SEEN มหาสารคาม _๐๗ : ประเมินโรงเรียนผดุงนารี จ.มหาสารคาม


วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตอนบ่าย คณะกรรมการประเมินการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) ด้านการศึกษา  กลับเข้ามา อ.เมือง เพื่อตรวจเยี่ยมโรงเรียนผดุงนารี หลังจากที่ตอนเช้าเข้าเยี่ยมโรงเรียนบรบือ อ.บรบือ โรงเรียนผดุงนารีเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ มีนักเรียนกว่า ๔,๐๐๐ คน เป็นโรงเรียนตามหลักสูตรมาตรฐาน-สากล ดูข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนที่นี่ เว็บไซต์ของโรงเรียนอยู่ที่นี่ เฟสบุ๊คของโรงเรียนอยู่ที่นี่

วันอาทิตย์ที่ ๑๘ พฤษภาคม ผมได้รับการเชิญให้ไป "สนทนา" กับทีมขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนผดุงนารี  ผมพิจารณาว่า เป็นจังหวะดีที่จะได้เรียนรู้ว่า ทางโรงเรียนขับเคลื่อนอย่างไร และมีปัญหาตรงไหนอย่างไร และอีกทั้งเวลาตามตารางที่จะมาประเมินที่โรงเรียนผดุงนารีคือ วันที่ ๒๒ ผมติดราชการเป็นวิทยากรที่ มทร.โคราช จึงเป็นโอกาสที่จะได้สัมภาษณ์ทีมขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียนไปด้วย และผมตีความว่า นี่เป็นความกระตือรือล้นของโรงเรียนในการเตรียมตัว เตรียมงาน อาจเป็นเพราะทางทีมคณะกรรมการอาจจะยังไม่เพียงพอในการสื่อสาร จึงทำให้เกือบทุกโรงเรียนยังไม่เข้าใจกระบวนการประเมินในครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้ทำให้มีการปรับเปลี่ยนตารางการประเมินใหม่ จึงเป็นโอกาสให้ผมได้เข้าร่วมประเมินได้ในที่สุด ผมคิดเหตุการณ์นี้เป็นการนำหลัก ปศพพ. มาใช้ในการทำงานประการหนึ่งของทีมขับเคลื่อนฯ ของโรงเรียน.... ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งทำให้ผมมั่นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การพูดคุยสนทนากันแบบไม่เป็นทางการนั้น "ทรงประสิทธิภาพ" สอดคล้องกับบริบทของคนไทยมากกว่า "การส่งจดหมาย ขอเข้าพบ" มากนัก

ความภูมิใจที่สัมผัสได้จาการนำเสนอของผู้บริหาร คือ ความสำเร็จในการส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนจนสามารถชนะเลิศการแข่งขันทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ ได้แก่ วงอีสาน-ดรัมไลน์ และตะกร้อลอดห่วงหญิงรุ่นอายุไม่เกิน ๑๘ ปี (อ่านข่าวที่นี่) เป็นต้น

ดูข่าวการชนะเลิศระดับโลกของวง อีสาน-ดรัมไลน์ ได้ที่คลิปนี้ 

ดูการแสดงจริงๆ ของวงได้ที่คลิปนี้  น่าจะได้รับเชิญไปแสดงที่อเมริกาหลังจากได้แชมป์แล้ว

ผมตีความและสังเคราะห์ว่า ปัจจัยของความสำเร็จอยู่ที่ "ความเพียร" การฝึกฝนอย่างหนักของนักเรียน ภายใต้ความเข้มงวดของครูผู้รับผิดชอบ และอีกประการสำคัญน่าจะเป็น "วิสัยทัศน์" และ วิธีการบริหารจัดการและ "สนับสนุน" อย่างเต็มที่และมีระบบของ ดร.มีศิลป์ ชินภักดี ผู้อำนวยการโรงเรียน

แม้ว่าจะไม่ได้พบและสัมภาษณ์นักเรียนทั้งสองกลุ่มนี้ แต่หลังจากสืบค้นและศึกษาผลงานของพวกเขา ผมมั่นใจว่า พวกเขาทุกคนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมไทยอีสาน และภูมิใจในเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีของความเป็นไทยที่พวกเขาได้บรรลุความสำเร็จด้วยความเพียรของตน ... นี่เป็นอุปนิสัยพอเพียงประการสำคัญ

สิ่งที่กระผมชื่นชมที่สุดไม่ใช่รางวัลต่างๆ ที่นำมาแสดง  แต่เป็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ และเสียสละของครู ในโครงการ "เยี่ยมบ้านนักเรียน" ท่าน ผอ. เล่าให้ฟังว่า "..เราเยี่ยมบ้านนักเรียน ๑๐๐ เปอร์เซนต์ เยี่ยมบ้านทุกคน..."  ทันทีที่ได้ฟัง สมองผมเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ที่อาจารย์ไพรัตน์ ธรรมแสง หนึ่งในทีมขับเคลื่อนฯ ของเรา เล่าให้ฟังเรื่องอาจารย์เปิ้ล (ภรรยาท่าน) ซึ่งเป็นครูสอนโรงเรียนผดุงนารีทำงานเยี่ยมนักเรียนหนักแค่ไหนในแต่ละเทอม  ในแต่ละห้องเรียนมีนักเรียนประมาณ ๕๐ คน มีครูประจำชั้น ๒ คน นั่นคือครูแต่ละคนต้องออกเยี่ยมบ้าน ๒๕ ครอบครัว โดยมีงบสนับสนุนเพียง ๑,๕๐๐ บาท .... ผมตีความว่า นี่เป็นไม้ตายของ ผอ.มีศิลป์ ที่ทำให้ท่านสามารถเพิ่มนักเรียนจาก ๒,๕๐๐ เป็น ๔,๐๐๐ คนในปีนี้

ผมฟังว่า เหตุที่โรงเรียนผดุงนารี มีความมั่นใจที่จะขับเคลื่อนฯ เป็นโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือการมีรองผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ท่านสำเร็จการศึกษาด้านปริญญาเอกด้านนี้มาโดยตรง และที่ผ่านมาท่านก็ได้ทำกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ในความเข้าใจของผม ผู้ขับเคลื่อนฯ แม้จะจบการศึกษามาด้านสาขาวิชาใด แต่หากมี "ใจ" เห็นความสำคัญของอุปนิสัย "พอเพียง" และมีอุดมการณ์ มุ่งมั่นที่จะแบ่งปันแผ่ขยายไปสู่นักเรียนลูกหลาน เป็นอันใช้ได้  และยิ่งหากมี "หลักวิชา" ที่ได้ศึกษามาโดยตรง มีประสบการณ์งานขับเคลื่อนฯ ดังเช่น รอง ผอ. ภักดี ด้วยแล้ว ยิ่งต้องถือว่าพร้อมและไม่จำเป็นจะต้องรอผลการประเมินใดๆ  ลุยได้ทันที ประโยชน์เกิดกับตนเอง เพื่อนครู และนักเรียนทันที ...

สิ่งที่ประทับใจและชื่นชมอันดับสองรองจากครู คือ การให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญา และส่งเสริมนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านภูมิปัญญา ได้รับโอกาสมาแสดงความสามารถ  นักเรียนคนหนึ่งที่มาเล่าเรื่องมีความสามารถด้านการเรียนและการรู้จักตนเอง อีกทั้งยังกำหนดเป้าหมายในชีวิตของตนเองชัดเจนตั้งแต่ยังเยาว์นัก ส่วนนักเรียนชายอีกคนมีความสามารถด้านการด้นเพลง "แหล่"... เสียดายที่ไม่ได้บันทึกเสียงไว้ และค้นทางออนไลน์ก็ไม่พบ ...

ผลการประเมินและข้อสะท้อน

โดยภาพรวมแล้ว กรรมการประมินฯ สะท้อนว่า นักเรียนแกนนำที่มาแสดงผลงานในห้องทุกคน มีทักษะการคิดวิเคราะห์  สามารถสังเคราะห์ โต้ตอบ ตอบคำถามได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล มีไหวพริบดีเยี่ยม สอดคล้องกับที่เป็นผลงานของโรงเรียนมาตรฐานสากล ที่เน้นให้นักเรียนได้ "ฝึกสืบค้น ฝึกคิด ฝึกทำ ฝึกนำเสนอ ฝึกแก้ปัญหา" อย่างไรก็ตาม หลังจากการเดินสำรวจ สังเกต และสัมภาษณ์นักเรียน ผมพบว่า

  • นักเรียนเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ในระดับ "มูลค่า" และระดับ "ความรู้" (อ่านที่นี่) การบูรณาการ "หลักคิด" เข้าไปในสิ่งที่ทำเช่น โครงงาน ฯลฯ หรือการนำไปปรับใช้ในกิจกรรมและกิจวัตร ยังไม่ชัดเจน  คำตอบของนักเรียนจึงมักเน้นด้านมิติของวัตถุ เศรษฐกิจ 
  • ผมสังเคราะห์และตีความว่า ผู้บริหารและครูล้วนแต่มีอุปนิสัย "พอเพียง" เพียงแต่กระบวนการขับเคลื่อนฯ ให้นักเรียนแกนนำได้ "เรียนรู้วิธีการเรียนรู้" ของตนเอง และ "เรียนรู้จากการทำงาน" ว่า ตรงไหนบ้างที่ "ปรับใช้" หรือนำ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ ยังไม่มากพอ  ผมคาดว่า "บทบาทของครูแกนนำ" ในการขับเคลื่อนฯ น่าจะอยู่เพียงระดับที่ ๒ ตาม "กรอบคิดนี้"
  • ผมวิเคราะห์ว่า การขับเคลื่อนฯ ที่ผ่านมาอาจแยกส่วนระหว่าง "คุณธรรม" กับ "ความรู้" (หมายถึงวิชาการ) แยกจากกิจกรรมชมรม กิจกรรมเด่นๆ เช่น วงอีสาน-ดรัมไลน์ หรือตะกร้อลอดห่วง  แม้ผมจะมั่นใจว่า เด็กนักเรียนเจ้าของเหรียญทองเหล่านั้นจะภูมิใจในตนเองและท้องถิ่น และมีอุปนิสัย "พอเพียง" พอสมควร แต่ผมคิดว่า พวกเขายังไม่ได้เอา ปศพพ. ไปขยายบอกต่อ 
  • ในการขึ้นไปเยี่ยมห้องเรียน ผมเห็นร่องรอยของการขับเคลื่อนฯ อย่างจริงจัง  ภาพที่อยู่หลังห้องเรียนแสดงถึงหัวเรื่องเรียนรู้ที่ครูให้ความสำคัญ ดังภาพ 

  • ภาพข้างบนสะท้อนให้เห็นว่า เด็กๆ สืบค้นเรื่อง ปศพพ. และนำเสนอเกี่ยวกับการเกษตร "เกษตรทฤษฎีใหม่" ยังไม่เห็นร่องรอยของการใช้ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" มาใช้กับ "การศึกษา" ในที่นี้คือ "การเรียน" และ "ชีวิตประจำวัน" ที่อยู่กลางเมืองมหาสารคาม  จึงทำให้ผมคิดว่า ทั้งนักเรียนและครูส่วนหนึ่ง อาจจะยังไม่ได้รับการขับเคลื่อนฯ ปศพพ. อย่างถูกต้องและทั่วถึง 

 ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนฯ

  • ใช้รายวิชา IS ในหลักสูตรโรงเรียนมาตรฐานสากล เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน "หลักคิดเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้กับกระบวนการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สะท้อน หรือ "ถอดบทเรียน" การเรียนรู้ของตนเอง และ ฝึกตีความและอธิบายงานของกลุ่มตนเองตามหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ
  • ปรับใช้ "หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง" กับการจัดการเรียนการสอน กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม และกิจกรรมต่างๆ ถ้าเป็นไปได้ ให้บูรณาการเชื่อมโยงระหว่าง กิจกรรมการเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม และการมอบหมายงานหรือตั้งปัญหาให้สอดคล้องกัน สอดคล้องกับปัญหาจริงๆ ของชุมชนและสังคม
  • แต่งตั้งทีมขับเคลื่อนฯ ครูแกนนำ และนักเรียนแกนนำอย่างเป็นทางการ เพื่อดำเนินการขยายความสำเร็จของโรงเรียนในทุกมิติ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ หรือ KM  โดยครูแกนนำทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการหรือ "กระบวนกร" 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขียนนี้ค่อนข้าง "หยาบ" และเป็นการ "คิดเขียน" ด้วยการประเมินที่จำกัด  อย่างไรก็ดี การเขียนบันทึกนี้ก็เพื่อพัฒนา ด้วยใจที่เป็นกัลยาณมิตรกับท่าน สงสัยหรือเห็นเป็นประการใด โปรดได้อธิบายชี้แจงต่อไปครับ 

หมายเลขบันทึก: 570503เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2014 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2014 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การมีผู้บริหารจบศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงสู่วิถี-กระบวนการ หรือยุทธศาสตร์ได้  ถือเป็นความสำหรับเชิงนโยบายที่เป็นทั้งระบบและกลไกที่สำคัญมาก  เสมือนย้ำเป็นนัยยะสำคัญว่า หัวขยับ....หางก็ส่ายอย่างมีชีวิต-พลัง...

ชื่นชมครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท