การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรม ด้วย มอก.๙๙๙๙ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม


มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้กำหนด บทนิยาม หลักการ แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร สำหรับองค์กรภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ขนาด และที่ตั้ง

ทศพนธ์ นรทัศน์  [email protected]

นักวิชาการอิสระ

บทนำ

การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระยะที่ผ่านมา ได้สะท้อนความสำเร็จออกมาอย่างเด่นชัดในภาคเกษตรกรรมและชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรกรรมตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ทั้งในรูปของกลุ่มเกษตรกร หรือเกษตรกรรายบุคคล ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ในสังคมเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรกรรมและชนบท ไกลตัวของสังคมเมือง ทำให้การประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นที่แพร่หลาย และมีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ด้วยความเข้าใจที่แตกต่างกัน ซึ่งโดยแท้จริงแล้วปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งแนวคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้ในทุกระดับและทุกสาขาความชำนาญ ตั้งแต่ระดับองค์กร บริษัท ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงาน โดยการสร้างความสมดุลให้แก่ธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาองค์กรธุรกิจที่สร้างสรรค์ทำให้เกิดผลกำไรที่ยั่งยืนและมีความสุขร่วมกันทั้งในธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งของภูมิคุ้มกันในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และสามารถตอบสนองนโยบายรัฐบาล ที่มีจุดมุ่งหมายพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจดุลยภาพและยั่งยืน

ดังนั้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทาน มีความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีแนวคิดเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยที่องค์กรต่างๆ สามารถกำหนดวิธีการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ คือ มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุขพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน ในด้านต่างๆ ได้แก่ สังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง และกฎระเบียบ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ขึ้น สอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า” ของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ภาคธุรกิจเอกชนมีความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติที่ดี ตระหนัก และศรัทธาต่อการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจโดยมีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่า มีการบริหารจัดการที่ดี สามารถปรับตัวสู่ความสมดุล สามารถรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (เศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจจึงมีความเป็นพลวัตรตามกระแสการเปลี่ยนแปลง)

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มาตรฐานเลขที่ มอก. ๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (มอก. ๙๙๙๙) มาตรฐานเลขที่ มอก. ๙๙๙๙ ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหน่วยงานของตนให้มีความสมดุล มั่นคง ยั่งยืน และสมาชิกหน่วยงานมีความสุข[๑] โดยมาตรฐาน มอก. ๙๙๙๙ มีรายละเอียดดังนี้

มอก. ๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖[๒]

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

. ขอบข่าย

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้กำหนด บทนิยาม หลักการ แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียง ภาคอุตสาหกรรม และแนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร สำหรับองค์กรภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ขนาด และที่ตั้ง เพื่อ

(๑) ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรและองค์กร ให้มีการบริหารจัดการและการดำเนินงาน โดยยึดหลักการของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน

(๒) แสดงให้เห็นความสามารถในการบริหารองค์กรที่สะท้อนถึงการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ

มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ และไม่มีจุดมุ่งหมายให้นำไปใช้เพื่อการรับรอง

ภาพรวมของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ดังแสดงในรูปที่ ๑


รูปที่ ๑ ภาพรวมของมาตรฐานแนวแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

(ข้อ ๑.)

. บทนิยาม

ความหมายของคำที่ใช้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนี้ มีดังต่อไปนี้

๒.๑ การดำเนินธุรกิจตามทางสายกลาง (middle path) หมายถึง การดำเนินธุรกิจที่ไม่สุดโต่งในการแสวงหากำไร คำนึงถึงผลกระทบและการพัฒนาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรม มองความคุ้มค่าของสิ่งที่กระทำ ทั้งที่มีและไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ดำเนินการด้วยความประหยัดและเรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด

๒.๒ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี (self-immunity) หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน ในด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ โดยคำนึงถึงเหตุการณ์และผลในปัจจุบัน และความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

๒.๓ ความพอประมาณ (moderation) หมายถึง ความพอดีที่ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป ในมิติต่างๆ ของการกระทำ หรือความพอใจในสิ่งที่สมควร ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่น้อยเกินไปจนก่อให้เกิดความขัดสน และไม่มากเกินไป จนก่อให้เกิดความเสียหายและความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น

๒.๔ ความพอเพียง (sufficiency) หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอต่อผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

๒.๕ ความมีเหตุมีผล (reasonableness) หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอประมาณในมิติต่างๆ ที่เป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุ ปัจจัย และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบและถูกต้อง

๒.๖ ความสุข (happiness) หมายถึง ปรารถนาดีต่อกัน อนุเคราะห์กันและกัน ความยินดี และความสงบ

๒.๗ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (philosophy of sufficiency economy) หมายถึง ปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศ ให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์

๒.๘ เศรษฐกิจพอเพียง (sufficiency economy) หมายถึง เศรษฐกิจที่สามารถอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีความพอเพียงกับตัวเอง (self sufficiency) อยู่ได้โดยไม่เดือดร้อน ซึ่งต้องสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของตนเองให้ดีก่อน คือ ให้ตนเองสามารถอยู่ได้อย่างพอกินพอใช้ มิได้มุ่งหวังแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจให้รวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว

๓. หลักการ

ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักการของมาตรฐานนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคลากรและองค์กร อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุล มีความมั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน และมีความสุข พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก รวมทั้งความไม่แน่นอน

๓.๑ การมีส่วนร่วมของบุคลากร (involvement of people)

หลักการ คือ บุคลากรทุกระดับเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของบุคลากรจะทำให้สามารถใช้ความรู้ความสามารถเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร

องค์กรควร

(๑) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนของบุคลากรในการ ปรับปรุงประสิทธิผลและประสิทธิภาพขององค์กร

(๒) ทำให้มั่นใจว่าบุคลากรมีความรู้ความสามารถเพียงพอสำหรับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

๓.๒ การเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย (respect for stakeholder interests)

หลักการ คือ องค์กรควรเคารพ พิจารณา และตอบสนองต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

องค์กรควร

(๑) ชี้บ่งผู้มีส่วนได้เสีย

(๒) ยอมรับและเอาใจใส่ในเรื่องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งสิทธิตามกฎหมาย และตอบสนองต่อข้อกังวลของผู้มีส่วนได้เสีย

๓.๓ การบริหารแบบองค์รวม (holistic management)

หลักการ คือ การบริหารแบบองค์รวมสามารถช่วยในการพัฒนาวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของอนาคตที่ต้องการ

องค์กรควร

(๑) มองอย่างครบวงจรโดยคิดอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่อง การนำองค์กร การวางแผน การมุ่งเน้นลูกค้า บุคลากร สารสนเทศ กระบวนการ และผลลัพธ์ทางธุรกิจ

(๒) คำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรและประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

๓.๔ การบริหารเชิงระบบ (system approach to management)

หลักการ คือ องค์กรควรชี้บ่ง ทำความเข้าใจ และบริหารจัดการกระบวนการที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบที่จะช่วยให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร

องค์กรควร

(๑) พิจารณาประสิทธิผลและประสิทธิภาพในภาพรวมของระบบที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ข้อมูลป้อนกลับ และสภาพแวดล้อม

(๒) พิจารณาให้ครอบคลุมตั้งแต่การวางแผน การจัดองค์กร การกำกับดูแล และการควบคุม

. แนวทางเกี่ยวกับองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

.๑ ทั่วไป

ในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ องค์กรควรพิจารณาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีการเสริมสร้างให้บุคลากรในองค์กรมีจิตสำนึกในคุณธรรม มีพื้นฐานจิตใจหรือเงื่อนไขในการปฏิบัติตน รวมทั้งการตัดสินใจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง

องค์ประกอบสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่

(๑) ความพอประมาณ

(๒) ความมีเหตุมีผล

(๓) การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

(๔) ความรู้ (knowledge)

(๕) คุณธรรม (ethics)

เพื่อให้องค์กรมีการดำเนินธุรกิจตามทางสายกลาง ดังแสดงในรูปที่ ๒


รูปที่ ๒ องค์ประกอบสำคัญของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(ข้อ ๔.๑)

.๒ ความพอประมาณ

องค์กรควรคำนึงถึงความพอดีต่อความจำเป็นและเหมาะสมกับฐานะของตนเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป จนเกิดความทุกข์แก่ตนเองและผู้อื่น

.๓ ความมีเหตุมีผล

องค์กรควรตัดสินใจดำเนินการอย่างมีเหตุผลตามหลักวิชาการ หลักกฎหมาย และวัฒนธรรมที่ดีงาม โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างถ้วนถี่ และคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รู้จักเลือกนำสิ่งที่ดีและเหมาะสมมาประยุกต์ใช้

.๔ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี

องค์กรควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมทั้งบุคลากรและองค์กร เพื่อรองรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความไม่แน่นอน โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล เพื่อให้สามารถปรับตัว แสวงหาโอกาส และรับมือได้อย่างทันท่วงที

.๕ ความรู้

องค์กรควรนำหลักวิชาและความรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ทั้งในขั้นการวางแผนและปฏิบัติ ด้วยความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และความระมัดระวังในการนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติทุกขั้นตอน

.๖ คุณธรรม

องค์กรควรเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของบุคลากรในองค์กร และผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับให้มีความตระหนักในคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตในการดำเนินชีวิตและการประกอบธุรกิจด้วยความอดทน ความเพียรสติ ปัญญา ความมีน้ำใจ และการแบ่งปัน

. แนวทางการบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร

.๑ ทั่วไป

การนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ผู้บริหารระดับสูง ควรมีบทบาทในการนำองค์กร เพื่อใช้เป็นแนวทางอย่างต่อเนื่องในการวางแผน การนำไปปฏิบัติ การติดตามเฝ้าระวัง การวัดผลและการทบทวน และการปรับปรุง ดังแสดงในรูปที่ ๓


รูปที่ ๓ การบูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมทั่วทั้งองค์กร

(ข้อ ๕.๑)

.๒ การนำองค์กร

เพื่อแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาต่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และความมุ่งมั่นในการนำมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผล ผู้บริหารระดับสูงควรประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และ

(๑) กำหนดทิศทางขององค์กรโดยการบูรณาการแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยม นโยบาย กลยุทธ์ วัฒนธรรม โครงสร้าง หรือการดำเนินการต่างๆ และสื่อสารให้บุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล

(๒) ทำให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรมีความสามัคคี และมีส่วนร่วมในการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรมไปปฏิบัติ

(๓) จัดสรรบุคลากร เทคโนโลยี วิธีการ งบประมาณ เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานอย่างพอเพียง และทำให้มั่นใจว่ามีการใช้ทรัพยากรรวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

(๔) ทำให้มั่นใจว่าองค์กรมีการปฏิบัติตามกฎหมายและดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสและมีจริยธรรม

(๕) ให้ความสำคัญต่อการแบ่งปันและการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวัฒนธรรม ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ

(๖) มีการทบทวนผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ และนำผลของการทบทวนไปใช้ในการปรับปรุงและการวางแผนต่อไป

.๓ การวางแผน

องค์กรควรมีการวางแผนเพื่อการนำไปปฏิบัติ โดยกำหนดอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน มีการติดตามเฝ้าระวัง การวัดผลและการทบทวน และการปรับปรุง ตามความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับขีดความสามารถในการบริหารจัดการ

องค์กรควร

(๑)ประเมินขีดความสามารถทั้งปัจจุบันและอนาคตขององค์กร ซึ่งรวมถึงความพร้อมด้านบุคลากร กระบวนการ เทคโนโลยี งบประมาณ โดยพิจารณาข้อมูลประวัติศาสตร์และความเป็นมาขององค์กร และท้องถิ่นที่ดำเนินธุรกิจ รวมถึง ปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยม ในการดำเนินธุรกิจขององค์กร

(๒) กำหนดกลยุทธ์ที่สนับสนุนหลักการของมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม และนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียงขององค์กร โดยพิจารณาสภาพแวดล้อมภายในและภายนอก ซึ่งรวมถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย ปัจจัยแห่งความสำเร็จและปัจจัยแห่งความล้มเหลว สภาพของอุตสาหกรรมทั้งในอดีต ปัจจุบันและความไม่แน่นอนในอนาคต การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมืองและกฎระเบียบ ทั้งในและต่างประเทศ

(๓) วางแผนและกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สามารถวัดผลได้ในทุกระดับขององค์กร รวมถึงระดับบุคคล

(๔) บริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ รวมถึงการกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยง

(๕) สื่อสารกลยุทธ์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ นโยบาย และความเสี่ยง ให้บุคลากรในองค์กรมีความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิผล

.๔ การนำไปปฏิบัติ

องค์กรควรควบคุมการดำเนินการด้านต่างๆ ได้แก่ บุคลากร เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามกลยุทธ์ วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ และนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียงที่กำหนดไว้

องค์กรควรมีการกำหนดช่องทางและวิธีการในการสื่อสาร ทั้งภายในองค์กรและภายนอกองค์กรเกี่ยวกับการดำเนินการ ประสิทธิผล และผลลัพธ์ของการนำไปปฏิบัติ ตามความเหมาะสม

.๔.๑ บุคลากร

องค์กรควร

(๑) จัดฝึกอบรมบุคลากรหรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

(๒) สร้างจิตสำนึกและส่งเสริมให้บุคลากรมีความมัธยัสถ์มีความอดทน มีความเพียร มีวินัย สามารถพึ่งพาตนเองไม่เบียดเบียนผู้อื่น มีน้ำใจ มีการแบ่งปัน และมีความซื่อสัตย์สุจริต

(๓) ส่งเสริมให้บุคลากรศึกษาหาความรู้ ทฤษฎี และแนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองและองค์กร ในการปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และทำให้เกิดความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าในการทำงานและการดำรงชีวิต

(๔) ส่งเสริมให้เกิดความสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตในการทำงานของบุคลากรและครอบครัว และการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงการเก็บออมตั้งแต่วัยทำงาน การรักษาสุขภาพ การสร้างครอบครัวที่อบอุ่น การรวมกลุ่มหรือเครือข่ายเพื่อการมีสังคมหลังเกษียณ การสร้างต้นทุนในชีวิตหลังเกษียณ เช่น การมีความรู้ในการดำรงชีวิต การเตรียมตัวให้พออยู่พอกิน
เป็นต้น

(๕) ส่งเสริมให้บุคลากรเรียนรู้และเข้าใจถึงประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ รวมถึงดิน น้ำ ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ในการจรรโลงจิตใจ การดำรงชีวิตและการพึ่งพากัน

.๔.๒ เศรษฐกิจ

องค์กรควร

(๑) สร้างหรือดำเนินธุรกิจหลักให้มีความมั่นคงโดยใช้ความรู้ความสามารถหลักขององค์กร

(๒) พิจารณาผลตอบแทนจากการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาวบนพื้นฐานของการแบ่งปัน โดยมุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

(๓) ขยายหรือลงทุนธุรกิจให้เหมาะสมกับฐานะขององค์กร โดยพิจารณาความสามารถในการรับภาระหนี้สินและภาระผูกพันอื่น และความเสี่ยงขององค์กรและคู่ธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

(๔) ใช้และพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เหมาะสม สามารถบริหารจัดการเองได้ สอดคล้องกับความต้องการและสภาพแวดล้อมขององค์กร และตามสภาพภูมิศาสตร์และลักษณะสังคม

(๕) ส่งเสริมการใช้ พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากภูมิปัญญาขององค์กร ชุมชน และสังคม

(๖) ศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัย รวมทั้งเลือกสรรส่วนที่สำคัญและเป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการและสภาพแวดล้อมขององค์กร

(๗) ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กรมีความคิดสร้างสรรค์ อันจะนำไปสู่การสร้างและพัฒนานวัตกรรม

(๘) มีการสร้างนวัตกรรมด้านปัจจัยการผลิต ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ เทคโนโลยี องค์กร หรือการบริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์ สอดคล้องกับกลยุทธ์ และก่อให้เกิดความยั่งยืนขององค์กร ชุมชน และสังคม

(๙) ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมจากภูมิปัญญาขององค์กร ชุมชนและสังคม โดยอาจพัฒนาร่วมกับชุมชน ผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายธุรกิจ องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่นๆ

.๔.๓ สังคม

องค์กรควร

(๑) ศึกษาประวัติศาสตร์ ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชนและสังคม ที่องค์กรตั้งอยู่ รวมทั้งรักษาและฟื้นฟูประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีไว้ให้สืบเนื่องต่อไป

(๒) ส่งเสริมกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองทั้งภายในองค์กร ชุมชน และสังคม

(๓) มีส่วนร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ เครือข่ายธุรกิจ องค์กรผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานอื่นๆ ตามความเหมาะสม ในการพัฒนาองค์กร ชุมชนและสังคม รวมทั้งการแบ่งปันความรู้และทรัพยากร เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและสามารถพึ่งตนเองได้

(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้แรงงานและปัจจัยการผลิตในชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

(๕) เผยแพร่ความรู้และส่งเสริมให้มีการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติในชุมชนและสังคม

๕.๔.๔ สิ่งแวดล้อม

องค์กรควร

(๑) ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงการได้มาของทรัพยากรและการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การใช้และการจัดการของเสีย และคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับคนรุ่นต่อๆ ไป

(๒) รู้และแสดงให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินงานขององค์กร และแสวงหาความรู้ตลอดจนแนวทางหรือวิธีการใหม่ๆ ในการลดและขจัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น

(๓) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการผลิตที่ไม่มีการจัดการหรือการป้องกันมลภาวะ

(๔) ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ศึกษาพลังงานทดแทน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจขององค์กร

(๕) กำหนดแนวทางในการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมถึงการจัดหา การกักเก็บ การควบคุมการบำบัด และการระบาย โดยไม่ทำลายแหล่งน้ำธรรมชาติ และคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนและสังคมที่ดำเนินธุรกิจ

(๖) มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ พัฒนาและฟื้นฟูดิน น้ำ และป่า อันเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตของชุมชนและสังคม

๕.๕ การติดตามเฝ้าระวัง การวัดผล และการทบทวน

องค์กรควรกำหนดวิธีการและติดตามเฝ้าระวัง วัดผล และทบทวนผลการดำเนินงาน ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า

(๑) การดำเนินงานขององค์กรสอดคล้องกับกลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และนโยบายที่กำหนดไว้

(๒) การดำเนินงานขององค์กรสอดคล้องกับมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

(๓) กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และนโยบายที่กำหนดไว้ ยังมีความเหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก

(๔) มีการป้องกันและการแก้ไข ในกรณีที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มว่าจะไม่เป็นไปตามนโยบาย กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ และมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม

.๖ การปรับปรุง

องค์กรควรปรับปรุง พัฒนา และขยายผลการดำเนินงานตามมาตรฐานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภาคอุตสาหกรรม อย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่อง ผ่านนโยบาย กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ การติดตามเฝ้าระวัง การวัดผลและการทบทวนผลการดำเนินงาน การป้องกันและการแก้ไข หรือการมีส่วนร่วมของบุคลากรและเครือข่าย

บทส่งท้าย

การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนำเอามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ไปประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง จึงเป็นแนวทางไปสู่การยกระดับศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ เป็นการดำเนินธุรกิจที่มีคุณธรรม เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ให้มีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจนำเอามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม มาใช้ในกิจการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (Management System Certification Institute (Thailand)) เลขที่ ๑๐๒๕ ชั้น ๑๑ อาคารยาคูลท์ ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐ โทร. ๐ ๒๖๑๗ ๑๗๒๗-๓๖ โทรสาร ๐ ๒๖๑๗ ๑๗๐๓-๔, ๐ ๒๖๑๗ ๑๗๐๗-๙ เว็บไซต์ www.masci.or.th ซึ่งมีหลักสูตรฝึกอบรม เช่น Train the Trainer TIS 9999:2013, Introduction to TIS 9999:2013 (มอก.๙๙๙๙:๒๕๕๖) เป็นต้น

[ดาวน์โหลด PDF file]

เอกสารอ้างอิง

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (๒๕๕๖). ความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สู่ ๒ ทศวรรษหน้า”. กรุงเทพฯ : คณะทำงานวิชาการ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.). (๒๕๕๖). มอก.๙๙๙๙ เล่ม ๑-๒๕๕๖ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม. กรุงเทพฯ : สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม,


[๑] สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. (๒๕๕๖).ก.อุตสาหกรรม เปิดตัว มอก. ๙๙๙๙ แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม. (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา http://www.tisi.go.th/tisi-news-list/item/2961-9999.html. (วันที่ค้นข้อมูล: ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖)

[๒] ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มได้ที่ www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/044/3.PDF หรือ

http://afdc-ict.rtarf.mi.th/afdcintra/tisi/fulltext/TIS9999_1-2556.pdf

หมายเลขบันทึก: 573126เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2014 00:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท