รายวิชาศึกษาทั่วไป : มนุษย์กับการเรียนรู้ _๐๒


ผมเขียนบันทึกผลสรุปแนวทางการจัดการเรียนรู้ การประชุมถอดบทเรียน และปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนรู้ของรายวิชา "มนุษย์กับการเรียนรู้" หนึ่งในรายวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งมุ่งให้นิสิต "รู้จักตนเอง เข้าใจผู้อื่น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข" ไว้ที่นี่ ต่อจากนั้นเราประชุมกันหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปว่า ให้ลองยกร่าง มคอ.๓ ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดเรียนรู้ตามแนวทางที่เราตกลงกันไว้

คำอธิบายรายวิชา

ธรรมชาติทางสมองของมนุษย์และการเรียนรู้สุนทรียะสนทนา การฟังอย่างลึกซึ้ง กระบวนทัศน์แบบองค์รวม หลักการพื้นฐานของการจัดกระบวนการจิตตปัญญาศึกษาการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ การเรียนรู้เพื่อให้เข้าถึงความจริง ความดี ความงาม และความสุข แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับมณฑลแห่งการเรียนรู้ การบ่มเพาะสภาวะจิตตื่นรู้ภาวะความเป็นผู้นำในกระบวนทัศน์ใหม่ และการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Nature of human brain and learning, dialogue, deep listening, holistic paradigms, fundamental principles of contemplative educational processes, contemplative learning, learning for promoting human competencies to attain truth; virtue; beauty and happiness, fundamental concepts of learning space, creating conscious minds, leadership in new paradigm, and lifelong learning

กิจกรรมการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ การเรียนการสอนภายในห้องเรียน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง และกิจกรรมจิตอาสา บำเพ็ญประโยชน์ นอกห้องเรียน เพื่อบ่มเพาะสำนึกสาธารณะ และการเรียนรู้ความจริง ความดี ความงาม ด้วยตนเองในสถานการณ์จริง ดังรายละเอียดขั้นตอนต่อไปนี้

ช่วงที่ ๑ ในห้องเรียน

เน้นการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนหรือสถานที่ภายในมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์หลักคือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้หลักการเรียนรู้ และทักษะสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ร่วมกันผู้อื่น โดยเน้นการเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ทีมผู้สอนเลือกใช้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความพร้อมของนิสิตขณะนั้นๆการเรียนในช่วงนี้แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน ได้แก่

·ขั้นที่ ๑ สร้างพื้นที่ปลอดภัยหมายถึง สร้างพื้นที่ๆ เหมาะสมให้ "ใจ" ของนิสิตพร้อมที่จะเรียนรู้ร่วมกันและให้ทุกคนรู้เป้าหมายแบะกระบวนทัศน์ของรายวิชา ก่อนจะจัดแบ่งกลุ่มเพื่อเรียนรู้ทีมและหน้าที่ต่อไป

·ขั้นที่ ๒ พัฒนาพื้นฐานเรื่อง "การฟัง" และ "สุนทรียสนทนา" เพราะสองทักษะนี้คือพื้นฐานและเป็นต้นทางของการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม... หากเรียนรู้วิธีฟังได้จนเข้าถึง "เสียงจากภายใน" ก็ถือได้ว่า "ใจ" พร้อม "เริ่ม เรียน รับ" สำหรับทุกอย่างแล้ว

·ขั้นที่ ๓ "ฝึก" ลงมือเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติทั้งฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ผู้สอนออกแบบให้ในเบื้องแรก หากเป็นไปตามความคาดหวัง นิสิตจะมีพลังสมาธิ มีสติตื่นรู้ (อย่างน้อยในเบื้องต้น) และหากฝึกฝนหนักเข้า เขาอาจจะเปลี่ยน "กระบวนทัศน์" ได้เลยทีเดียว....ซึ่งเรียกได้ว่า "รู้จักตนเอง"

·ขั้นที่ ๔ เรียนรู้ผู้อื่น ด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติตามหลักของ "จิตตปัญญาศึกษา" เพื่อพัฒนาทักษะ 7C และ 2L โดยเฉพาะ Learning และ Leadership

ช่วงที่ ๒ นอกห้องเรียน

ผู้สอนมุ่งส่งเสริมและออกแบบ "กระบวนการ" ให้นิสิตที่ได้เรียนรู้ผ่านทักษะย่อยๆ ต่างๆ ที่ผ่านมา ได้นำเอาทักษะเหล่านั้นมาบูรณาการปรับใช้ในชีวิตจริง สถานการณ์จริงๆ ของชีวิต คือเน้นให้นิสิตได้ "เรียนชีวิต" นำสิ่งที่ได้เรียนใน "วิชา" ออกไปทดลองแก้ปัญหาชีวิต โดยเน้นให้ทำงานกันเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม อันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในชีวิตจริงในศตวรรษที่ ๒๑

·ขั้นที่ ๕ กำหนดให้นิสิตแต่ละกลุ่ม ทำโครงงานความดี ที่พอดีกับศักยภาพ พอเหมาะกับทรัพยกรณ์ของตนเองที่มีอยู่ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อผู้อื่น เรียนรู้วิถีแห่งความจริง ความดี ความงาม และพัฒนาทักษะชีวิตให้เกิดทั้ง "ประโยชน์ตนเอง" และ "ประโยชน์ผู้อื่น" ด้วย "สติ" "สมาธิ" ความ "ตระหนักรู้" หรือก็คือ "ความไม่ประมาท" นั่นเอง

กิจกรรม การเรียนรู้ทั้ง ๕ ขั้นตอนนี้ คือส่วนแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใน มคอ. ๓ ซึ่งสามารถที่จะแสดงให้แผนการสอนทั้งหมด ด้วยแผนผัง Timeline ดังภาพนี้ เพื่อนำเสนอและสื่อสารไปยังเพื่อนอาจารย์ผู้สอนต่อไป

การนำเสนอด้วยวิธีนี้ ทำให้เข้าใจได้ไม่ยากเลยครับ ... ท่านว่าไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 573128เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 07:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท