ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ที่มา:v-reform.org

การเข้าเมือง และการพำนักอาศัยของคนต่างด้าว ถือเป็นอำนาจอธิปไตยและดุลยพินิจของรัฐเจ้าของดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศไม่ได้บังคับให้รัฐมีหน้าที่ต้องรับหรืออนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในรัฐตน รัฐจึงมีอำนาจอย่างสมบูรณ์ที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในรัฐก็ได้ โดยรัฐเจ้าของดินแดนมีอำนาจในการตรากฎหมายควบคุมการเข้าเมืองของคนต่างด้าวภายใต้เงื่อนไขใดๆได้อย่างเต็มที่ ดังที่ปรากฏในกฎหมายไทยตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน และมนุษย์ทุกคนควรเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นด้วย เพราะทุกคนเกิดมาเสมอภาคกันทางกฎหมาย แม้กระทั่งคนเข้าเมืองผิดกฎหมายหรือคนพิการก็ย่อมมีสิทธิ และเสรีภาพเช่นเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกในความแตกต่างระหว่าง เชื้อชาติ เพศ ผิว ภาษาหรือศาสนาใดๆทั้งสิ้น ซึ่งได้บัญญัติรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่1 ว่า “มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ”

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 4 “ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ”
มาตรา 26 “ การใช้อำนาจ โดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิและ เสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
มาตรา 28 “ บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิ และ เสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน”

ตัวอย่างกรณีศึกษาคนเข้าเมืองผิดกฎหมายที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีของน้องนิค หรือนายนิวัฒน์ จันทร์คำ เกิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2538 ที่ประเทศเมียนมาร์ โดยมารดาของน้องนิคเป็นคนไทยลื้อไร้รัฐไร้สัญชาติ และน้องนิคไม่มีหนังสือรับรองการเกิด หรือมีชื่อในทะเบียนประวัติใดๆ น้องนิคจึงตกเป็นบุคคลไร้รัฐโดยสิ้นเชิง ขณะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยพร้อมกับบิดามารดาโดยที่ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใดๆทั้งสิ้น ทั้งสามคนจึงตกอยู่ในสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามไม่อาจถือได้ว่าน้องนิคมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะในขณะที่น้องนิคเข้ามาในประเทศไทยนั้น น้องนิคมีอายุเพียง 3-4 ขวบ จึงขาดเจตนาที่จะเข้าเมืองผิดกฎหมายตามบิดามารดา

ต่อมาน้องนิคได้มาอาศัยอยู่กับป้าที่จังหวัดตรัง โดยป้าเกรงว่าน้องนิคจะไม่ได้รับสิทธิทางการศึกษาเนื่องจากน้องเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ จึงใช้เอกสารของบุตรตนเองแทนเพื่อให้น้องนิคมีโอกาสได้รับการศึกษา ซึ่งแท้จริงแล้วสิทธิทางการศึกษาเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับ แม้กระทั่งคนไร้สัญชาติก็ย่อมเป็นผู้ทรงสิทธิดังกล่าวได้ ดังที่ปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 26 ที่บัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะต้องให้เปล่าอย่างน้อยในขั้นประถมศึกษาและขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับประถมจะต้องเป็นภาคบังคับ การศึกษาด้านวิชาการและวิชาชีพจะต้องเปิดเป็นการทั่วไป และการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคสําหรับทุกคนบนพื้นฐานของคุณสมบัติความเหมาะสม”

น้องนิคเป็นเด็กเรียนดี เคยเป็นประธานนักเรียนของโรงเรียนและเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายคณะกรรมการนักเรียนในโรงเรียนบ้านหัวหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แม้ว่าในขณะนั้นน้องนิคจะยังไม่มีเอกสารใดๆแสดงตนรับรองสถานะบุคคล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนยอมรับสิทธิในการมีส่วนร่วมของน้องนิค ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานประเภทหนึ่ง

อีกทั้งยังปรากฏว่ารัฐไทยก็ได้รับรองสิทธิในการศึกษานี้ไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซี่งมีบทบัญญัติในมาตรา 10 วรรค 1 ที่ว่า“การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย”

โดยปัญหาความด้อยโอกาสของน้องนิค ซึ่งเป็นนักเรียนในสถาบันการศึกษาของไทย คือ ปัญหาความไร้สถานะบุคคลในทางทะเบียนราษฎร ไม่มีเอกสารประจำตัว และไม่มีเลขประจำตัว 13 หลักทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆตามสิทธิที่พึงมีตามกฎหมาย เช่นสิทธิในการรักษาพยาบาล เป็นต้น

ดังนั้น รัฐไทยจึงควรบันทึกชื่อของน้องนิคในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน ท.ร.38 ก เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติเมียนมาร์ต่อไป และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งน้องนิคย่อมได้รับสิทธิในการศึกษาซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ดังที่ได้มีการรับรองไว้ในหลักกฎหมายดังกล่าว และย่อมได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ

อ้างอิง

1.อำนาจ ช่างประดับ ,กฎหมายคนเข้าเมืองของประเทศไทย : ศึกษากรณีการเข้าเมือง,http://www.l3nr.org/posts/528635

2.องค์การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ,http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php

3.ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf

4.เอกสารประกอบการสอนวิชา น.396 กฎหมายสิทธิมนุษยชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2556

สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568678เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท