ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป. กาฬสินธุ์ เขต 1_14 : การสอนส่งเสริมการคิดด้วย PBL บนฐานปัญหาชีวิตจริง (๓)


องค์ประกอบสำคัญของ PLC ประการหนึ่งคือ วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) คือ เป้าหมายร่วมกัน เป้าหมายที่ "มีความหมาย" ในใจของสมาชิกร่วมกัน หากถึงขั้น "ค่านิยมร่วม" (Shared Value) ก็นับว่าภาพฝันแผ่งความสำเร็จของ PLC

หลังจากเล่าเรื่อง แลกเปลี่ยน เรียนรู้อดีตประสบการณ์ร่วมที่ผ่านมา ผมเริ่ม "อำนวย" (ทำฟา, facilitate) การสนทนาเพื่อที่จะนำปัญหามาสร้างเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ร่วม โดยใช้การบรรยายและเปิดตัวอย่างผลงานของครูเพ็ญศรี ใจกล้า ที่่สามารถพัฒนา "ทำฟา" จนเกิดกลุ่ม "ฮักนะเชียงยืน" ขึ้น

กล่าวซ้ำย้ำทวน

"PLC คืออะไร" ไม่ใช่สาระจำเป็นที่ต้อง "เห็น" ให้ตรงกัน  แต่ "PLC มีไว้ทำไม ทำไมต้องทำ PLC" น่าจะเป็นสิ่งที่แต่ละชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษษ์จะต้องนิยามให้ชัดและตรงกัน ผมนำสไลด์ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มา" กล่าวซ้ำ" ต่อเวที KM อีกครั้งเพื่อ "ย้ำทวน" ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเรากำลังทำอะไร...

 

เรากำลังจะเปลี่ยนจาก "เรียนวิชา ไปหา เรียนชีวิต" จาก"สอนหนังสือ ไปสอนคน" "เน้นเนื้อหา มาเป็นเน้นกระบวนการ" จาก "สอนบอกส่งผ่านความรู้ ไปเป็น "ครูฝึกกก" และ เปลี่ยนจาก "เน้นจำอดีต" เป็น "เน้นการคิดสู่อนาคต" 

เรา (หมายถึงทุกคนรวมถึงครู) กำลังทำ ๕ อย่าง เพื่อช่วยให้ครูเปลี่ยน ๓ อย่าง ได้แก่ ๑) ส่งเสริมให้ผู้อำนวยการใช้กระบวนการเชิงราบและกระบวนการกลุ่มในการบริหารงานมากขึ้น ๒) ชวนให้ศึกษานิเทศก์ช่วยเหลือครูอย่างเป็นกัลยาณมิตร ๓) ครูเปลี่ยนมาใช้จิตวิทยาเชิงบวกอย่างจริงจังและลงรายละเอียด ๔) ครูหันมาเน้นการฝึกทักษะ เน้นกระบวนการมากกว่าสอนเนินวิชาแบบ "บอก สอน ป้อน สั่ง" และ ๕) เปลี่ยนจากการเรียนเดี่ยว สอนเดี่ยว มากเป็นการทำงานเป็นทีม ครูทำงานแบบ PLC นักเเรียนๆ แบบ PBL มากขึ้น  โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยง ห้องเรียน+กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ และ + กิจวัตรในชีวิตประจำวัน เข้าด้วยกัน

วิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)

ผมเปิดคลิปวีดีโอ ๒ คลิบด้านล่างนี้แบบรวบรัด ผสมพูด "จับประเด็น" เพื่อสื่อสารให้เห็นชัดว่า "กลุ่มฮักนะเชียยืน" ทำอะไร แล้วตั้งคำถามสั้นๆ ว่า "เห็นอะไรในเด็กกลุ่มนี้" ก่อนจะอภิปรายเล่าความเป็นมาของการพัฒนานักเรียนของครูเพ็ญศรี ใจกล้า และทีมครูที่โรงเรียนเชียงยืนพิทยาคม... ทุกคนเห็นด้วยว่า นักเรียนกลุ่มนี้มีทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ และเห็นด้วยที่จะออกแบบการจัดการเรียนรู้แบบนี้บ้าง ...

PAR(พา)กันออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL

ผมออกแบบขั้นตอนการ "พา" (PAR, Participatory Aciton Research) เพื่อให้เราเข้าใจในเบื้องต้นและได้แนวทางในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบ PBL ของ PLC ครู แล้วเรียกว่า "๗ ขั้นตอนออกแบบการเรียนรู้แบบ PBL" ดังสไลด์นี้ โดยแบ่งกลุ่มย่อยรายโรงเรียน (กลุ่มละ ๓ คน ผอ.๑ ครู๑ ศน.๑)

เริ่มด้วยการพิจารณา "ตนเอง" ใน ๔ มิติ หาสิ่งที่เรามี เราไม่มี อะไรที่ดีต่อการนำมาเป็น "ทุน" ในการออกแบบการเรียนรู้  นี่เป็นขั้นแรกที่เรานำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้ในด้านการศึกษา สำหรับผู้บริหารการศึกษาและครูทุกคน

ขั้นกำหนดปัญหาที่มีคุณค่า มีความหมาย ด้วยวิธีเทคนิคง่ายๆ แต่ได้ผลดี ของครูเพ็ญศรี ใจกล้า มาว่ากันต่อบันทึกหน้านะครับ

หมายเลขบันทึก: 572241เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2014 09:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ดีมากครับอ. เป็นแนวคิดที่เป็นนวกรรมใหม่ สำหรับครูพันธุ์ใหม่ ที่ท้าทายครูพันธุ์เก่า อย่างก็ตาม ผมเห็นว่า  "เน้นจำอดีต ไปสู่การเน้นคิดสู้อนาคต"  นั้น ขอคิดต่างนะครับ เหตุผลคือ 

๑) เรากำลังสร้างวาทกรรมที่เมินเฉยให้กับภาพพจน์เมืองไทยไร้อดีต ซึ่งเด็กหรือคนรุ่นใหม่มีทัศนคติต่ออดีตที่ไม่ดี จึงมองว่าอดีตคืือ สิ่งที่จบหรือสิ้นไปแล้ว ไม่มีผลใดๆ ขอย้ำว่า อดีตคือ ทั้งหมดของชีวิต ส่วนปัจจุบันและอนาคตนั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์เฉพาะหน้าที่ไม่ได้ตกผลึกแต่อย่างไร ดังนั้น ในสมองของมนุษย์ล้วนมีอดีตทั้งสิ้น หากจะสอนให้เด็กหรือใครล้างความจำ ประวัติศาสตร์ เห็นว่าควรเชื่อมโยงเสียใหม่

๒) เพราะเราถูกนักวิชาการยุคใหม่ล้างสมอง ให้สมองอนาคตที่ต้องการให้ผู้คนเห็นว่า อดีตไม่สำคัญที่จะขับเคลื่อนในสังคมโลกอีกต่อไป หากไปถามนักประวัติศาสตร์ เขากลับมีความเห็นแย้งทันที เพราะเราลืมอดีตของตนเอง จึงมุ่งไปอย่างผิดทางหรือเสียศูนย์ อาจตามรอยเดิมหรืออาจเค้วงคว้งไร้จุดยืน โดยถือแต่ว่า อนาคตคือ เป้าหมาย มิใช่ว่า อนาคตมีเป้าหมายในตัวเองอย่างแน่นอนนะ     หากแต่มันยังเป็นแค่ร่างเหมือนเมฆเท่านั้น

๓) ต้นเค้าที่มาของโลก ของมนุษย์ ของการกำเนิด การวิวัฒนาการ เชื้อสาย เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรมของตนเป็นอย่างไร อีกทั้งการคิด ปรัชญา คำสอนต่างๆ ในสังคม มีมาอย่างไร ประเทศชาติเป็นมาอย่างไร เราจะให้คนยุคใหม่ลืมสนิทได้ไหม เราควรคัดกรองและนำเอาผลจากประวัติศาสตร์มาเป็นเครื่องเตือนใจ สังวรหรือไม่ อย่าสอนให้เด็กลืมกำพืดของตนเองนะครับ

๔) เราเรียกร้องให้คนยุคใหม้หวงแหน บ้านเมือง มีจิตสำนึกบ้านเกิดเมืองนอน แต่เรากลับลบด้วยคำพูดหรือการเรียกร้องด้วยคำคิด ข้อคิด หลักการ ทฤษฎีอย่างสวยหรูกระนั้นหรือครับ จึงไม่แปลกใช่ไหม ที่คนไทยไม่รักชาติ แผ่นดิน บ้านเกิด ไม่กตัญญู รู้คุณของบ้านเมือง เพราะไม่สำนึกถึงรากเหง้า ความยากลำบาก เสียเลือด เสียเนื้อของบรรพบุรุษ ที่ต่อสู้กอบกู้มา

แม้แต่ภาษา เรากำลังเอาวัฒนธรรมอื่นมาทับถม เพราะเราไม่หวงแหนภาษา วัฒนธรรมของตน หรือเรามัวแต่จะแข่งต่างชาติ หรือเห็นว่าประเทศชาติไม่พัฒนาแบบสากลนิยม ประเทศไทย ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ไทย เราไม่อาจหนีความเดิมได้ ทำไมฝรั่งจึงยังมีภาพลักษณ์เก่าๆ ในสมองของเขาอยู่  แต่คนไทยกลับเรียกร้องให้คนไทยลืมอดีตที่น่าอดสูและน่าปวดใจหรือไม่

ขอเสนอว่า "ควรจะเน้นจำอดีต เป็นเครื่องติดสู่อนาคต"  ครับ เพราะปัจจุบันจะดำเนินไปอย่างไร ควรจะสนใจอดีตมาเป็นมาอย่างไร เช่น สอนให้คิดในอดีตว่า ทำไมประเทศชาติจึงเป็นเช่นนี้ ทำไมในหลวงจึงคิดหาทางแก้ไขวิถีชีวิตให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียง ทำไมคนไทยจึงอยากรวย ฯ เพื่อกำหนดเป้าหมายที่เชื่อมโยงได้ ๓ มิติ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตครับ

แต่อย่างไรก็ตาม เห็นว่าอ.เป็นผู้ที่คิดค้นแบบใหม่ๆ และมีประสบการณ์ในเรื่องการสอนแบบใหม่ ที่น่าตื่นเต้นและน่าสนใจครับ แต่ใช่ว่าจะรอบคอบเสมอไป ขอคิดต่างอย่างสร้างสรรค์ครับ ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณที่เสนอความคิดที่สร้างสรรค์ยิ่งครับ  

  • ผมเห็นด้วยและจะนำสิ่งที่อาจารย์เสนอไปปฏิบัติอย่างระมัดระวังยิ่งครับ 
  • ความจริง คนพูดเรื่อง ๕ บาป ทางการศึกษา นี้คือ ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ผมเขียนถึงเรื่องนี้ที่นี่ครับ  ซึ่งสอดคล้องกับ "ทศพิษการศึกษาไทย" ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เขียนเสนอไว้ ผมเขียนตีความไว้ที่นี่ครับ 
  • ผมตีความ (และเข้าใจ) คำว่า "เน้นอดีต" ในที่นี้ หมายถึง "กรอบ รูปแบบ ทฤษฎี เนื้อหา" เก่าๆ ที่เราสอนกันแบบ "บอก สอน ป้อน บรรยาย" กันในหลักสูตรที่สอนกันอยู่ทั่วไป .. ตัวอย่าง ที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผม คือ เนื้อหาในหนังสือเรียนฟิสิกส์พื้นฐาน(ภาษาไทย) ถูกคิดค้นมาแล้วกว่า ๑๐๐ ปี หากผู้สอนไม่เน้นคิด เชื่อมโยง ไม่มีทางเลยที่เราจะเรียนเนื้อหาใหม่ๆ ได้ทัน 
  • ส่วนเรื่องการ "เน้นจำอดีต เป็นเครื่องติดสู่อนาคต" ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงนั้น สามารถมองในมิติผลลัพธ์ของการขับเคลื่อน "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" อยู่แล้ว 

โอกาสทองในการปฏิรูปการศึกษา มาแล้ว ... มาร่วมกันลุยไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท