คิดเรื่องงาน (82) ศึกษาดูงาน ... พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี (2)


การมีหน่วยงานอื่นมาศึกษาดูงานกับเราถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ “ทบทวนตัวเอง” อย่างเป็น “ระบบ” ไม่ใช่ทบทวนแบบแยกส่วน เพราะเราทุกภาคส่วน –ทุกหน่วยงานในองค์กร ต้องมานั่ง “โสเหล่” วางแผน เตรียมการรับการมาเยือนของคณะผู้ศึกษาดูงาน โดยหลักๆ แล้วผมมักจะยึดมั่นในแนวคิดหลักของตนเองคือ “พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...”

หลายต่อหลายครั้ง  ผมพร่ำพูดเสมอว่าผมเติบโตได้จากการลงมือทำ  ทั้งโดยการลงมือผ่านงานประจำ (หน้างาน) และการลงมือทำผ่านการเป็น “วิทยากร”

ครับ-เป็นเช่นนั้นจริงๆ ผมเรียนรู้ผ่านกระบวนการหลักเช่นนั้นเป็นที่ตั้ง  เพราะผมไม่ค่อยได้มีโอกาสขออนุมัติไปราชการเพื่อเข้าร่วมฝึกอบรมใดๆ เหมือนคนอื่น  หรือแม้แต่ไม่ค่อยได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานกับใครเสียเท่าไหร่  ด้วยเหตุเช่นนี้  ผมจึงต้อง “จริงจัง-จริงใจ” กับการงานหลักที่รับผิดชอบ และทุ่มเท หรือแม้แต่เปิดใจที่เรียนรู้ผ่านการเป็นวิทยากรในเวทีต่างๆ

 

 

 

ระยะหลัง  ผมพูดถี่ครั้งขึ้นกว่าเดิมกับทีมงาน หรือแม้แต่กัลยาณมิตรว่า  “... ถึงแม้เราจะไม่ค่อยได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานเหมือนหน่วยงานอื่นๆ แต่ก็ยังโชคดีที่มีหน่วยงานมาศึกษาดูงานจากเราเป็นระยะๆ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพัฒนาตัวเองจากเวทีของการต้อนรับผู้มาเยือน...”

ครับ, ผมพูดเช่นนั้นจริงๆ  เพราะผมเชื่อว่า  “คนเราไม่สมควรนั่งสิ้นหวัง นอนบ่นเพ้อ หรือกระทั่งมัวแต่เปรียบเทียบจังหวะชีวิตตนเองกับคนอื่นจนไม่มองวิกฤตเป็นโอกาส  ในทางตรงกันข้ามควรเปิดใจสู่การเรียนรู้ที่อยู่ตรงหน้าให้เต็มกำลัง  ไม่ว่าโอกาสที่ว่านั้น จะเป็นการงานในหน้าตักตัวเอง  หรือการงานอันเกิดจาการมาเยือนของคนอื่น  โดยเฉพาะการมาเยือน หรือมาศึกษาดูงานของคนอื่นนั้น  ผมถือว่าสำคัญและท้าทายไม่แพ้การที่เราต้องเดินทางไปดูงานด้วยตนเองด้วยซ้ำไป...”

 

 

 

ในมุมมองของผม  การมีหน่วยงานอื่นมาศึกษาดูงานกับเราถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ “ทบทวนตัวเอง” อย่างเป็น “ระบบ”  ไม่ใช่ทบทวนแบบแยกส่วน  เพราะเราทุกภาคส่วน –ทุกหน่วยงานในองค์กร ต้องมานั่ง “โสเหล่”  วางแผน เตรียมการรับการมาเยือนของคณะผู้ศึกษาดูงาน  โดยหลักๆ แล้วผมมักจะยึดมั่นในแนวคิดหลักของตนเองคือ “พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...”

ครับ, ผมหมายถึงว่าการมีคนมาศึกษาดูงานกับเรานั้น  ถือเป็นการเรียนลัดที่ดียิ่ง ประหยัดงบประมาณ ย่นระยะทางการเดินทางของเราเอง  เพียงแต่เราต้อง “ทำการบ้าน” ให้ชัดเจนในสิ่งที่เราจะนำมา “แลกเปลี่ยนเรียนรู้” กับคณะผู้มาศึกษาดูงาน  ผ่านการออกแบบให้น่าสนใจ  ทั้งการสื่อสารผ่าน สื่อ งานสร้างสรรค์ –นวัตกรรม หรือการพูดคุย ตอบข้อซักแถม

แน่นอนครับ  คงไม่ได้จบลงตรงแค่การตอบข้อซักถามเท่านั้น  หากแต่หมายรวมถึงการ “ถามกลับ”  หรือสื่อสารสองทางในสิ่งที่เป็น “ตัวตน” ของผู้มาศึกษาดูงาน  เพราะสิ่งเหล่านั้น อาจมีทั้งเหมือนและต่างไปจากเรา และทั้งความเหมือนและต่างนั้น  ย่อมสามารถนำมาประยุกต์เติมเต็มการงานของเราได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

 

ด้วยเหตุนี้  เมื่อมีคนมาศึกษาดูงาน  ผมจึงมักพูดกับทีมงานเสมอว่า “เราจึงไม่ควรนิ่งเฉย..หรือนำเสนอเรื่องราวผ่านแค่คำบอกเล่าเท่านั้น  หากแต่ควรพัฒนาระบบของการนำเสนอให้มาตรฐานยิ่งขึ้น  เรื่องบางเรื่องควรนำเสนอด้วยวีดีทัศน์ โปสเตอร์ นิทรรศการ  เอกสาร แผ่นพับ หนังสือ ฯลฯ  อย่างจมปลักอยู่กับการนั่งพูดคุยโสเหล่แต่เพียงสถานเดียว ...”

ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา  องค์กรของเรา โดยเฉพาะในห้วงยามที่ผมมีบทบาทต่อการงานเรื่องนี้  ผมจึงมักให้นำเสนอภาพรวมองค์กรผ่าน “วีดีทัศน์” เป็นหัวใจหลัก ผู้บริหารพบปะทักทายเล็กๆ น้อยๆ จากนั้นก็โยนหน้าที่ไปยัง “พระเอก-นางเอก” ของแต่ละงาน  อันหมายถึงมอบหน้าที่ให้แต่ละงานได้สื่อสารบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง โดยเกริ่นภาพรวมแล้วเจาะโฟกัสไปยังเรื่อง “เด่นๆ” ...

นอกจากนั้นผมยังให้ความสำคัญต่อการจัดเตรียมเอกสารขององค์กรแจกจ่ายให้กับคณะผู้ศึกษาดูงาน ทั้งที่เป็นรูปเล่ม  หรือแม้แต่แผ่นพับ จดหมายข่าว หนังสือเรื่องเล่า .... รวมถึงการไม่ละเลยที่จะ “ขนงาน” ออกมาจัดเป็นนิทรรศการเรียงรายไว้ให้ดูชมตามอัธยาศัย

 

 

 

กระบวนการเหล่านี้เป็นวิธีการขั้นพื้นฐานที่องค์กรมีอยู่แล้ว  เพียงแต่ผมกำลังหมายถึงว่าเราต้องปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และต้องร่วมคิดร่วมออกแบบอย่างจริงๆ จังๆ  มิให้ปล่อยให้ใครเพียงคนใดคนหนึ่งคิดและจัดการเองเสียทั้งหมด  เจ้าของงานในแต่ละงานต้องวิเคราะห์ทบทวน-สังเคราะห์การงานตัวเองให้เต็มที่  จากนั้นจึงสกัดเอาเนื้องานออกมา  (มิใช่อะไรๆ ก็ส่งมาหมด)  จากนั้นจึงค่อยส่งต่อมายังฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการผลิตสื่อ ...มิใช่ต่างคิด ต่างทำ จนมองไม่เห็นความเป็นเอกภาพ  หรืออัตลักษณ์องค์กร-

และสิ่งหนึ่งที่ผมขบคิดและทิ้งท่ายอย่างเงียบๆ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเลยก็คือ  เมื่อเสร็จสิ้นการต้อนรับคณะผู้ศึกษาดูงานแล้ว  เราควรมานั่งสรุปงานกัน  ทั้งในด้านกระบวนการว่าจัดการได้ดีแค่ไหน มีอะไรบกพร่องไปบ้าง  รวมถึงการสะท้อนให้เห็นว่าแต่ละคนแต่ละภาคส่วนได้เรียนรู้อะไรจากการรับแขกบ้านแขกเมือง หรือการได้เรียนรู้อะไรจากการได้นำเสนอเรื่องราวของตนเอง...

 

 

 

ครับ, - ที่พร่ำพูดยืดยาว ก็ไม่มีอะไรมากหรอกนะครับ  เพียงแต่กำลังจะบอกว่า  อย่าน้อยเนื้อต่ำใจกับการไม่ได้มีโอกาสท่องทะยานไปศึกษาดูงานให้มากนัก  แต่จงมองวิกฤตเป็นโอกาส มองอะไรในมุมบวก  หรือแม้แต่การเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองผ่านการงานประจำอย่างไม่สิ้นหวัง...และอยากให้มองว่า การมีคนมาศึกษาดูงานนั้น  หัวใจสำคัญคือการได้ช่วยให้ตนเองได้ทบทวนตัวเองเป็นหลัก ทบทวนการงานตัวเองและทบทวนความเป็นทีมให้แจ่มชัด   ส่วนจะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากคณะผู้ศึกษาดูงานได้แค่ไหนนั้น  ก็ต้องฉลาดพอที่จะสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้...

และที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมว่า “พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี”  เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างภาพ เกินความเป็นจริง !


หมายเลขบันทึก: 565630เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 07:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชอบใจที่พูดในสิ่งที่ทำและย้ำในสิ่งที่มีครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำงานครับ

มาให้กำลังใจคนทำงานจ้ะ

พี่น้องพัทลุง บ้านผมครับ อาจารย์แผ่นดิน

“พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...”... แนวคิด ดีจริงๆๆ ค่ะ .... ขอบคุณค่ะ



สวัสดีครับ อ.ขจิต

เกเรมากนานแล้วครับ ตอนนี้เรียกพลังกลับสู่บล็อก ครับ
สบายดี นะครับ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ
และส่งใจกลับไปยังคุณมะเดื่อเช่นกัน
ขอให้เต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ นะครับ

ครับ พี่วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

... พัทลุง เมืองน่าอยู่ มีกัลยาณมิตรที่ดีต่อเส้นทางการเรียนรู้ครับ...
มาเยือนคราวนี้ ก็ต้อนรับขับสู้อย่างเต็มที่ มีอะไรก็แลกเปลี่ยนอย่างไม่ปิดบัง
เปิดใจ เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

ขอบคุณครับ

ครับ พี่ Dr. Ple

... พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่ดี
อีกนัยสำคัญก็คือการฝึกให้เราซื่อสัตย์ต่อตนเอง ครับ

“พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี...” ชอบมากค่ะ..

จะพยายามทำในสิ่งที่มี เพราะตอนนี้ ทำมากกว่าที่มี..อิ อิ..^_^


ช่วงนี้ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่(2009) ระบาด ดูแลสุขภาพด้วยนะคะ..

กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือบ่อย ๆ ค่ะ..

สุขสันต์วันทำงาน อีกวัน นะคะ..^_^


ครับ พี่หมวย  สีตะวัน

การทำในสิ่งที่มี  คือความท้าทายครับ
ยิ่งเราถูกมอบหมายให้ทำเยอะๆ 
ยิ่งแสดงว่าเรามีศักยภาพ
มองบวกไว้ครับ...55

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท