ย้อนมองการบ้าน...ปริมาณและคุณภาพที่ต้องทบทวน


ข่าวนี้สะท้อนความล้มเหลวของการจัดการศึกษาที่มีมากพออยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อย้อนมองการบ้าน ทั้งในมุมของคุณภาพและปริมาณ คนเป็นครูเห็นอะไร

ในช่วงเดือนที่ผ่านมาสื่อออกข่าวกันอย่างครึกโครม เรื่องการรับจ้างทำการบ้านอย่างเปิดเผยทางเว็บไซต์  ข่าวนี้สะท้อนความล้มเหลวของการจัดการศึกษาที่มีมากพออยู่แล้วให้มากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อย้อนมองการบ้าน ทั้งในมุมของปริมาณและคุณภาพ  คนเป็นครูเห็นอะไร

บทความนี้ดิฉันเขียนลงในนิตยสาร "สื่อพลัง" ปีที่ 22 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม - กันยายน 2557 โดยอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากงานวิจัย เรื่อง ปรับการเรียนเปลี่ยนการบ้าน ประสบการณ์และแนวโน้มนานาประเทศของสถาบันรามจิตติ ด้วยความเอื้อเฟื้อของ ดร.จุฬาภรณ์ มาเสถียรวงศ์

.................................................................................


"การบ้าน....ปริมาณและคุณภาพที่ต้องทบทวน"


 

รูปแบบของการเรียนที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเท่าที่ผ่านมา เน้นการท่องจำความรู้เป็นหลัก การบ้านจึงมีขึ้นเพื่อการช่วยให้ความจำระยะสั้นที่ได้รับถ่ายทอดมาจากครูผู้สอนให้กลายเป็นความจำระยะยาวด้วยการทำซ้ำ เพราะยิ่งได้ทำมากก็จะยิ่งจดจำได้มาก การเรียนแบบนี้จึงมีการสอบวัดความจำเป็นปลายทาง หน้าที่ของครูคือผู้ชี้ถูกชี้ผิด และตัดสินได้ตก โดยมิพักต้องคำนึงถึงวิธีคิดและกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน แต่มุ่งไปที่คำตอบสุดท้ายเป็นสำคัญ

เมื่อการเรียนเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสร้างความเข้าใจ ปริมาณของการบ้านจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าปริมาณก็คือเรื่องคุณภาพของการบ้าน การเรียนในรูปแบบใหม่นี้ส่งผลให้งานของครูต้องเปลี่ยนมาเป็นการสร้างโจทย์การบ้านที่ท้าทาย เพื่อสร้างความอยากรู้อยากเรียนให้กับผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตนเอง แทนที่จะเป็นการกำกับให้การเรียนรู้เป็นไปตามจังหวะก้าวของครูดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

การที่กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่าตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2556 เป็นต้นไปเด็กไทยทุกคนในทุกระดับชั้นเรียนจะมีภาระการเรียนในห้องเรียนลดน้อยลง และมีโอกาสเรียนรู้ รวมถึงทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมากขึ้น จึงไม่ใช่แค่เพียงการปรับลดปริมาณการบ้านให้น้อยลงเท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงการปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์การเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ ไปจนถึงวิธีการประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นตามมาทั้งกระบวนด้วย



การบ้าน : สร้างสรรค์หรือบั่นทอน


ในเชิงวิชาการ “การบ้าน” คืองานที่ครูและผู้เรียนตกลงร่วมกันให้ผู้เรียนนำกลับไปทำนอกเวลาเรียนปกติ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งการนำกลับไปทำที่บ้านตามชื่อของการบ้าน หรืออาจเป็นงานที่ผู้เรียนนำเอาไปทำโดยอิสระนอกการกำกับดูแลของครูก็ได้

ประเภทของการบ้านมีอยู่ด้วยกันหลากหลายแบบตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ การบ้านตอกยํ้า(Reinforcing Homework) เพื่อทวนซํ้ายํ้าเตือนความรู้ทักษะที่เรียนไป การบ้านนำทาง (Preparation Homework) เพื่อให้ค้นคว้าเตรียมพร้อมกับบทเรียนต่อไป การบ้านสร้างงานขยายผลความรู้ (Extension/Application Homework) ที่เน้นให้เอาความรู้ไปประยุกต์ใช้เป็นรูปธรรม และการบ้านบูรณาการการค้นคว้า (Integration Homework) เช่น การไปค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายเพื่อเรียบเรียงเป็นรายงาน เป็นต้น

แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเกือบทั้งหมดของการบ้านที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำ มักจะเป็นการบ้านประเภทตอกย้ำเพื่อการทบทวนบทเรียน หรือเพื่อฝึกทักษะเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความแม่นยำคราวละมากๆ จึงทำให้การบ้านกลายเป็นงานที่ไม่สร้างสรรค์ ซ้ำยังบั่นทอนให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นทุกข์เพราะไม่สามารถเติบโตทางความคิดไปกับโจทย์การบ้านที่มุ่งเน้นแต่ความจำได้



ผลการเรียนรู้ที่แปรผกผันกับปริมาณการบ้าน


งานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปตรงกันว่าในระดับประถมศึกษา ปริมาณการบ้านจำนวนมากที่ครูให้ทำไม่ส่งผลต่อความก้าวหน้าต่อในการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้นักและยังเสนอแนะอีกด้วยว่าโดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนระดับประถมต้นควรใช้เวลาทำการบ้านไม่เกิน 20-30 นาทีต่อวัน ระดับประถมปลาย 30-45 นาทีต่อวัน ระดับมัธยมต้นไม่เกิน 45-90 นาทีต่อวัน และระดับมัธยมปลายไม่ควรเกิน 90-150 นาทีต่อวัน[i]

ผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกาชี้ว่า ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาตัวเลขการใช้เวลาในการทำการบ้านของนักเรียนมีแนวโน้มสูงขึ้น และยังพบอีกว่าคะแนนสอบและผลสัมฤทธิ์การเรียนของนักเรียนกลุ่มที่ได้รับการบ้านมาก และกลุ่มที่ได้รับการบ้านน้อยไม่ได้แตกต่างกันมากนักนอกจากนี้ในวงวิชาการของสหรัฐอเมริกาเองยังมีการเปิดประเด็นเชิงเปรียบเทียบว่าในหลายประเทศที่ให้การบ้านน้อย เช่น ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเชค ฟินแลนด์ และเดนมาร์ก กลับมีคะแนนสอบมาตรฐานสูงกว่าเด็กสหรัฐอเมริกา และเด็กในประเทศที่ให้การบ้านมาก เช่น ไทย กรีซ และอิหร่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศฟินแลนด์ที่ผลสอบคะแนน PISA สูงอันดับต้นๆ ของโลกนั้น เป็นประเทศที่ไม่เน้นเรื่องการให้การบ้านเลย แต่ให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและการวางกลไกพัฒนาและหนุนเสริมการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบ นับตั้งเรื่องครูผู้สอน หลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ การจัดกิจกรรม และคาบเวลาเรียน จนถึงการวัดและประเมินผู้เรียน โดยให้เหตุผลว่าสามารถพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนมากกว่า

งานเขียนเรื่อง The Homework Myth ของ Alfie Kohn และ The Case Against Homework ของ Sara Bennett และ Nancy Kalish ซึ่งนับมีอิทธิพลต่อกระแสความเคลื่อนไหวข้างต้น เนื่องจากหนังสือทั้งสองเล่มได้ยกเอาข้อมูล สถิติ งานศึกษา และการสำรวจจำนวนมากเพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่า “การบ้าน

(ที่มากเกินไป)ไม่ได้มีส่วนช่วยให้เด็กมีได้คะแนนสอบดีขึ้น” แต่กลับกลายเป็นภาระงานสร้างความทุกข์ให้กับนักเรียนมาก จากการสำรวจเด็กอเมริกัน 24,000 คนในปี 2004 ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน พบว่า เด็กใช้เวลาทำการบ้านมากขึ้นกว่าในปี 1981 ถึงร้อยละ 51 เด็กๆ ในชั้นเรียนระดับประถมต้นจะมีอัตราการเพิ่มของการบ้านมากกว่าเด็กที่เรียนอยู่ในระดับชั้นที่สูงขึ้น เด็กในช่วงอายุ 6-8 ปี ใช้เวลาทำการบ้านเพิ่มจาก 52 นาทีต่อสัปดาห์ในปี 1981 เป็น 128 นาทีต่อสัปดาห์ในปี 1997 และดูเหมือนว่าในปี 2006 จะเพิ่มเป็น 78 นาทีต่อวันผลจากการวิจัยทั้งสองชิ้นนี้สรุปว่า การบ้านมีคุณค่าทางการศึกษาน้อยโดยเฉพาะกับเด็กเล็ก และการให้การบ้านมากเกินไปในกลุ่มอายุตํ่ากว่า 14 ปี ก็จะส่งผลร้ายต่อการเรียนรู้มากกว่าผลดี

จากการสัมภาษณ์เด็กนักเรียนมากกว่า 5,000 คน จากโรงเรียน 184 โรงเรียนใน 10 มณฑลของประเทศจีน ซึ่งพบว่าเวลานอนหลับโดยเฉลี่ยของนักเรียนประถมและมัธยมอยู่ที่ 7 ชั่วโมง 37 นาทีต่อวันในปี 2010 ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานของประเทศจีนที่กำหนดไว้ 9 ชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง 23 นาที โดยภาพรวมแล้วนักเรียนร้อยละ 78 มีเวลานอนหลับน้อยกว่า 9 ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 32 เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจเมื่อห้าปีที่ก่อน และแม้แต่ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เวลานอนหลับโดยเฉลี่ยของนักเรียนยังคงเพิ่มเพียงเล็กน้อยเป็น 7 ชั่วโมง 49 นาที ซึ่งยังคงน้อยกว่ามาตรฐานประเทศจีน 1 ชั่วโมง 11 นาทีอยู่ดี กรณีของหงหง(Honghong) เด็กสาววัย 11 ปี กระดูกหักหลายที่ จากการกระโดดจากตึกชั้นสามของโรงเรียน เนื่องจากหวาดกลัวที่จะถูกครูทำโทษเนื่องจากเธอไม่ได้ทำการบ้านมาตามที่ครูสั่งเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าปริมาณการบ้านที่มากเกินไปนั้น ทำร้ายเด็กได้มากมายเพียงไร


ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่


สังคมยุคใหม่ต้องการ “เด็กนักคิด-นักสร้างสรรค์-นักแก้ปัญหา”ที่ต้องการกระบวนการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งการเรียนแบบเดิมและวิธีการให้การบ้านแบบเดิมๆ ไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป

กรอบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) ที่ริเริ่มโดยกลุ่มภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกา ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเยาวชนทุกคนควรอ่านเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว คิดเลขเป็น มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมืองเป็นอย่างดี มีทักษะที่จำเป็น 3 ด้าน คือ ทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

ประเทศฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกจึงไม่มีนโยบายการให้การบ้าน แต่เน้นระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การสร้างกระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้น (Inquiry-Based Learning) การพัฒนาคุณภาพครู และการออกแบบกระบวนการวัดผลประเมินผลที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใหม่ จึงต้องเกิดขึ้นควบคู่กันกับการออกแบบวิธีการวัดและประเมินผลที่มีความสมดุลระหว่างการวัดผลทางวิชาการกับการ “วัดคน” ที่เน้นทักษะชีวิต ความเป็นมนุษย์ และการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม

การบ้านที่เป็นการประเมินผลการเรียนรู้รายทาง จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบจากการทำซ้ำเพื่อให้เกิดความคล่องแคล่วในทักษะที่ได้เรียนรู้ มาเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความเป็นพลเมือง และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้น การบ้านที่มีขึ้นเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงไม่อาจจำกัดอยู่แค่เพียงการทำงานบนกระดาษอีกต่อไป



โจทย์การบ้านที่สร้างสรรค์


การบ้าน คือ งานที่มีลักษณะพิเศษกว่างานชิ้นอื่นๆ ตรงที่เป็นงานที่ทำนอกเวลาเรียน ดังนั้นจึงมีศักยภาพในการเชื่อมร้อยความรู้ที่ได้เรียนมาจากชั้นเรียนเข้ากับการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้อย่างดี การบ้านที่ดีจึงควรเป็นพื้นที่ของการนำเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ หรือนำเอาไปอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว

หากครูสามารถออกแบบให้โจทย์การบ้านมีความสอดคล้องกับโจทย์สถานการณ์ปัญหาที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียน และโจทย์สถานการณ์ปัญหาที่ได้เรียนรู้มาแล้วในชั้นเรียน โจทย์การบ้านก็จะกลายเป็นบันไดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ และทอดไปสู่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตได้อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนี้การบ้านยังควรเอื้อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างอิสระ และเป็นไปตามความสนใจของผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง เพื่อให้การบ้านเป็นพื้นที่ของการค้นพบแง่มุมความสนใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ได้ใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีอยู่อย่างเต็มกำลัง ด้วยเหตุนี้การบ้านจึงควรเป็นโจทย์ปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลองความคิดอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่การศึกษาค้นคว้า การตั้งสมมติฐาน และการนำเสนอข้อสรุป วิธีแก้ปัญหา ที่เกิดขึ้นมาจากวิธีการที่แต่ละคนเลือกใช้ได้หลากหลายรูปแบบ

ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการเรียนรู้จากวิธีคิด และมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย ได้ฝึกวิธีการร่วมมือกันเรียนรู้อันเป็นลักษณะเด่นของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ครูจึงควรให้ผู้เรียนได้ทำการเชื่อมต่อความรู้ และการเรียนรู้ของทุกคนเข้าหากัน เพื่อการสังเคราะห์ความรู้ความเข้าใจของกลุ่มขึ้นมา แล้วลองนำเอาความรู้ชุดใหม่ที่เกิดจากการหลอมรวมความคิดที่แตกต่างหลากหลายเข้าหากัน ไปลองปฏิบัติให้เกิดผลดีต่อชุมชน และสังคมที่พวกเขาเป็นสมาชิกอยู่

การบ้านแนวสร้างสรรค์นี้เองที่จะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างให้ผู้เรียนได้ค้นพบความถนัด ความสนใจของตัวเอง รู้จักข้ออ่อน ข้อแข็งของตัวเอง และมีวิธีที่จะพัฒนาตัวเองไปจากจุดนั้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความเข้าใจคนอื่น มีวิธีเรียนรู้และวิธีทำงานร่วมกับคนอื่นจนกระทั่งก่อเกิดเป็นความสำเร็จร่วมกันได้ในที่สุด

............................................................

[i] Cooper, H. Homework (www.education.com)

หมายเลขบันทึก: 576052เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2014 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2014 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไร้การบ้าน ไร้การพัฒนา ครับ ปัญญาก็เสื่อมถอย เพราะ "ได้แต่ก้มหน้า"


อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท