​รู้ได้อย่างไรว่ารู้


          นี่คือทักษะสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของครู ที่วงการศึกษาไทยมักมองอย่างผิวเผิน และครูไทย จำนวนมากไม่มีทักษะนี้ รวมทั้งวงการครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ก็ไม่ได้เอาใจใส่ทำให้ครูไทยมีทักษะนี้ ที่ผมเรียกว่า ทักษะ ประเมินทันควัน เพื่อการพัฒนา ( Embedded Formative Assessment) และใช้กิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำหน้าที่ โค้ช การเรียนรู้ของศิษย์

          ในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้ของศิษย์ ครูต้องยึดกุมเป้าหมายของการเรียนรู้อยู่ทุกขณะจิต รวมทั้งยึดกุมเกณฑ์ในการประเมินทันควัน เพื่อการพัฒนา ครูจะต้องมีคำถามที่ยั่วยุ หรือท้าทาย ให้ศิษย์แสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมา ให้ครูประเมินทันควัน ได้ และรู้ว่าศิษย์คนไหนบรรลุเป้าหมายแล้ว คนไหนยังอยู่ในช่วงดิ้นรนมุ่งมั่นทำความเข้าใจอยู่

          ความท้าทายอยู่ที่ “หนึ่งคำถามมีหลายคำตอบ” ซึ่งหมายความว่า การบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้บทเรียนนั้น นักเรียนที่บรรลุอาจแสดงพฤติกรรมแตกต่างกัน นี่คือความงดงามของการเรียนรู้ และของการทำหน้าที่ครู ที่ไม่เป็น “ครูสอน” แต่ทำหน้าที่ “ครูฝึก” (โค้ช)

          หน้าที่หลักของ โค้ช คือให้คำถาม หรือตั้งคำถามที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้นๆ ไม่ใช่การให้คำตอบ การตั้งคำถามที่ดี จะทำให้ศิษย์มุ่งมั่นทำงานเพื่อเรียนรู้ และในที่สุดทำได้และคิดออกเอง การเรียนจะเป็นความสำเร็จทีละขั้นตอน ที่ต้องผ่านความพยายาม ที่เมื่อบรรลุผล ก็จะเกิดความภาคภูมิใจ เกิดปิติสุขและเกิดความมั่นใจในตนเอง สิ่งเหล่านี้เป็นผลลัพธ์ของการเรียนรู้ ที่ไม่ได้จากการรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปโดยตรง

          เพราะครูรู้ว่าศิษย์ยังไม่รู้ (จากการประเมินทันควัน) ครูจึงตั้งคำถามเพื่ออำนวยความสะดวกให้ศิษย์ ฝึกทดลอง และฝึกคิดด้วยตนเอง จนในที่สุดบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ในบทเรียนนั้นได้

          เพราะครูรู้ว่าศิษย์ยังไม่รู้ เพราะติดขัดที่ต่างจุด ครูจึงเลือกคำถามที่เหมาะสมต่อขั้นตอนความเข้าใจ ของศิษย์แต่ละคน ทำได้เพราะครูมีทักษะการประเมินทันควัน เพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นทักษะที่ละเอียดอ่อน และต้องการการฝึกฝน ฝึกแล้วเอาประสบการณ์มาทบทวนไตร่ตรอง ทั้งไตร่ตรองคนเดียว และไตร่ตรองร่วม กับเพื่อนครู ใน Lesson Study หรือ PLC

          ไม่มีการสอน หรือตำราใด ที่จะทำให้ครูทำประเมินทันควัน เพื่อการพัฒนา เป็น จะทำได้ต้องฝึก เช่นเดียวกับการฝึกว่ายน้ำ เมื่อทำเป็น ครูจำนวนหนึ่งอาจอธิบายไม่ได้ แต่ทำให้ดูได้ โดยการฝึกแล้วใคร่ครวญ ไตร่ตรอง จะช่วยให้ทำได้ดียิ่งขึ้น ประเมินได้ลึกซึ้งขึ้น

          การประเมินทันควัน เพื่อการพัฒนา คู่กับ การให้คำแนะนำป้อนกลับทันควัน เพื่อการพัฒนา (Formative Feedback) เพื่อสร้างกำลังใจให้ศิษย์ใช้ความมานะพยายาม ปรับปรุงตนเอง ดำเนินกิจกรรมเพื่อ การเรียนรู้ของตน จนบรรลุเป้าหมาย

          คำแนะนำป้อนกลับทันควัน ไม่ควรเป็นการสอนตรงๆ แต่ควรเป็นคำถาม คำเชียร์ หรือคำให้สติ ว่างานมาถึงขั้นไหนแล้ว สำหรับให้ศิษย์นำไปคิดต่อ ลองต่อ จนในที่สุดบรรลุเป้าหมายของการเรียนรู้

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 569192เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 11:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

หนังสือเล่มนี้ http://www.amazon.com/Embedded-Formative-Assessmen...

ที่อาจารย์แนะนำไว้กำลังจะซื้อมาศึกษาค่ะ

นำคำถามที่ครูสามารถใช้ถามผู้เรียนได้ตามหลักการคิดของ Bloom มาฝากค่ะ

http://www.educatorstechnology.com/2014/03/new-blooms-taxonomy-planning-kit-for.html

ในการรักษามาตรฐานของหลักสูตร จะมีการสอบทานผลสัมฤทธิ ของ สมรรถนะ การเรียนรู้ ทุกรายวิชา อย่างน้อย ร้อยละ ๒๐ ครับ

พยายามปฏิบัติอยู่ครับอาจารย์

ติดตามมาจากการอ่านหนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ครับ ตอนแรกที่ซื้อหนังสือต้องบอกว่าเป็นเพราะการออกแบบหนังสือที่น่าอ่าน การใช้อินโฟกราฟิกที่เข้าใจง่าย แล้วจึงมาสนใจเนื้อหาต่อไป ค่อยๆ ละเมียดอ่านทำความเข้าใจ ทีละเล็กละน้อย และสัญญาว่าจะนำไปปรับใช้กับการประเมินการสอนของตนเอง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท