​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๔๓. เยี่ยมชื่นชมกิจกรรม Community Engagement ของ มทร. ศรีวิชัย


          วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมไปบรรยายเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่สงขลา จัดโดย มทร. ศรีวิชัย ช่วงเช้าบรรยาย ๓ ชั่วโมง ช่วงบ่ายท่านรองอธิการบดี รศ. มุกดา สุขสวัสดิ์ ชวนไปเยี่ยมชมกิจกรรม Community Engagement ของ มทร. ศรีวิชัย ที่ตำบลรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา

          โดย รศ. มุกดา ส่งกำหนดการให้ล่วงหน้าดังนี้


 ๑๒.๐๐น. ออกจากโรงแรม พาวิเลี่ยน บีชฯ

 ๑๒.๑๐ น. Site visit @ Songkhla knowledge park.


ลักษณะการชม จอดรถชมสถานที่ก่อสร้าง

          โครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, เทศบาล

          นครสงขลา, ปตท.สผ., กลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลา, และ TK Park ในการออกแบบอาคารอุทยานการ

          เรียนรู้ที่มีลักษณะพิเศษคือมีฐานการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องากตัวอาคารสู่ย่านเมืองเก่าสงขลา ทำให้นักเรียนผู้ใช้อาคาร จะเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมของเมือง และเป็นการเรียนรู้จากพื้นที่จริง มิใช่พื้นที่เสมือนจริง

          นอกจากนี้อาคาร Songkhla Knowledge Park แห่งนี้ยังถูกออกแบบผ่านการศึกษาวิจัยตามมาตรฐานสากลโดยคำนึงถึง คุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคม ภูมิปัญญา และความงาม ของวัฒนธรรมดั้งเดิม ตลอดจนมีกระบวนการคิดด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน


๑๒.๑๕ น. Songkhla Heritage Trust (ภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม) และผ่านอาคารโรงสีแดง หับโห้หิ้น

         กลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลาสมาคม เป็นกลุ่มภาคประชาชนที่มีจิตสำนักในการรักบ้านเกิดเมืองนอน ได้รวมกลุ่มกันเพื่อดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์บนฐานวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองเก่าสงขลาในแนวทางอนุรักษ์ร่วมกับองค์กรภาครัฐ และประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันมีที่ตั้งอยู่ที่โรงสีแดงหับโห้หิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการ Renovate เป็นสำนักงานกลุ่มภาคีฯ


๑๒.๔๐ น. ออกเดินทางไปตำบลรำแดง

๑๓.๑๐ น. ถึงบ้านทักษิณาธาร ตำบลรำแดง อ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา รับประทานอาหารกลางวัน


ลักษณะการชม เดินชม และรับฟังการบรรยาย พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น

           เจ้าของพื้นที่ นายกอบต. รำแดง คุณอุดม ทักขระ และคณะ

          หมู่บ้านแห่งการเรียนรู้วิถีโหนด นา ไผ่คน รำแดง เป็นการพัฒนาชุมชนแบบ Top down คือ นายกอุดม ทักขระ ได้ประสานงานมายังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เพื่อขอความอนุเคราะห์ด้านวิชาการ โดยการทำงานร่วมกันระหว่าง อบต.รำแดง ชาวบ้าน นักวิจัย และนักวิชาการนอกมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาชุมชนออกเป็นฐานการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่บรรพบุรุษมีสู่รุ่นต่อๆไป ผ่านฐานเรียนรู้สี่ฐาน (ปัจจุบันเพิ่มเป็นเจ็ดฐาน)


๑๔.๐๐ น. ชมบ้านสบายเพื่อตายาย ที่สร้างจากแ่นผนังใบตาลจากผลงาน ฝีมือของชุมชนรำแดง


๑๔.๓๐ น. ชมฐานการเรียนรู้ บ้านใบตาล และฐานการเรียนรู้การเคี่ยวตาลบ้านตาเพียร


๑๕.๓๐ น. ออกเดินทางจากตำบลรำแดงไปสนามบินหาดใหญ่

          ผมได้ไปเห็นการทำงานรับใช้สังคมของ มทร. ศรีวิชัยใน ๒ แบบ คือการทำงานกับเมืองเก่า คือเมืองสงขลา กับการทำงานกับชุมชนชนบท คือตำบลรำแดง ลักษณะการทำงานมีทั้งเหมือนกันและต่างกัน

          ที่เหมือนกันคือ ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ ความรู้ด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ และทักษะใน การทำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชน มีคุณค่าอย่างยิ่ง ส่วนที่ต่างกันคือ สภาพแวดล้อม ที่เรียกว่า บริบท และชีวิตผู้คน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

          หัวเรี่ยวหัวแรงทางวิชาการคือ ดร. จเร สุวรรณชาติ ที่เป็นสถาปนิก ที่มีบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน และมีจิตสาธารณะ และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ มีฐานวิชาการที่หนักแน่นแม่นยำ

          ทั้งที่ตัวเขตเทศบาลนครสงขลา และที่รำแดงผมได้ไปเห็นการทำงานพลิกฟื้นความเข้มแข็งของชุมชน ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งจากภาคการเมืองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน (ปตท. สผ.) และภาควิชาการ เข้ามาร่วมกันดำเนินการเพื่อชุมชนของตน เชื่อมโยงเข้าสู่เยาวชน

          ที่ตัวเมืองสงขลา ผมได้เข้าไปชมโรงสีแดง หับโห้หิ้น และได้พบคุณรังษี รัตนปราการ (บุตรของคุณสุชาติ รัตนปราการ) ซึ่งเวลานี้ทำหน้าที่ นายกภาคีคนรักสงขลาสมาคม อย่างเข้มแข็ง

          เที่ยงวันที่ ๘ สิงหาคม ผมเล่าเรื่องรำแดง และคลองแดน ให้ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ฟัง ในโต๊ะอาหาร คุณหมอชูชัย ศุภวงศ์ นั่งอยู่ด้วย จึงทราบว่าท่านกำลังจะไปเป็นประธานเปิดงานที่คลองแดนในสัปดาห์ถัดไป เราเห็นพ้องกันว่า ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ในการสื่อสารเรื่องราวดีๆ ในบ้านเมือง ให้สาธารณชน ได้รับรู้อย่างกว้างขวาง ให้เห็นคุณค่าของการพัฒนาจากฐานล่าง หรือจากชุมชน

          ผมได้เล่าเรื่องการสนทนากับท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดคลองแดน ให้วงอาหารเที่ยงฟัง ว่าผมกราบ เรียนถามท่านว่า ผลงานการฟื้นฟูชุมชนที่คลองแดน ที่ปรากฎนี้ บรรลุความมุ่งหมายของท่านครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไหม ท่านตอบว่า ได้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผมถามต่อว่า ส่วนที่ไม่สำเร็จคือเรื่องอะไร ท่านตอบว่าคือเรื่องคน คือเมื่อความเป็นอยู่ดีขึ้น การทำมาหากินดีขึ้น เรื่องทางวัตถุดีขึ้น แต่จิตใจคนไม่ดีขึ้น ผมตีความว่าโลภ มากขึ้น จึงกราบเรียนท่านว่า เพราะเหตุนี้แหละ จึงต้องมีพระ


บ่อน้ำโบราณ ในโรงสีแดง บุด้วยอิฐดินเผาที่เป็นรูปโค้ง


ไม้เสานี้ อายุกว่าร้อยปี


บ้านทักษิณาธาร ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของ อบต. รำแดง



กินอาหารเที่ยงเชิงวัฒนธรรม


\
แกงหัวโหนด คือส่วนหัวของลูกตาลโตนด มีรสออกขมเล็กน้อย อร่อยมาก


ยำหัวโหนด


ปลาทรายต้มส้ม น้ำส้มตาลโตนด


ยำถ้วยนี้มาจากคลองแดน ชื่ออะไรลืมเสียแล้ว


เรือนปู่ย่า ฝาทำด้วยใบตาล


ฝาบ้านทำด้วยแผงใบตาลทั้งหมด การออกแบบนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากสวิส


แผงใบตาล ออกแบบโดย ดร. จเร สุวรรณชาติ


โรงเตาเคี่ยวน้ำตาลโตนด หลังคามุงตับตาล ทนนาน ๓๐ ปี


คลองสทิงหม้อหลังบ้านลุงเพียร จากตรงนี้นั่งเรือยนต์ไปสงขลา ๓ ช.ม.


ถ่ายรูปหมู่ที่หน้าบ้านใบตาล บ้านที่ซ่อมแซมปรับปรุงจากเรือนเก่าพื้นถิ่น


ถ่ายรูปหมู่ที่ทุ่งดอกปอเทืองหลังบ้านใบตาล คนยืนติดกับผมคือลุงเพียร



จุดถ่ายรูปริมถนนดึงดูดนักท่องเที่ยว ถ่ายกับท่านพระครู เจ้าอาวาสวัดคลองแดน

วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 576051เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2014 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2014 06:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท