการจัดสรรไปนั้น ส่วนใหญ่องค์กรนิสิตมักจะนำไปหนุนเสริมทักษะในทางกีฬาแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกซ้อม การประลองทักษะ ทั้งๆ ที่ในส่วนนี้มหาวิทยาลัยก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว มีน้อยมากที่นิสิตจะนำเงินค่าบำรุงกีฬาไปจัดกิจกรรมกีฬาที่มุ่งส่งเสริมด้านกีฬานันทนาการ หรือการบริการสังคม หรืออื่นๆ ที่ไม่ใช่ “แข่งกีฬา” -





    ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานโครงการดังกล่าว จึงมุ่งหวังอย่างลึกๆ ว่าจะเปลี่ยนแนวคิดขององค์กรนิสิตในสายกีฬาให้หันกลับมาสู่การจัดกิจกรรมกีฬาเพื่อสุขภาพ-นันทนาการให้มากขึ้น รวมถึงการมุ่งกระตุ้นให้พวกเขาสนใจที่จะจัดกิจกรรมนอกชั้นเรียนในรูปของการ “บริการสังคม” ด้วยการออกค่าย หรือไม่ก็สัญจรเป็นคลินิกกีฬาเคลื่อนที่ไปสู่ชุมชน

    หรือไม่ก็จัดกิจกรรมเหล่านี้ในรั้วมหาวิทยาลัยให้คึกคัก กระตุ้นให้คนหันกลับมาออกกำลังกายร่วมกันให้มากๆ รวมถึงเชื่อมโยงกิจกรรมกีฬาให้สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยกำลังขับเคลื่อนอย่างเอาจริงเอาจังในทุกวันนี้  

    ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอ หรือผลักเป็นภาระให้เจ้าหน้าที่ “พาทำ” และ “จับมือพาทำ” เหมือนที่ผ่านมา เพราะกิจกรรมในทำนองนี้ล้วนสามารถสร้าง “ทักษะชีวิต-ทักษะการเรียนรู้” ได้ดีไม่แพ้การมุ่งแข่งขันเพื่อช่วงชิงเหรียญรางวัลในเวทีต่างๆ ยิ่งหากไม่สามารถรักษาสมดุลของการเรียนรู้ได้ ดีไม่ดีอาจเดินทางไปไม่ถึงซึ่งหลักชัยอันเป็นปรัชญาแห่งการ “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” ด้วยก็เป็นได้





    ปิดเวที : เชื่อมโยงการเรียนรู้สู่เป้าประสงค์ของการเป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยและสังคม


    ภายหลังจากที่หยิบข้อสังเกตมาเป็นประเด็นวิพากษ์ร่วมกันแล้ว ผมถือโอกาสเสริมองค์ความรู้อื่นๆ ให้กับนิสิต เช่น กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (TQF) รวมถึงปรัชญา-เอกลักษณ์-อัตลักษณ์-ค่านิยมของการเป็นนิสิต “มมส” โดยเริ่มต้นจากการถามทักแบบเนียนๆ ว่านิสิตรู้จักประเด็นเหล่านี้แค่ไหน - ซึ่งเกือบทั้งหมดแทบจะไม่รู้อะไรเลยก็ว่าได้

    ครับ-นี่คือภาพสะท้อนหนึ่งของการพัฒนานิสิตผ่านระบบและกลไกอันเป็นกิจกรรมที่กีฬาที่เรากำลังประสบอยู่ ผู้ฝึกสอน หรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ของเราเองก็มุ่งสู่การดูแลเรื่องทักษะกีฬาเพื่อการแข่งขันอย่างมากโข ทุ่มงบประมาณไปมากมายก่ายกอง เพื่อให้นิสิตได้สัมผัสกับเวทีของการแข่งขันในวาระต่างๆ รู้ทั้งรู้ว่าจริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยก็มิได้ถึงขั้นปักหมุดหมายความเป็นเลิศในด้านกีฬาเสียทั้งหมด เพียงแต่ “เรา” ที่อยู่ในระดับปฏิบัติการมองข้าม หรือหลงลืมที่จะเน้นย้ำในหมุดหมายอันแท้จริง หรือกระทั่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง

    กรณีเช่นนี้ผมยกตัวอย่างให้เจ้าหน้าที่และนิสิตฟังอย่างพื้นๆ ว่า “... ตอบได้หรือไม่ว่ากระบวนการฝึกซ้อมและการแข่งขันของแต่ละชนิดกีฬา ตอบโจทย์เรื่อง TQF หรือเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยมการเป็นนิสิตมากน้อยแค่ไหน...”





    ขอยืนยันหนักแน่นว่า การยกตัวอย่างเช่นนี้ ไม่ใช่การหมิ่นแคลน หรือหยั่งเชิงอะไรเลยนะครับ เพียงแต่กำลังชวนให้ทีมผู้ฝึกสอนหรือเจ้าหน้าที่สายตรงจากกองกิจการนิสิต  รวมถึงนิสิตได้ลองทบทวนกระบวนการพัฒนานิสิตโดยใช้กิจกรรมกีฬาเป็นฐานเท่านั้นเอง  ซึ่งน่าจะดีกว่าประเมินผลการเรียนรู้ผ่านจำนวนเหรียญรางวัล  หรือไม่ก็ประเมินผ่านอันดับสูงต่ำในตารางการแข่งขันเหมือนที่ผ่านมา  หากแต่วาระนี้น่าจะถึงเวลาแล้วกระมังสำหรับการต้องประเมินอย่างจริงๆ จังว่า “นิสิตได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเวทีของกิจกรรมกีฬา”

    หรือ “เวทีกิจกรรมกีฬาได้พัฒนาทักษะอะไรให้กับนิสิตบ้าง” ซึ่งผมเชื่อว่าจริงๆ มันชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา ประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบจับมาพูดถึงน้อยไปหน่อยเท่านั้นเอง

    นี่คือข้อสังเกตเล็กๆ ที่ถูกหยิบจับมาแลกเปลี่ยนในเวทีของการประเมินแผนขององค์กรด้านกีฬาเมื่อไม่นานมานี้-

    และถือเป็นข้อสังเกตเล็กๆ ที่ผมพูด (ด้วยเสียงอันดัง) ในเวทีที่ผ่านมา และยืนยันว่าถ้าได้รับเกียรติให้พูดอีกรอบ ผมก็จะพูดในทำนองนี้เหมือนเดิม





    ๘ กันยายน ๒๕๕๗
    โครงการชมรมกีฬาสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๕๗
    ณ อาคารพัฒนานิสิต ม.มหาสารคาม

    หมายเลขบันทึก: 576345เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2014 10:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (8)

    อาจารย์ ฝ่ายกิจการนิสิต น่าจะเห็น กิจกรรม ดีดี อย่างนี้ นะครับ

    เท่าที่อ่านมาทั้งหมด...แนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้สามารถปรับไปใช้ได้กับประเด็นด้านอื่นๆ ได้แทบจะทุกด้านเลยนะครับอาจารย์...

    การทำงานของคนเราหรือหน่วยงาน องค์กร ชุมชน ฯลฯ มักจะหลงลืม "หมุดหมาย" ของตนเอง บางครั้งหากกล่าวในอีกมุมหนึ่งก็คือ "เป้าหมาย" นั่นเอง ด้วยการกำหนดให้ "กว้าง" หรือว่า "แคบ" ...

    สะท้อนเข้าหาตนเองได้เหมือนกันว่า "เอ! ตอนนี้เรากำลังหลงเดินออกจากหมุดหมายไปไกลหรือเปล่านะ"  ขอบคุณบันทึกดี ๆ นี้มากมายเลยครับอาจารย์ ขอบคุณครับ

    -สวัสดีครับอาจารย์

    -ตามมาอ่าน/เก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านบันทึกนี้ครับ

    -กระบวนการ เปิดเวที เปิดประเด็น ปิดเวที..ชอบครับ

    -ขอบคุณครับ


    เป็นการทบทวนการทำงาน

    ทบทวนตัวเองและกิจกรรมที่ดีมาก

    ขอบคุณมากๆครับ

    สวัสดีครับ ท่าน อ.JJ

    ตอนนี้ผมและทีมงานกลับมาดูแลด้่านกิจการนิสิตเหมือนก่อน  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรด้านการพัฒนานิสิตของส่วนกลางและคณะควบคู่กันไป  สัปดาห์หน้าก็มีเวทีในทำนองนี้ในภาพรวมของสถาบัน  มุ่งประเมินแผน พัฒนาแผน และวางรากฐานการกลับไปสู่ยุทธศาสตร์อีกรอบ ครับ


    สวัสดีครับ "พี่หนาน"

    ประเด็นที่ผมเปิดขึ้นในเวทีซึ่งมุ่งกระทุ้งความคิดของบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง คือ  การเชื่อมโยงให้เห็นว่า  ภารกิจด้านกิจกรรมกีฬา  ไม่ได้มีแค่การเตรียมคนไปแข่งขัน  ไม่ได้มีตัวชี้วัดแค่ชัยชนะที่ถูกประดับด้วยเหรียญรางวัลเท่านั้น  หากแต่อยากให้ทบทวนว่าจะใช้กิจกรรมกีฬา เป็นระบบและกลไกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้นิสิต/นิสิตอย่างไร   ไม่ใช่ทิ้งภาระนั้นเป็นของผู้สอนในรายวิชาต่างๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว

    และต้องไม่ลืมว่า  นิสิตกลุ่มนี้-กลุ่มกีฬา  ได้รับการเกื้อหนุนที่ดีจากสถาบัน  มีงบให้ไปแข่งขัน  มีงบเตรียมตัว เก็บตัว  มีงบค่าชุดแข่งขัน อุปกรณ์ เวชภัณฑ์  ในเวลาไปแข่งก็มีเบี้ยเลี้ยง  ได้เหรียญมาก็มีรางวัลอัดฉีด  ซึ่งต่างจากนิสิตกลุ่มอื่น  โดยเฉพาะกลุ่มกิจกรรมค่ายที่ไม่ได้มีระบบและกลไกหนุนเสริมมากมายเท่านี้  แต่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าสร้างงานอะไรๆ ด้วยตนเอง  ก่อเกิดเป็นทักษะชีวิตทักษะสังคมได้ดีอย่างน่ายกย่อง ครับ



    สวัสดีครับ คุณเพชรน้ำหนึ่ง

    สถานที่จัดงาน เป็นห้องประชุม  มีโต๊ะประชุมจัดวางเคลื่อนย้ายไม่ได้เลย  ผมเลยต้องปรับแต่งรูปแบบกิจกรรมไปตามบริบทนั้นๆ ...

    ในห้วงเวลาอันจำกัด  ก็ปรับรุปแบบไปในตัว  เอาสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพื่อชักชวนให้นิสิตกลุ่มกีฬาได้ร่วมวิเคราะห์สังเคราะห์ด้วยตนเอง  เพื่อปลดล็อคการคุ้นชินกับการต้องทำตามคำสั่ง  เล่นตามโค้ช...ซึ่งจริงๆ กลุ่มนี้ก็คุ้นชินแบบนั้นมาก  พอต้องจัดกิจกรรมอื่นๆ ด้วยตนเอง  ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการแข่งขัน  จึงประสบปัญหาเรื่องการคิด การออกแบบ ฯลฯ  นั่นคือมูลเหตุหนึ่งที่ผมต้องชวนพวกเขาคิดและกระตุ้นให้แสดงความคิดเห็นให้มากๆ เป็นพิเศษ ครับ

    ครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

    หลักๆ ที่ผมเลือกหนังสั้นสองเรื่องมาใช้  ก้เพราะว่า....
    เรื่องแรก มุ่งเน้นแนวคิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝน ทั้งในระบบและนอกระบบ อันเป็นตามอัธยาศัย  ส่วนเรื่องที่สองก็ยึดโยงว่า  หากจะมีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้  ต้องรู้ตัวตัวตนของเราคืออะไร  บริบทที่เราหยัดยืนอยู่เป็นอะไร...

    จากนั้น จึงลากโยงมาชวนให้นิสิตได้ "ทบทวนตัวเอง"  ครับ

    อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท