เก็บตกวิทยากร (8) : แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ "แรกพบ ๕ หมอ"


ปัญหาและอุปสรรค ถือเป็นการฝึกทักษะของการเรียนรู้และสู้ชีวิต ซึ่งจะช่วยให้นิสิตได้ “รุก-รับ” กับปัญหาเฉพาะหน้า ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการข้ามพ้น-ผ่อนคลาย-คลี่คลายปัญหา ทั้งในระดับปัจเจกและระดับความเป็นทีม

ย้อนกลับไปสู่เวทีการสรุปผลการดำเนินงานโครงการแรกพบ ๕ หมอเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๗ 

          เวทีดังกล่าว โดยส่วนตัวแล้ว ผมถือเป็นเวทีการประเมินผลการดำเนินงานกิจกรรมหลัก (กิจกรรมประเพณี) ของสโมสรนิสิตทั้ง ๕ คณะที่ประกอบด้วยคณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์

         ก่อนกระบวนการทั้งปวงจะเริ่มต้น ผมทำกระบวนการ BAR เล็กๆ พร้อมๆ กับการสำรวจกลุ่มเป้าหมายว่าเป็น “ตัวจริง เสียงจริง” (คนหน้างาน) แค่ไหน

         เป็นที่น่าเสียดายว่า นิสิตที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มใหม่” ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบกิจกรรม “แรกพบ ๕ หมอ” ในปีหน้า  หาใช่กลุ่มผู้รับผิดชอบเดิมที่ขับเคลื่อนกิจกรรมในปีนี้

          กรณีเช่นนี้ ทำให้ผมต้องปรับกระบวนการมากโขพอสมควร เพราะเมื่อตัวจริงเสียงจริงมากันไม่เยอะพอ การถอดบทเรียนก็คงยากยิ่งต้องการสืบค้นเชิงลึก –




ผมเริ่มต้นเวทีกระบวนการอย่างเป็นทางการด้วยกิจกรรมเดิมๆ คือ “รู้จักฉันรู้จักเธอ”

            ก่อนเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทางการ ผมแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ ๕คน เพื่อให้นิสิตได้วาดรูปในหัวข้อ “ความสุข” หรือ “กิจกรรมในความทรงจำ”

            กิจกรรมดังกล่าวผมมุ่งเน้นให้นิสิตแต่ละคนได้ “ทบทวนชีวิต” หรือการ “ถอดบทเรียนชีวิต” จากตัวเอง (ระดับปัจเจกบุคคล) เพื่อค้นหาพลังชีวิต หรือปัจจัยความสำเร็จที่ทำให้ชีวิตแต่ละคนได้มีกำลังกายและกำลังใจหยัดยืนอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นการถ่ายทอดผ่านงาน “ศิลปะ” (ภาพวาด)  ผ่านฐานคิดของ “ศิลปะบำบัด”
           ถัดจากนั้นจึงให้แต่ละคนได้ถ่ายทอดเรื่องราวในภาพวาดให้สมาชิกในกลุ่มได้ร่วมรับรู้รับฟัง เพื่อฝึกทักษะของการ “สื่อสาร” ตลอดจนฝึกทักษะของการ “ฟังอย่างฝังลึก” ร่วมกัน รวมถึงการสร้างทัศนคติที่ดีในการ “แบ่งปัน” เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตอันดีงาม หรือเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในหมู่ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสร้างความคุ้นเคยก่อนเข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้




ซึ่งภาพรวมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกระบวนการ “รู้จักฉันรู้จักเธอ” ทำให้พบว่าเรื่องราวอันเป็นพลังชีวิตที่เป็นปัจจัยหนุนเสริมการใช้ชีวิต หรือการขับเคลื่อนชีวิตของนิสิตนั้น ส่วนใหญ่ จะเป็นเรื่องความสุขในมิติของครอบครัวเป็นหลักสำคัญ เช่น

  • การได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้ปกครอง
  • การใช้ชีวิตร่วมกับเครือญาติ
  • การใช้ชีวิตกับเพื่อน
  • การเข้าร่วมกิจกรรมทั่วๆ ไปในรั้วมหาวิทยาลัย

และเป็นที่น่าสังเกตว่า มีนิสิตเพียง ๒คนเท่านั้นที่สะท้อนความสุข หรือพลังชีวิตที่เกี่ยวกับกิจกรรม “แรกพบ ๕ หมอ”





วัตถุประสงค์?

            ด้วยความที่นิสิตที่เข้าร่วมการถอดบทเรียนเป็นกลุ่มใหม่ ผมจึงถือโอกาสประเมินความเข้าใจของนิสิตกลุ่มนี้ซะเลย ด้วยการถามทักถึง “วัตถุประสงค์” ของการจัดกิจกรรมแรกพบ ๕ หมอ   ซึ่งเป็นเสมือนการหยั่งทักถึง “ความเข้าใจ” เกี่ยวกับกิจกรรมตามหลักคิดที่ผมเรียกว่า “รู้ตัวตนโครงการ”

            แน่นอนครับ- คำถามพื้นๆ เช่นนี้ เป็นการช่วยให้นิสิตได้หันกลับไปพบทวนตัวเองว่า “รับรู้” ความเป็นกิจกรรมแรกพบ ๕ หมอในมิติใด หรือในมุมของนิสิตนั้นคิดว่ากิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่ออะไร –

            ซึ่งนิสิตได้สะท้อนออกมา ๒ ประเด็นหลัก คือ

  • เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ของนิสิตในกลุ่มวิชาชีพ ๕หมอ ทั้งในระดับนิสิตใหม่ (น้องใหม่) กับนิสิตใหม่ และนิสิตใหม่กับรุ่นพี่ หรือแม้แต่ระหว่างนิสิตรุ่นพี่กับนิสิตรุ่นพี่
  • เพื่อจัดกิจกรรมรับน้องใหม่ โดยให้น้องใหม่เกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มวิชาชีพ ๕ หมอ

รูปแบบกิจกรรม ?

             ถัดจากการชักชวนให้นิสิตได้ทบทวนถึง “วัตถุประสงค์” การจัดกิจกรรมแล้วก็เข้าสู่ประเด็นของ “รูปแบบ” หรือ “ลักษณะกิจกรรม” เพราะประเด็นนี้คือตัวชี้วัดสำคัญที่จะขยายความเป็นนามธรรมของวัตถุประสงค์ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมที่แตะต้องสัมผัสได้

            ซึ่งนิสิตได้สะท้อนถึงภาพรวมของกิจกรรม ดังนี้

  • เข้าฐานกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้จำนวน ๕ฐาน (๕คณะ) โดยมุ่งเน้นประเด็นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมของการเป็นนิสิตที่ยึดโยงกับความเป็นปรัชญา-เอกลักษณ์-อัตลักษณ์การเป็นนิสิตในระดับมหาวิทยาลัย ตลอดจนคุณธรรมจริยธรรมในระดับคณะ หรืออื่นๆ  เช่น  เรื่องความเสียสละ ความสามัคคี
  • กิจกรรมสันทนาการ/กลุ่มสัมพันธ์มุ่งเน้นละลายพฤติกรรมของนิสิตใหม่และรุ่นพี่เข้าด้วยกัน เน้นการบันเทิงเริงปัญญา โดยสอดแทรกสาระความคิดเรื่องต่างๆ ไว้ในกิจกรรม  รวมถึงการสร้างสถานการณ์ให้นิสิตใหม่ได้ฝึกทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม
  • กิจกรรมร้องเพลงคณะ เพื่อให้น้องใหม่ในวิชาชีพ ๕ หมอ (๕ คณะ)  ได้ร่วมสัมผัสบรรยากาศปรัชญาชีวิตผ่าน “เพลงเชียร์ประจำคณะ” เสมือการสื่อสารแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความเป็นคณะต่อกันและกัน โดยกิจกรรมดังกล่าวนี้ นิสิตรุ่นพี่ในแต่ละคณะจะเป็นผู้ขับร้องให้น้องใหม่ทั้ง ๕ คณะได้ฟังร่วมกัน
  • กิจกรรมผูกแขนรับขวัญ เป็นกิจกรรมขั้นตอนสุดท้ายที่มุ่งสู่การรับขวัญน้องใหม่ทั้ง ๕คณะพร้อมกันโดยไม่แบ่งแยกคณะ เสมือนการเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ในทางวิชาชีพอันเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อก่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อการเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยร่วมกัน รวมถึงการเป็นเครือข่ายการทำงานที่ดีเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว
  • กิจกรรมบูรณาการทางวิชาชีพ เช่น การรณรงค์การงดสูบบุหรี่

ปัญหาและอุปสรรค ?


              ผมให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ไม่แพ้ประเด็นอื่นๆ  เพราะปัญหาและอุปสรรค ถือเป็นการฝึกทักษะของการเรียนรู้และสู้ชีวิต   ซึ่งจะช่วยให้นิสิตได้ “รุก-รับ” กับปัญหาเฉพาะหน้า  ได้เรียนรู้ถึงกระบวนการข้ามพ้น-ผ่อนคลาย-คลี่คลายปัญหา ทั้งในระดับปัจเจกและระดับความเป็นทีม

             ซึ่งในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น ปัญหาและอุปสรรคที่นิสิตได้สะท้อนนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ หรือการบริหารจัดการภายในของคณะทำงานเป็นหัวใจหลัก   รวมถึงปัจจัยอุปสรรคที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ยึดโยงถึงสถานที่และบรรยากาศอื่นๆ ดังนี้

  • ปัญหาการสื่อสารระหว่างทีมทำงานที่เป็นคณะทำงาน (รุ่นพี่) ทั้งในระดับภายในคณะและระหว่างคณะ เช่น การมอบหมายบทบาทที่ไม่เป็นรูปธรรม ทั้งในระดับทีม/กลุ่ม    ซึ่งไม่มีคำสั่งรองรับที่เป็นกิจจะลักษณะ ทำให้ต้องต้องตีความในภารกิจเฉพาะหน้าในฐานกิจกรรม (บ้านกิจกรรม)  
  • จำนวนพี่สต๊าฟไม่เพียงพอต่อจำนวนนิสิตใหม่ (น้องใหม่)   ก่อให้เกิดการบริหารจัดการ   หรือดูแลได้ไม่ทั่วถึง รวมถึงมีรุ่นพี่จำนวนไม่เพียงพอที่จะผูกแขนรับขวัญน้องใหม่   ส่งผลให้น้องใหม่จำนวนมากไม่ได้รับการผูกแขนรับขวัญ   
  • ความไม่ตรงต่อเวลาของนิสิตใหม่และรุ่นพี่ ส่งผลให้เวลาการจัดกิจกรรมคลาดเคลื่อนออกไป  รวมถึงการไม่มีป้ายบอกจุดนัดหมายที่เป็นรูปธรรม   จึงทำให้การจัดการเป็นไปด้วยความยากลำบาก   ส่งผลให้เวลาการจัดกิจกรรมคลาดเคลื่อนไปโดยปริยาย   
  • สถานที่ไม่เอื้ออำนวย   ซึ่งหมายถึงจัดอยู่ในตัวอาคารที่ทำให้ระบบเสียงก้องจนเกินไป  ส่งผลให้มีปัญหาต่อการสื่อสาร หรือรับสารที่ไม่ชัดเจน

ผลที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม/เข้าร่วมกิจกรรม?


           ประเด็นนี้ดูเหมือนนิสิตจะใช้เวลาขบคิดและแลกเปลี่ยนกันไม่นาน     ยิ่งเป็นกลุ่มคนที่เคยอยู่ในฐานะของการเป็นรุ่นน้องที่เข้าร่วมกิจกรรมมาได้ไม่ได้   ยิ่งสามารถทบทวนถึงประเด็นเหล่านี้ได้อย่าไม่ยากเย็น   ซึ่งมีประเด็นที่สะท้อนกลับมา ดังนี้

  •  เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนิสิตในวิชาชีพ 5 หมอ (5 คณะ) ทั้งในระดับนิสิตใหม่กับนิสิตใหม่ และระหว่างนิสิตใหม่กับรุ่นพี่ หรือนิสิตรุ่นพี่กับรุ่นพี่  
  • เกิดการเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการการทำงานแบบเป็นทีม รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล และระดับความเป็นกลุ่ม-ทีม  
  • เกิดเวทีการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมอย่างสร้างสรรค์ผ่านกิจกรรมในลักษณะ “บันเทิงเริงปัญญา” ในเรื่องสำคัญๆ เช่น ความเสียสละ ความสามัคคี  
  • เกิดทัศนคติและแรงจูงใจของการเรียนรู้และใช้ชีวิตร่วมกันทั้งในการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยและการทำงานในวิชาชีพในอนาคต  
  • เกิดเครือข่ายชีวิตในกลุ่ม ๕ หมอ

ปัจจัยความสำเร็จ ?

ในมิติอันเป็นปัจจัยความสำเร็จนั้น นิสิตได้สะท้อนเป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้

  • ความสามัคคีในกลุ่มคณะทำงานที่เป็นรุ่นพี่   
  • ประสบการณ์ตรงของนิสิตรุ่นพี่ในการถ่ายทอดต่อคณะทำงาน รวมถึงประสบการณ์ตรงในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 
  • ความร่วมมือของนิสิตใหม่  
  • ความหลากหลายของกิจกรรม เช่น การบันเทิงเริงปัญญา ซึ่งนอกจากความสนุกสนานแล้วยังประกอบด้วยสาระความรู้ในมิติด้านศิลปวัฒนธรรม (ผูกแขนรับขวัญ) คุณธรรมจริยธรรมในฐานการเรียนรู้ รวมถึงการรณรงค์กระแสหลักของการรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกิจกรรม “ลดละเลิกบุหรี่”

ข้อเสนอแนะ?

ข้อเสนอแนะดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยข้อเสนอแนะหลักจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนิสิต  รวมถึงข้อเสนอแนะของผมเอง ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ดังนี้

  • เปลี่ยนแปลงการจัดกิจกรรมนอกสถานที่ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ชุมชน หรือนิเวศวัฒนธรรมอื่นๆ เป็นการเปิดโลกทัศน์แก่นิสิตใหม่และนิสิตรุ่นพี่  
  • เปลี่ยนแปลงรูปแบบกิจกรรม หรือบูรณาการกิจกรรมในลักษณะของ “ค่าย” เพื่อสร้างการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม หรือการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ซึ่งอาจเป็นกิจกรรมเล็กๆ มุ่งเน้นในทางวิชาชีพเป็นหลักสำคัญ  
  • ควรออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนิสิตใหม่ต่อเนื่องตลอดปีการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับแยกคณะและเครือข่ายวิชาชีพ ๕หมอ (๕คณะ)  
  • มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่มาร่วมเรียนรู้ ดูแล กำกับติดตามอย่างใกล้ชิดมากขึ้น  
  • บูรณาการกระแสหลักที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาการเรียนรู้ หรือวิชาชีพในฐานการเรียนรู้ให้หลากหลาย โดยไม่จำกัดอยู่แต่เฉพาะเรื่องรณรงค์งดบุหรี่  โดยการชูภาพลักษณ์   หรืออัตลักษณ์อันเป็นคุณธรรมจริยธรรมของมหาวิทยาลัยฯ หรือคณะต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมและหลากหลายรูปแบบ  เพื่อก่อให้เกิดความน่าสนใจ หรือแรงจูงใจในการเรียนรู้

นอกจากนี้ยังรวมถึงข้อเสนอแนะอื่นๆ อีกในหลายประเด็นเช่น  การถอดบทเรียนเพื่อประเมินแผนการดำเนินงานเช่นนี้ ควรเน้นกลุ่มเป้าหมายคนทำงาน (ตัวจริงเสียงจริง)  ผสมผสานกับคนเข้าร่วมงานที่จะเติบโตมาเป็นกลุ่มแกนนำใหม่ในการจัดกิจกรรมครั้งถัดไป  เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง  เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับแกนหลักของปีหน้าไปในตัว

อีกทั้งหากสามารถจัดกิจกรรมถอดบทเรียนหลังจากที่กิจกรรมได้ยุติลงไม่นานจะเป็นการดีอย่างมาก  เพราะจะทำให้ “มีความสด”  เสมือน “ตีเหล็กที่กำลังร้อนๆ” ข้อมูลที่ได้มา ก็จะมีความสดใหม่ไปโดยปริยาย

ครับ-   ถึงแม้เวทีดังกล่าวนี้   กลุ่มที่มาร่วมถอดบทเรียนจะไม่ใช่กลุ่มหลักดังที่ตั้งใจ   แต่อย่างน้อยยังได้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันบ้างล่ะ   มิหนำซ้ำยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในหมู่แกนนำใหม่ที่จะรับช่วงสืบสานกิจกรรมประเพณี "แรกพบ ๕  หมอ"  ไปในตัวด้วยเช่นกัน



หมายเลขบันทึก: 568992เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2014 07:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ชอบใจการทำงาน

สังเกตว่า

ตอนนี้ผอมลงแล้ว

555

ถ้ามีนิสิตกลุ่มเก่ามาด้วยน่าจะได้ประเด็นชัดเจนกว่านี้ครับ

ขอบคุณมากๆครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

สารภาพว่าผอมลงจริงครับ
บริหารกายและใจไม่สมดุลเท่าที่ควร
ส่วนเวทีนี้  ดังที่เรียนครับกลุ่มคนทำงานหลักไม่ได้เข้ามาร่วมเท่าไรนัก  แต่ในอีกมุม ก็ถือว่าเตรียมชุดใหม่ไปในตัว...
ในอนาคตคงมีการปรับแต่งให้กิจกรรมเหล่านี้มีพลังมากขึ้นได้เองครับ

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ ได้ไอเดียดีๆ ที่จะนำไปใช้กับโครงการที่ทำร่วมกับนักศึกษาค่ะ

ครับ - ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ คุณจิตศิริน

ว่าด้วยนิสิตนักศึกษานั้น  ไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม  เราล้วนยังวาดหวังกับพวกเขาอย่างไม่หยุดนิ่ง...การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเช่นนี้  เป็นกระบวนการบ่มเพาะทักษะชีวิตที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะได้คิด ได้พิสูจน์ความคิดผ่านการลงมือทำ..  ทั้งทำคนเดียวและทำเป็นกลุ่ม  สิ่งเหล่านี้มีอานุภาพต่อการเติบโตจริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท