​สอนอย่างมือชั้นครู : ๙. ความซื่อสัตย์ในการเรียน


          บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

          ตอนที่ ๙ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Courses มี ๕ บท ตอนที่ ๙ ตีความจากบทที่ 8. Preserving Academic Integrity

          สรุปได้ว่า การโกงสอบ และการขโมยคัดลอกผลงาน มีมากดาษดื่นกว่าที่คิด โดยที่อาจารย์สามารถ มีส่วนสำคัญในการป้องกันการโกงและคัดลอก เพื่อวางรากฐานทางจริยธรรมให้แก่ศิษย์


พบการโกงบ่อยแค่ไหน

          อ่านผลการวิจัยเรื่องการโกง และการขโมยคัดลอกผลงานแล้ว น่าตกใจว่า ในสหรัฐอเมริกาเมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน สองในสามของนักเรียน และนักศึกษา ยอมรับว่าตนเคยโกงการสอบ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตัวเลขของสิบปีที่แล้วคือ สามในสี่

          ส่วนการขโมยคัดลอกผลงาน (plagiarism) มีประมาณร้อยละ ๑๐

          ที่ผมชื่นชมคือ ในสหรัฐอเมริกามีการวิจัยเรื่องนี้มาก คือวงการศึกษาเขาเอาใจใส่


ใครโกง ทำไมจึงโกง

          เขาบอกว่า เป็นเพราะกระแสสังคมพัดไปในทางทำให้เยาวชนคิดว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะกล้าโกง คนที่ไม่กล้าโกง จะไม่ประสบความสำเร็จ กระแสสังคมอเมริกา พัดไปในทางที่คนคิดถึง ตัวเองเป็นหลัก (เห็นแก่ตัวจัด) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 และ 1980 เป็นต้นมา

          เขาอ้างผลงานวิจัยว่า ปัจจัยที่ทำให้นักศึกษาโกงหรือไม่โกงคือ การรับรู้ (perception) หากนักศึกษา คิดว่า การโกงข้อสอบ เป็นเรื่องที่เพื่อนๆ ไม่ยอมรับ การโกงจะเกิดน้อยลง แต่ถ้านักศึกษารู้สึกว่าการโกง เป็นเรื่องที่ ใครๆ ก็ทำกัน การโกงจะเกิดมากขึ้น

          การโกงจะเกิดมากขึ้น หากเปิดช่องให้ (เช่นไม่ตรวจสอบจริงจัง) และหากการลงโทษไม่ชัดเจนจริงจัง ดังนั้น การโกงจะเกิดบ่อยขึ้นตามขนาดของชั้นเรียน และในการสอบแบบปรนัย

          ข่าวดีคือ อาจารย์มีส่วนช่วยเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ (perception) ต่อการโกงของนักศึกษาได้ โดยคอยเน้นคุณค่าของความซื่อสัตย์โดยทั่วไป และความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ท่าทีของอาจารย์ที่จริงจังต่อ การสอน และต่อการเรียนรู้รอบด้านของนักศึกษา จะมีผลให้นักศึกษาโกงน้อยลง

          อาจารย์ที่เอาใจใส่ตรวจสอบไม่ให้นักศึกษาโกง สามารถตรวจสอบได้ไม่ยาก การตรวจสอบการขโมย คัดลอกงาน ก็ทำได้ไม่ยากโดยใช้ ซอฟท์แวร์ตรวจสอบความเหมือนของข้อความ


วิธีป้องกันการโกง

           หนังสือเล่มนี้บอกวิธีป้องกันการโกงถึง ๓๕ วิธี ได้แก่ (๑) ส่งเสริมให้นักศึกษาเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่เรียน เพื่อสอบ (๒) ทำความเข้าใจเรื่องการโกงทางวิชาการ และการขโมยคัดลอกงาน ยกตัวอย่างเรื่องจริงขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า เป็นโทษมากกว่าเป็นคุณ (๓) ระบุข้อความเรื่องนโยบายของสถาบันเกี่ยวกับความไม่ซื่อสัตย์ ทางวิชาการในเอกสารรายวิชา และนำมากล่าวย้ำบ่อยๆ รวมทั้งเขียนนโยบายและมาตรการของตัวอาจารย์เอง พร้อมทั้งบอกให้ชัดเจนว่าหากตรวจพบ และมีหลักฐานชัดเจน จะลงโทษอย่างไร (๔) ผู้สอนที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วย หรืออาจารย์ที่อ่อนอาวุโส พึงเอาใจใส่เรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะนักศึกษามักคิดว่า อาจารย์กลุ่มนี้มักไม่สนใจ หรือไม่จริงจัง

          (๕) ออกข้อสอบใหม่ทุกครั้งที่สอบ (๖) เอาข้อสอบเก่า และการบ้านขึ้นเว็บ เพื่อให้นักศึกษาทุกคน เข้าถึงได้ (๗) ให้มีข้อสอบหลายชุด เรียงลำดับข้อต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสอบปรนัย เรื่องนี้ผมมี ความเห็นว่า หากเน้นการใช้ข้อสอบอัตตนัย ที่ไม่เน้นคำตอบถูกผิด แต่เน้นการคิดและการให้เหตุผล จะช่วยลดการลอกคำตอบได้มาก

          (๘) ย้ำทุกครั้งที่สอบ ว่าความซื่อสัตย์เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานักศึกษา สถาบันและ อาจารย์จึงต้องเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ หากตรวจพบการโกง จะลงโทษอย่างจริงจัง (๙) พึงตระหนักว่านักศึกษา โดยทั่วไป รวมทั้งนักศึกษาที่มีความประพฤติดี จะไม่ฟ้องครูเมื่อเห็นเพื่อนโกงการสอบ (๑๐) ในระหว่างสอบ จัดโต๊ะนั่งให้ห่าง และนำสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โทรศัพท์มือถือออกไปไว้หน้าห้อง (๑๑) ในห้องสอบ กำหนดที่นั่งแก่นักศึกษา และให้เซ็นชื่อในตารางที่นั่งสอบ

          (๑๒) มีกระดาษทดให้ หากนักศึกษาต้องการ อย่าให้นำกระดาษทดมาเอง (๑๓) เก็บเครื่องคิดเลข และเครื่องมืออีเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ก่อนแจกกระดาษข้อสอบ (๑๔) ข้อนี้ผมไม่เข้าใจ เขาบอกว่าถ้าใช้ blue book ให้เก็บจากนักศึกษาให้หมด แล้วแจกใหม่แบบสุ่ม คือไม่ให้นักศึกษาใช้ blue book ของตนเอง (๑๕) ทีมคุมสอบ ต้องทำงานอย่างระมัดระวัง และทำงานเป็นทีม ห้ามทำงานอื่นระหว่างคุมสอบ และเมื่อนักศึกษาถามคำถาม ให้ทีมคุมสอบคนเดียวเป็นผู้ตอบ

          (๑๖) ตรวจสอบโพยคำตอบในที่ต่างๆ เช่นฝาโถส้วมในห้องน้ำ ที่ผิวหนังใกล้รูผุของกางเกงยีน ที่ตราขวดน้ำ ที่ด้านล่างของแก๊ปหมวก เป็นต้น (๑๗) เก็บกระดาษคำตอบจากนักศึกษาทีละคน เพื่อไม่ให้มีความอลหม่านช่วงส่งกระดาษคำตอบ (เปิดช่องให้โกง) (๑๘) ตอนตรวจข้อสอบ ทำเครื่องหมาย ที่คำตอบที่ถูก และเขียนคะแนนที่หน้าข้อ เพื่อให้รวมคะแนนง่าย (๑๙) ส่งกระดาษคำตอบคืนนักศึกษา เป็นรายคน ต่อตัวนักศึกษา หรือส่งทาง อินเทอร์เน็ต

          (๒๐) เก็บกระดาษคำถามคืนจากนักศึกษาทุกคน หากการดาษคำถามแยกป็นคนละชุดกับกระดาษ คำตอบ ให้นักศึกษาลเขียนชื่อลงในกระดาษคำถามชุดของตนด้วย (๒๑) มอบชิ้นงานให้นักศึกษาเขียน คำตอบเป็นเรียงความที่แสดงความคิดเห็นของตนเอง หรือสะท้อนการตรวจสอบตนเอง (๒๒) ระบุกติกา ในการทำงานร่วมกันของนักศึกษา ในชิ้นงานที่มอบให้ทำนอกห้องเรียน (๒๓) เปลี่ยนเอกสารชิ้นงาน ที่มอบหมายให้นักศึกษาฝึกทำ เพื่อป้องกันการคัดลอกจากผลงานของนักศึกษารุ่นก่อน

          (๒๔) ใช้เวลาในห้องเรียน เพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาของชิ้นงานที่มอบหมายให้ทำ และวิธีแก้ไข (๒๕) ระบุรูปแบบของผลงานนำเสนอ และให้คะแนนส่วนนั้นบ้าง (๒๖) ระบุเงื่อนไขให้ใช้ความรู้ จากหลายแหล่งอ้างอิง เช่นจากตำราในหอสมุด จากเว็บ จากวีดิทัศน์ในแหล่งรวมในแคมปัส (๒๗) สอนนักศึกษาว่าเมื่อไรจะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของความรู้ และวิธีอ้างอิง

          (๒๘) เตือนนักศึกษาว่าอาจารย์จะใช้ ซอฟท์แวร์ตรวจสอบการขโมยหรือลอกเลียนผลงาน (๒๙) บอกให้ชัดเจนล่วงหน้า ว่าอาจารย์อาจสุ่มเลือกนักศึกษามาสอบปากเปล่า ว่านักศึกษาเข้าใจสาระในชิ้นงาน ที่ส่งอาจารย์แค่ไหน (๓๐) สำหรับชิ้นงานขนาดใหญ่ และใช้เวลานาน อาจารย์ต้องจัดประชุม สอบถาม ความก้าวหน้า และให้โอกาสนักศึกษาปรึกษา เพื่ออาจารย์จะได้ประเมินขีดความสามารถของนักศึกษาด้วย (๓๑) คอยให้คำแนะนำและประเมินผลงานของนักศึกษาเป็นระยะๆ โดยอาจให้เขียนรายงานความก้าวหน้า

          (๓๒) กำหนดให้นักศึกษาส่งงานร่างแรก เพื่ออาจารย์จะได้ให้คำแนะนำป้อนกลับเสียแต่เนิ่นๆ (๓๓) กำหนดให้นัศึกษาต้องส่งสำเนาเอกสาร หรือเว็บ ที่ใช้เป็นเอกสารอ้างอิง อย่างน้อยก็หน้าแรกของเอกสาร (๓๔) กำหนดให้นักศึกษาส่งผลงานพร้อมสำเนา ๑ ชุด สำหรับอาจารย์เก็บไว้ตรวจสอบ (๓๕) พยายามให้มีความชัดเจน ยุติธรรม โปร่งใส และจริงจัง ในเรื่องการตรวจและให้คะแนนชิ้นงาน

          เมื่อสงสัยปัญหาความไม่ซื่อสัตย์ ให้จัดการทันที โดยตรวจสอบกติกาข้อบังคับให้แน่นอนแม่นยำ โดยอาจเลือก ๒ แนวทาง คืออาจารย์ลงโทษเอง (กรณีนี้จะไม่ลงบันทึกประวัติของนักศึกษา) หรือส่งรายงาน ให้ฝ่ายบริหารสอบสวนลงโทษ กรณีแรกทำได้เมื่อนักศึกษายอมรับโทษ ไม่ว่ากรณีใดควรปรึกษา หัวหน้าภาควิชาและ/หรือคณบดี

          หนังสือบอกว่า ความไม่ซื่อสัตย์ในรายวิชา ออนไลน์ มีมากกว่ารายวิชาในห้องเรียน เพราะสถานการณ์ เปิดโอกาสให้มากกว่า การตอบข้อสอบ ออนไลน์ ให้คนอื่นทำแทนได้ง่ายมาก ยกเว้นที่คอมพิวเตอร์ที่ใช้ตอบ มีเว็บแคมบันทึกไว้ให้อาจารย์ดูว่าทำคนเดียวโดยตัวนักศึกษาเอง


กติกาแห่งเกียรติยศ

          กติกาแห่งเกียรติยศมี ๓ แบบ คือกติกาของสถาบัน กติกาของสถาบันที่ทำร่วมกับนักศึกษา และมีนักศึกษาเป็นผู้ร่วมกันบังคับใช้และตรวจจับผู้ทำผิด กับกติกาของรายวิชาที่อาจารย์แต่ละคนกำหนด กติกาทุกแบบระบุให้นักศึกษาเซ็นรับรองในเอกสารคำตอบข้อสอบ หรือรายงานชิ้นงานทุกชิ้น ว่าตนได้ปฏิบัติตามกติกา อย่างเคร่งครัดแล้ว หากตรวจพบการละเมิด ยินยอมให้ลงโทษ

          ผลการวิจัย (ในสหรัฐอเมริกา) บอกว่าการมีกติกาแห่งเกียรติยศแบบใดแบบหนึ่งช่วยลดการโกงลงไป อย่างน้อยหนึ่งในสี่ แต่มาตรการกำจัดการโกงในการเรียนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ขึ้นกับการยอมรับการโกง ในสังคมโดยทั่วไปด้วย


เปลี่ยนค่านิยมของนักศึกษา

          ผลงานวิจัยบอกว่า นักศึกษากลุ่มที่อายุน้อยมีแนวโน้มจะไม่รู้สึกผิดหรือเสียใจเมื่อตนโกงการเรียน และคิดว่าตนเองมีจริยธรรมดี แม้จะโกงการเรียน คนเหล่านี้จะเป็นผู้ใหญ่ และเป็นผู้กำหนดกติกาและค่านิยม ของสังคมในอนาคต

          อีกผลงานวิจัยหนึ่งบอกว่า นักศึกษาที่โกงการเรียน มีความเชื่อว่าไม่ผิด และมีความตั้งใจที่จะละเมิด หรือโกงกติกาในสังคมต่อไปอีก โดยที่คิดว่าการกระทำเช่นนั้นไม่เป็นสิ่งผิด

          แต่ก็มีผลงานวิจัยอื่น ที่ชี้ให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยยังมีหวัง ในการปลูกฝังค่านิยมไม่โกงให้แก่นักศึกษา เพราะเพียงร้อยละ ๒๔ ของนักศึกษาที่บอกว่า มีแผนจะโกงต่อไปในอนาคต อีกร้อยละ ๓๐ บอกว่ายังไม่แน่ใจ กลุ่มหลังนี้เอง ที่ให้ความหวัง

          แต่ก็มีคนที่บอกว่าสามารถปลูกฝังค่านิยมไม่โกงให้แก่นักศึกษาได้ถึงร้อยละ ๖๐ โดยชี้ให้เห็นโทษของ การโกงจนเป็นนิสัย ทั้งต่อสังคม และต่อตนเอง ดังต่อไปนี้

  • การโกงทำให้นายจ้างคิดว่าคุณมีความรู้และทักษะ ที่จริงๆ แล้วคุณไม่มี เมื่อไปทำงาน ก็จะก่อความเสียหายมากมาย ต่อสังคม และต่อโลก
  • เมื่อคุณเรียนจบด้วยการโกง คุณก็ไม่มีความรู้ที่แท้จริง เมื่อไปทไงานและใช้ชีวิตผู้คนก็จับได้ ว่าไม่มีความรู้ตามปริญญาที่ระบุ ทำให้คุณค่าของปริญญาด้อยลงไป
  • การโกง ทำให้อาจารย์ขาดโอกาสให้คำแนะนำป้อนกลับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้คุณปรับปรุงตนเอง
  • การโกงเป็นการเอาเปรียบเพื่อน
  • การโกงเป็นการละเมิดข้อตกลงทางสังคม ที่คุณให้ไว้แก่สถาบัน
  • การโกงการเรียน เป็นบ่อเกิดของการโกงหรือความไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องอื่นๆ ต่อไปในชีวิต เป็นเส้นทางทำลายอนาคตของตนเองในเรื่องต่างๆ
  • การโกงเป็นการปิดกั้นโอกาสเชี่ยวชาญหรือเป็นเลิศ

          ผลการวิจัยบอกว่า นักศึกษากลุ่มที่ไม่โกง มีคุณสมบัติด้าน การให้เกียรติผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความกล้าหาญ และมีความซื่อสัตย์ สูงกว่านักศึกษากลุ่มที่โกง

           ผมมีความเชื่อ จากประสบการณ์ตรงของผู้สูงอายุ ว่าความมั่นคงในความซื่อสัตย์และวิถีปฏิบัติ ตามหลักคุณธรรมจริยธรรม เป็นคุณต่อชีวิตที่ดีอย่างประมาณค่ามิได้ เด็กบ้านนอก ลูกชาวบ้านอย่างผม จะไม่สามารถมีชีวิตที่ดีในระดับนี้ได้เลย หากขาดความซื่อสัตย์ การเห็นแก่ส่วนรวม และการมุ่งทำประโยชน์ เพื่อผู้อื่น

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 576049เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2014 08:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2014 08:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พรุ่งนี้ ผมมีโอกาสได้ไปฟังอาจารย์บรรยายพิเศษ

ในงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาคุณธรรมในศตวรรษที่ ๒๑”

ที่ห้องประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ครับ ^_^

http://www.moralcenter.or.th/ewt_news.php?nid=1402&filename=index

มีคุณธรรมนำชีวิตรุ่งโรจน์ตลอด

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท