"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​เตมีย์ชาดกคำฉันท์


๒๗/๐๗/๒๕๕๗

***************

เตมีย์ชาดกคำฉันท์

คำฉันท์ที่ผู้เขียนใช้แต่งเป็นลำดับกันไป คือ อินทรวิเชียรฉันท์,อินทรลิลาตฉันท์, สาลินีฉันท์ และ กาพย์ยานี ทั้งหมดมีลักษณะการอ่านที่คล้ายกัน คือ ๒+๓, ๓+๓ รวมเป็น ๑๑ คำ มีเสียงครุ ลหุ หนักเบา ตามแบบของฉันทลักษณ์  ดังต่อไปนี้


(อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑)

เริ่มเล่า พระเจ้ากา-           สิกะราช ฉลาดศรี

ปกครอง ประชาชี             กรณีย์ ทวีไกล

พารา ณสีเมือง                คติเรื่อง นทีไหล

ล้างบาป กำราบภัย           ศิวะนัย ประทานพร

องค์ “จัน ทร(ะ)เทวี”         รมณีย์ พจีสอน

มวลหมู่ ประชากร            สุข(ะ)ตอน ณะติดตาม

มิ่งมิตร พระจอมขวัญ       สมะกัน มิหยันหยาม

เลื่องลือ ระบือนาม           นรพราหมณ์ อภิวันท์


(อินทรลิลาตฉันท์ ๑๑)

ขาดราช(ะ)โอรส             มิปรากฏ ณะท้องครรภ์

หลักชัยจะยึดมั่น             ประชาสรรค์ ฤ หวั่นทรวง

เจ้าเธอก็ตั้งจิต                ประกาศิต มิคิดห่วง

วอนขอ วิเรนทร์สรวง       ฤ พุ่มพวง พระอินทร์พลัน

“อันศีล กระหม่อมนี้         วิรัตดี และตั้งมั่น

บังเกิด ประเสริฐครรภ์     ณ สักวัน เถอะทันที”

ต่อมา ธ ปรากฏ             พระโอรส สุสดศรี

ผ่องพักตร์ สุลักษณ์ดี      ธ จึงมี วจีตาม


(สาลินีฉันท์ ๑๑)

ตั้งให้ ว่า“เตมีย์”             เพราะเป็นที่ ระบือนาม

ทั่วเมือง ทุกเขตคาม       ประชาพราหมณ์ ปิยารมณ์

ทรงหา มารดาแก้ว         ผิว์เพริศแพร้ว และเหมาะสม

หกสี่ คนชื่นชม               ประทานนม ธดื่มนาน

ถึงกาล ในวันหนึ่ง           กุมารซึ่ง ประสพสาน

สายตา ดั่งต้องมาร          บิดาอ่าน คำลงทัณฑ์

สั่งให้ ใช้หนามเฆี่ยน        ฉมวกเวียน กระโหลกลั่น

หลาวเสียบ แผ่นหลังพลัน กุมารหวั่น ฤทัยกลัว

“หากเป็น องค์ราชา          ก็คงมา และมืดมัว

ตัดสิน ผิดถูกชั่ว               มิพ้นตัว ณะวันใด

บาปกรรม เคยทำผิด         มิอยากคิด จะกลับไป”

“หยุดเถิด จงหยุดได้      นะเร็วไว เถอะหยุดคำ

หยุดดิ้น กายบิดขัด        พิการหยัด และฝืนย้ำ

ง่อยเปลี้ย ก็ต้องทำ        จะต้องทน พระทัยแกร่ง”

เสียงองค์ เทพธิดา           แนะนำมา ณะแสดง

เตมีย์ สุดกำแหง               มิเคลือบแคลง วิจัยตน

ทรงเห็น ทั้งน้อมนำ          หทัยย้ำ มิสับสน

จึงตั้ง ความอดทน          กระทำท้น มิเกรงภัย

องค์เจ้า ราชบิดา             พระมารดา ธ หวั่นไหว

วิตก กังวลให้                   ประหลาดใน หทัยจริง

รับสั่ง ตั้งอุบาย                 กระทาชาย และฝ่ายหญิง

ล่อหลอก ให้ไหวติง         มิทนนิ่ง ขยับกาย

อดนม ขนมน้ำ                 อร่อยล้ำ และหลากหลาย

ผลไม้ มีมากมาย              มิทุกข์กาย หทัยเคือง

ไฟช้าง งูมาขู่                  เถอะลองดู มิรู้เรื่อง

อดได้ ไม่โกรธเคือง         ทะลุผ่าน ณนานวัน

ล่วงมา ถึงสิบหก              ชะตาตก ฤผกผัน

หลีกเลี่ยง อย่างไรนั่น       กษัตริย์พลัน แถลงความ

“ส่งฝัง ยังป่าช้า”              กระแสกล้า กถาพราหมณ์

มารดา จึงท่องถาม          “พระรูปงาม นะหลอกลวง”

สงสาร จนจับจิต               กระทำผิด นะคิดห่วง

อดทน ต่อทั้งปวง             พิชิตบ่วง มิลวงใคร

“สุนันท์ ท่านขับรถ”          ธ กำหนด คำสั่งให้

พาออก นอกเวียงชัย        เลาะวิ่งไป สุสานดำ

ตั้งหน้า ตั้งตาขุด              มิได้หยุด ขยับทำ

เตมีย์ บิดกายซ้ำ              ธ ยกกำ พระรถมา

รู้ความ จริงแล้วหนอ        พระองค์หน่อ พระราชา

ตัดขาด จากพารา            อุเบกขา ทมานำ

มุ่งหน้า รักษาศีล             สะกดสิ้น กิเลสซ้ำ

ตรัส“มิตร อย่าคิดทำ      ประทุษร้าย สหายตน”

ขอบวช อยู่ในป่า              ละกามา วิชาพ้น

โมหา รักษาตน                มิหมองหม่น ทุรนกาย

แจ้งข่าว องค์เจ้าฟ้า         ละเถิดหนา จะพาสาย

อยู่ใกล้ ไม่ถึงตาย            ฤวางวาย อภัยกัน


(กาพย์ยานี ๑๑)

“สุนันท์ ท่านขับรถ”          กระเษมหมด ฤทัยสั่น

ตรัสชอบ ประกอบทัณฑ์   นำความนั้น พลันเดินทาง

กราบทูล พระองค์เจ้า       ครั้นรุ่งเช้า คราวฟ้าสาง

ทั้งสอง น้ำนองปราง         สะอื้นอย่าง ไม่เคยเป็น

รับสั่ง ให้เตรียมตัว            ผู้คนทั่ว มิทุกข์เข็น

ตามไป ไม่ยากเย็น            เพราะอยากเห็น พระองค์เต(มีย์)

พบกัน ในวันใหม่              พระทัยใส่ ไม่สรวลเส

องค์เจ้า เฝ้าทุ่มเท             พระเขกลับ ประทับเมือง

“หลุดห่วง บ่วงหมดแล้ว  บิดาแก้ว อย่าขุ่นเคือง

นรก เคยรู้เรื่อง                ไม่อยากเปลือง ประสบการณ์

ร่างกาย เหมือนกันหมด   อนาคต กำหนดผลาญ

คืนวัน นั้นล่วงผ่าน           ชรากาล เจ็บตายไป

สมบัติ ที่ติดตัว                 ทรัพย์สินทั่ว "ตัว"ของใคร

ความสุข ทั้งหลายได้      ชนะตาย หรือไรกัน”

ทุกคน จึงกำหนด              สละลด และปลดขั้น

ออกบวช โดยพร้อมกัน      พิสุทธิ์สรร สวรรค์จริง

หลักคิด ใกล้ชิดใจ             กำหนดไว้ ให้ชายหญิง

“ทำไร อดทนจริง             กระทำยิ่ง พยายาม

พากเพียร ด้วยยึดมั่น       ทั้งใฝ่ฝัน มิท้อตาม

นำให้ สำเร็จความ            ประสงค์มั่น สุนันทา”


หมายเหตุ

“สุนันท์ท่านขับรถ” มาจากคำเดิมว่า “สุนันทสารถี”

รมณีย์     หมายถึง บันเทิง หรือ รื่นรมย์

สม(ะ)     หมายถึง ความเสมอภาค หรือสม่ำเสมอ

วิเรนทร์   หมายถึง กษัตริย์หนุ่ม

พุ่มพวง  หมายถึง ผู้หญิง

กถา       หมายถึง ถ้อยคํา, เรื่อง, คําอธิบาย, คํากล่าว

ทมา       หมายถึง ความข่มใจ อดทนอดกลั้นอย่างแรงกล้า

สุนันทา  หมายถึง เป็นที่ยินดี, น่าสบาย


*ขอเชิญท่านผู้รู้ นักปราชญ์ด้านกาพย์กลอน ช่วยเสนอแนะหรือชี้แนะโดยไม่ต้องเกรงใจ เพื่อการปรับปรุงแก้ไขในโอกาสต่อไปด้วย จักขอบพระคุณเป็นอย่างสูงครับ*


ข้อมูลประกอบการเขียนจากธรรมะไทยwww.Dhammathai.org

           ขอขอบคุณทุกท่านที่สนใจ ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 573335เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2014 12:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2014 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชื่นชมในความสามารถของ"พี่หนาน" มากค่ะ เก่งทั้ง ฉันท์  กาพย์  กลอน

ขอขอบคุณครู อาจารย์ คุณหมอ กัลยาณมิตรทุกท่านที่ให้กำลังใจ  ขอบคุณคุณครูอร วรรณดา ที่ติดตามอ่านและให้คำชื่นชมตลอดมา ติเพือก่อบ้างก็ได้นะครับ จะได้มีหลากหลายมุมมอง ไม่มีคนแนะนำผมก็เหมาเอาว่า ดี ใช้ได้ เท่านั้นเอง...ขอบคุณผู้แวะมาอ่านแล้วก็จากไปแบบเงียบๆ ด้วยครับผม อิอิอิ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท