สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง การมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ยังไม่อาจครอบคลุมกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น ในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฯ ฉบับประชาชน จึงได้มีบทบัญญัติให้มีองค์กร “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ซึ่งประกอบด้วยบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ กลุ่มในภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ

อันเป็นกลุ่มตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้[1] โดยมีผลในทางปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2543 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2543 จึงถือเป็นวันก่อตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างเป็นทางการ และครบหนึ่งทศวรรษใน พ.ศ. 2553

ก้าวต่อไปในทศวรรษที่สอง จึงเป็นความท้าทายของสภาที่ปรึกษาฯ ในฐานะสภาภาคประชาชนที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” ตามวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555-2559) ที่วางไว้ต่อไป

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตระหนักถึงความสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน แต่ในระยะที่ผ่านมาการประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร สภาที่ปรึกษาฯ ในฐานะสภาภาคประชาชนจึงเน้นการศึกษาและเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้และขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา ในการนี้ จึงใคร่ขอสรุปถึงความเป็นมาและบทบาทของสภาที่ปรึกษาฯ เกี่ยวกับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

๑. ความเป็นมาสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หลังจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 รัฐบาลในขณะนั้น (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี) ได้ให้ความสำคัญในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 89 ที่กำหนดให้รัฐจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเริ่มเด่นชัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2542 รัฐบาล (นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี) มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 6/2542 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 ท่าน ที่เป็นตัวแทนบุคคลจากกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ อาทิ กลุ่มภูมิปัญญาชาวบ้าน สถาบันสันติศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย สภาทนายความ นักกฎหมายมหาชน กลุ่มผู้หญิงกับการเมือง รวมทั้งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นประธานคณะกรรมการ และนางสาวพรรณราย ขันธกิจ เป็นกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่พิจารณากำหนดรูปแบบองค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้มีบทบาทหน้าที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรูปแบบขององค์กรการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และความสัมพันธ์กับรัฐบาล ดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับต้นแบบขึ้น เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป และนำมาปรับปรุงให้เป็นพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในที่สุดพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2543 และมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2543 เป็นต้นมา 

ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 258 ก็ได้บัญญัติให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรัฐธรรมนูญอีก ความว่า “มาตรา 258 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ 

องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ 

ให้มีสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

องค์ประกอบของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 มาตรา 5 บัญญัติให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม ฐานทรัพยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543

บทบาทสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย (1) พัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน (2) เป็นเวทีสะท้อนปัญหาสาธารณะ ลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม (3) พัฒนากระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้กับภาคประชาชน (4) กระตุ้นให้ประชาชนมีสำนึกร่วมรับผิดชอบต่อสังคม (5) เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ (6) พัฒนากระบวนการเรียนรู้มุ่งสู่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อความสมดุลและยั่งยืน

๒. บทบาทของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กับการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญ ดังนี้

๒.๑ การศึกษาวิจัยเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อปี พ.ศ. 2550

การศึกษาครั้งนี้ เป็นความพยามยามครั้งแรกในประเทศไทยที่จะจัดทำดัชนีเพื่อวัดการพัฒนาไปสู่ความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ เป็นการสะท้อนนโยบายในการบริหารประเทศของรัฐบาล โดยใช้ พ.ศ. 2548 เป็นปีแรกที่จะมีการประเมินผล สิ่งที่คาดหวังก็คือเพื่อจะให้รัฐบาลชุดต่างๆ ในอนาคตจะต้องพัฒนาประเทศตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป 

การแบ่งดัชนีชี้วัดในครั้งนี้ ได้แบ่งออกเป็น 7 มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ มิติจริยธรรมและวัฒนธรรม มิติสังคม มิติการศึกษา มิติการบริหารจัดการภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน มิติวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม มิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวเลขที่นำมาใช้ในการคำนวณใช้ตัวเลขระหว่าง พ.ศ. 2544-2548 โดยไม่ใช้ตัวเลขก่อนหน้านั้น (พ.ศ. 2540-2543) ประการแรก เนื่องจากตั้งแต่ พ.ศ. 2540-2543 คนเป็นจำนวนมากยังไม่เข้าใจความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงดีพอ และไม่ทราบว่าจะประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร ประการที่สองระหว่าง พ.ศ. 2540-2543 เป็นช่วงที่ประเทศต้องประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจค่อนข้างหนักหน่วง จึงเป็นช่วงเวลาที่มีลักษณะพิเศษไม่สามารถใช้อธิบายกรณีปกติได้

ในการกำหนดดัชนีชี้วัดในแต่ละมิติได้ใช้กรอบเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาอธิบายในลักษณะการวิเคราะห์เชิงระบบ ซึ่งประกอบด้วย ความรู้และคุณธรรม ในฐานะที่เป็นปัจจัยนำเข้า ขณะที่ความมีเหตุผล ความพอประมาณ การมีภูมิคุ้มกัน มีฐานะ เป็นกระบวนการของเศรษฐกิจพอเพียง ผลผลิตก็คือ ความสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อย่างมั่นคง และยั่งยืน ผลลัพธ์ก็คือ “ความสุข” ของหน่วยวิเคราะห์ที่นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นวิถีชีวิตและผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในที่สุด (Impact) ก็คือ “ประโยชน์สุข” ของทุกคนในสังคม

การศึกษาเพื่อจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในระดับมหภาคในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 7 มิติ และมีค่าน้ำหนักของแต่ละมิติ ดังนี้ มิติเศรษฐกิจ (น้ำหนักร้อยละ 30) มิติจริยธรรมและวัฒนธรรม (น้ำหนักร้อยละ 10) มิติสังคม (น้ำหนักร้อยละ 10) มิติการศึกษา (น้ำหนักร้อยละ 10) มิติการบริหารจัดการภาครัฐ (น้ำหนักร้อยละ 15) และการบริหารจัดการภาคธุรกิจเอกชน (น้ำหนักร้อยละ 5) มิติวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (น้ำหนักร้อยละ 10) มิติทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (น้ำหนักร้อยละ 10) โดยมีรายละเอียดดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละมิติ ตามแผนภาพที่ 1 

ผลการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่าปัญหาความไม่โปร่งใสของภาครัฐประกอบกับการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมีผลกระทบต่อปัจจัยต่างๆ เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวนั้นไม่ง่ายที่จะแก้ไขเนื่องจากเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน อย่างไรก็ตามจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งสองปัญหาพร้อมกันโดยทางอ้อม แต่มีเป้าหมายที่จะบรรเทาปัญหาทั้งสองลงได้ในที่สุดวิธีการที่สำคัญที่สุดคือการเพิ่มอำนาจให้ภาคประชาชนในการตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ มาตรการใดๆ ที่จะช่วยให้ประชาชนมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นล้วนเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ 

แผนภาพที่ 1 กรอบดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจพอเพียงในแต่ละมิติ


 

๒.๒ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง “การขยายผลสู่สาธารณะเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ดิน ป่า และการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 (เสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2551)

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำ ดิน ป่า และการเกษตร รวมทั้งทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการแก้ไขปัญหาการเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรได้นำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าองค์ความรู้ของการพัฒนาดังกล่าวยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในภาคส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ

สภาที่ปรึกษาฯ พิจารณาเห็นว่าการพัฒนาแหล่งน้ำ ดิน ป่า และการเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง และควรได้รับการขยายผลสู่สาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ประเทศโดยรวม จึงได้ทำการศึกษาเรื่องดังกล่าว เพื่อพิจารณาหาแนวทางในการขยายผลสู่สาธารณะ และจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยให้ใช้ชุมชนและแผนชุมชนเป็นตัวตั้งในการขยายผลสู่สาธารณะ โดยรัฐทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านแต่ละชุมชนได้รับความรู้ และเกิดความเข้าใจในเรื่องแหล่งน้ำ ดิน ป่า และการเกษตร อันจะนำไปสู่การปรับใช้และประพฤติเป็นวิถีชีวิตต่อไป

๒.๓ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง” เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. พ.ศ. 2553 (เสนอต่อ ครม. เมื่อวันที่ 1๑ มกราคม พ.ศ. 2554)

สภาที่ปรึกษาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศที่ผ่านมา ตั้งแต่อดีตจนถึงความขัดแย้งขั้นรุนแรง เมื่อเดือนเมษายน ถึง พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน วิกฤตการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ ได้ดำเนินการศึกษาจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะนี้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น ๕ ภาค การสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๓ การประชุมกลุ่มเจาะจง (Focus Group) การสำรวจความคิดเห็น และการวิจัยเอกสารจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอ กรอบของการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อความเป็นธรรมและอยู่ดีมีสุขของประชาชน โดยจะต้องดำเนินการปฏิรูปไปพร้อมกัน ทั้ง ๔ ด้าน ประกอบด้วย 

(๑) การปฏิรูปด้านสังคม เพื่อให้เกิดสังคมที่สร้างสรรค์และสันติ เป็นสังคมแห่งศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม สังคมแห่งความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน เป็นสังคมที่อยู่ร่มเย็นเป็นสุขร่วมกัน ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การศึกษาและศาสนาเป็นรากฐานที่สำคัญ

(๒) การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์ มีการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ และมีการปรับโครงสร้างและระบบต่างๆ โดยการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ภาคการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในทุกภาคการผลิต ตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับประเทศ 

(๓) การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่ยั่งยืนและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่เกิดภาวะมลพิษสิ่งแวดล้อม และมีการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม 

(๔) การปฏิรูปการบริหารจัดการประเทศ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีประสิทธิภาพและ บรรลุผลตามเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปเพื่อให้เกิดการเมืองและการบริหารประเทศที่ดี มีธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วม กระบวนการทางกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม เป็นรากฐานที่สำคัญ

๒.๔ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง “การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 (เสนอต่อครม. เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555)

สภาที่ปรึกษาฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ใน พ.ศ. 2558 เพื่อพร้อมรับมือกับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชน จึงได้ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยการจัดสัมมนาระดมความเห็น 4 ภูมิภาค และการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. 2554 ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรี พิจารณากำหนดเป็นนโยบายการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ[2] ดังนี้ 

(1) การเตรียมความพร้อมด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย ด้านการเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การมีขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจสูง การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก

(2) การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ประกอบด้วย ด้านการพัฒนามนุษย์ การคุ้มครองสวัสดิการ การยุติธรรมและสิทธิ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมการสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องวางทางการพัฒนา

(3) การขับเคลื่อนการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดย

(3.1) สนับสนุนและผลักดัน เรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการบูรณาการที่ชัดเจนและมีเอกภาพ ระหว่างหน่วยงานผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง

(3.2) สนับสนุนและผลักดันเรื่อง “การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะต้องมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินงาน 

(3.3) เร่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ “ประชาคมอาเซียน” ให้กับทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่ในระดับชุมชนท้องถิ่น ถึงระดับชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ตลอดจนสามารถเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง และสามารถใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง

(3.4) น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลต่อไป

(3.5) แต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ตั้งแต่ระดับชาติและระดับจังหวัด และแต่งตั้ง “คณะกรรมการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

(3.6) จัดการเรียนการสอนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอาเซียนศึกษา สำหรับการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เยาวชน มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

๒.๕ การจัดประชุมนานาชาติขององค์กรสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือองค์กรที่คล้ายคลึงกัน เรื่อง “การสร้างความสมดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งทางสังคมของประเทศในเอเชียและสังคมโลก” (International Conference on Balancing the Economic Growth and Social Strengthening in Asia and Globally) ระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ โรงแรม แชงกลีล่า กรุงเทพมหานคร

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ โดยมีสภาที่ปรึกษาฯ เป็นองค์กรเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนจากองค์กรสภาที่ปรึกษาฯ หรือองค์กรที่คล้ายคลึงกัน ได้แสดงความคิดเห็น พร้อมแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างความสมดุลของความเติบโตทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งทางสังคม ไม่เฉพาะประเทศในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วทั้งโลก นอกจากนี้ การประชุมในครั้งนี้ ยังจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรสภาที่ปรึกษาฯ หรือองค์กรที่คล้ายคลึงกันทั่วโลก ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การเสริมสร้างความตระหนักถึงบทบาทสำคัญขององค์กรสภาที่ปรึกษาฯ หรือองค์กรที่คล้ายคลึงกัน ที่มีต่อสังคมในเวทีนานาชาติ ซึ่งในการประชุมดังกล่าวได้มีการจัดทำเอกสารประกอบการสัมมนาเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีบทที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (The Philosophy of Sufficiency Economy) ด้วย

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า การสร้างความสมดุลในการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางหนึ่งในทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเป็นหลักปรัชญาของเศรษฐกิจบนหลักการสามประการ ได้แก่ การเรียนรู้ว่าอะไรคือความพอประมาณ การเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผล และการเรียนรู้การใช้ชีวิตอย่างมีภูมิคุ้มกัน กล่าวคือการสร้างความมั่นใจว่าเมื่อมีการใช้จ่ายหรือลงทุนไปแล้ว หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้ในอนาคต ก็ยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง

๒.๖ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556 - 2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 (เสนอต่อครม. เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖)

สถานการณ์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เป็นต้น จึงจำเป็นต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว อย่างน้อย 20 ปี เพื่อให้ประเทศมีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นในอนาคต สภาที่ปรึกษาฯ ตระหนักดีถึงภารกิจดังกล่าว จึงได้ศึกษาและจัดสัมมนาระดมความคิดเห็น 4 ภูมิภาค และการสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. 2555 เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ และได้นำผลการสัมมนามาประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์จัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน 2 ทศวรรษหน้า (พ.ศ. 2556-2575) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีสาระสำคัญประกอบด้วย

(๑) วิสัยทัศน์ประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕ 

ประโยชน์สุขถ้วนหน้า ใน พ.ศ. ๒๕๗๕ ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Benefits and Happiness for All by 2032 though the Sufficiency Economy Philosophy)

(๒) ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้ 

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างสังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข มีวิถีประชาธิปไตยใช้หลักธรรมาภิบาล สู่สังคมสีเขียว 

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสีเขียว

(๓) การบริหารจัดการยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ที่สำคัญประกอบด้วย

(๓.๑) กำหนดให้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวาระแห่งชาติ

(๓.๒) บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นองค์รวม โดยปฏิรูปโครงสร้างภาษีของประเทศ จัดสรรงบประมาณแบบบูรณาการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง

(๓.๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(๓.๔) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางเผยแพร่การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความต้องการของประชาชน

(๓.๕) ติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง 

๒.๗ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า” เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 (เสนอต่อครม. เมื่อวันที่ 3๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๖)

จากการที่สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าว สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้ศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระยะยาว ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้มีการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันทุกระดับ โดยมีการศึกษาจากเอกสารและรายงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง การจัดสัมมนาระดับภูมิภาค (เวทีภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) การสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ กรุงเทพมหานคร การสัมมนาเวทีเด็กและเยาวชน การสำรวจการรับรู้และประยุกต์ใช้ปรัชญาฯ จากผู้เข้าร่วมสัมมนา การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ข้อเสนอแนะ และการศึกษาดูงานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภูมิภาค 

สภาที่ปรึกษาฯ ได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะนี้ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำไปประกอบการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของประเทศ และประกอบการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยมุ่งสู่วิสัยทัศน์ “ประเทศไทย-แผ่นดินแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Thailand-The Land of Sufficiency Economy Philosophy)” ประกอบด้วย ๖ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ดังนี้ 

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกตระหนักถึงความสำคัญในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในและต่างประเทศ 

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างเกณฑ์มาตรฐาน ตัวชี้วัดสำหรับการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การพัฒนาเครือข่ายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น 

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน (การผลิตและธุรกิจ) ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคสื่อมวลชน และภาคประชาชน 

ยุทธศาสตร์ที่ ๖ การสร้างเอกลักษณ์ของชาติให้ประเทศไทยเป็น “แผ่นดินแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

การบริหารจัดการยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ได้กำหนดให้มีแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า ที่สำคัญ ดังนี้

๑) ประกาศให้ “การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่แผ่นดินแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นวาระแห่งชาติ และจัดตั้ง “คณะกรรมการส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแห่งชาติ” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ 

๒) ควรจัดตั้ง “สำนักงานส่งเสริมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแห่งชาติ (องค์การมหาชน)” ขึ้นมาเป็นการเฉพาะอีกองค์กรหนึ่ง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับทุกภาคส่วนในสังคม

๓) กำหนดและดำเนินนโยบายบริหารประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ในสังคม

๔) แปลงแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า ไปสู่การปฏิบัติ โดยแบ่งระยะเวลาของแผนออกเป็น ระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว มีการบูรณาการเข้ากับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาล แผนบริหารราชการแผ่นดิน และแผนระดับรองต่างๆ จนถึงแผนหมู่บ้าน/ชุมชน

๕) จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีของภาครัฐให้แก่หน่วยงานต่างๆ โดยมีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า  

๖) มีการติดตาม ประเมินผล โดยการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีการประเมินตัวชี้วัดทุกปี และประเมินเพื่อทบทวนแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า ทุก ๕ ปี

๗) มีการจัดตั้ง “กองทุนขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” 

๘) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการทำงานในเชิงบูรณาการ และมีความร่วมมือในการขยายผลการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ภาคการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ในการแปลง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า” ไปสู่การปฏิบัติควรยึดโยงกับ “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยใน ๒ ทศวรรษหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๗๕) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มีการจัดลำดับความสำคัญของยุทธศาสตร์ที่จะดำเนินการ โดยคำนึงสถานการณ์ของประเทศประชาคมอาเซียน และของโลกในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย

๒.๘ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” (เสนอต่อ หน.คสช. เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗) 

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้พิจารณาเห็นถึงความสำคัญที่จะมีส่วนร่วมในการปฏิรูปทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการบริหารจัดการประเทศเพื่อการปฏิรูป อย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(๑) การปฏิรูปด้านสังคม ประกอบด้วย การปฏิรูปการศึกษาภาคพลเมือง ค่านิยม ความซื่อสัตย์สุจริต สิทธิและหน้าที่ตลอดจนความมีระเบียบวินัย และต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ด้านศาสนา ศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรม ด้านวัฒนธรรม และเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อสร้างความภูมิใจในความเป็นชาติ ด้านเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ สังคมปลอดจากยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ 

(๒) การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย การปฏิรูปการกระจายรายได้ การเงิน การคลัง โครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ ระบบสวัสดิการและและการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ โครงสร้างภาษี โครงสร้างการผลิต และระบบการผลิต การค้า การลงทุน การบริการและการท่องเที่ยว สู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ โครงสร้างพลังงาน และระบบการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์

(๓) การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย การปฏิรูปทรัพยากรป่าไม้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการทรัพยากรที่ดิน การบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายการจัดการมลพิษทางอากาศ 

(๔) การบริหารจัดการประเทศเพื่อการปฏิรูป เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการบริหารจัดการ ดังต่อไปนี้ คือ การเมืองและการปกครอง พัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองอย่างจริงจัง และส่งเสริมให้ธรรมาธิปไตยเป็นรากฐานของประชาธิปไตย กระบวนการธรรมาภิบาล การกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม กฎหมาย และ กระบวนการยุติธรรม 

๒.๙ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง “ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (เสนอ หน.คสช. เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗) 

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตการณ์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประชาชนเกิดการแตกแยกและขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงทางด้านการเมือง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อันเป็นผลจากนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่บริหารประเทศ มีการทุจริตคอร์รัปชันทั้งฝ่ายการเมือง ราชการ และธุรกิจ อย่างกว้างขวาง ทำให้ภูมิคุ้มกันของประเทศตกต่ำลง เกิดความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยเหตุนี้ สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้จัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องนี้ เสนอต่อ คสช. เพื่อนำไปประกอบการแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศและให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก รวมทั้งก่อให้เกิดความปรองดองและสันติสุขในสังคมไทยได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

(๑) แนวคิด

กรอบแนวคิดในการพัฒนาประเทศ จะยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการขับเคลื่อนให้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในทุกภาคส่วน และทุกระดับ ยึดแนวคิดการพัฒนาแบบบูรณาการที่เป็นองค์รวม โดยมี “คนและชุมชนท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา” มีการเชื่อมโยงทุกมิติการพัฒนา ทั้งมิติด้านคน สังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเมือง การปกครอง รวมทั้งให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

(๒) ทิศทางการพัฒนา

ทิศทางการพัฒนาประเทศ จะเป็นการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็น “แผ่นดินแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยสังคมไทยมีความเข้มแข็ง พลเมืองมีความสุข เศรษฐกิจมีเสถียรภาพ มีคุณภาพ มีความยั่งยืน สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก มีความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน มีการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่การสร้างนวัตกรรมสีเขียว และมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน

(๓) วิสัยทัศน์ประเทศไทย

สันติ ปรองดอง และประโยชน์สุขถ้วนหน้า ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(Peace Harmony Benefits and Happiness for All through the Sufficiency Economy Philosophy)


(๔) เป้าประสงค์สำคัญ คือ การทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็น “แผ่นดินแห่งปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “The Land of Sufficiency Economy Philosophy” สังคมไทยเป็นสังคมสีเขียวที่มีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ มีความสามัคคี ปรองดอง เป็นธรรม อยู่เย็นเป็นสุข ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีสุขภาวะดี คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาติไทย และมีความเหลื่อมล้ำน้อยที่สุด

(๕) ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์หลักได้แก่ 

ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การพัฒนาด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การสร้างสังคมเข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข ใช้หลักธรรมาภิบาลสู่สังคมสีเขียว มีความสามัคคีปรองดอง ตามวิถีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ยุทธศาสตร์ที่ ๓ การพัฒนาเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ที่ ๔ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

ยุทธศาสตร์ที่ ๕ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสีเขียว

ทั้งนี้ การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับยุทธศาสตร์ประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ที่ ๒ – ๕ จะต้องใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ติดตาม ประเมินผลตามหลักปรัชญาฯ เป็นตัวกำกับทุกขั้นตอน

กรอบแนวคิดการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


(๖) การบริหารจัดการยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ

(๖.๑) กำหนดให้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นวาระแห่งชาติ โดยเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ดังกล่าว เข้ากับนโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนบริหารราชการแผ่นดิน และแผนระดับต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น/ชุมชน 

(๖.๒) มีการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมอย่างเป็นองค์รวมและบูรณาการ 

(๖.๓) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และภาคประชาสังคมในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ และเป็นภาคีการพัฒนาอย่างกว้างขวาง

(๖.๔) ส่งเสริมให้สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญในการเป็นสื่อกลางเผยแพร่การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาฯ และเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความต้องการของประชาชน

(๖.๕) มีการติดตามและประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดทำระบบฐานข้อมูลเพื่อการติดตามและประเมินผล โดยมีสภาที่ปรึกษาฯ เป็นเจ้าภาพในการติดตามและประเมินผลดังกล่าว

ทั้งนี้ ในการนำยุทธศาสตร์ประเทศไทย ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปฏิบัตินั้นขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้โปรดพิจารณาดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่ ๑ เป็นการเร่งด่วน

๒.๑๐ การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง “การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” (เสนอ หน.คสช. เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๗) 

ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบต่อประเทศไทย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากนโยบายเร่งด่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน สภาที่ปรึกษาฯ จึงได้ดำเนินการจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องนี้ เสนอต่อ คสช. เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินนโยบายเร่งด่วน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนและการรับมือการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป ดังนี้

๑) การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

ควรกำหนดนโยบายและแนวทางการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กรอบเป้าหมายของการเป็นประชาคมฯ ๔ เป้าหมายหลัก ได้แก่ การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมกัน การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจไทยในอาเซียนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และการบูรณาการอาเซียนกับเศรษฐกิจโลก

๒) การเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC)

ควรกำหนดนโยบายและแนวทางการเข้าสู่ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้กรอบเป้าหมายของการเป็นประชาคมฯ ๖ เป้าหมายหลัก ได้แก่ การพัฒนามนุษย์ โดยปฏิรูปการศึกษาให้รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนการคุ้มครองสวัสดิการโดยการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การยุติธรรมและสิทธิ การส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน และการลดช่องว่างทางการพัฒนา 

๓) กลไกขับเคลื่อนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยดำเนินการดังนี้

๓.๑) จัดตั้ง “สำนักงานกิจการอาเซียน” โดยเป็นองค์กรในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการบูรณาการและความคล่องตัวในการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนในทุกด้าน 

๓.๒) สนับสนุนและเร่งผลักดัน “การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ในส่วนที่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

๓.๓) เร่งเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจ และประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ ประชาคมอาเซียน ประโยชน์และผลกระทบ ไปยังทุกภาคส่วนของสังคม 

๓.๔) ผลักดันให้เกิดเครือข่าย ประชาคมปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอาเซียน (ASEAN Sufficiency Economy Philosophy Community: ASEPS)

๓.๕) ปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง โดยสังคายนากฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ทั้งหมดของประเทศไทย ให้มีความทันสมัย คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ และสอดคล้องกับแนวทางของประชาคมอาเซียน 

๓.๖) ผลักดันให้มีการพิจารณาทบทวนกฎบัตรอาเซียนเป็นระยะๆ เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และดำเนินการให้มีกระบวนการยุติธรรมกลางร่วมกันในประเทศสมาชิกอาเซียน


๓. สรุป

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้นำไปสู่การประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิผล โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะผ่านเวทีประชุม สัมมนา เวทีสาธารณะร่วมกับสภาที่ปรึกษาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติการจัดทำนโยบายสาธารณะภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหากแนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกใช้เป็นฐานในการกำหนดนโยบายสาธารณะได้อย่างมั่นคงแล้ว ย่อมจะส่งผลดีในวงกว้างต่อประเทศชาติ ประชาชนและสังคม ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งความสุขภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแท้จริง </

** ขอขอบพระคุณ นายบุญยงค์ เวชมณีศรี อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้กรุณาตรวจปรับปรุงบทความฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 89

[2] เนื่องจากบทบาทและหน้าที่ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตามรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2550 กำหนดให้มาตรา 258 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงได้เสนอความเห็นและข้อเสนอแนะใน 2 เสาหลัก คือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนโดยเว้นเสาหลักด้านประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

หมายเลขบันทึก: 574845เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 12:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 สิงหาคม 2014 12:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท