ธารินทร์ เพ็ญวรรณ : รักที่เปี่ยมล้น คนที่หมดค่า


พี่พยาบาลประจำศูนย์ฯติดต่อมาว่ามีเคสผู้ป่วยรับปรึกษารายใหม่ ชื่อว่าคุณลุงประยุทธ เป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายและมีน้ำคั่งในเยื่อหุ้มปอดข้างหนึ่ง เช็คประวัติดูแล้วเป็นคนไข้เก่าของทางศูนย์ฯ หนนี้มาห้องฉุกเฉินด้วยอาการหกล้มหัวฟาดพื้น เมื่อผมและพี่โหน่งไปถึงห้องฉุกเฉินก็พบคนไข้นั่งอยู่ที่เตียง สีหน้าค่อนข้างเศร้าหมอง ที่ศีรษะได้รับการเย็บแผลและปิดแผลเรียบร้อยแล้ว มีคนสองคนอยู่ข้างๆ ทราบทีหลังว่าเป็นภรรยาและลูกเขย

ผมเริ่มเข้าไปทักทายและถามข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณลุงประยุทธ “สวัสดีครับคุณประยุทธ (นามสมมุติ) วันนี้เกิดอะไรขึ้นนะครับ?” 

“พ่อหกล้มหมอ เดินอยู่หน้าบ้านตอนเช้ามืด แล้วก็ล้มลงไปเลย”  ลูกเขยตอบแทนทันควัน

ความที่คนไข้คนนี้เป็นคนไข้เก่า ผมจึงพอทราบประวัติมาว่า ทางทีมเคยคุยกับครอบครัวไว้บ้างแล้ว ในเรื่องตัวโรคและการพยากรณ์โรคของคนไข้ ครั้งนั้นลูกสาวและลูกเขยยืนกรานหัวเด็ดตีนขาดว่า อย่างไรก็ไม่ยอมให้ทางเราบอกเรื่อง การพยากรณ์โรค แก่ผู้ป่วย โดยอ้างว่าจะ 'เสียกำลังใจ' ทางทีมจึงยังไม่ได้คุยกับคุณลุงต่อ เรื่องตัวโรคและให้ยาบรรเทาอาการก่อนที่คุณลุงจะออกจากรพ.

“เหรอครับ แล้วคุณลุงมีอะไรอยากเล่าอีกมั้ยครับ?”  หลังจากที่พูด ปรากฏว่าเป็นครั้งแรกที่คุณลุงสบตากับผม ผมเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดี จึงย้ายคุณลุงมายังมุมวิเวกของห้องฉุกเฉิน พร้อมลากเก้าอี้แถวๆ นั้นมาปิดม่านคุยกัน

“มันหายใจลำบากแล้วก็ปวด หมอ..” 

“ปวด..เหรอครับ?” ตอนแรกผมนึกถึงอาการปวดที่หน้าท้องของแก แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ 

“ปวดหัว..เครียดไปหมด...หลายเรื่อง” 

“หลายเรื่อง..เหรอครับ? เช่นว่าเรื่องอะไรบ้าง? พอจะบอกผมได้มั้ย?” 

“ก็เรื่องโรค...เรื่องที่บ้าน...” พูดได้เท่านี้ ลูกเขยก็เปิดม่านเข้ามา

“ที่บ้าน พ่อก็ดูสบายดีนะหมอ ไม่ได้เครียดอะไร ทางเราก็ดูแลตลอด มีผม แฟนผม แล้วก็คุณแม่ (ภรรยาคุณลุง) ช่วยๆกันดู” 

พอลูกเขยเริ่มพูด คุณลุงก็เริ่มหน้านิ่ง ดวงตาเหม่อลอยอีกครั้ง คราวนี้เหมือนลูกเขยจะเริ่มรู้สึกได้ เลยออกไปนอกม่านและให้ผมคุยกับคุณลุงต่อ

หลังจากที่ลองถามเกี่ยวกับตัวโรค ปรากฏว่าคนไข้รับรู้แล้วว่า ตนอยู่ในช่วงระยะสุดท้าย รับรู้ว่า แพทย์เจ้าของไข้นัดมาดูอาการต่อ แต่ก็ 'ไม่ทำอะไรเพิ่ม' และบอกว่าตน “รักษาไม่หายแล้ว อยู่ไปเรื่อยๆ แบบนี้ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

“....ผมทรมานนะหมอ....เมื่อก่อนเคยเดิน เคยทำอะไรได้เอง ตอนนี้มันเหนื่อย..แค่เข้าห้องน้ำ บางทีก็เข้าเองไม่ได้ ถ้าต้องอยู่อย่างนี้ สู้ไปเสียดีกว่า...”

“คุณลุงรู้สึกว่า ไปเสียจะดีกว่าเหรอครับ?” 

“ใช่...อยู่ไปก็ทรมาน หายใจไม่ออก ทำอะไรก็ไม่ได้....” แกเงียบไปพักหนึ่ง จึงบอกต่อ ว่า “เมื่อเช้าที่บอกคนอื่นว่า หกล้มน่ะ จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก ผมจงใจ...ผมอยากไป..อยู่ไปก็เป็นภาระ คนที่บ้านต้องผลัดกันหยุดงานมาดูผม.....”

จากประวัติที่ได้ นอกจากอาการหอบเหนื่อยที่คุมอาการไม่อยู่แล้ว คุณลุงยังมีอาการที่เรียกว่า existential crisis ร่วมอยู่ด้วย

สมัยก่อน คุณลุงทำงานรับจ้างอยู่ที่ต่างประเทศ และส่งเงินกลับมาให้ครอบครัว เป็นเสาหลักในเรื่องค่าใช้จ่ายในบ้าน พอเริ่มป่วยจึงย้ายกลับมาเมืองไทย และไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ที่ครอบครัวของคุณลุงทุกคน พร้อมใจกันช่วยดูแลคุณลุงเป็นอย่างดี ชนิดที่ว่าอาจจะดีเกินไปเสียด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน ห้องน้ำ การนัดพบแพทย์ ทานยา ฯลฯ แน่นอนว่าเรื่องตัวโรค ญาติๆ ก็รู้ก่อนคนไข้ และเห็นตรงกันว่า ไม่คิดจะบอกให้คนไข้รู้ โดยที่ไม่เคยรับทราบเลยว่า คุณลุงรู้เรื่องพยากรณ์โรคของตัวเองแล้ว เพราะญาติไม่เคยถาม รึคุยถึงเรื่องนี้ ง่วนแต่อยู่กับการจดจ่อว่าจะทำอะไรให้คุณลุงบ้าง ตัวตนที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว ก็ค่อยๆ เลือนหายไป กลายเป็นคนป่วยหนัก อยู่แต่ในบ้าน มีคนในครอบครัวมาคิดแทนทำแทนตลอด ผมแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า แกอยู่ด้วยความรู้สึกที่ทุกข์ทรมานแค่ไหน

เนื่องด้วยว่า คุณลุงมีปัญหาที่ทับซ้อนกันหลายอย่าง ผมจึงค่อยๆ แก้ไปทีละอย่างๆ

เรื่องหอบเหนื่อยก็ปรับยาให้ ให้ความมั่นใจว่าคุณลุงและครอบครัวสามารถติดต่อกับทีมได้ตลอดเวลา หากมีอาการไม่สุขสบายหรือเรื่องไม่สบายใจใดๆ

เรื่องพยายามฆ่าตัวตาย ซักประวัติเพิ่มแล้วพบว่า นี่เป็นหนที่สอง รอบที่แล้ว แกพยายามปีนขึ้นที่สูง แต่ญาติมาเห็นเสียก่อน ดูแล้วมีความเสี่ยง ผมจึงปรึกษาคุณหมอจิตเวชเพื่อมาช่วยประเมินเพิ่ม

เรื่อง autonomy ที่ถูกครอบครัวกลืนไปเกือบหมดนั้น ผมดูแล้วเป็นปัญหาสำคัญที่สุด และตอนนี้ภรรยาก็เริ่มเปิดม่านเข้ามาร่วมวงสนทนาอีกคนแล้ว

“คุณลุงครับ...เท่าที่ฟังมา ดูคุณลุงจะผ่านอะไรมาหลายอย่างเลยนะครับ ทั้งเรื่องตัวโรคของคุณลุงเอง ทั้งอาการเหนื่อยที่เกิดขึ้นและเรื่องทางบ้าน...” แกฟังผมอย่างตั้งใจ “สิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณลุง น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างหนักหนาสำหรับคุณลุง จากที่เราสามารถทำอะไรได้เอง แต่ตอนนี้กลับทำได้ไม่เท่าก่อน แต่ผมอยากบอกว่าคุณลุงเป็นคนที่โชคดีนะครับ” แกมองหน้าผมแบบงงๆ ผมเลยอธิบายต่อว่า “โชคดีที่ได้อยู่กับคนที่รักและมีคนคอยดูแลตลอดเวลา ลองคิดดูสิครับ ถ้าสมมตินะว่าคุณลุงไม่มีคนคอยช่วยในบางเรื่อง คุณลุงคิดว่าจะเป็นยังไงบ้าง?”

คุณลุงนึกอยู่พักหนึ่งก็ว่า “ก็น่าจะยาก ทั้งเรื่องเตรียมอาหาร เรื่องมาหาหมอตามนัด” 

ผมให้แกสะท้อนสภาพของตัวเองในปัจจุบันและผู้ดูแลในบ้าน ตัวภรรยาดูดีใจที่ได้ยินลุงพูดเช่นนี้ ลูบแขนแกไปมาเบาๆ

“เรื่องเหนื่อย ผมจะปรับยาให้ตามที่บอกนะครับ ถ้าไม่ดีขึ้น ก็มียาเสริมให้เวลาเหนื่อยมากๆนะ” แกพยักหน้าและขอยากิน ผมเลยให้แกพักก่อน

ช่วงสาย ลูกสาวเดินทางมาถึงพร้อมกับน้องสาวผู้ป่วยอีกคน ผมจึงจัดประชุมครอบครัวอีกครั้ง เพื่อบอกถึงความในใจของคุณลุง และแจ้งให้ทางบ้านทราบว่า คุณลุงรับทราบถึงอาการของตัวเองแล้วว่าอยู่ในระยะสุดท้าย

แน่นอนว่าทุกคนในครอบครัวรู้สึกตกใจ ที่คุณลุงมีความรู้สึกอัดอั้นเช่นนี้อยู่ในใจ

“แต่หนูก็พยายามนะคะ...” ลูกสาวแย้ง ”เราช่วยกันทุกอย่าง แต่บอกตรงๆ ว่า คุณพ่อแทบจะไม่เปิดใจให้พวกเราเลย...หนูบอกพ่อตลอดว่า หนูจะไม่คุยนะว่า พ่อจะอยู่อีกกี่เดือนกี่ปี หนูจะอยู่กับพ่อ อยู่ให้นานที่สุด อีก 1 วัน 1 เดือน รึ 1 ปี ก็เอา เรามาสู้ด้วยกันนะ”

“แล้วคุณพ่อเค้าว่ายังไงครับ? ที่เราบอกว่าให้สู้?” 

ลูกสาวอึ้งและเงียบไป บางทีคุณลุงอาจจะเคยตอบ แล้วลูกสาวไม่ได้ฟัง รึอาจจะไม่ตอบเพื่อถนอมน้ำใจคนในครอบครัว ผมไม่ทราบได้

“...มีครั้งหนึ่ง ที่พี่เขาเคยเปรยๆ ขึ้นมา หลังจากที่เราบอกว่าจะสู้ไปด้วยกันว่า ปล่อยเขาไปเถอะ เขาทรมาน” น้องสาวพูดขึ้นมาเสียงอ่อยๆ

“ครับ”

ลูกสาวเริ่มน้ำตาริ้น ภรรยาและลูกเขยนั่งเงียบ ไม่พูดอะไร

“ผมคิดว่าคุณพ่อเค้ากำลังอดทนอยู่นะ อดทนกับอาการของตัวเอง และความไม่สบายใจของตัวเองเพื่อคนในบ้าน จนสุดท้ายแล้วอาจจะทนไม่ไหวหรืออย่างอื่น ผลจึงออกมาเช่นนี้”

“....งั้นหนูจะทำยังไงดี? ตลอดเวลาหนูก็ถามพ่อตลอดนะว่า พ่อไม่เป็นไรใช่มั้ย? พ่อยังไหวใช่มั้ย? พ่อต้องการอะไรมั้ย?”

“บางครั้ง....คนเราก็อาจไม่ได้อยากตอบว่า ใช่หรือไม่ใช่ ตลอดเวลา ลองถามแกดูบ้างก็ได้บ้างว่า วันนี้พ่อรู้สึกยังไงบ้าง มีอะไรอยากคุย อยากเล่าให้พวกเราฟังบ้าง แล้วก็ 'ฟัง' ครับ ฟังสิ่งที่คุณพ่ออยากพูด อยากบอกเรา” 

ลูกสาวและคนอื่นๆ พยักหน้า ดูเหมือนจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น

ก่อนออกจากห้อง ลูกเขยและลูกสาวเข้ามาหาผมอีกครั้ง และถามกับผมถึงเคล็ดลับ “ปกติคุณพ่อจะไม่เปิดใจกับใครง่ายๆนะครับ บางคน ถ้าเค้าดูหน้าครั้งแรกแล้วไม่ชอบ ก็จะไม่คุยเลย แต่นี่หมอมาคุยไม่กี่นาที เค้ายอมเล่าทั้งหมด ทั้งๆ ที่กับคนในบ้านนี่ ไม่ยอมเล่าเลย หมอทำยังไงครับ?

ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมทำมันเป็นเคล็ดลับหรืออะไร แต่ก็ตอบทั้งคู่ไปตามตรง

“ผมฟังแกครับ แค่เข้าไปหาแก แล้วถามทั่วๆ ไปว่าเป็นยังไงบ้าง เกิดอะไรขึ้น มีอะไรอยากเล่า อยากคุยรึเปล่า เท่านั้นเอง”

หลังจากคุณหมอจิตเวชมาประเมินแล้ว คิดว่านัดมาดูอาการได้ ห้องฉุกเฉินจึงเตรียมให้กลับบ้าน ก่อนที่คุณลุงจะกลับบ้าน ผมเดินไปหาแกอีกครั้ง แกยิ้มและโบกมือให้ผม สีหน้าดูดีขึ้นมาก ดูดีจนลูกเขยถึงกับบอกว่า ยังกับคนละคน

ผู้ป่วยบางคน อาจถูกทอดทิ้ง ไร้คนดูแล แต่ในทางกลับกัน ผู้ป่วยบางคนอาจได้รับความรักและการเอาใจใส่ที่มากจนเกินไป

คงไม่มีมาตรวัดใดที่วัดระดับความรัก ความห่วงใยของคนในครอบครัวได้ ยิ่งถ้าคนๆ นั้นป่วยเป็นโรคระยะสุดท้าย ความรัก ความอาทร การแสดงออกที่มีต่อกันอาจมากขึ้นหลายเท่าทวี แต่เราต้องไม่ลืมว่า ในอ้อมกอดแห่งรักนั้น เราอ้างคำว่ารักและมองข้ามตัวตน จิตวิญญาณ และความต้องการของคนไข้ไปหรือเปล่า? เราดูแลเขาดีและเยอะจนเกินไปหรือเปล่า? เราดูแลเขาอย่างที่เขาหรือเราต้องการ?

เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่บุคคลทุพพลภาพทางความคิด ที่ต้องมีผู้ตัดสินใจเลือกในสิ่งต่างๆให้

เขาอ่อนแรงลง เพราะโรคที่รุมเร้า แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความเป็นปัจเจกของเขาจะลดลงไปตามสภาพร่างกาย และในบางครั้ง สิ่งที่เขาต้องการอาจไม่ใช่คนที่คอยมาป้อนข้าวป้อนน้ำหรือสรรหาสิ่งต่างๆให้ แต่อาจเป็นแค่ใครบางคนที่มารับฟังเขาอย่างตั้งใจเท่านั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 574992เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2014 09:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2014 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ฟังเรื่องราวของผู้ป่วยอย่างตั้งใจ เป็นสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการค่ะ

อ่านเรื่องราวแล้วประทับใจกับฝีมือการถ่ายทอดของ คุณหมอ แบ งค์ สุดๆ เห็นภาพ  ที่ต้องบอกว่า  ประเมิน จิตวิญญาณ   ประเมิน อย่าง นี้นี่เอง 

ฟัง  ซึมซับรับรู้ และ ตีความตามบริบท ของคนไข้ 

ขอบคุณ คุณหมอแบงค์ นะคะ   ที่ที่มา ช่วย ศูนย์ การุ ณ รักษ์  ......หมอ palliative  care  ตัวจริง. หมอ ที่ ทำให้เห็นคุณค่าของความเป็นหมอ..คุณได้ไปต่อ ค่ะ 

การลดคุณค่า (devaluation) โดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น การให้การช่วยเหลือทุกด้าน นี่สำคัญมากครับ ทำให้กระบวนการฟื้นกลับ (resilience) แย่ลงไปด้วย คุณหมอถ่ายทอดได้ดีมากๆครับ

คำนี้เหมาะมาก ดิฉันชอบค่ะ เพราะตรงใจ ตรงตัวดิฉันเลย ชีวิตนี้วนเวียนเจ็บป่วยมาหลายครั้งๆ ละปีสองปี ป่วยแต่ละทีมีผลกระทบทั้งครอบครัว ทุกครั้งที่ ดิฉันทุเลาแล้ว แต่ครอบครัวยังไม่ทุเลาเลยค่ะ .. ต่อไปต้องพัฒนา 'แนวทางการดูแลด้านจิตใจครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย' แล้วมังคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท