หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : อีกหนึ่งการบูรณาการศาสตร์ของสาขาเศรษฐศาสตร์ (มมส)


ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ในการลงชุมชน การสัมภาษณ์ พูดคุยโสเหล่ต่างๆ อาจจะยังไม่เป็นธรรมชาติ “นิ่งเนียน” เท่าไหร่นัก ส่วนใหญ่ตั้งประเด็นนำพาไปยังสิ่งที่ต้องการแบบตรงไปตรงมา จนลืมที่จะใช้ศิลปะในการถามทักอย่างหลากหลาย ไม่ค่อยได้เห็นการถามทักถึงสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน

โครงการ “พัฒนาแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปเสริมสร้างศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง” ของสาขาเศรษฐศาสตร์ คณะการบัญชีและการจัดการ เป็นอีกโครงการหนึ่งของ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน” ที่มีความน่าสนใจ และถือเป็นความท้าทายต่อการเรียนรู้ของอาจารย์กับนิสิต ตลอดจนท้าทายต่อการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน หรือแม้แต่ภาคีองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดทุนทางปัญญาของชาวบ้านสู่มิติเศรษฐกิจชุมชน


ความท้าทายเกี่ยวกับการเรียนรู้ของอาจารย์กับนิสิตในที่นี้หมายถึง ความท้าทายต่อการเรียนรู้ในเรื่อง “ศิลปวัฒนธรรม” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” นั่นเอง ต้องยอมรับว่าสาขาเศรษฐศาสตร์เลือกพื้นที่การ “เรียนรู้คู่บริการ” ได้เป็นอย่างดี สามารถขับเคลื่อนงานบริการวิชาการควบคู่ไปกับงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมได้เลยก็ว่าได้ เพราะ “บ้านเชียงเหียน”ถือเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ เป็นแหล่งโบราณคดีก่อนยุคประวัติศาสตร์ มีอายุในราว ๒,๐๐๐ข๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

อีกทั้งในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์บ้านเชียงเหียนตั้งตระหง่านเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตให้ศึกษาค้นคว้าได้อย่างไม่ขาดเขิน

แค่สองประเด็นข้างต้น ก็ถือว่าชุมชนบ้านเชียงเหียนเป็น “คลังความรู้” อันมหึมาให้อาจารย์กับนิสิตได้เรียนรู้อย่างออกรสออกชาติ ขึ้นอยู่กับว่าจะออกแบบการเรียนรู้อย่างไร หรือให้ความสำคัญกับเรื่องราวเหล่านั้นแค่ไหน แต่โดยส่วนตัวของผมแล้ว ผมถือว่าเรื่องเหล่านี้สำคัญมากๆ เพราะนั่นคือ “บริบทชุมชน” (ทุนทางสังคม) หากละเลยที่จะศึกษาเรื่องเหล่านี้ ย่อมเป็นการเรียนรู้แบบแยกส่วน ยากยิ่งต่อการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายแห่งการเรียนรู้ที่แท้จริง

เช่นเดียวกับในชุมชนแห่งนี้ยังมีนิเวศวัฒนธรรมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากที่ล้วนแล้วแต่สมควรหยิบโยงมาเป็นโจทย์การเรียนรู้ นั่นก็คือ บึงน้ำ ป่าชุมชน ดอนปู่ตา ซึ่งทั้งปวงนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็น “สมุนไพร” ทั้งสิ้น

และประเด็นสมุนไพรที่ว่านั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นคือโจทย์หลักของการจัดกิจกรรมหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนในครั้งนี้



นอกจากประเด็นความท้าทายการจัดกระบวนการเรียนรู้ของอาจารย์กับนิสิต ซึ่งหมายถึงการบูรณาการระหว่างงานบริหารวิชาการกับงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมข้างต้นแล้ว ความท้าทายประการถัดมาก็คือความท้าทายในประเด็นการทำงานร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ เพื่อการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืน

ประเด็นดังกล่าวนี้ ต้องยอมรับว่าชุมชนบ้านเชียงเหียน มีรายได้จำนวนมากจากการขายสมุนไพร มีการรวมกลุ่มหลักๆ ๖ กลุ่มจากทั้ง ๓ หมู่ แต่เท่าที่สัมภาษณ์ทั้งในเวทีและส่วนตัวทำให้รู้ว่ากลุ่มต่างๆ ยังไม่เป็นกลุ่มที่ไม่เป็นรูปธรรม ไม่มีระบบบริหารจัดการในเชิงการตลาด เหมือนต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขาย และมีจำนวนมากไม่ใช่ย่อยที่สมุนไพรถูกนำเข้ามาจากต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่ในชุมชนมีพื้นที่รองรับการมีอยู่ของสมุนไพรเป็นจำนวนมาก

ซึ่งหนึ่งในนั้นเมื่อหลายปีก่อน สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช (ม.มหาสารคาม) ก็เคยได้ลงพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอย่างชัดเจน มีการนำพันธุ์มาแจก ให้ความรู้ในเรื่องการปลูก การใช้ประโยชน์ และบูรณาการเข้าสู่กระบวนการของการฟื้นฟูป่าชุมชนไปในตัวได้อย่างมีพลัง


ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นที่มาที่ไปของการเข้ามาของสาขาเศรษฐศาสตร์ เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน มาเติมเต็มในเรื่องของการ “ทำแผนธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปสุมนไพร” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการรวมกลุ่มไปพร้อมๆ กับการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมักจำกัดอยู่เพียงกลุ่มคนเพียงไม่กี่คน

ยิ่งเห็นแผนพัฒนาท้องถิ่นที่เตรียมการยกระดับให้บ้านเชียงเหียนให้เป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรม กระบวนการเหล่านี้ย่อมหนุนเสริมเข้าไปได้อย่างเหมาะเจาะ  เพราะอย่างน้อยสาขาเศรษฐศาสตร์  ไม่เพียงจัดกิจกรรมเรื่องแผนธุรกิจเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบสารสนเทศปราชญ์ชาวบ้าน  รวบรวมข้อมูลสมุนไพรในชุมชน สิ่งเหล่านี้จะช่วยหนุนเสริมกระบวนการจัดการท่องเที่ยวในชุมชนได้เป็นอย่างดี –

สำหรับการลงพื้นที่จัดกระบวนการเรียนรู้คู่บริการในครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าสาขาเศรษฐศาสตร์  มีการตระเตรียมอะไรๆ ค่อนข้างดี  เห็นได้จากลงพื้นที่ศึกษาบริบทมาแล้ว ๒ ครั้งใหญ่ๆ  พลอยให้กลุ่มคนทำงานได้เข้าใจ  มองเห็นภาพชุมชนในระดับหนึ่งแล้ว  อีกทั้งกระบวนการลงพื้นที่เช่นนั้น  จึงถือเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนไปในตัว


การเตรียมการ หรือการลงพื้นที่จัดการเรียนรู้ในครั้งนี้มีความน่าสนใจหลายประการ โดยส่วนตัวผมชอบการทำงานที่บูรณาการศาสตร์หลายๆ ศาสตร์มาร่วมหนุนเสริมกันและกัน   เพราะในเวทีครั้งนี้มีอาจารย์และนิสิตจากสาขาอื่นๆ เข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างโดดเด่น อาทิ สาขา สาขาการจัดการ สาขาบัญชี สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อเก็บข้อมูลและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรในชุมชนทั้งในมิติของการบริโภคและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาวิเคราะห์และขับเคลื่อนเป็นแผนธุรกิจร่วมกับชุมชนและองค์กรท้องถิ่น และเบื้องต้นมีประเด็นของการแลกเปลี่ยนร่วมกัน คือ

  • สมุนไพรในหมู่บ้านที่ผลิตเองได้
  • แหล่งสุมนไพรในชุมชน
  • สมุนไพรที่ต้องซื้อ หรือนำเข้าจากภายนอก ทั้งสดและแห้ง
  • เครื่องมือและศักยภาพในการแปรรูปสมุนไพร
  • ช่องทางการการกระจายสมุนไพรสู่การสร้างรายได้
  • ลักษณะของการจำหน่วยผลิตภัณฑ์

ประเด็นถัดมาที่น่าสนใจก็คือการเปิดรับสมัครนิสิตที่สนใจมาร่วมเวทีการเรียนรู้ ถึงแม้นิสิตที่มาในเวทีนี้จะไม่มากมายนัก แต่ก็ถือว่าลงตัวไม่ใช่ย่อย

จากการสอบถามทำให้รู้ว่าอาจารย์ได้เตรียมความพร้อมนิสิตในหลายเรื่อง นับตั้งแต่การแต่งกาย การวางตัว ประเด็นการสัมภาษณ์ อุปกรณ์การสัมภาษณ์ (เก็บข้อมูล) ทั้งสมุด ปากกา เครื่องบันทึกเสียง รวมถึงการสะท้อนข้อมูลบริบทชุมชนเบื้องต้นให้นิสิตได้รับรู้ล่วงหน้า ซึ่งวิธีการเหล่านี้แหละคือการเตรียมความพร้อมแก่นิสิต ในอีกมิติหนึ่งก็คือการสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องการเรียนรู้คู่บริการให้กับนิสิตดีๆ นั่นเอง

ในช่วงที่ตั้งวงโสเหล่สัมภาษณ์ชาวบ้านนั้น เห็นได้ชัดว่ามีการออกแบบการทำงานไว้คร่าวๆ เป็นอย่างดี เพราะในแต่ละวงไม่เพียงมีแต่เฉพาะนิสิตเท่านั้นที่คุยกับชาวบ้าน หากแต่มีอาจารย์นั่งประจำอยู่ในกลุ่มแทบทุกกลุ่ม มีทั้งนั่งประจำ และนั่งอยู่ใกล้ๆ คล้ายสังเกตการณ์และหนุนเสริมเติมเต็มการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนี่แหละที่ผมเรียกว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ระหว่าง “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” และ “อาจารย์” ก็ทำหน้าที่เป็น “โค้ช” หรือผู้อำนวยการเรียนรู้แก่นิสิต


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ในจุดแข็งย่อมมีจุดอ่อนปะปนอยู่เช่นนั้นเสมอ กล่าวคือในเวทีดังกล่าว  ผมคิดว่านิสิตได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่และดียิ่งสำหรับเขาแล้ว  ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ในการลงชุมชน  การสัมภาษณ์  พูดคุยโสเหล่ต่างๆ อาจจะยังไม่เป็นธรรมชาติ “นิ่งเนียน” เท่าไหร่นัก  ส่วนใหญ่ตั้งประเด็นนำพาไปยังสิ่งที่ต้องการแบบตรงไปตรงมา จนลืมที่จะใช้ศิลปะในการถามทักอย่างหลากหลาย  ไม่ค่อยได้เห็นการถามทักถึงสารทุกข์สุขดิบของชาวบ้าน....

ครับ, เสมือนมุ่งสู่จุดหมายปลายทางมากจนเกินไป โดยลืมคิดคำนึงถึงเรื่องราวระหว่างทาง แต่อย่างว่าครับ สำหรับนิสิตกลุ่มนี้ ด้วยความที่เป็นมือใหม่หัดขับ  ผมถือว่าทำได้ดียิ่งแล้ว  ทำบ่อยๆ จะก่อเกิดประสบการณ์ในที่สุด

เพราะปัญญา ย่อมเกิดจากการลงมือทำ...



และเหนือสิ่งอื่นใด ผมก็เข้าใจดีว่า เวทีดังกล่าวมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องทำงานแข่งกับเวลานั่นก็คือ วันนั้นเป็นวันพระ  ชาวบ้านมีภารกิจทางศาสนา  ส่วนหนึ่งก็ต้องลงนาปักดำ  แต่ในข้อจำกัดทั้งปวงนั้นก็กลายเป็นจุดแข็ง ทำให้อาจารย์และนิสิต ได้เรียนรู้วิถีครรลองชุมชนในวันพระไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

เช่นเดียวกับประเด็นที่ผมได้เสนอแนะทีมทำงานในเวทีดังกล่าว นั่นก็คือ เวทีถัดไป หากสามารถแยกกลุ่มออกมาห่างๆ กันจะดีมาก   บางกลุ่มอาจอยู่ใต้ร่มไม้   บางกลุ่มอยู่ในศาลาวัด   บางกลุ่มอยู่ในโบสถ์ ฯลฯ จะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ได้ดีและมีพลังกว่าที่เป็นอยู่   แถมยังเป็นการเรียนรู้บริบทชุมชนร่วมกันอีกรอบ

สู้ๆ นะครับ (ทั้งนิสิตและอาจารย์)



ภาพเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.7931937...

หมายเลขบันทึก: 573944เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2014 08:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 สิงหาคม 2014 19:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตามมาอ่านก่อนนะครับ

ยังอ่านไม่หมดเลย

ทำให้นึกถึงตอนเรียนวิถีชุมชน ครูพาลงหมู่บ้าน แต่ห้ามพวกเราเอาสมุด ปากกา หรือเครื่องบันทึกทั้งหมด ในการสัมภาษณ์ผู้แก่ผู้เฒ่า.....ใช้สมองจำล้วนๆ ออกจากหมู่บ้าน ต่างคนไม่พูดเลย....เขียนอย่างเดียว กลัวลืมครับ

ชุมชนให้ความร่วมมือดีนะคะ .... นักศึกษาได้ลงสนามจริงๆ  ได้เรียนจากสภาพ พื้นที่จริงๆๆนะคะ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ขอบพระคุณที่เป็นแฟนคลับติดตามอ่านครับ
จวบจนบัดนี้ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เดินทางไกลมา 3 ปีต่อเนื่องแล้วครับปีที่ 4 ก็กำลังเริ่มต้นอีกครั้ง...
หากแต่ปีนี้ คงหนักแน่นในเรื่องคุณภาพ มากกว่าปริมาณครับ

ใชครับ ทิมดาบ

... การสัมภาษณ์ที่เน้นการฟัง จดจำ...บันทึกด้วยสมองนั้น ถือเป็นศาสตร์และทักษะชั้นสูงที่ใครๆ เฝ้าฝันที่จะเรียนรู้ ผมเองจวบจนบัดนี้ก็ยังต้องฝึกฝน และพัฒนา ครับ

ครับ พี่Dr. Ple

เรียนจากสถานการณ์จริง
เรียนจากชุมชน
คือสูตรแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ วิชาคน ขนานแท้เลยครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท