เมตตาไม่ใช่เพียงแค่ นั่งแผ่อยู่แต่ในมุ้ง


เมื่อได้ยินคำตรัสที่ว่า “ เมตตาธรรมเป็นเครื่องค้ำจุนโลก ” เราอาจคิดไปว่าโลกในที่นี้หมายถึงโลกที่เราอาศัยอยู่

อันที่จริง โลก ในที่นี้ก็คือตนเองนี้เองค่ะ

เมื่อมีเมตตา ทุกชีวิตจึงเป็นอยู่อย่างสงบ เป็นปกติ เมื่อวิถีชีวิตเป็นปกติ จึงเรียกว่ามีศีล เพราะเมตตาเป็นฐานของศีลนั่นเองค่ะ อีกทั้งเพราะมีเมตตาจึงทำให้มีธรรมสำคัญคือขันติตามมาอันทำให้มีการแสดงออกทางกาย วาจา ที่เหมาะสม รวมไปถึงธรรมอื่นๆเช่น มีการให้ มีการขวนขวายช่วยเหลือ มีการปฏิบัติให้ตนเจริญในสิ่งที่ควรเจริญยิ่งๆขึ้นไปและเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ดีแก่คนสังคมในเวลาเดียวกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเมตตาอยู่บ้างค่ะ


เช่น

๑ ความเข้าใจผิดของชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจพุทธศาสนาจนถึงกับเคยมีการค่อนว่า ชาวพุทธไทยมีเมตตาแบบเอาแต่นั่งแผ่อยู่แต่ในมุ้ง และเพราะไม่มีการกระทำที่เป็นรูปธรรมเมตตาจึงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างไร

อันที่จริง การอบรมเมตตานั้น เราควรอยู่ในทุกขณะจิตที่ระลึกได้ เพราะเมตตาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง แต่เกิดเพราะการอบรม สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงแสดงไว้ว่า เมตตาเกิดจาก การคิดที่ดี การคิดที่ถูกต้อง คิดจนตระหนักแก่จิต จึงจะเกิดเมตตาขึ้นมาได้

ในยามที่จิตเป็นสมาธิก็เป็นอีกขณะที่สามารถอบรมเมตตาได้ดีค่ะ เพราะจิตกำลังตั้งมั่น ไม่แส่ส่ายฟุ้งซ่าน จิตมีกำลังมาก จึงเป็นการปลูกกุศลธรรมแก่จิตในเวลาที่เหมาะสม โดยการเจริญเมตตาอาจเป็นการระลึกถึงสรรพสัตว์ด้วยเมตตาจนจิตเป็นสมาธิ หรือ เมื่อเจริญสมถกรรมฐานจนจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็ค่อยแผ่เมตตาจากจิตก็ได้

แต่อย่างไรก็ดี เมื่ออบรมตนด้วยเมตตาแล้ว ในยามปกติ ต้องมีการขวนขวายในทางต่างๆตามมา เช่น มีการให้, ขวนขวายช่วยเหลือ, ขวนขวายดับความขัดเคืองในใจตน, ขวนขวายดับข้อพิพาท, ขวนขวายควบคุมวาจา กาย ให้เรียบร้อยเพื่อให้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีแก่ผู้อื่น เป็นต้น เพราะหากไม่มีการกระทำใดๆตามมา นั่นไม่ใช่เมตตาอย่างแท้จริงค่ะ เป็นเพียงความคิดว่าน่าเมตตาเท่านั้น และการอบรมเมตตาก็จะเป็นอย่างที่ถูกค่อนว่า คือนั่งแผ่อยู่แต่ในมุ้งจริงๆ

๒ การดับความโกรธด้วยความคิดที่ว่า “เราขอแผ่เมตตาให้ อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย” แก่คนที่กระทบกระทั่งเรา แต่กลับนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาคิด มาขยายความต่อจนโกรธได้ทุกครั้งที่ยกขึ้นมาคิดหรือที่พูดถึง

อย่างนี้ไม่เรียกว่าจิตมีเมตตาอย่างแท้จริงค่ะ การแผ่เมตตาเป็นเพียงคำพูดสวยๆที่เรากล่าวกับผู้อื่นในเวลาที่ยกเรื่องขึ้นมาเล่าให้เขาฟังเท่านั้น เพราะหากเมตตาจริง ต้องปรารถนาให้เขามีความสุข เพราะหากเขารู้ว่ามีคนกำลังพูดถึงลับหลังในแง่ไม่ดี เขาคงไม่มีความสุขอยู่ได้ หรือหากปัญหาอันเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งไม่ได้รับการแก้ไขให้ลุล่วงจริงๆ ทุกฝ่าย ยังผูกโกรธต่อกัน ก็คงไม่มีใครมีความสุขอยู่ได้แม้แต่ตัวเราเอง

เพราะผลของการการอบรมเมตตาให้เกิดขึ้นนั้น ตนเองจะได้รับผลคือความชุ่มเย็นที่เกิดจากเมตตาก่อนคนอื่นๆเสมอ เช่น เมื่อขวนขวายดับความขัดเคืองในใจตน เมื่อความขัดเคืองดับลงได้ ตนก็ชุ่มเย็นเองเป็นอันดับแรก เมื่อตนปราศจากความขัดเคือง การแสดงออกต่อผู้ที่สร้างความขัดเคืองให้ก็เป็นไปอย่างปกติ ผู้นั้นจึงจะได้รับความชุ่มเย็นตามมา

สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงยกตัวอย่างอุบายในการเจริญความคิดที่ทำให้เกิดเมตตาไว้อย่างน่าสนใจ จึงได้รวบรวมไว้และขอแบ่งให้เข้ากับสถานการณ์อย่างนี้ค่ะ

อุบายคิดอบรมเมตตาในยามปกติ


๑ การตามระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าจนซาบซึ้งในพระเมตตาพระกรุณา เช่น ตามระลึกถึงความยากลำบากของพระองค์ที่ทรงสละความสุขสบายในราชวังมานอนกลางดินกินกลางทราย เมื่อครั้งที่เสด็จออกจากวังใหม่ๆ ยังทรงติดในความสุขสบาย ความประณีต ความเลิศรสของอาหารอยู่ เมื่อเสด็จกลับจากการบิณฑบาตในช่วงแรกๆ ในคราวที่ทรงเปิดฝาบาตรเพื่อจะเสวยนั้น ถึงกับเสวยไม่ลงเพราะความไม่ประณีตของอาหารเลยทีเดียว หรือ การที่ทรงรับภัตอันเป็นพิษของนายจุนทะก่อนจะเสด็จปรินิพพาน ก็ยังทรงระลึกถึงด้วยพระเมตตาว่านายจุนทะจะเสียใจ และใครๆอาจกล่าวโทษเขาได้ จึงถึงกับโปรดให้พระอานนท์ไปปลอบนายจุนทะว่า อาหารที่ถวายในคราวก่อนตรัสรู้ที่นางสุชาดาถวาย และในคราวก่อนปรินิพพานที่นายจุนทะนั้น มีอานิสงส์เสมอกัน เป็นต้น

การตามระลึกถึงคุณธรรมของพระองค์นี้เป็นคุณต่อผู้ตามระลึกอย่างประมาณมิได้ ผู้ที่ซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้าย่อมได้รับความรู้สึกอันเป็นคุณนั้นด้วยตนเอง จิตย่อมถูกย้อมด้วยความระลึกถึงความเมตตากรุณา จิตอบอุ่น ชุ่มชื่นด้วยสำนึกในพระกรุณา อันทำให้จิตค่อยๆอ่อนละมุนขึ้นตามลำดับ

๒ เตือนตนและเปรียบตนกับผู้อื่นอย่างจริงจังอยู่เสมอ ว่าทุกชีวิตรักชีวิตตน รักทรัพย์สินตน รักความปลอดภัยของตน เมื่อตนรักตนอย่างไร ไม่อยากให้ใครเบียดเบียนตนอย่างไร ก็ควรเอาตนเข้าเปรียบกับผู้อื่น และไม่เบียดเบียนผู้อื่นอย่างนั้น เมตตากับศีลจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอ ยากจะแยกจากกันเพราะเหตุนี้

แต่การเปรียบตนกับผู้อื่นในกรณีนี้ต้องไม่หลงว่าเป็นมานะ คือ ความสำคัญตนว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วนำตนไปเปรียบกับผู้อื่น ว่าเสมอเขาบ้าง ต่ำกว่าเขาบ้าง สูงกว่าเขาบ้างนะคะ เพราะมานะเป็นอุปกิเลสที่ยิ่งเพิ่มความเห็นว่าเป็นตน แต่การเปรียบตนกับผู้อื่นเพื่อที่จะเมตตานี้ เราเปรียบเนื่องจากเรายังคลายความเห็นว่าเป็นตนไม่ได้ เมื่อยังมีความเห็นว่าเป็นตนอยู่ ก็ทำตนให้เป็นตนอันตนรักษาดีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นการเปรียบที่ให้ผลไปในทางตรงข้ามกัน

๓ เหตุร้ายสามารถเกิดกับเราได้ในทุกขณะ เพราะความไม่เที่ยง ความที่เราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เราจึงควรเมตตากันไว้ในทุกเวลาน่าจะเป็นการดีกว่าที่จะปล่อยเวลาผ่านไปโดยไม่มีการอบรมธรรมอันเป็นพื้นฐานของกุศลธรรมนานัปการนี้

๔ ผู้มีเมตตาย่อมมีผู้คบหามาก เพราะเมื่อเมตตาก็จะมีกรุณา มีการควบคุมกาย วาจา ตามมา ผู้ที่อยู่ใกล้จึงคบหาได้อย่างสนิทใจ ยินดี อบอุ่นที่จะสนทนาวิสาสะ

๕ พึงช่วยเหลือผู้ที่กำลังต้องการความช่วยเหลือเพื่อนำความชุ่มชื่นมาสู่ใจ ในยามที่เราเดือดร้อน ตกอยู่ในสภาวะคับขัน เราต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นอย่างไร บุคคลอื่นก็ต้องการอย่างนั้น เมื่อได้รับความช่วยเหลือ เราชุ่มชื่นใจอย่างไร ผู้อื่นก็ได้รับความชุ่มชื่นใจอย่างนั้น เมื่อระลึกถึงความชุ่มชื่นอย่างนี้ จึงควรมีเมตตาต่อกัน

๖ แม้ผู้ที่ดูปกติสุข เราก็ควรคิดในทางเมตตาเขา คนบางคนอาจมีความอดทนสูงมาก แม้ภายนอกอาจดู เหมือนไม่มีเรื่องทุกข์ร้อน แต่ก็อาจซ่อนความทุกข์ไว้ในใจ ดังนั้นเราจึงควรคิดว่าเขาอาจมีเรื่องร้อนใจ หากช่วยได้ ก็จะทำเท่าที่ทำได้

เมื่อคิดอย่างนี้อยู่เสมอๆ เมตตาจึงจะเกิดขึ้น และซาบซึ้ง จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับใจตามลำดับ

อุบายคิดให้เกิดเมตตาในยามที่เราถูกกระทบกระทั่ง


๑ ผู้มีใจอย่างไร ก็ก่อเรื่องอย่างนั้น เรื่องเลวร้ายอย่างไร ก็มาจากใจที่เลวร้ายอย่างนั้น ใจที่เป็นเหตุให้เกิดคำพูดหรือการกระทำนั้นๆก็ย่อมนำความทุกข์ร้อนมาให้เจ้าของ ทำให้หาความสงบไม่ได้ ใจเช่นนั้นควรได้รับการเมตตา สงสารมากกว่าที่จะซ้ำเติม

และควรหาโอกาสช่วยเหลือให้เขา ให้ธรรมเป็นทาน ให้เขาได้มีโอกาสพบความสงบทางใจและการพัฒนาไปสู่ทางที่ดีขึ้นบ้าง

แต่อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือนี้ ต้องแยกออกจากจากการลงโทษเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะหากปราศจากการลงโทษตามสมควรแล้ว การกระทำผิดนั้นอาจเป็นแบบอย่างแก่คนในสังคมที่รู้ไม่ถึงทั่ว จนเกิดความเดือดร้อนในสังคมตามมาได้

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายเรื่องของการกระทำผิดและการรับผลทางสังคมและทางธรรมไว้อย่างน่าใส่ใจ ดังนี้ค่ะ

“เป็นอันว่า มีหลักที่เป็นระบบใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย ในเรื่องของสังคม ถ้าผิด วินัยจัดการทันที หมายความว่า วินัยมีวิธีการจัดตั้งสมมติและดำเนินการตามสมมติเพื่อให้ธรรมสำเร็จเป็นผลในสังคม มิฉะนั้น ในที่สุด ถ้าเราไม่เอาใจใส่ การปฏิบัติตามธรรมก็จะคลาดเคลื่อนไป และสังคมก็จะคลาดจากธรรม

คนทำกรรมชั่ว ฝ่ายธรรมว่ามีกฎธรรมชาติเป็นกฎแห่งกรรม เขาจะได้รับผลตามกรรมของเขา แต่วินัยไม่รอ วินัยเป็นกฎมนุษย์ จึงตั้งกรรมสมมติขึ้น และนำผู้กระทำผิดเข้ามาในกลางที่ประชุมและลงโทษ วินัยไม่รอธรรม จึงไม่รอกรรมตามธรรมชาติ วินัยจัดการทันทีด้วยกรรมสมมติโดยใช้กฎมนุษย์”

ดังนั้นจึงต้องแยกสภาวธรรมออกจากกัน ไม่นำมาปะปนกันจนเสียความเป็นธรรม

๒ การโกรธหรือโกรธตอบใครหมายถึงสภาวะของเมตตาที่ไม่มีกำลัง หากมีใครทำให้เรารู้สึกว่าเขาเป็นเหตุให้ได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง เห็นภาพที่ไม่น่าดู แล้วโกรธหรือโกรธตอบ ให้เตือนตนอยู่ว่า เราเมตตาไม่พอ เราเมตตาไม่พอ

เพราะเมตตาเขาไม่พอ เพราะไม่เกรงว่าจะกระทบใจเขาจึงทำให้โกรธตอบเขาได้ จนทำให้ขาดการข่มกลั้นไม่ให้แสดงอาการที่ไม่น่าดูทางกายหรือไม่แสดงคำที่ไม่น่าฟังทางวาจา

เมตตานั้นเป็นธรรมที่ดับพยาบาทโดยตรง เพราะเมตตาตนไม่พอ จึงปล่อยใจตนให้ไหลไปตามความเห็นว่าเป็นตนแล้วเห็นว่าตนถูกกระทบกระทั่ง ปล่อยโทสะที่ให้ครอบงำจิตจนสามารถโกรธตอบเขาได้ ผูกโกรธเขาได้ พยาบาทเขาได้ การไม่เมตตาตนอย่างนั้นเป็นการยอมรับอุปกิเลสที่จรมาสู่ใจว่าเป็นสิ่งถูกต้อง ยอมให้อุปกิเลสนั้นทรงอยู่ในใจ ยอมให้กองกิเลสขยายใหญ่โตออกไปโดยไม่คิดจะลดทอน ยอมให้ใจไหลลงสู่ที่ต่ำ การยอมแพ้แก่อกุศลธรรมอย่างนั้น คงบอกไม่ได้ว่าเรามีเมตตาต่อตนเอง

ในครั้งที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องการปฏิบัติตนของฆราวาสที่ยังยินดีในทรัพย์ บุตร ภรรยา ผู้มั่นคงในพระรัตนตรัยและมีศีล ๕ อันเป็นศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ววว่าพึงน้อมสิ่งต่างๆลงสู่ความว่าง การน้อมลงเช่นนี้จึงช่วยให้การอบรมเมตตาประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อเป็นสภาพว่าง ก็ย่อมไม่มีตัวบุคคล ผู้ถูกกระทบ ผู้โกรธ ผู้โกรธตอบ

เหล่านี้เป็นอุบายที่จะเพิ่มพูนเมตตาที่เราต้องอบรมกันอย่างจริงๆจังๆ แม้ว่าจะทำได้ยาก แต่ก็ต้องฝึกทำค่ะ และมีข้อควรระวังคือ ไม่แผ่เมตตาให้ผู้ที่มีความแค้นเคืองกันเป็นอันมากเป็นอันดับแรก แต่ควรแผ่เมตตาให้ตน ให้คนที่รัก ให้คนที่ค่อยๆมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นลงเรื่อยๆเป็นอันดับต่อๆไป เพื่อให้จิตใจค่อยๆแช่มชื่นด้วยเมตตาก่อน จากนั้นจึงแผ่เมตตาให้คนที่มีความโกรธเคืองกันเป็นอันดับสุดท้าย ทั้งนี้เพื่อกันพยาบาทที่อาจแทรกเข้ามาจนทำให้แผ่เมตตาไม่สำเร็จ

และ หากจะแผ่เมตตาให้เพศตรงข้ามเป็นรายบุคคลไป ก็พึงระวังเสน่หาที่อาจแทรกเข้ามาได้เพราะเสน่หาเป็นเหตุใกล้ของเมตตาจนจะเรียกว่าเสี้ยนในเมตตาก็ว่าได้ ดังนั้นหากแผ่เมตตาไปโดยไม่เป็นประมาณ ไม่เจาะจงผู้ใด ดูจะปลอดภัยกว่า

คำว่าเมตตาดูเหมือนจะเป็นคำง่ายๆ ดูราวจะเข้าใจได้ง่ายๆนะคะ

แต่บางที เราอาจต้องถามตัวเองดู

ว่าเราเข้าใจ “สภาวะ” ของเมตตา ธรรมอันเป็นพื้นฐานของพุทธศาสนาจริงๆหรือเปล่าค่ะ

……..

อ้างอิง

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทุกชีวิตมีเวลาอันจำกัด

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) รสแห่งความเมตตาชุ่มเย็นยิ่งนัก

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรมฉบับปรับขยาย (หน้า ๓๐๙)

หมายเลขบันทึก: 576042เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2014 04:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2014 04:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท