เรียนรู้ผ่านกิจกรรม น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


ผักบุ้งก้านยาวสดใส ในกาละมัง ประมาณ ๕๐ กำ ถูกรุมด้วยพ่อค้าแม่ค้า เสียงเรียกลูกค้าดังลั่น ชั่วพริบตาผักบุ้งก็ขายหมด ผมเฝ้าดูอยู่ตลอด และคิดว่าทำไมจึงขายได้ขายดี อาจเป็นเพราะนักเรียนที่น่ารักเป็นคนขาย หรือผักบุ้งสวยงามราคาถูก ที่สุดแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ผู้ปกครองก็ได้สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการขายครั้งนี้ ด้วยความรักและศรัทธาในผลิตผลของโรงเรียน ที่ผ่านการเรียนรู้ของนักเรียน จนเป็นกิจกรรมนำสู่ชุมชนภายนอก

ผมเคยคิดว่า..จะมีสักกี่คนที่เข้าใจ ว่าปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นองค์ความรู้ที่จะต้องผ่านการคิดและปฏิบัติ แบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆคิด ค่อยๆทำ อย่างเป็นระบบครบวงจร หมายความว่า อย่าเร่งรีบและต้องเป็นแบบบูรณาการ เพราะเรานำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ที่มีหลากหลายปัญหาและมากมายไปด้วยกิจกรรม ย้ำไว้ตรงนี้ว่า การรีบเร่งให้พอแค่ผ่านการประเมินให้ได้เกียรติบัตรและเพียงแค่เลี้ยงปลาเลี้ยงไก่ แล้วบอกว่าพอเพียง ...ในยุคนี้...คงไม่ใช่แล้ว

ทำอย่างไร เด็กจะเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ตามศักยภาพ ตามระดับชั้น สะสมไว้ให้เข้มข้น   เชื่อว่าจะ  ปรากฎผลเมื่อเขาเรียนต่อ หรือเป็นผู้ใหญ่ ได้ใช้ชีวิตประจำวัน เขาจึงจะรู้จักแก้ปัญหาและประยุกต์ใช้ด้วยตัวเขาเอง

ทุกวันนี้..ผมจึงไม่ได้หวังผลเลิศแต่ประการใด จุดประสงค์ของกิจกรรมที่นำเขาไปเรียนรู้ก็ไม่ได้บอก เมื่อเข้าสู่กระบวนการกลุ่ม จะฝึกให้พวกเขาคิด ออกแบบ และทำเอง ลองผิดลองถูก เมื่อทำบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นทักษะและองค์ความรู้ ที่ติดตัวไปไม่รู้ลืม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ให้โจทย์ ป.๕ - ๖ ซึ่งเป็นนักเรียนที่รับผิดชอบในการปลูกผักบุ้งจีนเมื่อตอนเปิดเทอม ผักบุ้งปลอดสารพิษ ได้รับการดูแลและได้รับน้ำฝนเป็นอย่างดี ทำให้เจริญเติบโต อย่างสวยงาม น่ารับประทาน เมื่อได้นำผักบุ้งของโรงเรียนเข้าสู่ครัวในโรงอาหาร และมอบให้ผู้อุปการะคุณแล้ว ยังมีอีกมากมาย ที่นักเรียนน่าจะได้แบ่งปันให้ผู้ปกครอง ได้รับประทานผักที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย

การแจกจ่าย(ฟรี) ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง คุณค่าที่ถูกต้องอยู่ที่วิธีคิด โดยขายในราคาที่ถูกที่สุด เพียงกำละ ๕ บาท กำจะใหญ่ขนาดไหน ให้พวกเธอไปคิดเอาเอง เริ่มตั้งแต่แบ่งหน้าที่กัน จัดหาอุปกรณ์และจัดร้านกันเอง ขายกันเอง...กิจกรรมต้องเริ่มได้ในเวลา ๑๕.๓๐ น. เพราะผู้ปกครองเขาจะมารับลูกหลานกลับบ้าน

ผมให้ครูประจำชั้น สังเกตการณ์อยู่ห่างๆ พบว่านักเรียนส่วนหนึ่งเก็บผักบุ้งไปล้างในสระ แล้วกลับมาล้างด้วยน้ำประปาอีกรอบ (จะสะอาดไปถึงไหน) อีกกลุ่มหนึ่ง จัดหาถุงพลาสติก หนังยางและตราชั่ง ฟังการอภิปรายว่า ๕ บาท จะขนาดไหนดี เห็นว่าทดลองชั่งดู ตกลงกันได้ว่า ๓ ขีดตรึ่ง (ที่ตลาดจะขาย ๑๐ บาท)

ผักบุ้งก้านยาวสดใส ในกาละมัง ประมาณ ๕๐ กำ ถูกรุมด้วยพ่อค้าแม่ค้า เสียงเรียกลูกค้าดังลั่น ชั่วพริบตาผักบุ้งก็ขายหมด ผมเฝ้าดูอยู่ตลอด และคิดว่าทำไมจึงขายได้ขายดี อาจเป็นเพราะนักเรียนที่น่ารักเป็นคนขาย หรือผักบุ้งสวยงามราคาถูก ที่สุดแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ผู้ปกครองก็ได้สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมการขายครั้งนี้ ด้วยความรักและศรัทธาในผลิตผลของโรงเรียน ที่ผ่านการเรียนรู้ของนักเรียน จนเป็นกิจกรรมนำสู่ชุมชนภายนอก

นักเรียนช่วยกันนับเงินที่ได้จากการขายผักบุ้ง ด้วยสีหน้าท่าทางที่ดีใจ จากนั้นก็ช่วยกันเก็บร้าน เก็บอุปกรณ์ แล้วนำเงินไปให้ครูนิรุต(ครูเกษตรของโรงเรียน) พร้อมกับบอกว่า "ครูคะ ขายดีจัง พรุ่งนี้ขายอีกนะคะ" ครูนิรุตให้นักเรียนทำรายการ บันทึกรายได้วันนี้ ลงบัญชีอย่างเรียบร้อย เป้าหมายตรงนี้ก็เพื่อให้นักเรียนรู้จักการบันทึกและเพื่อสะสมเงินไว้ เป็นทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ต่อไป

ครั้งนี้ นักเรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรม ทำกันจริงๆ ได้ฝึกทักษะการพูด ได้มีปฏิสัมพันธ์ในกระบวนการกลุ่ม ผมไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป..ตั้งโจทย์ใหม่ให้นักเรียนไปเขียนเป็นการบ้าน

"นักเรียนคิดว่ากิจกรรมการขายผักบุ้งจีนให้ผู้ปกครองในวันนี้ มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไร จงอธิบายตามความรู้ความเข้าใจ"

เมื่อนักเรียนมาส่งแล้ว ผมจะค่อยๆปรับแนวคิดของเขา ให้มีความรู้ความเข้าใจไปทีละน้อย และให้ตรงประเด็นมากที่สุด ในแง่ของ มิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณธรรม ความอดทนและการรู้จักแบ่งปัน

ท้ายที่สุด ก็คงจะฝึกเขาให้เขียนเรื่องสั้นๆ ไปสู่การเป็นนักเขียนน้อย โดยผ่านกิจกรรมทำหนังสือเล่มเล็ก เชื่อว่า..จะไม่ยาก.ถ้านักเรียนได้ผ่านการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมแบบนี้.

                                                                                                               ชยันต์ เพชรศรีจันทร์ 

                                                                                                               ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๗

                                                                                                                    www.bannongphue.com





หมายเลขบันทึก: 570812เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2014 09:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2014 14:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

จัดตลาดนัดโรงเรียนไปเลยท่าน  ได้กิจกรรมการเรียนอีกหลายสาระด้วยนะ

เป็นกิจกรรมดีมากค่ะ เด็กได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงด้วยตนเอง ได้ปฏิบัติจริงตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงขั้นจำหน่ายผลผลิต ดูเด็กมีความสุขนะคะ  ชื่นชมคะ

...มีหลายกิจกรรมโครงการที่ปลูกฝังให้เด็กเข้าถึง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนะคะ ...ชื่นชมและเป็นกำลังใจค่ะ

ชอบใจจัง ผู้ปกครอง ช่วยกันชื้อผักกลับบ้าน .... แบบนี้ดีค่ะ

หวัดดีอีกรอบท่าน ผอ.คนเก่ง  อาจารย์สุรศักดิ์  ฝากข้อความ  มาถึงท่านด้วยจ้ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท