ขอแนะนำพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ ในม.ราชภัฏโคราช "พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา"


“...ขุนนางจากกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มาโคราชพร้อมกับวัฒนธรรมภาษา อาหาร การแต่งกายมาผสมผสานกับชนพื้นถิ่นเดิม ซึ่งมีทั้งมอญ ขะแมร์ ลาว และอีกหลายเผ่าพันธุ์ นานวันเข้าก็กลายเป็นอัตลักษณ์ใหม่เรียกว่า “ไทโคราช” นุ่งโจงกระเบน ไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม กินข้าวเจ้า ไม่กินข้าวเหนียว สร้างศัพท์ภาษาของตนขึ้นมา เช่น ฝนละลึม คนจังหวัดอื่นเดาไม่ออกหรอกว่าคนโคราชหมายถึงฝนปรอยๆ...” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นฤมล ปิยวิทย์

พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ถือกำเนิดด้วยความมุ่งหวังของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่จะส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ให้กับคนในท้องถิ่น โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาผ่านแหล่งเรียนรู้ที่เป็นสาธารณะที่มีการบูรณาการความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา ควรค่าที่คนโคราชจะได้รับรู้และภาคภูมิใจ โดยมุ่งหวังที่จะกระตุ้นให้เยาวชนชื่นชอบและสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าในประวัติศาสตร์ ศิลปะและมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพชนไทยได้สั่งสมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน นับได้ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมาที่นักท่องเที่ยวจะได้รับข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวบริเวณจังหวัดนครราชสีมาก่อนที่จะไปชมยังสถานที่จริง

@@@ เปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการแล้วนะครับ ณ อาคาร 10 ชั้น 2 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สอบถามรายละเอียดได้ที่ 044-009 009 ต่อ 1020, 1013 ไม่เสียค่าใช้จ่ายนะครับ และเปิดทุกวันเว้นวันหยุดตามประกาศมหาวิทยาลัยน

ภาพรวมของการจัดแสดง

บนผืนแผ่นดินเมืองนครราชสีมา มีการตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์สืบต่อกันมาหลายยุคหลากสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๔,๕๐๐ ปีมาแล้ว พบร่องรอยอารยธรรรมโบราณที่ได้สั่งสมเทคโนโลยีผ่านกาลเวลาเรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์เริ่มตั้งแต่สมัยทวารวดี ลพบุรี สืบต่อมาจนถึงเมื่อคราวที่นครราชสีมารวมกับอาณาจักรไทยในสมัยอยุธยาฐานะเมืองชั้นโท ทำหน้าที่ดูแลหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองชั้นเอก ทำหน้าที่ดูแลส่วยอากรรักษาความสงบ ปราบปรามกบฏ ในด้านการทหารเป็นที่ตั้งของกองกำลังที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ในด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสินค้าและบริการทั้งทางรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบินกับภูมิภาคต่างๆ และเป็นศูนย์กลางธุรกิจที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ห้องจัดแสดง

แบ่งออกเป็น 8 ห้อง ดังนี้

1.เบิกโรง
2.ต้นกำเนิดอารยธรรม
3.สมัยทวารวดี
4.สมัยลพบุรี
5.สมัยอยุธยา
6.สมัยรัตนโกสินทร์
7.มหานครแห่งอีสาน

8.ของดีเมืองโคราช (ส่วนนิทรรศการหมุนเวียน)


ห้องที่ 1 เบิกโรง

เป็นส่วนเกริ่นเข้าสู่เนื้อหา นำเสนอในส่วนภาพรวมของจังหวัดนครราชสีมาและเกียรติประวัติของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

ห้องที่ ๒ ต้นกำเนิดอารยธรรม

ก่อนหน้าที่พระพุทธศาสนาหรือศาสนาฮินดูถูกเผยแพร่มา ณ แผ่นดินแห่งนี้ การปลงศพของผู้ตายเป็นการฝังศพลงไปในดินที่ขุดเตรียมไว้ ถ้าเป็นทารกมักฝังไว้ในภาชนะดินเผา และการค้นพบโครงกระดูกนี้เอง ทำให้เราสามารถศึกษาเรื่องราวการตรวจสอบประวัติศาสตร์ เปิดเผยอดีตด้วยหลักฐาน ข้อเท็จจริงมากกว่าตำราหรือพงศาวดาร เราเรียนรู้เรื่องราวจากหลุมฝังศพได้หลายประการ เช่น ประเพณีหรือพิธีกรรมในการฝังศพ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ลักษณะการฝังศพแต่ละศพอาจบ่งบอกถึงสถานะของผู้ตายเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าต้นกำเนิดแห่งอารยธรรมของชาวโคราชเริ่มแรกในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการร่อนเร่ ล่าสัตว์เก็บของป่า จนถึงช่วง ๔,๕๐๐ ปีก่อน ก็เริ่มพัฒนาขึ้นอย่างเด่นชัด ด้วยการตั้งถิ่นฐานบ้านช่องเป็นหลักแหล่ง รู้จักทำการเกษตรอย่างง่ายๆ คือ ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ ใช้ภาชนะดินเผา ต่อมาราว ๓,๕๐๐ ปีก่อน เริ่มรู้จักพัฒนาเครื่องมือ เครื่องใช้จากโลหะผสมที่เรียกว่า “สำริด” มีการสร้างเมืองติดต่อแลกเปลี่ยนสินค้ากับโลกภายนอก ทั้งทางบกและทางทะเล จนกระทั่งเมื่อ ๓,๐๐๐ ปีก่อน เริ่มมีการถลุงเหล็ก เพื่อทำเครื่องมือเครื่องใช้ บ้านเมืองยุคนี้เติบโตขึ้นบางกลุ่มรวมตัวขึ้นเป็นนครรัฐ


ห้องที่ ๓ สมัยทวารวดี

ชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์แรกเริ่มได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ ณ เมืองเสมา ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียโดยนำศาสนาพุทธและพราหมณ์เข้ามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คงขนบธรรมเนียมบางอย่างไว้ เช่น การฝังศพนอนหงาย เหยียดยาว รวมทั้งอุทิศสิ่งของต่างๆ ให้กับศพซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แทนที่จะปลงศพ ด้วยการเผาตามแบบศาสนาพุทธ

เชื่อกันว่าวัฒนธรรมทวารวดีเจริญขึ้นและมีศูนย์กลางอยู่ในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย คงจะแพร่หลายไปยังแถบอีสานทั้งในลุ่มแม่น้ำ มูลและลุ่มแม่น้ำชีตอนล่างผ่านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นหลัก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญจากเดิมที่ไม่มีการนับถือศาสนา มาเป็นบ้านเมืองที่ยอมรับนับถือศาสนา และสร้างสรรค์งานศิลปกรรมเนื่องในศาสนาขึ้นเป็นจำนวนมากเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยนี้ส่วนจารึกที่พบเป็นตัวอักษรปัลลวะของอินเดีย ภาษาบาลี และภาษามอญ นอกจากนี้ยังพบหลักฐานที่แสดงถึงวัฒนธรรมทวารดีที่สำคัญ คือ เมืองเสมาและพระพุทธรูปปางไสยาสน์ทำมาจากหินทรายขนาดใหญ่อายุ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔

ห้องที่ ๔ สมัยลพบุรี

วัฒนธรรมขอมได้แผ่อิทธิพลมายังภาคอีสาน ส่งผลต่อความความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงสมัยลพบุรี ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านศิลปกรรมและวัฒนธรรมทางความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาฮินดูผสมผสานกับพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งสะท้อนอยู่ในโบราณสถานที่ได้รับแบบอย่างจากวัฒนธรรมขอมที่สำคัญ ได้แก่ แบบแผนการสร้างเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า “บาราย” ศาสนาสถานขนาดใหญ่ในรูปแบบปราสาทหิน เครื่องปั้นดินเผาแบบขอม เป็นต้น

“…ในการติดต่อสัมพันธ์ทางเครือญาติกับอาณาจักรขอม ทำให้รูปแบบศิลปกรรมวัฒนธรรมของขอมแพร่เข้ามาสู่อีสาน เมืองพิมายกลายเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาลัทธิมหายานชัดเจนขึ้น จนได้มีการสร้างปราสาทพิมายเป็นศูนย์กลางทางศาสนา...”


ห้องที่ ๕ สมัยอยุธยา

เมืองนครราชสีมาในสมัยอยุธยามีฐานะเป็นเมืองชั้นโท ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเป็นฉนวนป้องกันการรุกรานของขแมร์ (เขมร) ลาว ญวน และเป็นหัวเมืองใหญ่ ควบคุมเขมรป่าดงที่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

พ.ศ. ๒๒๐๕ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงโปรดฯ สร้างเมืองสำคัญที่อยู่บริเวณชายพระราชอาณาจักรทางภาคอีสาน ให้มีป้อมปราการเพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึก จึงทรงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองโคราชเดิม (อำเภอสูงเนินในปัจจุบัน) มาตั้ง ณ สถานที่ปัจจุบัน โดยให้ช่างชาวฝรั่งเศสออกแบบเมืองที่มีป้อมปราการแบบตะวันตก และสร้างวัดประจำทิศต่างๆ ภายในเขตกำแพงเมือง ได้แก่ วัดกลางนคร (วัดพระนารายณ์มหาราช) วัดบูรพ์ วัดอิสาน วัดพายัพ วัดสระแก้ว และวัดบึง ซึ่งวัดเหล่านี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามแบบกรุงศรีอยุธยา อาทิ ฐานอุโบสถที่อ่อนโค้งตกท้องช้าง (ทรงสำเนา), คันทวยนิยมเป็นไม้แกะสลักรูปนาคกลับหัว, หน้าบันนิยมเป็นไม้แกะสลักรูปต่างๆ

ซึ่งในความเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญนั้นการออกแบบสร้างเมืองตามตำราพิชัยสงครามสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงได้ตั้งหมู่บ้านด่านในทุกทิศรอบเมือง เพื่อเป็นกองหน้าระวังคอยสอดแนม และคอยปะทะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ข้าศึกยกทัพมาประชิดเมืองนครราชสีมาเร็วเกินไป หรือทำหน้าที่เป็นผู้ส่งข่าวสารระหว่างหมู่บ้านและเมือง ซึ่งยังคงปรากฏให้เห็นชื่อของหมู่บ้าน ตำบล หรืออำเภอ ที่เคยทำหน้าที่เป็นด่านของเมืองจนถึงปัจจุบัน

และในความชาญฉลาดอีกประการหนึ่งในการสร้างเมืองนครราชสีมานั้น คือ การบริหารจัดการน้ำที่ถูกออกแบบมาพร้อมกับการสร้างเมืองของลำปรุและสวนปรุ (ปะ-หรุ) 

ห้องที่ ๖ สมัยรัตนโกสินทร์

ในสมัยรัตนโกสินทร์เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองสำคัญในด้านการทหารและการปกครองยิ่งกว่าแต่ก่อนมาก ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองเอก เจ้าเมืองมีบรรดาศักดิ์ “เจ้าพระยา” ให้ปกครองเมืองเขมรป่าดง และหัวเมืองตอนในภาคอีสาน

เหตุการณ์สำคัญต่อประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์เมื่อพุทธศักราช ๒๓๖๙ โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์ ได้ทำการก่อกบฏต่อกรุงเทพฯ ยกทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมา แล้วกวาดต้อนครัวชาวนครราชสีมาและคุณหญิงโมไปถึงที่ทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมและครัวชาวนครราชสีมาได้ต่อต้านเกิดเป็นวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๙ ช่วยให้สามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด

ในส่วนนี้นำเสนอศิลปวัตถุ อันเป็นมรดกจากตึกดินของคุณยายยี่สุ่น ไกรฤกษ์ ซึ่งทายาท คือ คุณเสริมศรี โชรัมย์ ที่ได้มอบให้ศูนย์วัฒนธรรม เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ ประกอบด้วย เอกสารโบราณ อาทิ ใบลาน ซึ่งมีคัมภีร์พระเจ้าสิบชาติ วรรณกรรมท้องถิ่น ตำรายา ตำรากฎหมาย กฎหมายลักษณะทาส พิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๒ กฎหมายลักษณะผัวเมีย พิมพ์เมื่อจุลศักราช ๑๒๔๔ จดหมาย หนังสือ สัญญา พัสดุตีพิมพ์ นามบัตร บัตรอวยพร มีดชนิดต่างๆ กรรไกร เครื่องยา หินบดยา ผ้า เครื่องแต่งกายขุนนาง เงินเหรียญ เครื่องมือเครื่องในในครัวเรือน ฯลฯ


ห้องที่ ๗ มหานครแห่งอีสาน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นระยะที่มหาอำนาจตะวันตกกำลังดำเนินนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มปฏิรูปการปกครองจัดหัวเมืองเป็นมณฑลเทศาภิบาล และเมืองนครราชสีมาก็ยังเป็นฐานกำลังในการรักษาอำนาจการปกครองของส่วนกลาง และยังใช้เมืองนครราชสีมาเป็นแหล่งยุทธศาสตร์ทางทหาร ยิ่งไปกว่านั้นนครราชสีมายังเป็นตัวอย่างของการยอมรับอำนาจของรัฐบาลกลางได้อย่างผสมกลมกลืนกันในทางสังคมและทางวัฒนธรรมของชาวกรุงเทพฯและชาวอีสานอีกด้วย

กำเนิดทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

จุดเปลี่ยนสำคัญของการคมนาคมขนส่งและเดินทางไกล คือ การสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ระยะทาง ๒๖๔ กิโลเมตร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๔๓ ดังนั้นการใช้เกวียนบรรทุกขนส่งหรือเดินทาง จากท้องถิ่นหลายแห่ง ในภาคอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนจุดหมายมาที่นครราชสีมา เพื่อขนถ่ายสัมภาระหรือสินค้าที่สถานีรถไฟมากขึ้นเรื่อยๆ

แหล่งยุทธศาสตร์ แหล่งกำลังทหาร

การปฏิรูปการทหาร เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเมืองนครราชสีมา นับเป็นกำลังสำคัญในฐานะเป็นแหล่งกำลังทหารสนับสนุนรัฐบาลกลางในการดูแลพระราชอาณาเขต และเป็นแหล่งยุทธศาสตร์สำคัญหากในกรณีเกิดสงครามกับฝรั่งเศสขึ้น ทำให้ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงได้จัดตั้งกองกำลังทหารขึ้น ซึ่งเดิมชาวบ้านเรียกว่า “ค่ายทหารหนองบัว” โดย พ.ศ. ๒๔๙๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเป็น “ค่ายสุรนารี” ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพภาคที่ ๒ รวมทั้งมณฑลทหารบกที่ ๒๑ และจังหวัดทหารบกนครราชสีมา

กำเนิดโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร

พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๔๔๗ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร” ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยอันเป็นรากฐานเริ่มต้นของโรงเรียนนายร้อยตำรวจยุคปัจจุบัน ณ มณฑลนครราชสีมา บริเวณใกล้กับประตูไชยณรงค์ ต่อมาเป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธร ภาค ๓

พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

ประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาเป็นพสกนิกรจังหวัดแรกที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในทุกภูมิภาค เมื่อวันที่ 1 – 4 พฤศจิกายน 2498 ในมหามงคลสมัยนั้น นับเป็นปิติกาลของชาวจังหวัดนครราชสีมา มีเรื่องราวที่ประทับตรึงแน่นในความทรงจำ พระราชจริยวัตรอันงดงามของทั้งสองพระองค์ที่พระราชทานพระเมตตาแก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทุกชาติชั้นวรรณะไม่เพียงแต่จะอยู่ในความทรงจำเท่านั้น ยังเป็นเรื่องเล่าขานสืบสานต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

มหานครแห่งการกีฬา

 จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองใหญ่อันดับหนึ่งและเป็นศูนย์กลางความเจริญที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงได้ดำเนิน “โครงการก่อสร้างสนามกีฬาเมืองหลักเฉลิมฉลอง ๓๓๓ ปี จังหวัดนครราชสีมา” โดยได้รับพระราชทานนามสนามกีฬาว่า “สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐” และได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และอาเซียนพาราเกมส์ในปี ๒๕๕๐ -–๒๕๕๑ นับเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เมืองนครราชสีมาพัฒนาไปสู่การเป็นมหานครแห่งการกีฬา



ห้องที่ ๘ ของดีเมืองโคราช (ส่วนนิทรรศการหมุนเวียน)

เป็นส่วนจัดนิทรรศการกึ่งหมุนเวียน ได้คัดเลือกเนื้อหาที่เป็นของดีเมืองโคราช จากคำขวัญในอดีตจนถึงปัจจุบันเพื่อนำเสนอให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักว่า โคราชมีของดีอีกมากมายที่ได้รับการกล่าวขวัญในอดีต ทั้งมวยโคราช ผ้าหางกระรอก รถสามล้อถีบ รำโทนโคราช และเพลงโคราช

 


หมายเลขบันทึก: 566910เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2014 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2014 00:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากให้ทุกจังหวัดมีเช่นนี้อย่างเป็นรูปธรรม
และแต่ละท้องถิ่น มีแหล่งเรียนรู้เล็กๆ ของตนเอง
จะได้เ็นห้องเรียนที่มีชีวิต
ได้เรียนรู้แก่นรากตัวเองไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้โลกใบใหญ่

ขอบคุณครับ

ขอบคุณครับที่มีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมของคนโคราช
และมีแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนรุ่นหลังต่อไป..... ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท