แนวคิดจากมหากาพ์มหาภารตยุทธ์


               คัมภีร์ภควัทคีตาเริ่มต้นด้วยการสนทนาระหว่างท้าวอรชุนและพระกฤษณะ ณ ท่ามกลางสมรภูมิก่อนที่สงครามอันยิ่งใหญ่จะได้เปิดฉากขึ้น อรชุนรู้สึกกระวนกระวายไม่สบายใจด้วยสำนึกที่ว่าตนจะต้องทำสงครามอันจะนำมาซึ่งการนองเลือดอย่างขนานใหญ่ ซึ่งหมายถึงการประหัตประหารญาติพี่น้องและมิตรสหาย ฯลฯ การกระทำอันโหดเหี้ยมเช่นนี้มีวัตถุประสงค์อันใดหรือ ? ผลดีอะไรจะบังเกิดขึ้นที่จะมีน้ำหนักมากไปกว่าความเสียหายและบาปกรรมอันมหันต์เช่นนี้ ? กฎเกณฑ์ตลอดจนความสำนึกถึงบาปบุญคุณโทษนานาประการที่อรชุนเคยมีอยู่ไม่สามารถจะให้แสงสว่างแก่จิตใจของเขาได้เสียแล้ว อรชุนได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งจิตใจอันปั่นป่วนของมนุษย์ซึ่งในยุคแล้วยุคเล่าปรากฏว่าต้องถูกแบ่งแยกฉุดดึงด้วยพันธกรณีและหลักศีลธรรมที่ขัดแย้งกันอยู่เสมอ จากบทสนทนาอันเป็นเป็นเรื่องตอบโต้กันส่วนตัวระหว่างอรชุนกับพระกฤษณะนี้ เราจะค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณอันสูงส่งและที่ไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัว หากเป็นหน้าที่ของบุคคลและความประพฤติของสังคม แล้วค่อย ๆ เขยิบสูงขึ้น ๆ จนถึงเรื่องหลักการใช้จริยธรรมในชีวิตมนุษย์ และท้ายที่สุดถึงเรื่องทรรศนะในด้านมโนธรรมซึ่งควรควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง

            โดยเนื้อหาสาระสำคัญคัมภีร์ภควัทคีตาว่าด้วยเรื่องพื้นฐานทางจิตใจในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งการดำรงชีวิตนี้เองเป็นแหล่งกำเนิดของปัญหานานาประการในภาคปฏิบัติที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน คัมภีร์ภควัทคีตาเรียกร้องให้มนุษย์ลุกขึ้นสู่การกระทำ เพื่อปฏิบัติพันธกรณีและหน้าที่ของชีวิตให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี แต่ในขณะเดียวกันก็สอนให้มนุษย์คำนึงถึงอยู่เสมอถึงภูมิพลังทางจิตใจและความมุ่งประสงค์อันกว้างไกลแห่งเอกภพ การเมินเฉยไม่กระทำอะไรได้รับการตำหนิอย่างหนัก แต่การกระทำและการดำเนินชีวิตต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับอุดมการณ์อันสูงสุดด้วย

               บางส่วนของหนังสือ "พบถิ่นอินเดีย (Discovery of India)" ของ บัณฑิต เยวหราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย

หมายเลขบันทึก: 573994เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2014 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2019 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท