Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษา “น้องเอวิด” หรือ เด็กหญิงเอวิด เกรซ - ไร้รัฐไร้สัญชาติ เพราะถูกทอดทิ้งโดยบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์


กรณีศึกษา “น้องเอวิด” หรือ เด็กหญิงเอวิด เกรซ[1]

: เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติเพราะไร้รากเหง้าด้วยถูกทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ แห่งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗

http://www.gotoknow.org/posts/576031

----------------------------------------------------------------------------------------

น้องเอวิดเป็นเด็กข้ามชาติประเภทไหน ? ด้อยโอกาสอย่างไร ?

----------------------------------------------------------------------------------------

น้องเอวิด[2]เกิด ณ ห้องคลอดของแม่ตาวคลินิกเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ แม้จะไม่ทราบแน่ชัดว่า บิดาและมารดาของน้องเป็นใครกันแน่ แม้คนทำงานในแม่ตาวคลินิกจะเชื่อว่า บุพการีเป็นคนจากประเทศเมียนมาร์ แต่ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เกี่ยวกับตัวบุพการี น้องเอวิดจึงมิได้ข้ามชาติด้วยตัวเอง คนที่ข้ามชาติ ก็น่าจะ เป็นบิดาและมารดา และสภาพของเรื่อง ก็คาดเดาว่า จะเป็นการข้ามชาติจากประเทศเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง สำหรับมุมของการศึกษาวิจัย น้องเอวิดจึงเป็นกรณีศึกษาเด็กข้ามชาติ เพราะบุพการีเป็นคนข้ามชาตินั่นเอง และปัญหาความด้อยโอกาสก็น่าจะมาจากการถูกทอดทิ้งจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์ อันทำให้การจดทะเบียนการเกิดในทะเบียนราษฎรไม่ได้เกิดขึ้นโดยบุพการี จนทำให้น้องตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง หรือที่กรมการปกครองไทยเรียกว่า “ปัญหาความไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” นั่นเอง

เรื่องราวของน้องเอวิดมาถึงการพิจารณาของคณะนักวิจัยฯ โดยการแจ้งเหตุเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖[3] ของคุณคอรีเยาะ มานูแช เจ้าหน้าที่ของ IRC ซึ่งเป็นองค์กรภาคีของการวิจัยภายใต้โครงการเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส คุณคอรีเยาะแจ้งคณะนักวิจัยฯ ว่า น้องเอวิดเป็นเด็กอ่อนอายุ ๖ เดือน และถูกทอดทิ้งโดยบุพการีภายหลังการเกิด ณ แม่ตาวคลินิก

เนื่องด้วยคุณคอรีเยาะจบนิติศาสตร์บัณฑิต เธอจึงไม่อาจเป็นเพียงผู้แจ้งเหตุ เธอเสนอที่จะทำงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่น้องเอวิดร่วมกับคณะนักวิจัยฯ ด้วย ดังนั้น ความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือแก่น้องเอวิดจึงเกิดขึ้นระหว่าง IRC โดยผ่านคุณคอรีเยาะ และคณะนักวิจัยภายใต้โครงการศึกษาเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส

----------------------------------------------------------

การถอดบทเรียนจากกรณีศึกษาน้องเอวิด – สาระสำคัญให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ?

----------------------------------------------------------

ในประการแรก เราจะเห็นว่า กรณีศึกษาน้องเอวิดย่อมเป็นตัวอย่างของ “เด็กไร้รัฐเพราะประสบปัญหาความไร้รากเหง้า (Rootlessness) ” บนพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาร์ ที่รอการจัดการ กรณีของน้องเอวิดจึงมิใช่กรณีของบุพการีเพิกเฉยต่อการจดทะเบียนคนเกิดจนทำให้บุตรตกอยู่ในปัญหาความไร้รัฐ แต่เป็นกรณีที่บุพการีทอดทิ้งบุตรอีกด้วย นอกจากการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรโดยบุพการีจะเกิดขึ้นไม่ได้แล้ว ก็ยังมีปัญหาว่า ไม่อาจระบุชื่อบุพการีในรายการสถานะบุคคลของบุตรอีกด้วย ด้วยว่าบุพการีไม่ปรากฏตัวเสียแล้ว

ในประการที่สอง กรณีศึกษาน้องเอวิดทำให้เราได้มีโอกาสทดสอบกลไกแห่งกกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรได้กำหนดเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยเองที่จะแจ้งการเกิดของเด็กที่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยเอง[4] ในกรณีศึกษาน้องเอวิดนั้น เมื่อมีพยานเอกสารและพยานบุคคลว่า น้องเอวิดเกิดในประเทศไทย จึงสรุปได้ว่า น้องเอวิดมีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นที่เกิดของน้องเอวิด รัฐไทยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดทะเบียนการเกิดให้แก่น้องเอวิด ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในจุดนี้นี่เองที่คุณคอรีเยาะใช้ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่น้องเอวิด แม้ก่อนที่เธอจะส่งเรื่องนี้เข้าสู่การวิจัยของพวกเราเสียด้วยซ้ำ แต่คุณคอรีเยาะก็ประสบความไม่ราบรื่นในการทำงานมากมาย แต่เมื่อกระบวนการเปิดพื้นที่ทางวิชาการกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัดตาก ซึ่งต่อไปเราจะเรียกสั้นๆ ว่า “พมจ.ตาก” ได้เริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗[5] การหารือเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในเรื่องการจดเบียนการเกิดให้แก่เด็กไร้รากเหง้าจึงเริ่มต้นขึ้นในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗[6] และในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ พมจ.ตากได้ดำเนินการจดทะเบียนคนเกิดตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรจนได้รับสูติบัตร โดยสรุป น้องเอวิดจึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไร้ทั้งรัฐและไร้สัญชาติ ตลอดจนถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลกตั้งแต่เกิดจนถึงวันที่ได้รับการจดทะเบียนคนเกิดอย่างครบขั้นตอน กล่าวคือ ตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ จนถึงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๗ ก่อนที่จะได้รับการบันทึกใน ท.ร.๓๘ ก. ในสถานะ “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” จึงมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข ๐ อันหมายความว่า น้องเอวิดย่อมมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทหนึ่ง น้องเอวิดจึงไม่ไร้รัฐอีกต่อไป แต่ยังไร้สัญชาติ และยังมีสถานะเป็นคนเกิดในประเทศไทยที่ถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง นอกจากนั้น น้องเอวิดยังไร้ครอบครัวตามกฎหมายที่เหมาะสม

ในประการที่สาม ปัญหาความไร้สัญชาติของน้องเอวิดอาจแก้ไขได้โดยใช้มาตรา ๑๒/๑[7] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเป็นหน้าที่ของ “ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์” ที่จะผลักดันการแปลงสัญชาติให้แก่น้องเอวิด หากน้องเอวิดยัง “อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี”ดังนั้น หลังจากปฏิบัติการเพื่อจดทะเบียนคนเกิดและคนอยู่ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในเรื่องการจดทะเบียนคนเกิดและคนอยู่เสร็จสิ้นลง แผนปฏิบัติการเพื่อขอให้ พมจ.ตาก จัดการให้น้องเอวิดอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต่อไป เพื่อการนี้ คณะนักวิจัยฯ จึงแนะนำให้มูลนิธิไลฟ์ อิมแพค ไทยแลนด์ทำหนังสือเพื่อเสนอแนะการดำเนินการตามกฎหมายเพื่อน้องเอวิดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดตาก ซึ่งมูลนิธิดังกล่าวก็ได้ดำเนินการดังกล่าวในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

ในประการที่สี่ กรณีศึกษาน้องเอวิดยังแสดงถึง “ช่องว่างทางนโยบายไทยด้านสิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่เด็กไร้รัฐ” แม้จะเป็นความชัดเจนอย่างยิ่งว่า น้องเอวิดประสบปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย แต่น้องเอวิดก็ไม่ได้รับการรับรองสิทธิในหลักประกันสุขภาพภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เรื่องราวของน้องจึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งขยายให้กองทุนฯ ดังกล่าวเข้าคุ้มครองเด็กไร้รัฐในสถานการณ์ดังน้องอีกด้วย ในระหว่างที่ช่องว่างนี้ยังมีอยู่ ภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมศึกษาวิจัยปัญหาเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาสจึงสนับสนุนทุนเพื่อซื้อหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ ให้แก่น้องเอวิด ปรากฏการณ์ที่สองนี้จึงเป็นเครื่องชี้ว่า “สปสช.ภาคประชาชน (สำนักงานหลักประกันสุขภาพในภาคประชาชน” เป็นความเป็นจริงที่มีอยู่ ในสถานการณ์ที่องค์กรของรัฐไทยไม่อาจทำหน้าที่ดังกล่าวได้

ในประการที่ห้า กรณีศึกษาน้องเอวิดทำให้เราตระหนักในความมีอยู่และความเข้มแข็งขององค์กรในภาคประชาสังคมที่ทำงานตามแนวชายแดนไทยเมียนมาร์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองเด็กข้ามชาติด้อยโอกาส ดังจะเห็นว่า น้องเอวิดอยู่ในความดูแลของหลายองค์กร ซึ่งเท่าที่เราสังเกตเห็น ก็มี ๕ องค์กร กล่าวคือ (๑) IRC ซึ่งเป็นองค์กรต้นสังกัดของคุณคอรีเยาะ (๒) แม่ตาวคลินิค เป็นองค์กรหนึ่งภายใต้มูลนิธิสุวรรณนิมิตร จดทะเบียนตามกฎหมายไทย มีผู้อำนวยการใหญ่ คือ พญ.ซินเทีย หม่อง (๓) CPPCR ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนใดๆ ภายใต้กฎหมาย และมีผู้ประสานงานชื่อ MR.Nainy Min (๔) SAW ไม่ได้จดทะเบียนภายใต้กฎหมาย และมีผู้อำนวยการคือ Ma Aey Mha พูดภาษาพม่าและอังกฤษ และ (๕) มูลนิธิไลฟ์ อิมแพค โดยมีคุณคำภีร์ สะริมู เป็นประธานมูลนิธิ และคุณ ลานนา มาเรีย เป็น เลขาธิการ ซึ่งองค์กรสุดท้ายนี้เองซึ่งทำหน้าที่เลี้ยงดูน้องเอวิดตลอดเวลา คณะนักวิจัยฯ จึงแนะนำให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดตาก เพื่อขออนุญาตให้มูลนิธิไลฟ์ อิมแพค ไทยแลนด์ ทำหน้าที่เป็นผู้คุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กหญิงเอวิด เกรซ ตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เนื่องด้วยการดูแลของมูลนิธิไลฟ์ อิมแพค ไทยแลนด์ ต่อเด็กหญิงเอวิดที่ผ่านมานั้นได้จัดให้มีการดูแลในรูปแบบครอบครัวอุปถัมภ์ กล่าวคือ จะมีบุคคลที่เป็นสามีภรรยากันอาสามามาทำหน้าที่เป็นบิดาและมารดาดูแลเด็กหญิงเอวิด ให้ความรักและความอบอุ่นดุจดั่งครอบครัวที่แท้จริง มาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดความรักและความผูกพันต่อเด็กหญิงเอวิดเป็นอย่างมาก ในขณะที่มูลนิธิฯ ทำหน้าที่สนับสนุนในเรื่องปัจจัยการยังชีพตลอดมา เพราะมูลนิธิฯ มีสถานะเป็นองค์กรสาธารณะกุศลไม่แสวงหาผลกำไร ดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสในประเทศไทยมาตลอดเวลา จึงมีความพร้อมทั้งในเรื่องบุคลากรและปัจจัยทางเศรษฐกิจและศักยภาพในการอบรมเลี้ยงดูเด็กหญิงเอวิด เกรซ ได้เป็นอย่างดี

----------------------------------------------------------

บทสรุป – ภารกิจต่อไปสำหรับผู้ทำกรณีศึกษาน้องเอวิด

----------------------------------------------------------

โดยสรุปปัญหาของน้องเอวิดในวันที่เราปิดเล่มรายงานผลการวิจัยประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ซึ่งน้องมีอายุราว ๑ ปีกว่า และยังอยู่ในความดูแลของมูลนิธิไลฟ์ อิมแพค อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แม้จะไม่ประสบปัญหาความไร้รัฐแล้ว เพราะมีสถานะเป็นราษฎรไทยในท.ร.๓๘ ก แต่น้องก็ยังไร้สัญชาติ ซึ่งหากภายใน ๑๐ ปี บุพการีก็ยังไม่แสดงตัวเพื่อสนับสนุนการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์ให้แก่น้อง กระบวนการแปลงสัญชาติเป็นไทยก็จะเป็นหนทางหนึ่งที่จะขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่น้อง ตลอดจนกระบวนการส่งเสริมและคุ้มครองน้องในระหว่างที่ยังขาดไร้ครอบครัวที่เหมาะสมนั้น ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังต้องดำเนินการตามกฎหมายไทยว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก ดังนั้น กระบวนการสร้างความชัดเจนว่า น้องเอวิดอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ใดกันแน่ จึงเป็นภารกิจที่คณะนักวิจัยฯ รวมถึงเหล่าองค์กรที่ร่วมดูแลน้องอยู่ จะต้องสร้างความชัดเจนในวันนี้ให้ได้ในทั้ง ๒ ประเด็นในช่วงเวลาต่อไป การหารือเพื่อดำเนินการทั้งสองประเด็นนี้เกิดขึ้นระหว่างคณะนักวิจัยฯ และเจ้าหน้าที่ พมจ.ตาก ณ สำนักงาน IRC ประจำอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๗[8] ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ พมจ.ตาก ก็ตระหนักดีในภารกิจทั้งสองประเด็นตามกฎหมาย เราจึงคาดหวังว่า น้องเอวิดจะได้รับการพัฒนาสิทธิต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกว่าน้องจะเติบโตจนดูแลตัวเองได้ และมีสถานะเป็นคนมีรัฐมีสัญชาติในวันหนึ่ง

----------------------------------------------------------


[1] บันทึกนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการศึกษาวิจัยเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย – พม่า

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๕๖ : กรณีเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาสในพื้นที่สุขภาวะ (โรงพยาบาล/สถานศึกษา/ครอบครัว) โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย เพื่อเสนอคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗

[2] โดยหนังสือรับรองการเกิดเลขที่ ๑๖๓๕/๗, ๒๕๕๖ น้องเอวิดเกิดที่แม่ตาวคลินิก จากนางโหย่โหย่ ไม่มีชื่อสกุล และ นายแต็ดติ่น ไม่มีชื่อสกุล

[3]https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151821682651032&set=p.10151821682651032&type=1<วันอังคารที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗>

[4] มาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า

“ผู้ใดพบเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้งให้นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว เมื่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้แล้วให้บันทึกการรับตัวเด็กไว้ ในกรณีที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจรับเด็กไว้ ให้นำตัวเด็กพร้อมบันทึกการรับตัวเด็กส่งให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตท้องที่ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รับตัวเด็กไว้หรือได้รับตัวเด็กจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจแล้ว ให้แจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

บันทึกการรับตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้ทำเป็นสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับและส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไปของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย”

[5] ซึ่งก็คือ เวทีเสวนาวิชาการเพื่อปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับปัญหาความด้อยโอกาสและครอบครัว ณ ห้องประชุมโรงแรมควีนพาเลส อำเภอแม่สอด เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. ซึ่งเรื่องของน้องเอวิด เป็นเรื่องหนึ่งซึ่งคณะนักวิจัยฯ ได้ใช้โอกาสหารือถึงกับเจ้าหน้าที่ พมจ.ตาก ซึ่งได้รับเชิญมาร่วมงานเสวนาครั้งนี้ โปรดดูบรรยากาศการหารือใน URL ดังต่อไปนี้

https://www.facebook.com/bkklegalclinic/media_set?set=a.735619133129952.1073741862.100000456171906&type=3

และเจ้าหน้าที่ พมจ.ตาก ที่มาร่วมในการเสวนานี้ ได้เดินทางไปเยี่ยมน้องเอวิดพร้อมคณะนักวิจัญ ณ มูลนิธิไลฟ์ อิมแพค อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในวันเดียวกัน โปรดดูบรรยากาศการเยี่ยมใน URL ดังต่อไปนี้

https://www.facebook.com/bkklegalclinic/media_set?set=a.735635626461636.1073741863.100000456171906&type=3

[6] การหารือระหว่างคณะนักวิจัยฯ และหัวหน้าสำนักงาน พมจ. เพื่อการจดทะเบียนการเกิดให้แก่น้องเอวิดจึงเกิดขึ้นในวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๗ โปรดดูบรรยากาศการหารือใน URL ดังต่อไปนี้

https://www.facebook.com/bkklegalclinic/media_set?set=a.766128623412336.1073741879.100000456171906&type=3

[7] มาตรา ๑๒/๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ บัญญัติว่า

“ในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๒ นั้น บุคคลอื่นอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยได้ ในกรณีดังต่อไปนี้

.....................................

(๒) ผู้ปกครองสถานสงเคราะห์ของรัฐตามที่รัฐมนตรีกำหนด เมื่อได้รับความยินยอมของผู้เยาว์แล้วอาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยให้แก่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์มาไม่น้อยกว่าสิบปี โดยให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๐ (๑) และ (๓)”

[8]โปรดดูบรรยากาศการหารือใน URL ดังต่อไปนี้

https://www.facebook.com/bkklegalclinic/media_set?set=a.871791859512678.1073741959.100000456171906&type=1

หมายเลขบันทึก: 576031เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2014 21:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท