ศูนย์การเรียนรู้..พอเพียงจริงหรือ


..ความสุขที่สุด ก็คือ รู้จักตนเอง พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ทำภารกิจเล็กๆ ร่วมด้วยช่วยกันไปกับคณะครู เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว อย่างเช่น แบ่งเวลาไปดูแลนักเรียนในวันนี้ ที่พวกเขา เป็นคนหมักน้ำหมักชีวภาพด้วยตนเอง โดยใช้ผักและผลไม้ ผสม พด.๒ หมักได้ที่ จากนั้นก็นำบรรจุขวดสำหรับไว้ใช้ในกิจกรรมการเกษตร มีเหลือก็จำหน่ายจ่ายแจกกันไป

เช้านี้..ได้แนวคิดจากท่าน"ประธาน" นักคิดนักเขียนแห่งโกทูโนว์ ท่านแนะนำแนวทางพัฒนาการสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนขนาดเล็ก ..ซึ่งปัจจุบันก็ได้พยายามนิเทศติดตามให้ครูใช้การสื่อสารกับนักเรียนด้วยประโยคง่ายๆ ซ้ำๆ สม่ำเสมอและต่อเนื่อง มากกว่าการใช้การท่องจำไวยากรณ์ อาจต้องมีกิจกรรมนันทนาการที่หลากหลายบ้าง เชื่อว่าเด็กจะรักที่จะเรียนรู้และมีทักษะในการสื่อสารได้ง่ายขึ้น

ผมยังมีความเชื่อว่า..เนื้อหาและเวลา ครูยังอยู่ในกรอบนี้ ประกอบด้วย..ยังไม่มั่นใจในตนเอง(เขินอาย) ท้ายที่สุด ก็คงต้องรอคอยผลสัมฤทธิ์กันต่อไป ขณะที่รอนี้..ผมจะปฏิบัติตามที่ท่านประธานแนะนำ คือ สร้างสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน ให้นักเรียนสัมผัสใกล้ชิดกับภาษาอังกฤษ..จนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน..อันนี้..ชอบมากและทำไม่ยากด้วย...ได้วิจัย ๑ เรื่องแล้ว

พี่ ศน.โทรมา วานให้ช่วยเป็นกรรมการประเมินสถานศึกษาพอเพียง ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ประเมินราวๆ ๕ - ๖ โรงเรียน ใช้ช่วงเวลาสัปดาห์หน้า ๓ วัน ผมตกปากรับคำทำงานนี้ เพราะทำมาจนคุ้นชินแล้ว ถือโอกาสไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนอื่นบ้างก็ดีเหมือนกัน

ในที่สุด พี่ศน.ก็ชวนให้สมัครเข้ารับการประเมิน..เป็นศูนย์การเรียนรู้ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผมไม่ทันคิด ก็เลยอึกอักพูดไม่ถูก พี่ศน.จึงบอกว่าสมัครไปก่อน ประเมินปีหน้า ด้วยเห็นว่าที่โรงเรียนมีความพร้อมทั้งพื้นที่และกิจกรรม ทำมาก่อน ทำจริง ทำต่อเนื่องและเห็นผลอย่างยั่งยืน... มาโดยตลอด

ผมคิดว่า..เป็นศูนย์การเรียนรู้ฯน่ะดี มีหน้ามีตาในสังคม มีงบประมาณสนับสนุน..แต่จะเข้ากันได้ไหมล่ะ กับโรงเรียนเล็กๆ ครูก็น้อยนิด ผลสัมฤทธิ์ก็ยังต้องพัฒนา..เป็นศูนย์แล้ว ทำงานอย่างมีเงื่อนไข หากไม่ได้คุณค่าผลผลิตตามที่คาดหวัง มันจะสมเหตุสมผลไหม มีภูมิคุ้มกัน..แต่ไม่พอประมาณ มันก็น่าคิด ..งานนี้จึงขอติดไว้เพื่อไตร่ตรอง ศึกษาและประเมินตนเอง ตลอดจนเตรียมความพร้อม(หรือไม่) ไว้ก่อนดีกว่า

ขนาดว่าเป็นเพียง..สถานศึกษาพอเพียงธรรมดาสามัญ ท่านผู้ร่วมอุดมการณ์ ยังขอมาศึกษาดูงาน ปีละ ๕ - ๖ คณะ ถ้าเป็นศูนย์ฯ สงสัยต้อนรับขับสู้กันทุกเดือน..

ครับ..ความสุขที่สุด ก็คือ รู้จักตนเอง พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ทำภารกิจเล็กๆ ร่วมด้วยช่วยกันไปกับคณะครู เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว อย่างเช่น แบ่งเวลาไปดูแลนักเรียนในวันนี้ ที่พวกเขา เป็นคนหมักน้ำหมักชีวภาพด้วยตนเอง โดยใช้ผักและผลไม้ ผสม พด.๒ หมักได้ที่ จากนั้นก็นำบรรจุขวดสำหรับไว้ใช้ในกิจกรรมการเกษตร มีเหลือก็จำหน่ายจ่ายแจกกันไป

วันนี้..มีข้อสังเกต ที่จะต้องตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ ว่าทำไม..น้ำหมักที่เคยส่งกลิ่นเหม็นนั้น วันนี้ จึงแทบจะไม่มีกลิ่นเหม็นฉุนเลย มีสิ่งใดที่เป็นตัวช่วยระงับดับกลิ่น อันนี้เป็นทั้งความรู้และทักษะชีวิต ..ในส่วนของการเรียนการสอนแล้ว คำถามอย่างนี้ เป็นต้นทุนของการวิจัยในโรงเรียนได้ด้วยนะครับ..ขอบอก

 

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๑  กันยายน ๒๕๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 576050เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2014 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2014 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อย่างน้อยๆเห็นได้ชัดอย่างน่าชื่นใจว่านักเรียนโรงเรียนนี้จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพแน่นอนค่ะ รู้จักใช้ประโยชน์ของสิ่งที่มทีรอบๆตัว ชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ท่านผอ.นะคะ

ขอบคุณอาจารย์ที่ยกย่องว่าเป็นนักคิดนักเขียน ที่จริงเป็นแค่คนชอบคิดหาเหตุและผล แต่เขียนไม่เป็นและอีกอย่างขอความกรุณาอย่าเอาคําว่า"ท่าน"ใส่หน้าชื่อผม คําว่าประธานแค่ชื่อที่คนเขาใช้กันน้อย ไม่มีความหมายอย่างอื่นครับ เป็นคนสูงวัยธรรมดาๆ

" ซึ่งปัจจุบันก็ได้พยายามนิเทศติดตาม...." 

ดีใจที่ยังได้ยินคำว่า  ...  นิเทศ ....จากท่านผู้บริหารโรงเรียน เพราะคิดว่า  ผู้บริหารหลายต่อหลายคน  ลืมคำนี้ไปแล้ว...

มาเชียร์การทำงานงานของผอ.

ชอบใจที่นักเรียนทำน้ำหมักไว้ใช้เองครับ

ขอบคุณมากครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท